เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ภาษาพาเพลินFayathi Sorap
คะ กับ ค่ะ
  •      มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ทำงานมีคนติดเชื้อโควิด 19 กันหลายคน ก็มีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งส่งข้อความทางไลน์กลุ่มไปว่า
         "หายไวไวนะค่ะ"

         เห็นแล้วจะบ้าตาย

         จึงส่งข้อความไปเตือนว่ากรณีของเธอนั้นต้องใช้ นะคะ ไม่ใช่ นะค่ะ



         ไม่น่าเชื่อนะคะ ว่ายุคนี้จะมีคนใช้คำสับสนระหว่าง คะ กับ ค่ะ กันหลายคน ทั้งเพื่อนร่วมรั้วโรงเรียน เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย ตลอดจนถึงเพื่อนร่วมงาน พอเจอบ่อยขึ้นเลยเริ่มสงสัยว่า
         ตกลงเรียนหนังสือภาษาไทยเล่มเดียวกันหรือเปล่า?

         โชคดี ที่แต่ละคนนี่อายุไล่เลี่ยกันหรือมากกว่า หากเป็นลูกเป็นหลานนี่คงโดนตีแน่ๆ หนอย แม่/น้า/ป้า/อา/ฯลฯ ได้เกรดภาษาไทย(สมัยม.ปลาย) 4.00 เป็นลูกหลานจะมาใช้ภาษาไทยผิดกะอีกแค่ คะ กับ ค่ะ เสียชื่อหมด
         ...ดีแล้วที่เอ็งไม่มีลูก และยังไม่มีหลาน...
         จริงๆถ้าใช้ผิดครั้งแรกๆคงไม่ตี คงจะเรียกมาอธิบายและสอนก่อน แต่ถ้าสอนแล้วยังไม่จำ ยังใช้ผิดซ้ำซากอีกละก็
      
         ตี ต้องตีให้แขนลาย!!!


         วันนี้เลยจะมาอธิบายคร่าวๆ เกี่ยวกับหลักการใช้ คะ กับ ค่ะ เท่าที่ตัวเองเจอมาและจำได้ทั้งชีวิต อันนี้เอาจากชีวิตจริงที่คิดออกนะคะ ไม่ได้อ้างอิงหลักอะไรทั้งสิ้น ขาดตกบกพร่องประการใดก็ขออภัยมา ณ  ที่นี้



         เริ่มกันที่คำว่า "คะ" ก่อน 

         "คะ" เป็นคำตาย เสียงตรี ไม่มีรูปวรรณยุกต์ เนื่องจาก ค ควาย เป็นอักษรต่ำ ปกติอักษรต่ำจะมีรูปวรรณยุกต์อยู่เพียง สามัญ เอก และ โท และมีเสียงวรรณยุกต์อยู่สามเสียงเช่นกัน คือ สามัญ โท และ ตรี
         เมื่อ ค ควาย ผสมกับสระสั้น (สระ อะ) จึงไม่มีวรรณยุกต์ แต่มีเสียงตรี 

         คะ ใช้ในกรณีต่อไปนี้ 

         1. ปิดท้ายประโยคคำถาม ทุกกรณี
         เมื่อไหร่ก็ตามที่เป็นคำถาม แล้วต้องมีหางเสียง ต้องตามด้วย "คะ" เช่น
         (what) - ทำอะไรหรือคะ?
         (when) - จะมาเมื่อไหร่คะ?
         (where) - สถานที่..อยู่ที่ไหนคะ?
         (who) - ไปกับใครคะ? (ยุ่งอะไรกับเขาล่ะคะ?...อุ๊บส์)
         (how) - มีขั้นตอนอย่างไรบ้างคะ?
         (why) - ทำไมไม่หุบปากซะทีคะ? เอ๊ย เกรี้ยวกราด เอาใหม่ ทำไมไม่หยุดพูดสักทีคะ?

         หรือแม้แต่คำถามในรูปแบบอื่นๆ เช่น คำถามให้ตอบ ใช่ หรือ ไม่ใช่ เช่น
         ตอบไม่ได้ใช่ไหมคะ? (เกลียดจริงเชียวเวลาอาจารย์ถามแบบนี้กับลูกศิษย์//อินเนอร์ตอนถูกอาจารย์แกล้งต้องมา)

         สรุปก็คือ ถ้าลงท้ายคำถาม ใช้คำว่า "คะ"
      

         2. ต่อท้ายคำต่อไปนี้
    2.1 คำว่า "นะ" แทบทุกกรณี เช่น หายไวๆนะคะ, ขอนะคะ, รักนะคะ, ซื้อนะคะ, ไปนะคะ ฯลฯ
    ข้อมูลเพิ่มเติม : "นะคะ" มักเป็นคำสร้อยที่ผู้หญิงชอบใช้เพื่อออดอ้อนบุคคลเป้าหมาย ซึ่งจะได้ผลดีหากอีกฝ่ายเป็นพวกแพ้การออดอ้อนออเซาะ แต่หากคุณอ้อนไปสองสามรอบแล้วอีกฝ่ายทำหน้าเหม็นเบื่อล่ะก็ เป็นไปได้ว่าคู่กรณีคงเป็นคนประเภทไม่ชอบถ้อยคำหวานๆพรรค์นี้ จงตระหนักรู้และหยุด ขืนยังดันทุรันใช้ต่อละก็
         อาจจะ จบเห่ ก็ได้ นะคะ
      
         นอกจากนี้ "คะ" ยังใช้กับ "นะ" ในคำว่า "ขอให้หายนะคะ
         เฉพาะกรณีที่อ่านว่า ขอ-ให้-หาย-นะ-คะ เท่านั้น
         ส่วนการอ่านอีกกรณีหนึ่งจะได้นำเสนอในโอกาสถัดไป

    2.2 คำว่า "ล่ะ" กรณีที่ไม่จบประโยค และ/หรือ กรณีที่เป็นคำถาม เช่น แล้วคุณล่ะคะ? แล้วฉันล่ะคะ? ฯลฯ

    2.3 คำว่า "สิ" ทุกกรณี...ที่นึกออก (เรื่องของเรื่องคือ ยังนึกถึงกรณีที่ใช้ "ค่ะ" ไม่ออก) เช่น ก็ใช่สิคะ ไปด้วยสิคะ ฯลฯ

    2.4 คำว่า "มั้ง" หรือ "มัง" (ก็คือ มั้ง เวอร์ชั่นโบราณ) เช่นกัน ทุกกรณีที่นึกออก เช่น ใช่มั้งคะ ถูกมั้งคะ เขาคงมีเหตุผลกระมังคะ ฯลฯ

    2.5 คำว่า "เหรอ", "หรือ" และคำต่างๆที่กลายพันธ์ุมาจากคำดังกล่าว ได้แก่ หรา, หรอ เช่น เหรอคะ? ใช่หรือคะ? ฯลฯ


         3. ใช้ในการตอบรับ กรณีที่รับเพื่ออยากจะถามกลับ หรือกรณีที่ไม่แน่ใจว่า อีกฝ่ายพูดอะไรมาหรือเรียกเราเพื่ออะไร เช่น

    - อีกฝ่ายเรียกชื่อเราแล้วพูดอะไรสักอย่าง ซึ่งเราไม่แน่ใจ เราอาจตอบรับไปว่า : คะ?
    กรณีนี้ "คะ" คือคำย่อของประโยคที่ว่า "พูดอะไรนะคะฟังไม่รู้เรื่อง/ไม่เข้าใจ หรือ พูดใหม่ได้ไหมคะ"
       
    - อีกฝ่ายเรียกชื่อเราแล้วไม่บอกอะไร เราอาจตอบรับไปว่า : คะ?
    กรณีนี้ "คะ" จะเป็นคำย่อของประโยคทำนองว่า "เรียกทำไมคะ หรือ ต้องการอะไรคะ"

         นี่เป็นตัวอย่างคร่าวๆของกรณีที่ใช้คำว่า "คะ"



         ต่อไปคือคำว่า "ค่ะ" 

         ค่ะ เป็นคำตายเช่นกัน มีรูปวรรณยุกต์เอก แต่เสียงโท กรณีนี้จึงเติมไม้เอกเข้าไป (ปกติอักษรต่ำเช่น ค ควาย ถ้ารูปไม้เอก จะเป็นเสียงโท และถ้ารูปไม้โท จะเป็นเสียงตรี ค่ะ แต่หากเข้ากับสระเสียงสั้น เช่น สระอะ สระอิ สระอุ เวลาเป็นเสียงตรีบางทีก็ไม่เติมวรรณยุกต์)

         ค่ะ ใช้ในกรณีดังต่อไปนี้ 
      
         1.ใช้ต่อท้ายประโยค
    1.1 กรณีปิดท้ายประโยคที่พูดแล้วจบเลยไม่ถามอะไรอีก เช่น เข้าใจแล้วค่ะ(ไม่มีอะไรถามต่อแล้ว) เดี๋ยวจัดการให้ค่ะ(เชื่อมือได้เลย) มาค่ะ(ถ้าเคยเป็นนักเรียนต้องเช็คชื่อน่าจะคุ้นกับอันนี้) ฯลฯ

    1.2 ปิดท้ายประโยคเช่นกัน แต่เป็นกรณีที่ประโยคแรก(ที่มีคำว่า ค่ะ)นั้น พูดจบแล้ว ประโยคต่อไปคือเรื่องต่อไป เช่น
    - เข้าใจผิดแล้วค่ะ(ไม่ถาม แต่ว่าตรงๆเลยว่า เอ็งอะ มั่ว) ที่ถูกต้องนั้นคือ.....(ยกเหตุผลเพิ่มว่าทำไมข้าคิดว่าเอ็งมั่ว)
    - และนี่ก็คือบทสรุปแบบคร่าวๆค่ะ(สรุุปจบแล้ว) และสิ่งที่คุณถามนั้น สามารถบอกได้ว่า...(เริ่มต้นเรื่องใหม่)


        2. ใช้ต่อท้ายคำกริยา หรือคำอะไรก็ได้ที่แสดงถึงความตั้งใจแน่วแน่แล้ว ยืนยันการกระทำ จบแล้ว ไร้คำถาม ไม่ต้องการพูดต่อ และไม่(น่าจะ)เปลี่ยนใจ เช่น ไปค่ะ(อย่ามาฉุดเสียให้ยาก) ทำค่ะ(หยุดถามซะที) บอกแล้วค่ะ(เอาตรูไปสาบานที่ไหนก็ได้ รับประกันพันเปอร์เซนต์) เกลียดค่ะ(ไปไกลๆตรูเดี๋ยวนี้) ฯลฯ


         3. ต่อท้ายคำต่อไปนี้
    3.1 ใช้ในประโยคว่า "ขอให้หายนะค่ะ" เฉพาะกรณีที่อ่านว่า "ขอ-ให้-หา/หาย-ยะ-นะ-ค่ะ"!!!
    ใครไม่ทราบก็ไปเปิดพจนานุกรมเอาเองว่า หายนะ แปลว่าอะไร และสำหรับผู้ที่ทราบแล้วก็อย่าได้เอาคำแช่งอาบน้ำผึ้งนี้ไปใช้พร่ำเพื่อ เกิดอีกฝ่ายดวงแข็งกว่า บาปเข้าตัวขึ้นมา จะยุ่งกันไปใหญ่

         และถ้าใครไม่แน่ใจว่าตัวเองจะเผลอใช้คำแช่งหรือเปล่า กรณีอยากอวยพรให้ใครหายป่วย ใช้คำว่า "หายไวๆนะคะ" ดีกว่า ไม่กำกวมและไม่ยุ่งยาก

    3.2 ต่อท้ายคำว่า "ล่ะ" กรณีที่เป็นการตอบรับ เช่น ก็คงต้องเป็นเช่นนั้นล่ะค่ะ ฯลฯ

    3.3 ต่อท้ายคำตอบ เช่น คำว่า ใช่ และ ไม่ใช่ เช่น ใช่ค่ะ ไม่ใช่ค่ะ หรือคำตอบอื่นๆ เช่น อาจจะใช่ค่ะ ไม่รู้ค่ะ (แต่ถ้าบอกว่า ไม่รู้สิ ต้องตามด้วย คะ) เห็นด้วยค่ะ แล้วแต่จะคิดค่ะ ฯลฯ 
         สรุปง่ายๆ ถามด้วย "คะ" ตอบด้วย "ค่ะ"  เว้นแต่มีคำสร้อยก่อนหน้าตามหลักการใช้ คะ ที่กล่าวไปก่อนหน้านี้  

    3.4 ตามหลังคำว่า "โอเค" เพราะส่วนใหญ่คำว่า โอเค มักเป็นตัวจบประโยคแบบไม่ถามต่อให้ยืดยาว กรณีจึงต้องใช้ "ค่ะ" 
         ถ้าจะใช้กับ "คะ" ต้องใช้ว่า "โอเคนะคะ" 
         ใครนึกไม่ออกไปฟังเพลง "โอเคนะคะ" ของคุณแคทลิยา อิงลิช เอา นะคะ (ดักแก่ หุหุ)

         โอเคคะ ไม่มี และ โอเคนะค่ะ ก็ไม่มี 
         ...นะคะ...


         4. ใช้ตอบรับ กรณีที่เราไม่ต้องการจะถามอะไรกลับ หรืออีกฝ่ายถามอะไรมาแล้วยอมรับ เช่น
    - อีกฝ่ายอาจจะถามว่า เธอชื่อ ... ใช่ไหม เราสามารถตอบสั้นๆได้ว่า : ค่ะ / ใช่ค่ะ (อย่างสั้นที่สุดก็สามารถตอบว่า ค่ะ ไปเลยได้) 
    - อีกฝ่ายอาจจะถามอะไรสักอย่าง เช่น เธอมาทำงานตอนแปดโมงครึ่งใช่ไหม ถ้าใช่ สามารถตอบว่า : ค่ะ
    ซึ่งเป็นคำย่อของ "ใช่ค่ะ ก็เห็นอยู่ว่ามากี่โมงจะถามทำไมวะ เอ๊ย คะ" (เห็นไหม "ทำไม" เป็นคำถาม จึงต้องต่อด้วย คะ)

         และนี่ก็คือกรณีที่ใช้คำว่า ค่ะ อย่างคร่าวๆ


         บางครั้ง คำว่า คะ กับ ค่ะ ก็จะมีการดัดแปลงลากเสียงให้ยาว มีคนบอกว่าเพื่อให้ดูสุภาพนุ่มนวลขึ้น(ตรงไหนวะ เอ๊ย คะ) โดยที่ คะ ก็จะกลายเป็น ค้า ส่วน ค่ะ ก็จะกลายเป็น ค่า (เห็นอะไรมั้ยคะ พอแปลงเป็นสระอาซึ่งเป็นสระเสียงยาว คำว่า ค้า นั้น ไม้โทจะปรากฏขึ้นทันที เพราะอักษรต่ำมักใช้ไม้โทกรณีที่เป็นสระเสียงยาวค่ะ ซึ่ง คะ กับ ค้า ก็มีเสียงวรรณยุกต์เดียวกันคือ เสียงตรี นั่นเอง)
         ก็แล้วแต่จะใช้ โดยส่วนตัวก็ไม่รู้สึกว่า คะ กับ ค่ะ ทำให้ดูห้วนนะ และที่แน่ๆ คะ กับ ค่ะ เป็นคำที่เป็นทางการกว่า ค้า กับ ค่า แน่นอน


         และถ้าคุณผู้อ่านเคยอ่านงานชิ้นก่อนๆของเรา คุณผู้อ่านอาจเคยสังเกตว่า เวลาที่จบด้วยคำว่า "สวัสดี" เราจะมีการจบทั้งสิ้น 3 แบบ

         สวัสดี ซึ่งจะใช้กรณีที่ทั้งเรื่องไม่ได้เขียนเข้ามาถึงตัวเองเลย และ/หรือแทบไม่ได้มีการลงหางเสียงทั้งเรื่อง ก็จบให้มันเข้ากันโดยคำว่า "สวัสดี" แบบห้วนๆ
      
         สวัสดีค่ะ ซึ่งใช้ในกรณีทั่วๆไป เน้นความสุภาพและกระชับ เป็นหลัก
      
         สวัสดีนะคะ ซึ่งจะใช้กรณี..ที่เขียนถึงเรื่องสนุกๆ หรือไม่ก็คือก่อนหน้านั้นได้กวนประสาทคุณผู้อ่านไป หรือไม่ ก็เพราะเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างกระจุกกระจิก ต้องการอารมณ์งุ้งงิ้งแทบตลอดเรื่อง แล้วเลยจบด้วย "สวัสดีนะคะ" แบบละมุนละไม

         สรุปก็คือใช้ได้ทั้งสามแบบ แล้วแต่อารมณ์ของเรื่องและสถานการณ์ขณะนั้น


         ทุกภาษามีเอกลักษณ์ของตัวเองค่ะ(เห็นไหม นี่จบประโยค ใช้ "ค่ะ") ภาษาไทยก็เช่นกัน เราในฐานะลูกหลานไทยก็ควรใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องตามหลักภาษาและไวยากรณ์ อย่าให้ใครตราหน้าเอาได้ว่าทำตัวเป็นคนไม่มีรากเหง้าหรือไม่มีการศึกษา

         เพราะฉะนั้น มาใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องกันดีกว่าค่ะ (ใครไม่พอใจคำว่า ค่ะ อนุญาตให้เปลี่ยนประโยคนี้เป็น "มาใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องกันดีกว่านะคะ" เอาเป็นว่า เอาที่สบายใจเลยค่ะ) 


         สวัสดีค่ะ


         ก่อนจบ ขออนุญาตประชาสัมพันธ์ เนื่องจากตั้งแต่ประมาณ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมา ทาง minimore เปลี่ยนรูปแบบเว็บใหม่ ผลที่เกิดขึ้นคือ งานเขียนเรา...ไม่มีคนอ่านเลย (คาดว่าหาเจอยาก)ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป เราจึงตัดสินใจกลับไปเขียนเรื่องราวในบล็อกเดิมของเราแทน คุณผู้อ่านที่ถูกจริตในงานเขียนของเรา สามารถติดตามไปอ่านได้ที่
         https://alwaysfay.blogspot.com/2023/02/blog-post.html
         ขอบพระคุณสำหรับการติดตาม และขอบคุณทาง minimore ที่ให้พื้นที่เราได้ขีดๆเขียนๆเรื่องราวตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้
         จนกว่าจะพบกันใหม่
         สวัสดีค่ะ 



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in