เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
MINTA Storyminta
แชร์ประสบการณ์การเรียนภาษาจีนด้วย "ตัวเอง"
  •      สวัสดีทุก ๆ คนนะคะ ขอแนะนำตัวเองก่อนว่าชื่อ "เสี่ยวหมิง" นะคะ เป็น Dek64 นักเรียนแผนการเรียนศิลป์คำนวณ​คนหนึ่งที่ชื่นชอบในการเรียนภาษาจีนมาก ๆ กำลังจะเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยที่ใกล้จะถึงนี้ หลังจากที่คิดมานานว่าจะมาพิมพ์เกี่ยวกับเรื่อง “แชร์ประสบการณ์การเรียนภาษาจีนด้วยตัวเอง” ดีไหม ? เพราะตัวของหมิงเองก็ไม่ใช่นักเรียนศิลป์จีนและไม่ได้เก่งทางด้านภาษาจีนมากมายอะไรขนาดนั้น แต่มาคิด ๆ ดูแล้ว จึงตัดสินใจว่าจะเขียนขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางให้กับทุก ๆ คนที่กำลังสนใจหรืออยากจะฝึกภาษาจีนด้วยตัวเองค่ะ !

         ** คำเตือน  ! การแชร์ประสบการณ์การเรียนภาษาจีนนี้ เป็นวิธีการเรียนด้วยตัวเองของหมิงที่คิดว่าเหมาะสมกับตัวของหมิงมากที่สุด บางอย่างอาจจะยากเกินไปสำหรับใครบางคน สามารถนำไปปรับใช้เป็นแนวทางการเรียนรู้ที่คิดว่าเหมาะสมกับตัวเองได้นะคะ

    1) อยากเรียนภาษาจีนไปเพื่ออะไร ?

         การเรียนภาษาต้องตั้งเป้าหมายให้กับตัวเองว่าอยากเรียนทำไม ? อยากเรียนเพราะอะไร ? เราอยากเรียนเพราะเป็นภาษาที่สามารถเอาไปใช้ต่อยอดในอนาคตได้ เรียนเพราะอยากจะไปศึกษาต่อที่ประเทศจีนในระดับอุดมศึกษา เรียนเพราะผู้ปกครองต้องการให้เรียนในแผนการเรียนนี้ สำหรับหมิงแล้ว หมิงอยากเรียนภาษาจีนเพราะว่าอยากดูซีรีส์จีนโดยที่ไม่ต้องมานั่งรอ Subtitle ภาษาไทย, อ่านนิยายจากเว็บไซต์ของประเทศจีน, ติดตามนักแสดงที่ชอบ มันอาจจะฟังดูตลกว่ามีแบบนี้ด้วยเหรอ แต่มันมีจริงๆ นะคะ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม มันไม่ใช่เรื่องไร้สาระหรอกค่ะ ที่คุณอยากจะศึกษาภาษาที่สามขึ้นมา เพราะมันจะทำให้คุณมีแรงผลักดันที่อยากเรียนภาษานั้น ๆ ไปได้ตลอด

    2)​ หนังสือ​ / Source​ ต่าง​ ๆ​ ที่ใช้ในการเรียนภาษาจีน

    2.1) หนังสือ : ส่วนใหญ่เป็นของ อ.เหยิน จิ่งเหวิน
         —“เริ่มต้นเรียนจีน 汉语人们“ (6 เล่มจบ) เหมาะสำหรับ Beginner ไม่มีพื้นฐานทางด้านภาษาจีนเลย
         — “ภาษาจีนระดับต้น” (2 เล่มจบ + MP3) เหมาะสำหรับ Beginner ** เป็นเล่มที่นิยมมากสำหรับการเรียนภาษาจีน เนื้อหาข้างในอธิบายเป็นภาษาไทย มีคำศัพท์และแบบฝึกหัดให้ทำ
         — “ภาษาจีนระดับกลาง” (2 เล่มจบ + MP3) เหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นฐานทางด้านภาษาจีนมาบ้างแล้ว
          “汉语教程” (6 เล่มจบ) เหมาะสำหรับผู้ที่สามารถอ่านหนังสือแบบระบบ 2 ภาษาได้ ** เป็นหนังสือเรียนส่วนใหญ่สำหรับนักเรียนสายการเรียนศิลป์จีน เนื้อหาข้างในอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ
    [แหล่งซื้อหนังสือเรียนภาษาจีน : ร้านหนังสือทั่วไป, มูมินจีน (Twitter : @Kumjeenjeen), happy.chineses.book (Instagram)]

    2.2) Source : ภาษาจีนเป็นภาษาที่มีแหล่งเรียนรู้เยอะมาก ที่หมิงจะยกมาเป็นส่วนที่หมิงเรียนแล้วคิดว่าเหมาะกับตัวเองมากที่สุด อีกอย่าง เรียนแล้วต้องคิดว่าเข้าใจ สนุกสนาน และมีความต่อเนื่อง
         — “Jiewfudao” (YouTube) เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านภาษาจีนเลย หมิงแนะนำช่องนี้สุด ๆ สอนตั้งแต่ระบบการออกเสียงพินอิน สระ การประสมคำ และมีบทเรียนให้เลือกเรียนมากมาย
         — “Zhanglaoshi” (YouTube) เหมาะสำหรับคนที่มีพื้นฐานทางด้านภาษาจีนมาบ้างแล้วและต้องการเรียนรู้วัฒนธรรมการใช้ภาษาของคนจีน หมิงก็ขอแนะนำช่องนี้เลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการทักทาย การเรียกชื่อ ฯลฯ
         — “Mandarin Chinese 1 : Chinese for Beginners / Chinese for Beginners” (แอพ Coursera) เหมาะสำหรับผู้ที่สามารถเรียนระบบ 2 ภาษาได้ เพราะคนที่สอนเป็นเหล่าซือที่สอนใหมหาวิทยาลัยของประเทศจีนมาสอนโดยตรง และการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ เหล่าซือบางท่านจะสอนเร็วมาก ถ้าหากไม่คล่องภาษาอังกฤษก็ไม่แนะนำให้เรียนอันนี้นะคะ


     2.3) Appication : มีหลายแอพให้เลือกใช้ในการเรียน แต่ส่วนตัวชอบ “LingoDeer” ที่สุดค่ะ

         LingoDeer เหมือนแอพที่เอาไว้เล่นเกมฆ่าเวลา เวลาเรียนรู้ในแต่ละบทจนจบก็จะปลดล็อคเรื่องต่อ ๆ ไป นอกจากนี้ยังมี Quiz รวมทุกบทที่เราเรียนรู้มาแล้วให้เราได้ฝึกทำด้วยนะคะ แอพ LingoDeer ไม่ได้มีแค่ภาษาจีนเท่านั้น แต่ยังมีภาษาอื่น ๆ อีกมากมายให้เราได้ลองเข้าไปเรียนรู้และศึกษา
         นอกจากนี้ยังมีแอพอื่น ๆ เกี่ยวกับภาษาจีนอีกเช่น Super Chinese เรียนภาษาจีน, HelloChinese เรียนภาษาจีน, เรียนภาษาจีน - Learn Mandarin & Learn Chinese Free

    2.4) ความรู้เกี่ยวกับภาษาจีน : หมิงเลือกใช้แพลตฟอร์มของโซเชี่ยลในการกดติดตาม Account ของพี่ ๆ ที่เคยไปเรียนที่ประเทศจีนหรือทำงานที่ประเทศจีน มันมีข้อดีตรงที่ความรู้ทางด้านภาษาจีนของเราจะมีการอัพเดทอยู่ตลอดเวลา เพราะพี่ ๆ จะมาโพสต์แบ่งปันความรู้ที่เคยเรียนหรือพบเจอมาก่อน เช่น การแตกคำศัพท์ สำนวนที่คนจีนนิยมใช้ คำศัพท์วัยรุ่น ฯลฯ นอกจากนี้เรายังได้รับรู้ข่าวสารของประเทศจีนด้วยค่ะ

    ** 3 Accounts นี้คือการยกตัวอย่างที่หมิงชอบเข้าไปศึกษาบ่อย ๆ ยังมีอีกหลาย Account ที่น่าสนใจ หมิงจะลงช่องทางการติดต่อเอาไว้ให้ค่ะ


    ช่องทางการติดตามใน Twitter เช่น
         KZJเป่ยต้า中文系 (@krichkomkris)
         ปั๊มภาษาจีน 加油站中文 (@pumpchinese)
         จีนเวอร์กับซาติง (@shading1996)
         ☆Chinese Passion☆ (@ChinesePassion)
         ไชนีสชิดใน (@ChineseChitnai)
         学汉语พี่หญิงน้อย (@Yingnoihanyu)
    ช่องทางการติดตามใน Instagram เข่น
         makehanyueasy
         chinesexpert
         xuexichinese

    3) สมุดบันทึกที่ใช้ในการเรียนภาษาจีน

         แนะนำว่าเวลาที่เราเรียนภาษาจีนไปเรื่อย ๆ แล้วเจอคำศัพท์ใหม่ ๆ หรือรูปประโยคใหม่ ๆ ให้จดลงสมุดบันทึกของตัวเองทันที หมิงจะมีสมุดบันทึกที่ใช้ในการเรียนภาษาจีนของตัวเองทั้งหมด 4 เล่ม คือ

    1.สมุดไวยากรณ์ภาษาจีน
    2.สมุดคำศัพท์
    3.สมุดเกี่ยวกับความรู้ทั่วไปของจีน (ใช้ในการสอบ PAT7.4)
    4.สมุดคัดตัวอักษรจีน


         ใครสะดวกจดครบในเล่มเดียวก็ได้นะคะ แต่หมิงแยกเป็นหมวดหมู่จะได้สะดวกต่อการหยิบมาอ่านค่ะ

    4) Reading ทักษะการอ่าน

         ก่อนที่เราจะสามารถอ่านตัวอักษรจีนออก สิ่งแรกที่เราต้องเรียนรู้คือ "สัทอักษรจีน หรือ พินอิน (Pinyin)" ก่อน เพราะตัวอักษรจีนมีมากถึง 80,000 กว่าตัว

         — พินอิน (Pinyin) คืออะไร ? และมีความสำคัญอย่างไร ?
         อธิบายง่าย ๆ พินอินคือระบบที่ยืมตัวอักษรโรมันมาช่วยในการถอดเสียงภาษาจีน โดยจะคล้ายระบบประสมเสียงในภาษาไทย มีทั้งเสียงพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ พินอินหน้าตาคล้าย ๆ อักษรภาษาจีน เหมือนกับภาษาคาราโอเกะเลย มีหน้าตาเป็นแบบนี้ “tiān” นั่นเอง
         ** พินอินไม่ได้ช่วยให้เราอ่านภาษาจีนออก แต่ช่วยในเรื่องของการออกเสียงอย่างถูกต้อง เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เราเรียนรู้คำศัพท์ใหม่จะไปได้ไวมากยิ่งขึ้น


         สิ่งที่หมิงเลือกในการฝึกอ่านคือ

         1.การ์ตูน อ่านไม่ผิดหรอกค่ะ ฝึกอ่านจาก 快看漫画 คล้าย ๆ กับ WebToon การฝึกกับการ์ตูนหมิงคิดว่ามันจะทำให้การฝึกของเรามีความต่อเนื่อง เพราะการ์ตูนมีให้เลือกอ่านมากมาย หลากหลายหมวดหมู่ ทำให้เกิดความเพลิดเพลิน มันไม่ได้น่าเบื่อเหมือนกับการอ่านอะไรที่มันออกแนววิชาการ
         2.微博 (Weibo) แอพพลิเคชั่นยอดฮิตของคนจีน ถามว่าหมิงฝึกยังไง ? ฝึกจากการอ่านโพสต์ของนักแสดงที่ตัวเองชื่นชอบค่ะ ส่วนใหญ่มักจะเป็นข้อความสั้น ๆ ไม่ยาวมาก นอกจากนี้เรายังได้คำศัพท์ในการเล่นโซเชี่ยลของวัยรุ่นจีนเวลาตอบ Comment กันด้วยนะคะ
         3.นิตยสาร การอ่านนิตยสารจะทำให้เราเจอภาษาจีนที่มี Passage ยาว ๆ เป็นการฝึกที่ค่อนข้างยากพอสมควร เพราะเจอตัวอักษรจีนเยอะ ๆ แล้วจะลายตา ความอดทนในการอ่านให้จบจะน้อยมาก

         นอกจากนี้ ยังมีพวกนิยาย, ข่าวสารบ้านเมืองต่าง ๆ ให้เลือกอ่าน แต่ที่หมิงไม่เลือกมาเพราะมันยากมาก ๆ มีศัพท์เฉพาะทางด้านภาษาจีนเยอะแยะเลย

    5) Writing ทักษะการเขียน

         จะว่ายังไงดี... ภาษาจีนเหมือนเป็นภาษาที่ไม่ง้อคนเรียน ถ้าอยากจะเขียนให้ได้ เขียนให้เป็น เขียนให้เก่งต้องฝึกการคัดตัวอักษรจีนบ่อย ๆ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ (เป็นสิ่งที่นักเรียนศิลป์จีนชอบมาบ่นให้หมิงฟังบ่อย ๆ ว่าคัดกันเยอะมาก) แต่ว่า ! การคัดอย่างเดียวให้รู้ว่าคำศัพท์คำนั้นมีความหมายว่าอะไรแล้วก็จบไปเฉย ๆ ไม่ได้นะคะ ควรที่จะนำคำศัพท์นั้นมาใช้ต่อยอดได้จริง ๆ ควรจะรู้ว่าคำศัพท์นั้นทำหน้าที่เป็นอะไรในประโยค แล้วนำมาลองแต่งประโยคด้วยตัวเองดู เริ่มจากประโยคสั้น ๆ ง่าย ๆ แล้วค่อยเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ เช่น

         爱 Ài (n.) ความรัก (v.) รัก,ชอบ = 我爱你 (Wǒ ài nǐ) ฉันรักคุณ วันถัดไปอาจจะแต่งเพิ่มเป็น 我爱你, 我爱他 (Wǒ ài nǐ, Wǒ ài tā) ฉันรักคุณ ฉันรักเขา ก็ได้นะคะ จะได้ทำให้เราสามารถเอาไปใช้ได้อย่างถูกต้อง

         พยายามสร้างระเบียบวินัยให้กับตัวเอง หมั่นฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ คัดวันละคำ สองคำ ฝึกแต่งประโยคสั้นบ้างยาวบ้างก็สามารถพัฒนาตัวเองเรื่อย ๆ แล้วค่ะ

    6) Listening ทักษะการฟัง

         ปัญหาในการฝึกฟังส่วนใหญ่คือคนจีนพูดไวมากกกกก (ก.ไก่หลายล้านตัว) อีกอย่างภาษาจีนไม่ได้มีแค่สำเนียงจีนกลางเพียงแค่อย่างเดียว ยังมีอีกหลากหลายสำเนียงที่เรารู้จัก แต่ไม่เคยได้ยินเขาพูดกันมาก่อน เช่น แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ฯลฯ ต้องพยายามฝึกฟังอยู่บ่อย ๆ จนกว่าหูเราจะชินกับจังหวะในการพูด การออกเสียง น้ำเสียง โทนเสียงของผู้พูด ฯลฯ
         วิธีการฝึกฟังที่ง่ายที่สุดคงเป็นการฟังเพลงจีนหรือการฟัง Podcast สามารถเข้าไปเลือกฟัง Podcast ที่เหมาะสมกับตนเองได้ที่ (แหล่งข้อมูลในการศึกษา : https://www.facebook.com/ChinaExpertise/posts/1351235791724306/)

         สิ่งที่หมิงเลือกในการฝึกฟังคือ

         1.猫耳FM เป็นแอพพลิเคชั่นที่เอานิยายมาพากย์เสียงเป็นตัวละครต่าง ๆ ในเรื่อง มีให้เลือกฟังหลากหลายแนวด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นแนวย้อนยุคหรือปัจจุบัน เป็นแอพที่หมิงชอบมากที่สุดแล้ว เพราะมันสนุกค่ะ ถ้าหากฟังไม่ทันจริง ๆ ก็สามารถเปิด Subtitle อ่านได้ (มีแค่ภาษาจีนนะคะ) ถือว่าได้ฝึกทั้งการฟังและการอ่านควบคู่กันไปเลย
         2.ซีรีส์ แนะนำให้ดูเป็นซีรีส์แนว 现代 (แนวปัจจุบัน) มากกว่า 古代 (แนวย้อนยุค) นะคะ ควรที่จะดูเป็น Subtitle ภาษาจีนและฟังควบคู่​กันไปด้วย แต่ถ้ารู้สึกว่าตัวเองยังไม่แม่นภาษาจีนมากพอก็เปิดเป็นไทย-จีนฟังก็ได้ค่ะ หมิงว่าการฝึกฟังโดยการดูซีรีส์มันมีข้อดีตรงที่เราสามารถฟังการพูด ฟังน้ำเสียงได้ แถมเรายังเอาประโยคที่น่าสนใจมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วยค่ะ

         ในปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นของจีนที่เข้าถึงได้ง่ายมาก ๆ เดี๋ยวหมิงจะแปะรูปภาพและคำอธิบายสั้น ๆ เอาไว้ให้นะคะ


    7) Speaking ทักษะการพูด

         เนื่องจากหมิงเป็นนักเรียนแผนการเรียนศิลป์คำนวณ ทำให้หมิงไม่ค่อยได้สื่อสารเป็นภาษาจีนมากเท่าไหร่ และเป็นการฝึกที่หมิงเองก็คิดว่ายากสำหรับใครหลาย ๆ คนด้วยเช่นกัน สิ่งที่หมิงทำคือพูดกับตัวเองค่ะ ส่องตัวเองในกระจกนึกอะไรออกก็พูดออกมา ยืนแปรงฟันอยู่ก็นึกประโยคภาษาจีนแล้วพูดออกมา วันนี้หิวข้าวแล้วก็พูดเป็นภาษาจีนกับคนในครอบครัวไปเลยค่ะ คุณพ่อคุณแม่งงก็ไม่เป็นไร อย่าไปกลัว ก่อนนอนก็ลองพูดทบทวนสิ่งที่ทำมาตลอดทั้งวันดู พยายามสร้าง Situation ให้กับตัวเองอยู่บ่อย ๆ หรือไม่ก็เอาบทสนทนาในซีรีส์ที่ตัวเองชอบมาก ๆ มาทำเป็น Story Telling ก็ได้นะคะ



         สุดท้ายนี้ หมิงอยากจะบอกว่าขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านจนถึงตรงนี้นะคะ 成功是因为自己,失败也是因为自己。(ประสบความสำเร็จได้เพราะตนเอง ล้มเหลวได้ก็เพราะตนเองเช่นกัน) ถ้าหากมีข้อผิดพลาดประการใด หมิงก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย เนื่องจากนี่เป็นการพิมพ์บอกเล่าประสบการณ์ครั้งแรกของหมิงเอง
         ถ้าหากใครมีคำถาม ข้อสงสัยหรืออยากจะสอบถามเพิ่มเติมสามารถ Comment ทิ้งไว้ได้เลยค่ะ สู้ ๆ กับการเริ่มต้นเรียนภาษาจีนไปด้วยกันนะคะ

         ปล. อาจจะเข้ามาเพิ่มเนื้อหาอื่น ๆ อีกครั้ง ถ้าเกิดนึกอะไรออก
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Tossakan Peach (@fb8099282733170)
ขอไลน์ติดต่อได้ไหมพี่