วีดีโอเกมยังคงเป็นสื่อบันเทิงอีกชนิดนึงที่ยังได้รับความนิยมและได้รับความสนใจจากผู้คนเป็นวงกว้าง สิ่งที่ถูกพัฒนาควบคู่มากับลักษณะและรูปแบบการเล่นก็คือวิธีการขายหรือการให้บริการนั่นเอง ก่อนหน้านี้เกมต่างๆ จะเป็นการซื้อเหมือนกับสินค้าทั่วๆ ไป(ซื้อครั้งเดียวจบและผู้ซื้อครอบครอง copy ของเกมนั้นไปตลอด) แต่ในปัจจุบันเกมต่างๆได้มีการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลางในการเชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย และ ผู้เล่น-ผู้เล่น หรือก็คือมีการขายเกมบนร้านค้าออนไลน์ต่างๆ อาทิ Steam หรือ Epic Game Store และมีการเกิดขึ้นของเกมออนไลน์ที่เปิดให้ผู้เล่นดาวน์โหลดและเล่นได้ฟรี ซึ่งเกมออนไลน์แบบเล่นฟรีนี่แหละที่เป็นจุดเริ่มต้นของ Live Service
Live Serviceเป็นรูปแบบการให้บริการที่จะเป็นการให้บริการอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ โดยจะเป็นการเพิ่มคอนเทนต์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น ด่าน โหมดการเล่น เควส สกิน หรืออื่นๆ โดยมีเป้าหมายที่จะดึงดูดผู้เล่นเก่าให้เล่นต่อไปและผู้เล่นใหม่ให้เข้ามาเล่น จากที่กล่าวไปโมเดลการขายนี้อาจจะดูคล้ายกับการมี DLC (Downloadable Content) ที่จะเป็นการเพิ่มเนื้อหาใหม่เช่นเดียวกัน แต่เป้าหมายของ DLC จะต่างออกไปเล็กน้อยตรงที่ DLC อาจจะไม่ไดัจำเป็นสำหรับผู้เล่นบางกลุ่มที่มีตัวเกมหลักอยู่แล้ว หรือไม่ดึงดูดผู้เล่นใหม่ให้มาสนใจซื้อตัวเกมหลักเพิ่มขึ้นมากนัก และที่ต่างกันมากที่สุดคือ DLC มีเนื้อหาที่จำกัดกว่ามากหากเทียบกับLive Serviceที่ผู้พัฒนาจะพยายามเข็นอะไรใหม่ๆมาให้เราเสียเงินได้เรื่อยๆ ส่วน DLC จะเน้นไปที่การซื้อครั้งเดียวจบเสียมากกว่า
อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะยังมองไม่ออกว่า Live Service นั้นจะส่งผลเสียกับเกมยังไงในเมื่อมันเป็นการที่ผู้เล่นจะมีอะไรใหม่ๆ ให้ทำอยู่เรื่อยๆ และ content ที่ออกมาใหม่ยังเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการพูดคุยกันภายใน community ของเกมนั้นๆ อีกด้วย ปัญหาส่วนมากมักเกิดจากการที่contentที่เพิ่มมาใหม่นั้นไม่ได้เป็น content ทางเลือก เพราะฉะนั้นการเพิ่ม content ที่ต้องเสียเงินใหม่ที่มีกิจกรรม ไอเทม หรือสิ่งอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการ progress ไปข้างหน้าของเกมก็เป็นการกึ่งๆ บังคับให้ผู้เล่นเสียเงินเพิ่มเพื่อเล่นต่อ ซึ่งมันก็จะยังไม่ส่งผลมากหากผู้เล่นยังรู้สึกพึงพอใจกับ content ที่ได้รับและรู้สึกคุ้มค่ากับไอเทมและกิจกรรมที่ได้เล่น แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าจู่ๆ คอนเทนต์ที่เราเสียเงินหลักพันไปในวันนั้นถูกถอดออกและไม่สามารถเล่นซ้ำได้ หรือในบางครั้งcontentที่เราซื้ออาจจะถูกถอดออกจากร้านค้าไปเลยก็ได้ อาจจะฟังดูเป็นไปไม่ได้ แต่อย่าลืมว่าcontentที่เราเสียเงินซื้อไปนั้นเป็นสินค้าดิจิทอลที่จะผูกติดอยู่กับตัวเกม ซึ่งอาจจะปิดตัวลงเมื่อไหร่ก็ได้ และในบางครั้งตัวเกมก็ไม่ได้ปิดตัวลงแต่contentที่เราซื้อไปก็ยังถูกถอดออกด้วยเหตุผลอื่นๆ
ในปี 2020 เกม Destiny 2 ได้ปล่อย expansion ชื่อว่า Beyond Light ซึ่งประกอบไปด้วยอาวุธ ด่าน ภารกิจ และsubclassใหม่(พลังพิเศษที่ช่วยเสริมสกิลของตัวละคร) แต่ในขณะเดียวกันBungieที่เป็นทีมผู้พัฒนาของเกมDestiny 2 ก็ได้ประกาศ sunset contentเก่าๆของตัวเกม อาทิ การจำกัดการอัพเกรดอาวุธจากexpansionก่อนๆไม่ให้สูงเท่ากับอาวุธในpatchปัจจุบัน นำด่าน Mercury, Mars, IO และ Titan ออกเนื่องจากเป็นด่านที่เข้าเล่นได้หากซื้อ expansion ก่อนๆ และล่าสุด campaign(ภารกิจเนื้อเรื่อง) Forsaken ซึ่งเป็นอีกหนึ่งexpansionที่ต้องเสียเงิน ก็ถูกถอดออกจากตัวเกมอีกด้วย โดยทางผู้พัฒนากล่าวว่าการsunsetเป็นการนำเนื้อหาเก่าๆ เข้าไปเก็บไว้ใน Vault (คลัง) ซึ่งภายหลังจะนำกลับมาเปิดให้เล่นอีกครั้ง การ sunset นั้นช่วยให้ผู้พัฒนาจำกัดขนาดของตัวเกมไม่ให้ใหญ่เกินไป เนื่องจากปัจจุบัน Destiny 2 มีทั้งหมด 4 expansion ที่เปิดให้ซื้ออยู่ในตอนนี้ โดยที่ expansion ล่าสุดอย่าง Lightfall ได้วางจำหน่ายไปเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ผลตอบรับของการ sunset เนื้อหาเก่าๆ ของเกม โดยเฉพาะ Forsaken ซึ่งนับว่าเป็นเนื้อเรื่องที่ดีที่สุดของเกม นั้นค่อนข้างไปในทางลบ โดยที่ผู้เล่นเก่าไม่พอใจที่เนื้อหาที่ตนจ่ายเงินไปนั้นถูกนำออกและไม่สามารถเล่นได้ ในขณะที่ผู้เล่นใหม่ก็ไม่สามารถรับรู้เรื่องราวในช่วงต้นของเนื้อเรื่องได้เลยและก่อให้เกิดความสับสนว่าขณะนี้กำลังเกิดอะไรขึ้นในโลกของเกม ยิ่งแย่ไปกว่านั้นในหน้าร้านค้า Steam ของ Destiny 2 ยังมีการวางขาย expansion ชื่อว่า Forsaken Pack ซึ่งเป็นคนละตัวกับเนื้อหาที่ถูก sunset ไป แต่หากผู้เล่นใหม่หลงซื้อไปโดยที่ไม่ได้อ่านรายละเอียดดีๆ จะพบว่า expansion นี้ไม่ได้รวมcampaignเนื้อเรื่องไปด้วย โดยภายในจะมีเพียงไอเทมที่มีเฉพาะใน expansion Forsaken เท่านั้น และส่งผลให้รีวิวของ expansion นี้เป็นลบ
ความไม่พอใจในการ sunset เนื้อหานั้นถูกสะท้อนผ่านรีวิวด้านลบเป็นส่วนมาก (mostly negative)ในหน้าร้านค้า Steam ของ Destiny 2 หากมองผ่านๆ จะเห็นได้ว่า expansion ที่ผ่านๆมานั้นได้รับรีวิวเป็นลบเกือบทุก expansion ไม่เว้นแม้แต่ Lightfall ที่ถูกปล่อยออกมาไม่นานนี้ ยกเว้นแต่ The Witch Queen เพียง expansion เดียว รีวิวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้เล่นไม่พึงพอใจกับเนื้อหาที่ได้รับหากเทียบกับราคาที่จ่ายไป โดย expansion แต่ละตัวจะมีราคาอยู่ที่659บาท สำหรับ Shadowkeep ซึ่งเก่าที่สุดที่หาซื้อได้ในตอนนี้ 789 บาทสำหรับ Beyond Light และ The Witch Queen และ 1,299 สำหรับ Lightfall จะเห็นได้ว่าราคาค่อนข้างสูงสำหรับผู้เล่นชาวไทย มิหนำซ้ำยังมีรีวิวเป็นลบอีกด้วย แต่ยังสถานการอาจจะกำลังดีขึ้นหลังจากที่Bungieประกาศว่าจะไม่มีการ sunset อีกแล้วหลังจาก expansion Lightfall
สรุปแล้ว Live Service อาจจะไม่ได้ทำให้วีดีโอเกมแย่ลงโดยภาพรวม ยังมีเกมที่ให้บริการในรูปแบบ Live Service อีกจำนวนนึงที่ทำให้ผู้เล่นสนุก รู้สึกตื่นเต้นกับเนื้อหาใหม่ๆที่กำลังจะมาถึง และทำให้ผู้เล่นเต็มใจที่จะกำเงินไปจ่ายให้ผู้พัฒนาเกมที่พวกเขารัก แต่ก็ยังมีอีกหลายเกมที่ผู้พัฒนาอาจจะไม่ได้จงใจให้เนื้อหาที่ออกมานั้นน่าผิดหวัง แต่ผู้เล่นนั้นไม่ได้รู้สึกพึงพอใจ บางรายอาจจะรู้สึกเหมือนถูกบีบบังคับให้จ่ายเงินในราคาแพงเพื่อเนื้อหาที่อาจจะไม่น่าพอใจสำหรับผู้เล่น แต่จำเป็นต่อการ progress ไปข้างหน้าของเกม มันจึงเกิดเป็นความอัดอั้นในใจที่อยากจจะเล่นเพราะเกมสนุก แต่ราคาที่ต้องจ่ายนั้นไม่คุ้มเสียเลย
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in