เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
—วันนี้กลางคืนอ่านอะไรบ้างHeNos
—18/02/2021: คิมจียอง เกิดปี82



  • —คิมจียอง เกิดปี82
    เขียน: โชนัมจู
    แปล: ตรองสิริ ทองคำใส
    สำนักพิมพ์: Earnest Publishing


    หนังสือวรรณกรรมที่เป็นตัวแทนกระบอกเสียงเล่าเรื่องเรื่องราวการตีแผ่สภาพชีวิตจริงของเหล่าผู้หญิงในสังคมเกาหลีใต้ที่ถูกกดทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วยการจรดปลายปากกาสรรค์สร้างโดยคุณโชนัมจู

    นอสใช้เวลาสามถึงสี่วันไม่ใช่เพื่ออ่านให้จบ เพื่อซึมซับตะกอนข้อคิดจากสิ่งที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้โดยที่มันเคยเกิดขึ้นในไทยโดยทั้งที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัวไปพร้อมกัน เป็นที่สนุกจริงแต่มีความเสียดสีแสบทรวงไปหมดจนเราอาจหลุดอุทานได้ว่า "ใช่! เรื่องแบบนี้ฉันก็เคยโดน!"

    ว่ากันตามตรงนะ หนังสือเรื่องนี้ยกให้เป็นที่สุดไปนะ อ่านไปก็โมโหไป ด่าสาดเสียเทเสียไปด้วย

    —•—

    —แด่ฉัน แด่เธอ แด่เหล่าผู้หญิงทุกคนบนโลกนี้

    ต่อให้เรามีความแตกต่างกันออกไป

    สุดท้ายแล้ว เพราะเราทุกคนคือคิมจียอง

    —•—

    (จะมีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนังสือ)


    เล่าไปถึงช่วงวัยเด็กของคิมจียองและคิมอึนยองผู้เป็นพี่สาวของเธอ ทั้งสองถูกผู้เป็นย่าแสดงภาษากายให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เพียงเพราะไปกินนมผงของน้องชาย ยังมีเรื่องยามข้าวหุงเสร็จใหม่ก็จะตักให้น้องชาย พ่อ และคุณย่า น้องชายได้กับข้าวอย่างพวกของทอดที่กลมสมบูรณ์ ของใช้สองชิ้นที่เธอและพี่สาวต้องใช้ด้วยกันชิ้นหนึ่ง อีกชิ้นให้น้องชาย

    ทว่าพออ่านไปก็พบว่าชีวิตของโอมีซุกกับพี่สาวนั้นแย่ไม่ต่างกัน ทั้งคู่ทำงานส่งเสียพี่ชายทั้งสอง ทั้งน้องชาย ครอบครัวสรรเสริญว่าลูกชายนั้นดีนักหนาขนาดจุนเจือครอบครัวให้อยู่ตัว ไม่ว่ายังไงก็ไม่มีใครชื่นชมหรือยื่นมือช่วยเหลือเธอผู้เป็นลูกสาวเลยสักนิดเดียว ซ้ำพออยู่กินกับสามีถูกแม่สามีพร่ำพูดต่างหาก

    เอ็งต้องมีลูกชายนะ ต้องมีลูกชายให้ได้ ต้องมีลูกชายสักสองคน... (—หน้า31)

    ผ่านท้องแรกและท้องสองล้วนเป็นเด็กผู้หญิง เมื่อท้องที่สามนั้นคือความเจ็บปวดที่สุด จำต้องกล้ำกลืนฝืนทนมาทั้งน้ำตา ความหวังที่ว่าผู้เป็นสามีจะยอมรับท้องนี้เป็นลูกสาวนั้นกลับพังทลายไม่เป็นท่า ต้องไปทำแท้งเพียงเหตุผลคือได้ลูกสาวอีกแล้ว

    ทำไมการได้ลูกสาวถือเป็นความล้มเหลวกัน ฉันที่อ่านไปได้แต่ถามซ้ำๆ

    หรือไม่ว่าจะเป็นช่วงประถมของคิมจียองที่ถูกเด็กชายกลั่นแกล้งเกินกว่าเหตุ แต่ครูประจำชั้นทำเป็นพูดปลอบว่าที่เขาแกล้งเพราะว่าเขาชอบเพียงจะจบปัญหาพวกนี้

    “ปะ ฮึก เปลี่ยนเพื่อนนั่งคู่ให้หนูเถอะค่ะ หยะ ฮึก อย่า ฮึก อย่าให้เขามะ มานั่งคู่กับหนะ ฮือ หนูอีก”

    ครูตบไหล่คุณคิมจียองเบาๆ

    “นี่แน่ะ จียองจ๋า ครูรู้เรื่องนี้มานานแล้ว แต่จียองคงไม่รู้ละสิ เด็กคนนั้นเขาชอบจียองนะจ๊ะ”

    คุณคิมจียองตลึงจนหยุดร้องไห้

    “เขาเกลียดหนูค่ะ ไหนคุณครูบอกว่ารู้เรื่องที่เขาแกล้งหนูอยู่แล้วไงคะ” (—หน้า45)


    เหตุผลแม่งโคตรห่วยแตกบัดซบ ไม่ว่าจะเพศไหนก็ไม่สมควรโดนแกล้งทั้งนั้นสิ

    เหตุการณ์ต่างๆหลั่งไหลดั่งสายธารที่มีภาพสะท้อนลงไปภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ ความอัปยศอดสูนี้ทำให้ผู้หญิงต่างถูกกดหัวหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้แต่คิมจียองก็เช่นกัน

    ผู้ชายมักมีอภิสิทธิ์ที่เรามองข้ามโดยไม่รู้ตัว

    ไม่ว่าจะเป็นเลขที่ในห้องต้องให้ผู้ชายขึ้นก่อน ผู้หญิงอยู่หลัง

    ผู้นำก็ต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงเป็นเพียงรองลงมา

    การแต่งกายนักเรียนชายนั้นดูสบาย แต่นักเรียนหญิงมีข้อผูกมัดจุกจิกแสนรำคาญ

    นั่นไม่ยุติธรรมเลยนะ ทำไมทุกอย่างถึงเอามาลงกับผู้หญิงกัน

    “แล้วครูคิดว่านักเรียนหญิงไม่ชอบเล่นกีฬาหรือคะ ก็เพราะเราต้องใส่ทั้งกระโปรง ไหนจะถุงน่องกับรองเท้านักเรียนรุ่มร่ามจนเล่นไม่ได้ต่างหาก ตอนหนูเรียนประถมก็เล่นทั้งมัลตุกปักกี เล่นตั้งเต หรือโดดยางเหมือนกันค่ะ” (—หน้า59)

    หากผู้หญิงโดนผู้ชายคุกคามทางเพศจะถูกมองว่าเป็นฝ่ายผิดซ้ำยังvictim blamingไปต่างๆนานาตั้งแต่ไปทำอะไรตั้งไกล ทำไมถึงใส่สั้น ทำไมกลับดึกดื่น ทำไมไม่หลีกเลี่ยงให้ดี ทำไมนั่น ทำไมนี่ กลายเป็นว่าทุกอย่างคือความผิดของผู้หญิงฝ่ายเดียวอย่างช่วยไม่ได้

    “เธอชอบมานั่งข้างหน้าฉันตลอดไม่ใช่เรอะ ส่งชีทให้ฉันทีไรก็ยิ้มเสียเยิ้ม เลิกเรียนเมื่อไรยังบอกลาฉันทุกวันว่าไปก่อนนะคะ โคตรอ่อยขนาดนั้นทำไมดันทำท่าเหมือนฉันรังแกเธอเสียได้” (—หน้า71)

    ทำเอานึกย้อนไปตัวเองอยู่มัธยมต้นที่เคยโดนเพื่อนร่วมห้องแกล้งจนแพนิคอะไรที่เป็นการถ่ายรูปหรือเพื่อนผู้ชายเชียว ขนาดที่ว่าเวลาอยู่ใกล้หรือโดนผู้ชายสัมผัสตัวจะทำให้กระอักกระอ่วนขยาดไปพบนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาตอนเรียนมหาลัย

    “แต่ว่านะจ๊ะ ผู้ชายดีๆยังมีเยอะกว่าอีกนะ” (—หน้า73)

    ประโยคของผู้หญิงที่ช่วยเลือกคิมจียองนั้นเป็นการเรียกสติให้ตระหนักได้ว่าผู้ชายทุกคนบนโลกนี้ไม่ได้ย่ำแย่ไปซะทุกคน แต่ระบบชายเป็นผู้ใหญ่กำลังคอยกลืนกินให้เรามองเห็นกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียเองนั่นก็ผิด ผู้ชายที่คุกคามซ้ำยังเห็นเป็นปกตินั่นก็ผิด และความแสบสันของเรื่องนี้คือโอมีซุกเห็นสามีดื่มกับพรรคพวกจนเมามากแล้วคุยโวโอ้อวดให้ฟังเจอเข้าไปถึงชอบหัวเราะเพราะว่าชอบมาก55555555555555

    “ใช่เลย ช่ายเล้ย! ครึ่งหนึ่งเป็นความดีของเธอ! กระผมขอบูชาคุณขึ้นหิ้งเลยขอรับ คุณนายโอมีซุก!”

    “ครึ่งเดียวที่ไหนยะ อย่างน้อยต้องเจ็ดต่อสามสิ ความดีฉันเจ็ดส่วน ของคุณแค่สามส่วนพอ” (—หน้า93)

    สังคมการทำงานหรือมหาวิทยาลัย ผู้ชายมีหน้าที่การงานที่สูงกว่า มั่นคงกว่า เงินเดือนดีกว่า หรือเรียนได้คะแนนสูงก็จะได้รับคำชม คำยกย่อง แต่พอมาเป็นผู้หญิงที่ทำงานหรือเรียนเก่งกว่า คะแนนดีกว่าถึงขั้นสร้างผลงานให้ก็โดนมองว่าอวดภูมิบ้างล่ะ ขโมยเครดิตอ้างนั่นนี่สักแต่จะไม่ช่วย ทั้งที่ตัวเขาเป็นคนทำสำเร็จเอง

    “ถ้าผู้หญิงฉลาดเกิน บริษัทจะตกที่นั่งลำบาก ดูอย่างตอนนี้ปะไร รู้ไหมว่าหนูทำให้ฉันหนักใจแค่ไหน” (—หน้า101)

    “มหาวิทยาลัยเรานี่ตลกเนอะ ทำอย่างกับไม่เคยพูดใส่หน้าเจ้าตัวว่าฉลาดเกินจนกดดันคนอื่น พี่เขาอ่านหนังสือเตรียมสอบคนเดียวแท้ๆ มหาวิทยาลัยไม่เคยช่วยสักนิด พอสอบติดขึ้นมา ดันย้ำอยู่นั่นแหละเป็นศิษย์เก่าผู้น่าภูมิใจ” (—หน้า103)

    ไหนจะการที่พวกผู้ใหญ่ฝ่ายชองแดฮยอนซักไซ้ถามแผนที่จะมีลูก ทั้งที่เป็นเรื่องของคนสองคนแท้ๆ ญาตินั้นไม่ต้องมาเป็นธุระกงการอะไรหรอก แต่ก็นะ สังคมไทยเรายังพบเจอเรื่องนี้จนชวนหงุดหงิดไม่น้อย ไหนจะเรื่องเกี่ยวกับการช่วยดูแลงานบ้านหรือเลี้ยงลูกที่ถูกมองว่าเป็นงานของเพศหญิง ฝ่ายหญิงต้องลาออกมาเลี้ยงลูก

    ยังมีเรื่องราวอื่นๆอีกมากมายที่ซุกซ่อนอยู่ในนี้ เพียงแต่อยากให้ใครหลายคนไปหาซื้ออ่าน เล่มนี้เหมาะกับทุกคนและควรอ่านอย่างยิ่งเพื่อที่จะเข้าใจการสูญเสียเสียงของเหล่าผู้หญิง

    ฉันคิดว่าคิมจียองคือตัวแทนผู้หญิงที่ไม่กล้าเปิดปากเรียกร้องสิทธิของตนเอง อาจจะความกลัวหรือความอับอายเข้าครอบงำ ได้เพียงก่นด่าในใจอย่างเจ็บแค้นนัก หากอ่านจบลงแล้ว หวังว่าข้อคิดและมุมมองจากเรื่องราวนี้จะตกตะกอนลงลึกถึงจิตของพวกคุณได้บ้าง อาจจะเข้าใจว่าทำไมถึงต้องเรียกร้องให้แกนแท่งเกณฑ์นั้นอยู่ลักษณะแนวนอน

    เพราะเราทุกคนคือคิมจียอง

    —HeNos Blodau

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in