เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#มะเขืออ่าน Tomato-Readerpoeticalization
เจ้าชายผู้มีความสุข --- ความสุขของเราไม่เท่ากัน
  • "เจ้าชายผู้มีความสุข" / ออสการ์ ไวลด์ เขียน / แดนอรัญ แสงทอง แปล

    สารภาพว่าตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มนี้ในระยะเวลาแค่ 0.3 วินาทีหลังจากเห็นชื่อทั้งสองบนหน้าปก ตัวผมเองเป็นแฟน "แดนอรัญ แสงทอง" อยู่แล้ว จึงตามเก็บผลงานของเขาทุกเล่ม ส่วนออสการ์ ไวลด์ก็ได้ยินชื่อเสียงเรียงนามมานาน ซึมซาบกิตติศัพท์อยู่ว่าเป็นคนรสมือจัดจ้าน เงินจึงปลิวออกจากกระเป๋าไปในงานหนังสืออย่างรวดเร็ว

     

    หนังสือเล่มนี้เล่านิทานเรื่องสั้น ๆ ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ไม่ฉูดฉาด ส่วนสำนวนแปลของแดนอรัญก็เป็นทำเนียบเฉพาะตัวในแบบที่ถ้าไม่รักก็เกลียดไปเลย ไม่มีกลาง ๆ (เอ้า จริงนะ) ดังนั้น ใครที่คิดจะว่าจะซื้อ อยากให้ลองเปิดอ่านสักหน้าสองหน้าแรก หรืออ่านตัวอย่างข้อความที่ปกหลังก็ได้ เพราะถ้าคุณต่อวงจรติด ผมเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นอีกเล่มที่คุณอยากเก็บไว้ในชั้นส่วนตัว

    หนังสือเล่มนี้เหมาะกับการอ่านก่อนนอน อ่านตอนใจว่าง ๆ ไม่เหนื่อยจากงานหรือชีวิตมากนัก เผื่อที่ว่าจะได้มีเวลาทอดตัวทอดใจไปกับลีลาภาษาและสิ่งละอันพันละน้อยที่ซ่อนอยู่ในแต่ละฉาก เชื่อว่าในคืนเดียวหรือข้ามคืนก็น่าจะอ่านจบ แน่นอนว่าคุณคงเดาตอนจบได้ตามประสาโครงเรื่องแบบนิทานทั่วไป แต่ถึงจะเดาได้ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะชอบเรื่อง ๆ นี้น้อยลง

    ข้อสังเกตทิ้งท้าย ผมไม่รู้ว่าต้นฉบับเดิมของไวลด์เขียนเป็นไปในแนวไหน แต่พอแดนอรัญมาแปลด้วยสำนวนลีลาของเขาเอง ผมว่านิทานเรื่องนี้เลยเหมือนกับแต่งองค์ทรงเครื่องแบบไทยกลายไปคล้าย ๆ "นิทานชาดก" [ซึ่งอาจะเป็นความตั้งใจของผู้แปลหรือเปล่า-ไม่รู้] กลายเป็นอาหารฟิวชั่นทำนองผัดไทยเคียงปลาแซลม่อนย่างเนย จะว่าแปลกก็แปลก จะว่าเก๋ก็เก๋ อีกด้านหนึ่ง ถ้ามองให้ดีแล้วการกระทำของ "เจ้าชายผู้มีความสุข" ในเรื่องก็อาจเทียบกับ "พระโพธิสัตว์" ที่เรารู้จักอย่างพระเวสสันดรได้ในหลายมิติ  เมื่อผมรู้สึกเช่นนี้แล้ว ก็เกิดความคิดขึ้นมาว่าทัศนะของ "ความสุข" ของมนุษย์เรานี้ก็มีแง่มุมที่เป็นสากลอยู่เหมือนกันหนอ.


    ยัวร์ส,

    มะเขือ.


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in