เกมแนวสยองขวัญ เป็นเกม genre ที่มีพัฒนาการน่าทึ่งเสมอนะครับในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เมื่อผู้สร้างเกมเกิดความคิดผุดขึ้นมาว่า จะเอา “ความน่ากลัว” มาผสมกับสิ่งที่เรียกว่า “วีดิโอเกม” ก็นับเป็นส่วนผสมที่บรรเจิดมากพอแล้วทำให้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เกมสยองขวัญก็มีการพัฒนาไปตามยุคเช่นเดียวกับเกมแนวอื่นๆ ยกระดับไม่ว่าจะทั้ง ระบบการเล่นที่ดีการนำเสนอความน่ากลัวด้วยกราฟิกที่ดีขึ้นและเนื้อเรื่องที่มีความลุ่มลึกไม่ต่างจากภาพยนตร์
“Still Wakes the Deep” เป็นอีกเกมสยองขวัญที่ผมคิดว่ามันได้ผสานจังหวะจะโคนอันลงตัว ทั้งในฐานะ “เกมสยองขวัญ” ที่กำลัง “เล่าเรื่องสยองขวัญ” ได้อย่างดีงาม จากตอนแรกที่เคยคิดว่า “มันจะมีอะไร๊ ก็เป็นเกมวิ่งๆ หลบๆ ตามสมัยนิยม นั่นแหละ” แต่พอเล่นเอง เกมมีอะไรดีกว่านั้นหลายเท่า..
Still Wakes theDeep มีฉากหลังอยู่ในปี 1975 ณ แท่นขุดเจาะน้ำมัน ใจกลางมหาสมุทร ในแถบประเทศสก็อตแลนด์ ตัวเอก “คาเมรอน แมคลีรี” หรือ “แคซ” ชายธรรมดาที่จำเป็นต้องจากลูกเมีย มาทำงานที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน “Beira D” ด้วยเหตุผลบางอย่าง จนกระทั่งเมื่อถึงวันสุดท้ายที่เขาคิดจะกลับไปหาครอบครัวในวันคริสมาสต์ จู่ๆ ก็เกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ สร้างความเสียหายร้ายแรงไปทั่วทั้งแท่นขุดเจาะ จนแคซหมดสติไป..
Still Wakes the Deep เป็นเกมจากผลงานของทีม “The Chinese Room” ทีมพัฒนาที่นานนานทีจะมีผลงานออกมาให้เล่นกันซักที The Chinese Room แจ้งเกิดในวงการเกมไม่ค่อยสวยเท่าไหร่กับการทำ Amnesia: A Machine for Pigs (2013) เกมภาคต่อที่ถูกแฟนเกมบ่นว่าด้อยกว่าภาคแรกมาก (แต่ส่วนตัวผมไม่ได้มองว่ามันแย่ขนาดนั้นแค่ว่าถ้าเทียบกับภาคแรก มันธรรมดาเฉยๆ) จากนั้นก็กลับมาอีกครั้งกับ Everybody’s Gone to the Rapture (2015) เกมแนว ผจญภัย-ลึกลับที่ถ่ายทอดบรรยากาศและเนื้อเรื่องได้อย่างน่าค้นหา ซึ่งผลงานทั้ง 2
ซึ่ง Still Wakes the Deep เป็นเหมือนผลงาน “ปล่อยของ” ของ The Chinese Room ที่ตกผลึกจากทุกๆ ผลงานที่ผ่านมา มาใส่ไว้ในเกมนี้ โดยเฉพาะถ้าใครเป็นโรค โฟเบีย (Phobia) ประเภทต่างๆ ทั้ง กลัวที่แคบกลัวทะเล กลัวความสูง หรือ กลัวอะไรที่มันมีขนาดใหญ่โต ผมบอกเลยว่าเกมนี้มีให้คุณครบทุกอย่างแน่นอน ด้วยการออกแบบฉาก ที่จำลองสภาพความเสียหายของแท่นขุดเจาะกลางทะเลได้อย่างสมจริง ซากปรักหักพัง ซอกหลืบต่างๆ เกมทำออกมาดีมาก แค่เห็นก็รู้สึกอึดอัดหายใจไม่ออกแล้วแล้วด้วยภาพเกมที่สวยสมจริงมาก ทำให้แทบจะทุกๆ โมเมนต์ของเกม เราจะรู้สึกว่ามันสมจริงไปหมดทุกอย่าง อย่างกับเข้าไปเดินอยู่ในแท่นขุดเจาะจริงๆ (ผมก็ไม่รู้ว่าแท่นขุดเจาะของจริงหน้าตายังไง แต่ส่วนตัวผมรู้สึกว่าทุกอย่างมันดูจริง จับต้องได้ ไปหมด) ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในหนังแนวหายนะกลางทะเลแบบ The Poseidon Adventure (1972) หรือ Titanic (1997) ที่เราต้องฝ่าทุกเส้นทางไปเพื่อให้รอดชีวิต แม้บางเส้นทางมันจะดูฝ่าไปไม่ได้เลยก็ตาม
ตัวละคร และ setting เรื่องราว ก็สมจริงจนน่าขนลุกยิ่ง พอฉากหลังของเกมเป็นสก็อตแลนด์ ตัวละครพูดกันด้วยสำเนียงท้องถิ่นแบบ 100% หน้าตาตัวละครก็ดูเป็นคนธรรมดาๆ ไม่มีใครดูหล่อเกินเหตุ ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่า ทุกคนเป็นคนจริงๆ โดยเฉพาะตัวเอกที่เราต้องเล่นเป็นเขาอย่าง แคซ การดีไซน์ท่าทาง เสียงพากย์ เสียงหายใจ คำสบถต่างๆ ทุกอย่างทำให้เรารู้สึกอินไปกับเขาได้ตลอดทั้งเกม
ทีนี้เมื่อทุกอย่างถูกปูพื้นไว้อย่างสมจริง พอเติมความ “เหนือจริง” ใส่ลงไปมันเลยกลายเป็นความสยองขวัญที่ทำให้คนเล่นต้องรู้สึกหายใจไม่ทั่วท้องได้ตลอดทั้งเกม บรรดาสัตว์ประหลาดในเกมถูกดีไซน์ออกมาได้อย่างน่าสนใจ การดีไซน์ของสิ่งมีชีวิตลึกลับ (ในเกมเรียกว่า “The Shape”) ที่ดูน่ากลัว แต่ก็มีความสวยงาม สีสันที่ชวนให้หลงใหล ที่สามารถดึงดูดให้มนุษย์ชื่นชม ไม่ต่างจากแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ เป็น vibe
เสียดายที่ช่วงเวลาที่แคซต้องเผชิญหน้ากับพวกมัน มันมักจะเป็นฉากมืดๆ ไม่ก็ชุลมุนซะจนเราไม่มีเวลามองหน้าตามันแบบชัดๆ ทุกที แต่ก็นั่นแหละครับ ปรัชญาความกลัวพื้นฐานคือ ยิ่งเรามองเห็นมันน้อย ไม่แน่ใจว่ามันคืออะไรกันแน่ มันก็ยิ่งน่ากลัว เกมสอบผ่านในจุดนี้แบบไม่มีอะไรให้ต้องกังขา
แนวทางความน่ากลัวในแบบ Cosmic Horror แบบนี้ ไม่ใช่ของใหม่ในโลกวิดีโอเกม ยิ่งยุคหลังๆ Cosmic Horror ได้รับความนิยมสูงมาก หลายๆ เกม เลือกหยิบเอา “ความสยองขวัญจากสิ่งที่ไม่รู้” มาใช้ได้อย่างน่าสนใจในแบบของตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่ทุกเกมที่จะทำให้เรา “อิน” กับสิ่งที่เกมเล่าได้ในแบบที่ เราจะสามารถแคร์ตัวละครมากๆ ไปได้จนจบ แต่ Still Wakes the Deep นำเสนอจุดนี้ขึ้นมาเป็นแก่นหลักของเรื่องราว การนำเอา ความรู้สึกกลัว สับสน และสิ้นหวัง เมื่อเผชิญหน้ากับสิ่งที่ตัวเองไม่มีทางเอาชนะได้ เกมจับเอาจุดนี้มาเล่าในทางที่เรียบง่าย ไม่มีปรัชญาที่ยิ่งใหญ่หรือซับซ้อน เป็นแค่เรื่องของ “คนๆ หนึ่งที่พยายามจะมีชีวิตรอด” ทำให้ในมุมของความสิ้นหวัง มันยังแอบมี “ความหวัง” ในแบบที่ เราจะสามารถยินดีและน้อมรับ ที่จะเข้าไปสู่ใจกลางของความสิ้นหวังไปพร้อมกับแคซ ได้ไปจนจบเกม
ในส่วนเกมเพลย์ อย่างที่บอกคือ The Chinese Room ไม่ได้เด่นเรื่องเกมเพลย์มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เกมการเล่น Still Wakes the Deep เลยเป็นการเล่นเพื่อดำเนินเรื่องอย่างเดียว ไม่ได้มีอย่างอื่น แต่ที่ผมชอบ น่าจะเป็นการ Interact กับสิ่งต่างๆ รอบตัวของแคซ ที่ทำออกมาค่อนข้างสมจริง และเกมก็พยายามจะใช้ตรรกะความเป็นจริงให้มากที่สุด (อย่างเวลาเจอประตูล็อคเข้าไม่ได้ ทำไง ก็งัดเลยสิ) กับแอบมีให้กด QTE แทรกเข้ามาเป็นระยะๆ ซึ่งก็ไม่ได้ท้าทายอะไรเท่าไหร่ เพราะเกมมักจะใส่เข้ามาในจังหวะที่เราตั้งตัวได้ทัน ไม่มีจังหวะแกล้งกัน แบบวิ่งหนีอยู่แล้วต้องกด อะไรแบบนั้น พวกศัตรูที่ดูน่ากลัว เอาเข้าจริง มันก็ไม่ค่อยท้าทายนัก เพราะเกมมีจังหวะให้เราหนีชัดเจนมาก (เป็นจุดอ่อนของทีมนี้มาตั้งแต่ a Machine for Pigs แล้ว ในแง่การดีไซน์ความยากที่ยังไม่ค่อยท้าทาย)
แต่ทั้งหมดทั้งมวล ก็ไม่ได้ฉุดให้เกมแย่ลงแต่อย่างใด เพราะในส่วนอื่นๆ ของเกมก็ดีพอที่จะตรึงเราให้ติดตามวิบากกรรมของแคซได้ไปจนจบแล้ว ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังกลืนกินความเป็นมนุษย์ไม่มีสิ่งไหนที่จะค้ำจุนจิตใจได้ดีกว่า “ความเป็นมนุษย์” ที่ยังเหลืออยู่อีกแล้ว
Still Wakes the Deep
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in