เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
สืบสาวลาวเรื่องแก้วสกุล.
สืบสาวลาวเรื่อง: 4 เรื่องติดดาวในมรดกวัฒนธรรมลาวปฏิวัติ
  • ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT


    “นึกถึงลาวแล้วนึกถึงอะไรน่ะเหรอ เมืองมรดกวัฒนธรรมล่ะมั้ง”

     

             พอพูดว่า ลาวเป็นเมืองมรดกวัฒนธรรม ภาพที่ผุดขึ้นมาในหัวเป็นภาพแรกคืออะไร

             ใช่วัดเชียงทอง หอพระบาง หรือพระธาตุหลวงที่เวียงจันทน์หรือเปล่า 

             นั่นก็ไม่ผิด ภาพสถาปัตยกรรมโบราณสมัยลาวล้านช้างอันสวยงามโดดเด่นที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานของประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง อาจทำให้คนไทยอย่างเรา ๆ ติดภาพจำประเทศลาวว่าเป็นเช่นนั้น ไปเที่ยวลาวครั้งใด สถานที่เหล่านี้ย่อมเป็นจุดหมายปลายทางที่เราตั้งใจว่าต้องไปเยือนให้ได้สักครั้งแน่ ๆ แต่ใครเล่าจะรู้ว่าในซอกหลืบหรือริมถนนสักสายในลาวที่เราอาจจะเดินผ่านไปไม่รู้ตัว ยังมีแง่มุมความเป็น เมืองมรดกวัฒนธรรม อื่น ๆ นอกเหนือจากสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์คนลาวที่เราอาจจะแค่แวะหยุดมาถ่ายรูปแล้วเดินไปที่อื่นต่อ เพลงลาวที่เราอาจได้ยินแบบผ่านหูในร้านอาหาร หนังสือวรรณคดีลาวปกสวย ๆ ที่เราอาจเห็นวางขายอยู่ตามแผงหนังสือ หรือภาพยนตร์ลาวที่เราอาจเปิดผ่านไปเจอตอนกำลังนอนดูทีวีในโรงแรม แม้ว่า 'มรดกวัฒนธรรม' ในเมืองลาวเหล่านี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่คนไทยอย่างเราคุ้นเคยดีนัก แต่ก็เป็นแง่มุมทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจไม่น้อย และนั่นอาจจะซุกซ่อนปริศนา ที่ถ้าไขออกแล้วอาจจะทำให้เรารู้จักประเทศเพื่อนบ้านของเราได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วยก็ได้

             2 ธันวาคม 1975 ถือเป็นวันสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ลาว เพราะนั่นเป็นวันประกาศเอกราชจากประเทศมหาอำนาจตะวันตกที่เข้ามาแทรกแซงกระบวนการทางการเมืองลาวเป็นเวลานาน และสถาปนาชาติลาวอันเป็นปึกแผ่นมั่นคงภายใต้ชื่อ “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” นับเป็นวาระสิ้นสุดของการต่อสู้มาอย่างยาวนานของแนวลาวรักชาติ (Lao Patriotic Front) ซึ่งเป็นฝ่ายปฏิวัติและประกาศชัยชนะเหนืออำนาจอนุรักษนิยมของฝ่ายปฏิการ ประเทศลาวได้ก้าวสู่ยุคสมัยของการเป็น “ชาติระบอบใหม่” อย่างเต็มรูปแบบ การปกครองเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีเจ้ามหาชีวิตเป็นประมุขมาเป็นระบอบสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ภายใต้การบริหารของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว โดยมีประธานประเทศคนแรกคือ เจ้าสุพานุวง ผู้เป็นแกนนำปฏิวัติ

             การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองที่พลิกโฉมหน้าการเมืองลาวครั้งใหญ่ทำให้ช่วงทศวรรษดังกล่าวเป็นยุคสมัยแห่งการปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นชาติ ที่คนลาวบางกลุ่มอาจไม่เคยคุ้นชินมาก่อน โดยแนวคิดที่รัฐผลักดันเหล่านี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานอุดมการณ์ปฏิวัติสำคัญ ๆ ยกตัวอย่างเช่น การกำจัดอิทธิพลอำนาจเก่าที่เคยสร้างความเสื่อมให้กับชาติ การสร้างความรับรู้ใหม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติตามแนวทางที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ปฏิวัติ รวมถึงการปลูกฝังคุณลักษณะอันพึงประสงค์แบบ “คนใหม่สังคมนิยม (new socialist man)” ที่เน้นความเสมอภาคปราศจากชนชั้นและการอุทิศตนเพื่อเป็นกำลังในการพัฒนาชาติเป็นสำคัญ เป็นต้น โดยพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเห็นว่า “วัฒนธรรมเป็นแรงผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติ จึงต้องเอาใจใส่ด้านวัฒนธรรม ศิลปะและวรรณคดีเข้าสู่จิตใจของประชาชน ทั้งจะต้องปกป้องส่งเสริมวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติให้ดีขึ้น” (คำไต สีพันดอน, 2539: 17-39 อ้างถึงในนรินทร์ พุดลา, 2550: 33) ความตั้งใจของพรรคในการปฏิรูปสังคมกลายเกิดเป็นความพยายามในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ ซึ่งในที่นี้จะขอรวมเรียกว่า “วัฒนธรรมลาวปฏิวัติ” 

             วัฒนธรรมลาวปฏิวัติมีลักษณะสำคัญคือ การฟื้นฟูวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีอยู่มาแต่โบราณ อันอุดมไปด้วยสิ่งที่สะท้อนรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของบรรดาเผ่าลาวที่อยู่ร่วมกันบนผืนแผ่นดินแห่งนี้ ควบคู่ไปกับการเปิดรับวัฒนธรรมสมัยใหม่แบบสังคมนิยมตะวันตกเพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของชาติลาว โดยได้เลือกรับอย่างรอบคอบและปรับใช้ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมลาว ณ ขณะนั้น ความพยายามเหล่านี้ถ่ายทอดผ่านเพลงที่แต่งให้คนลาวฟัง หนังสือที่เขียนให้คนลาวอ่าน ภาพยนตร์ที่ผลิตให้คนลาวดู หรืออนุสาวรีย์ที่สร้างให้คนลาวเห็น จนกลายเป็นกระแสวัฒนธรรมและประดิษฐกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมลาว

             ลองมาตามคนลาวยุค 80s ไปดูกันว่า หลังจากปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแล้ว ในช่วงนั้นมีวัฒนธรรมใหม่อะไรเกิดขึ้นบ้าง!

  • อนุสาวรีย์

            ความสำเร็จของการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศลาวนั้นไม่อาจได้มาโดยง่าย เพราะย่อมมีนักรบปฏิวัติมากมายต้องเสียสละชีวิตต่อสู้กู้ชาติในครั้งนี้ ดังนั้น ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พรรคประชาชนปฏิวัติลาวจึงได้มีโครงการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของเหล่านักรบปฏิวัติผู้กล้าหาญและเสียสละเอาไว้หลายแห่ง เพื่อเป็นการย้ำเตือนประชาชนลาวไม่ให้หลงลืมว่า ชาติที่เป็นปึกแผ่นมั่นคงและสงบสุขในปัจจุบันนั้นต้องแลกมาด้วยความสูญเสียไปมากเท่าใด

             อนุสาวรีย์ที่จะพาไปสำรวจในบทความนี้คือ อนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าหอพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์กองทัพประชาชนลาว พิพิธภัณฑ์สำคัญที่เปิดทำการมากว่า 70 ปี (เปิดทำการวันแรกวันที่ 20 มกราคม 1975) บนถนนไกสอน พมวิหานในนครหลวงเวียงจันทน์ อนุสาวรีย์นี้เป็นรูปปั้นชาวลาว คน ประกอบด้วยแม่หญิงลาวชาวนาถือเคียว ประคองรวงข้าวไว้ในอ้อมแขนซ้าย และสะพายปืนไว้ด้านหลัง นักรบปฏิวัติสวมผ้าคลุมท่าทางขึงขังมุ่งมั่น และกรรมกรแบกค้อน ยื่นแขนเหยียดมือออกไปด้านหน้า รูปปั้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากประติมากรรมสำคัญของสหภาพโซเวียตที่ชื่อว่า “The Workers and the Kolkhoz Woman” ออกแบบโดยสถาปนิกผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชินีแห่งประติมากรรมโซเวียต” อย่างวีรา มูคินา (Vera Mukhina) องค์ประกอบหลักในประติมากรรมของมูคินานี้คือ กลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญต่อระบอบคอมมิวนิสต์ ได้แก่ กรรมกร (the Workers) กับชาวนาระบบนารวม (the Kolkhoz: kolkhoz ในภาษารัสเซียหมายถึงนารวม

              ในประติมากรรมเวอร์ชันลาว นอกจากจะมีองค์ประกอบหลัก ๆ ตามประติมากรรมต้นเค้าแรงบันดาลใจแล้ว ผู้ออกแบบยังได้ประยุกต์และผสมผสานรายละเอียดของความเป็นท้องถิ่นลงไปบนรูปปั้นด้วย เช่น สาวชาวนาก็ให้นุ่งซิ่นและมวยผมแบบแม่หญิงลาวขนานแท้ และได้เพิ่มรูปปั้นนักรบปฏิวัติเพื่อเป็นตัวแทนของแนวลาวรักชาติ รายละเอียดที่ประกอบกันเป็นอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้อันยาวนานนี้สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีถึงสิ่งที่อุดมการณ์ปฏิวัติให้ความสำคัญ 3 ประการนั่นก็คือ การร่วมแรงร่วมใจต่อสู้ของคนทุกคนในชาติในฐานะนักปฏิวัติ ไม่แบ่งแยกหญิงชาย ความสำคัญของชาวนาและระบบนารวมในฐานะผู้ผลิตและจัดการทรัพยากรเพื่อหล่อเลี้ยงทุกชีวิตในชาติอย่างเท่าเทียม และความสำคัญของกรรมกรในฐานะผู้ออกแรงงานก่อสร้างสาธารณูปโภคสาธารณูปการต่าง ๆ ที่ทันสมัยในสังคม โดยคนสองกลุ่มหลังก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านักรบปฏิวัติที่มีหน้าที่โดยตรงแม้แต่น้อย ซึ่งสอดคล้องกับอุดมการณ์สังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ที่เน้นความเสมอภาคระหว่างประชาชนด้วยกัน และให้ความสำคัญกับหยาดเหงื่อแรงงานของผู้มีส่วนร่วมสร้างชาติทุกคน


    อนุสาวรีย์ด้านหน้าหอพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์กองทัพประชาชนลาว
    (ภาพ: https://m.justgola.com/a/lao-people-s-army-museum-1978048223)

             ในขณะเดียวกัน การสร้างอนุสาวรีย์ของกษัตริย์พระองค์สำคัญ ๆ ในประวัติศาสตร์ลาวก็เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ด้วยเช่นกัน อาจฟังดูเป็นเรื่องย้อนแย้งที่มีการเชิดชูวีรกรรมของพระมหากษัตริย์ในยุคที่ระบอบการปกครองเป็นแบบสังคมนิยม แต่บริบทสังคมในยุคสร้างชาติทำให้เกิดกระแสการกลับไปทบทวนประวัติศาสตร์และปรับเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับบุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญเสียใหม่ให้สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาชาติมากขึ้น ซึ่งความเข้าใจเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในอดีตของลาวก็ถูกนำมาชำระความใหม่เช่นกัน โดยวีรกรรมของพระมหากษัตริย์ที่ในอดีตได้ต่อสู้กู้ชาติหรือสร้างสรรค์วัฒนธรรมอันเป็นพื้นฐานของชาติลาวนั้นถูกรับรู้ในฐานะผู้ที่เสียสละและทำคุณประโยชน์ให้กับชาติ พยายามจะปลดแอกชาติลาวออกจากการการควบคุมของศักดินาภายนอก เพื่อสร้างชาติลาวที่เป็นของคนลาวอย่างแท้จริง 

             อุดมการณ์เบื้องหลังการกระทำของพระมหากษัตริย์เหล่านี้จึงไม่ต่างจากผู้นำปฏิวัติ สมควรได้รับการเชิดชูเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับประชาชนลาว รัฐบาลลาวจึงได้สร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจและรำลึกถึงความสำคัญของบูรพกษัตริย์ลาวหลายพระองค์ ยกตัวอย่างเช่น การสร้างอนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง หันพระพักตร์ไปทางฝั่งไทย และยื่นพระหัตถ์ขวาออกมาในท่าจับมือ เหตุที่ต้องเป็นเจ้าอนุวงศ์ก็เพราะพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์สำคัญที่ได้ต่อสู้กู้ชาติลาว จนกลายเกิดเป็นกรณีพิพาทกับสยามที่รู้จักกันในฐานะ “เหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์” ตามความรับรู้ของประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย (ซึ่งแตกต่างจากความรับรู้ตามประวัติศาสตร์ลาวที่ปรากฏในเอกสารและวรรณคดีลาวหลาย ๆ เรื่อง) ถึงกระนั้น แม้ว่าทัพของเจ้าอนุวงศ์จะปราชัยอย่างหนัก จนทำให้ชาวลาวหลายคนถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยศึกในสยาม แต่วีรกรรมและความกล้าหาญของพระองค์ก็ได้รับการเชิดชูโดยพรรคประชาชนปฏิวัติลาวที่ต้องการให้ประชาชนเกิดความซาบซึ้งในพระทัยที่พร้อมเสียสละต่อสู้เพื่อชาติอย่างแท้จริงและยึดถือเป็นเยี่ยงอย่าง นอกจากนั้น นัยของการสร้างอนุสาวรีย์ในลักษณะดังกล่าวยังเชิญชวนให้ผู้พบเห็นตีความว่า มโนทัศน์ของฝ่ายลาวต่อการบันทึกประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้งกันระหว่างลาวกับไทยนี้กำลังเป็นไปในรูปแบบใด


    อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ 
    (ภาพ: https://www.flickr.com/photos/rob-young/15345619074)
  • เพลงลาว

             ขึ้นชื่อว่าเป็นยุคสร้างชาติ เพลงที่จะขาดไม่ได้เลยนั่นก็คือเพลงชาติ แต่ใช่ว่าเพลงชาติลาวจะเพิ่งมาเกิดขึ้นในยุคปฏิวัตินี้เป็นครั้งแรก เพราะว่าลาวมีเพลงชาติมาตั้งแต่ในช่วงปี 1940-1950 สมัยที่ยังเป็น “พระราชอาณาจักรลาว” ภายใต้การควบคุมของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสแล้ว ทำนองและเนื้อเพลงชาติลาวฉบับแรกแต่งโดย ดร.ทองดี สุนทอนวิจิด ในปี 1941 มีเนื้อเพลงและคำแปลดังนี้


                     ຊາດລາວຕັ້ງແຕ່ເດີມມາ                ชาติลาวตั้งแต่เดิมมา
                     ຂຶ້ນຊື່ລືຊາຢູ່ໃນອາຊີ                      ขึ้นชื่อลือชาอยู่ในอาซี * 
                     ຊາວລາວຜູກພັນໄມຕຣີ                ชาวลาวผูกพันไมตรี
                     ຮ່ວມສາມັກຄີຮັກຫໍ່ໂຮມກັນ          ร่วมสามัคคีรักห่อรวมกัน
                     ຮັກຊາດຮັກປະເທດເຮົາ               รักชาติรักประเทศเรา
                     ຮັກເຈົ້າປົກເກດເກສາ                  รักเจ้าปกเกศเกศา
                     ໂຮມຮັກຮ່ວມສາສນາ                   รวมรักร่วมศาสนา
                     ແຕ່ບູຮານມາຮັກສາດິນແດນ         แต่โบราณมารักษาดินแดน
                     ບໍ່ໃຫ້ຊາດໃດມາລວນ                   ไม่ให้ชาติใดมารวน
                     ຮາວີຮົບກວນຍາດແຍ່ງຊີງເອົາ       ราวีรบกวนยื้อแย่งชิงเอา
                     ໃຜຂືນເຂົ້າມາລູ່ວຸ່ນວາຍ                ใครขืนเข้ามายุ่งวุ่นวาย
                     ສູ້ຈົນຕົວຕາຍຕ້ານທານສັດຕຣູ       สู้จนตัวตายต้านทานศัตรู
                     ຊ່ວຍເຊີດຊູເລືອດເນື້ອເຊື້ອເຜົ່າ       ช่วยเชิดชูเลือดเนื้อเชื้อเผ่า
                     ຟື້ນຟູກູ້ເອົາບັນເທົາທຸກກັນ            ฟื้นฟูกู้เอาบรรเทาทุกข์กัน

             * อาซี เป็นคำยืมภาษาฝรั่งเศส หมายถึง เอเชีย

             แต่เมื่อบริบทเหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนมาสู่ยุคปฏิวัติและเปลี่ยนแปลงการปกครอง รายละเอียด 'บางอย่าง' ในเพลงชาติลาวเดิมก็ล้าสมัยไปเสียแล้ว ในการนี้ ท่านสีซะนะ สีสานจึงได้แต่งเนื้อเพลงชาติขึ้นใหม่ในปี 1975 โดยใช้ทำนองเพลงชาติเดิม ดังนี้


                      ຊາດລາວຕັ້ງແຕ່ໃດມາ                     ชาติลาวตั้งแต่ใดมา  
                      ລາວທຸກທົ່ວຫນ້າເຊີດຊູສຸດໃຈ           ลาวทุกทั่วหน้าเชิดชูสุดใจ
                      ຮ່ວມແຮງຮ່ວມຈິດຮ່ວມໃຈ               ร่วมแรงร่วมจิตร่วมใจ
                      ສາມັກຄີກັນເປັນກຳລັງດຽວ              สามัคคีกันเป็นกำลังเดียว
                      ເດັດດ່ຽວພ້ອມກັນກ້າວຫນ້າ            เด็ดเดี่ยวพร้อมกันก้าวหน้า
                      ບູຊາຊູກຽດຂອງລາວ                      บูชาชูเกียรติของลาว
                      ສົ່ງເສີມໃຊ້ສິດເປັນເຈົ້າ                    ส่งเสริมใช้สิทธิ์เป็นเจ้า
                      ລາວທຸກຊົນເຜົ່າສະເໝີພາບກັນ       ลาวทุกชนเผ่าเสมอภาพกัน
                      ບໍ່ໃຫ້ພວກຈັກກະພັດ                     ไม่ให้พวกจักรพรรดิ
                      ແລະພວກຂາຍຊາດເຂົ້າມາລົບກວນ   และพวกขายชาติเข้ามารบกวน
                      ລາວທັງມວນຊູເອກະລາດ               ลาวทั้งมวลชูเอกราช
                      ອິດສະຫລະພາບຂອງຊາດລາວໄວ້     อิสรภาพของชาติลาวไว้
                      ຕັດສິນໃຈສູ້ຊີງເອົາໄຊ                     ตัดสินใจสู้ชิงเอาชัย
                      ພາຊາດກ້າວໄປສູ່ຄວາມວັດທະນາ     พาชาติก้าวไปสู่ความวัฒนา

            นอกจากเพลงชาติลาวแล้ว อีกเพลงหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือเพลง  ແອັງແຕກນາຊິໂອນາເລີ (อ่านว่าแองแต็กนาซิโอนาเลอแปลมาจากเพลงต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส L’Internationale ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเพลงคอมมิวนิสต์สากล โดยผู้แปลคือเจ้าอาริยะ สุพานุวง (1939-1967) โอรสองค์โตของเจ้าสุพานุวง แกนนำปฏิวัติ นัยของการแปลเพลงคอมมิวนิสต์สากลนี้อาจเป็นไปเพื่อปลุกใจแนวร่วมฝ่ายปฏิวัติให้มีกำลังกายและกำลังใจใจเข้มแข็งตามแนวทางลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นแนวทางที่กลุ่มแนวลาวรักชาติใช้เพื่อต่อสู้กู้ชาติ แม้ว่าจะไม่ปรากฏข้อมูลว่าเนื้อเพลงดังกล่าวนี้แปลขึ้นในปีใด แต่ถ้าสังเกตจากช่วงชีวิตของผู้แปลแล้ว ก็นับได้ว่าอยู่ในช่วงคุกรุ่นของการต่อสู้ระหว่างฝ่ายปฏิวัติและฝ่ายปฏิการเลยทีเดียว โดยเพลงนี้ได้นำมาทำการแสดงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบ 40 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบสังคมนิยม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อุดมการณ์คอมมิวนิสต์นั้นยังคงได้รับการเชิดชูโดยพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเสมอมาไม่เสื่อมคลาย ลองมาฟังเพลงและอ่านคำแปลกัน


             1
                       ລຸກຂຶ້ນພີ່ນ້ອງທຸກຈົນຂ້ອຍຂ້າເອີຍ             ลุกขึ้นพี่น้องทุกข์จนข้อยข้าเอย
                       ລຸກຂຶ້ນຜູ້ຖືກກົດຂົ່ມທັງຫລາຍ                 ลุกขึ้นผู้ถูกกดขี่ทั้งหลาย
                       ຂື່ນຂົມຄຽດແຄ້ນເຈັບແສບເຫລືອລົ້ນໃຈ      ขื่นขมเคียดแค้นเจ็บแสนเหลือล้นใจ
                       ເຮົາປະຕິຍານຕໍ່ສູ້ຈົນຕາຍ                        เราปฏิญาณต่อสู้จนตาย
     
                       ສັງຄົມເກົ່າອັນຊົ່ວຊ້າອະທຳນີ້                     สังคมเก่าอันชั่วช้าอธรรมนี้
                       ເຮົາກອດຄໍກັນລຸກຂຶ້ນທຳລາຍ                    เรากอดคอกันลุกขึ้นทำลาย
                       ເພື່ອສ້າງສັງຄົມກ້າວຫນ້າສຸກສັນຕິ             เพื่อสร้างสังคมก้าวหน้าสุขสันติ
                       ທຸກສິດປະໂຫຍດເຮົາກຳຄືນໃຫມ່                ทุกสิทธิ์ประโยชน์เรากำคืนใหม่
              ***
                       ສູ້ຄັ້ງນີ້ແມ່ນຄັ້ງທ້າຍສຸດ                            สู้ครั้งนี้เป็นครั้งท้ายสุด
                       ສາມັກຄີທຸກຄົນຈົນ                                  สามัคคีทุกคนจน
                       ແອັງແຕກນາຊິໂອນາເລີ                             แองแต็กนาซิโอนาเลอ
                       ຈະເປັນສັງຄົມປວງຊົນ                              จะเป็นสังคมปวงชน
                       ສູ້ຄັ້ງນີ້ແມ່ນຄັ້ງທ້າຍສຸດ                             สู้ครั้งเป็นครั้งท้ายสุด
                       ສາມັກຄີພ້ອມກັນສ້າງ                               สามัคคีพร้อมกันสร้าง
                       ແອັງແຕກນາຊິໂອນາເລີ                             แองแต็กนาซิโอนาเลอ
                       ສັງຄົມແສນສຸກສະຫວ່າງ                           สังคมแสนสุขสว่าง
             2
                       ພວກເຮົາຊົນຊັ້ນຄົນງານຫມົດໂລກນີ້            พวกเราชนชั้นคนงานหมดโลกนี้
                       ພວກເຮົາຜູ້ອອກເລືອດເຫື່ອເທແຮງ              พวกเราผู้ออกเลือดเหงื่อเทแรง
                       ຈິ່ງເປັນເຈົ້າຂອງຟ້າດິນຖິ່ນຖານນີ້                จึงเป็นเจ้าของฟ้าดินถิ่นฐานนี้
                       ຂູດຮີດນັ້ນ ເຮົາໂຄ່ນລົ້ມສຸດແຮງ                   ขูดรีดนั้น เราโค่นล้มสุดแรง
     
                       ປະຕິວັດຟາດຜ່າລົງຝຸງຍັກ ຜີມານ                ปฏิวัติฟาดผ่าลงฝูงยักษ์ผีมาร
                       ຝຸງປະຕິການຂາຍຊາດ ວອດວາຍ                  ฝูงปฏิการขายชาติวอดวาย
                       ປວງຊົນມີສິດຊີວິດສົດຊື່ນບານ                      ปวงชนมีสิทธิ์ชีวิตสดชื่นบาน
                       ລຸ່ມດວງຕາເວັນ ແສງທອດປະກາຍ                ใต้ดวงตะวันแสงทอดประกาย
     
             ***
             3
                      ບໍ່ມີຜູ້ໃດປົດແອກຂ້ອຍຂ້າເຮົາ                         ไม่มีผู้ใดปลดแอกเราข้อยข้า
                      ທັງຟ້າຣາຊາ ຫລື ວິລະຊົນ                          ทั้งฟ้า ราชา หรือวีรชน
                      ເຮົາເອງຕໍ່ສູ້ເດັດດ່ຽວຈິ່ງຊິງເອົາ                      เราเองต่อสู้เด็ดเดี่ยวจึงชิงเอา
                      ໄດ້ອິດສະລະເພື່ອປະຊາຊົນ                            ได้อิสระเพื่อประชาชน
     
                     ເພື່ອຍາດແຍ່ງເອົາຄວາມສຸກຊັບສິນຄືນ              เพื่อแย่งยื้อเอาความสุขทรัพย์สินคืน
                     ດ້ວຍໄຊຊະນະເຫລືອງເຫລື້ອມສະຫງ່າ             ด้วยชัยชนะเหลืองเลื่อมสง่า
                     ເພື່ອນເອີຍຮີບລຸກຕໍ່ສູ້ ຮີບລຸກຕື່ນ                      เพื่อนเอยรีบลุกต่อสู้ รีบลุกตามมา
                     ໄດ້ເຖິງໂອກາດ ເຖິງແລ້ວເວລາ                        ถึงโอกาส ถึงเวลาแล้ว
              ***

    เจ้าอาริยะ สุพานุวง ผู้แปลเพลง L’Internationale เป็นภาษาลาว
    (ภาพ: Facebook Page ພາບເກົ່າໆ - Lao Old Photos 
    https://www.facebook.com/LaoOldPhotos/photos/pcb.1748174061927610/1748172865261063/)

  • วรรณกรรม 

               วัฒนธรรมการเขียนและการอ่านวรรณกรรมนั้นเป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นและได้รับความนิยมแพร่หลายหลังจากได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตก ซึ่งหมายความว่า การแต่งและการอ่านวรรณกรรมนั้นได้ถือกำเนิดขึ้นและลงหลักปักฐานในประเทศลาวมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมฝรั่งเศสแล้ว เมื่อมาถึงยุคปฏิวัติ พรรคประชาชนปฏิวัติลาวก็ได้ใช้ประโยชน์จากการมีอยู่และความนิยมวรรณกรรมในการถ่ายทอดอุดมการณ์สร้างชาติอีกโสดหนึ่ง โดยได้มอบหมายให้คณะกรรมการวันนะคะดีจัดโครงการส่งเสริมงานด้านวรรณคดีหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการกำจัดอิทธิพลวรรณกรรมประโลมโลกแบบตะวันตกที่เคยรุ่งเรืองเฟื่องฟูในยุคก่อน แต่ไม่ยังประโยชน์ในการพัฒนาชาติ การฟื้นฟูวรรณคดีโบราณเพื่อแสดงที่มาของชาติ การแปลวรรณกรรมจากต่างประเทศ รวมถึงการแต่งวรรณกรรมแนวใหม่ที่เรียกว่า “วรรณกรรมสัจทัศน์สังคมนิยม (Socialist Realism)” อีกด้วย 

               หลักฐานที่แสดงให้เห็นความพยายามในการกำจัดอิทธิพลวรรณกรรมประโลมโลกที่เคยรุ่งเรืองเฟื่องฟูในลาวสมัยเป็นอาณานิคมของตะวันตก ได้แก่ การนิยามว่าวรรณกรรมเหล่านี้เป็น "วรรณกรรมเพลินจิต" เพราะเรื่องราวในวรรณกรรมที่เกิดขึ้นในยุคตั้งไข่ของวรรณกรรมสมัยใหม่ในลาวนั้นมักมีเนื้อหาที่เน้นความบันเทิงและความตลกขบขัน ซึ่งนักวิชาการลาวในยุคปฏิวัติมองว่า "ลอกแบบมาจากวรรณคดีฝรั่ง, ยกย่องชาวฝรั่ง, ประเทศฝรั่ง, บางบทก็สะท้อนเรื่องงมงายแบบเหลือเชื่อ, (...), เพลินจิตด้วยอารมณ์ธรรมดา, ไม่มีสาระสำคัญด้านสังคมเท่าใดนัก" ภัยความไร้สาระนี้จึงกลายเป็นสิ่งที่ควรกำจัดออกไปจากสังคมลาวให้สิ้น เพราะนั่นเป็นตัวการที่บ่อนทำลายวัฒนธรรมและค่านิยมอันดีงามของลาว อีกทั้งยังขัดขวางการพัฒนาชาติให้เจริญก้าวหน้าเสียอีก ดังนั้น หากพรรคประชาชนปฏิวัติลาวจะเลือกรับวัฒนธรรมวรรณกรรมแบบตะวันตกเข้ามา ก็ไม่ควรให้กลืนกินวัฒนธรรมดั้งเดิมหรือถ่วงความเจริญของชาติ

               แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับการคัดสรรวรรณกรรมต่างประเทศมาแปลเป็นภาษาลาว วรรณกรรมเล่มสำคัญ ๆ ส่วนมากเป็นผลงานเนื่องในแนวคิดสังคมนิยม โดยเฉพาะวรรณกรรมจากสหภาพโซเวียต ถือเป็นวาระอันดีที่ประชาชนลาวจะได้มีโอกาสเข้าถึงวรรณกรรมจากประเทศในโลกคอมมิวนิสต์ประเทศอื่น ๆ เพื่อให้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบการปกครองของชาติระบอบใหม่ได้ดียิ่งขึ้น นักเขียนคนสำคัญที่เป็นเสาหลักในวงการงานเขียนแนวสังคมนิยมที่ไม่แปลไม่ได้นั่นก็คือ แม็กซิม กอร์กี (Maxim Gorky) โดยมีผลงานหนังสือของกอร์กีแปลเป็นภาษาลาวอยู่หลายเล่มด้วยกัน เช่น ຊີວິດໄວເດັກ (ชีวิตวัยเด็ก) และ ມະຫາວິທະຍາໄລຂອງຂ້ອຍ (มหาวิทยาลัยของฉันซึ่งเป็นหนังสือเล่มที่ และเล่มที่  3 ในอัตชีวประวัติไตรภาคของกอร์กี แปลโดยนักเขียนและปัญญาชนลาวคนสำคัญ คือ ดาลา กันละยา

    หนังสือ ຊີວິດໄວເດັກ (ชีวิตวัยเด็ก) และ ມະຫາວິທະຍາໄລຂອງຂ້ອຍ (มหาวิทยาลัยของฉัน)
    (ภาพ: https://www.twirpx.com/file/2687580/ และ https://www.twirpx.com/file/268758/)

              ส่วนวรรณกรรมแนวใหม่ที่พรรคประชาชนปฏิวัติลาวสนับสนุนให้เกิดการแต่งและการอ่านอย่างแพร่หลาย ที่เรียกว่า “วรรณกรรมสัจทัศน์สังคมนิยม (Socialist Realism)” นั้น เป็นแนวการแต่งวรรณกรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวคิดของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่ว่า “นักเขียนควรเป็นวิศวกรของจิตวิญญาณมนุษย์ (the engineer of human souls)" ประกอบกับการที่ในยุคสมัยดังกล่าวนั้น สมาคมนักเขียนถูกผนวกเข้ามาทำงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว นักเขียนจึงได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็น “วิศวกรของจิตวิญญาณมนุษย์” ด้วยการแต่งวรรณกรรมเพื่อถ่ายทอดอุดมการณ์ของรัฐในการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง ลักษณะที่มักจะปรากฏในเนื้อหาของวรรณกรรมแนวนี้สรุปได้เป็น 4 ลักษณะคือ 1. เน้นการมองโลกในแง่ดีและสร้างความหวัง 2. เน้นความเป็นหมู่คณะและการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานมากกว่ามิติส่วนตัวของปัจเจกบุคคล 3. เน้นความจริงที่เป็นกลาง ไม่สร้างผลเชิงลบให้กับสังคม และ 4. ให้ความสำคัญกับการยกย่องบุคคลที่เป็นประชาชนทั่วไปมากกว่าตัวละครในตำนานเหนือจริงดังที่เคยเป็นมาในอดีต  

            แต่เดี๋ยวก่อน อ่านเผิน ๆ แล้วอาจจะคิดว่าลักษณะข้อที่ 2 กับข้อที่ 4 มันดูขัดกันยังไงชอบกลอยู่ใช่หรือเปล่า ข้อหนึ่งบอกว่าเน้นความเป็นหมู่คณะ แล้วทำไมอยู่ ๆ อีกข้อกลับมาเชิดชูฮีโร่ได้ จริงไหม คำตอบของเรื่องนี้อยู่ที่นัยของการเชิดชูวีรบุรุษวีรสตรีที่เป็นประชาชนธรรมดา ไม่ใช่ศักดินาที่มีพลังเหนือมนุษย์ ผู้เติบโตมาพร้อมลิขิตฟ้าว่าวันหนึ่งจะต้องไปฆ่ายักษ์เพื่อช่วยแม่หรือพี่สาวกลับมา ไม่ใช่เจ้าชายที่เกิดมาพร้อมของวิเศษ อาทิ ดาบศักดิ์สิทธิ์ ธนูมหัศจรรย์ หรืออยู่ ๆ ก็ไปจับได้ม้าที่วิ่งได้บินได้ด้วยความเร็วแสงมาเป็นพาหนะคู่กาย แล้วก็ยังเป็นคนที่ดันโชคดีมาก ๆ ที่อยู่ ๆ สวรรค์ก็เอ็นดู ส่งเทวดาที่เก่งที่สุดมาคอยเฝ้ายาม 24 ชั่วโมงและช่วยปัดเป่าภัยร้ายระหว่างทำภารกิจอันยิ่งใหญ่ สิ่งที่ซ่อนอยู่ในการเปลี่ยนฮีโร่ในตำนานมาเป็นบุคคลธรรมดาสามัญที่มีแค่หนึ่งสมองกับสองมือ พร้อมภารกิจอันแสนธรรมดาคือการชี้ให้เห็นว่า คนธรรมดาก็เป็นฮีโร่ได้ และคุณความดีที่บุคคลเหล่านั้นพึงกระทำก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่น้อยไปกว่าสิ่งที่วีรบุรุษวีรสตรีในตำนานเคยทำแม้แต่น้อย ดังนั้น หากหนุ่มสาวชาวลาวยุคชาติระบอบใหม่อยากจะเป็นฮีโร่ของสังคม ก็สามารถเริ่มได้จากการกระทำง่าย ๆ อย่างการมุ่งมั่นทำงานเพื่อชาติอย่างเข้มแข็งตั้งใจ ยึดมั่นในอุดมการณ์สร้างชาติ และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในการพัฒนาชาติไปสู่ความศิวิไลซ์ เฉกเช่นเดียวกับวีรบุรุษวีรสตรีในวรรณกรรมสัจทัศน์สังคมนิยมที่พวกเขาได้อ่าน ซึ่งก็เป็นคนธรรมดาเดินดินไม่ต่างจากพวกเขาได้กระทำไว้เป็นเยี่ยงอย่าง เพียงเท่านี้ หนุ่มสาวเหล่านั้นก็จะได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการนำพาชาติไปสู่ความเจริญและเป็นฮีโร่ของสังคมได้แล้ว

            ตัวละครที่มักพบอย่างเป็นแบบฉบับในวรรณกรรมประเภทนี้จึงเป็นตัวละครหนุ่มสาวที่สะท้อนภาพบุคคลที่อุทิศตนเพื่อประโยชน์ของชาติ โดยปราศจากเส้นแบ่งทางเพศ เชื้อชาติ ชนชั้น หรืออาชีพ ในลักษณะที่เรียกรวมได้ด้วยคำว่า “คนใหม่สังคมนิยม (new socialist man)” ตัวละครประเภทนี้เป็นตัวละครที่มีลักษณะค่อนข้างอุดมคติ เพราะทุกมิติในชีวิตของตัวละครเหล่านี้เป็นไปเพื่อรับใช้อุดมการณ์ มีชีวิตอยู่เพื่ออุดมการณ์ ทำงานเพื่ออุดมการณ์ และตายเพื่ออุดมการณ์  

             อ่านแล้วอย่าเพิ่งเบื่อ เพราะวรรณกรรมลาวแนวนี้ไม่ได้ขาดไร้สีสันบันเทิงไปเสียหมด ในเรื่องยังมีประเด็นความรักกรุบกริบแบบชายหนุ่มหญิงสาวมาให้พอชุ่มชื้นหัวใจอยู่บ้างเหมือนกัน แต่นั่นก็ยังเป็นความสัมพันธ์ประเภท "รักนี้เพื่อชาติ หัวใจเพื่อเธอ" ที่วางอยู่บนพื้นฐานของอุดมการณ์ที่สร้างทุกคนให้เป็น “อ้ายน้อง” กัน แต่สถานะแค่ “อ้ายน้อง” ที่ว่าไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีตัวละครใดแทงกั๊ก ไม่รักก็ไม่บอกแบบนั้น แต่คำว่า “อ้ายน้อง” ในภาษาลาวหมายถึงสหายนักรบปฏิวัติ ผู้จะร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่เพื่อพาชาติไปสู่ความศิวิไลซ์ในอนาคต แม้ว่าชะตากรรมความรักระหว่างตัวละครประเภทนี้หลาย ๆ ตัวมักจะจบลงด้วยความไม่สมหวัง เพราะมักจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ตายระหว่างไปรบ หรือไม่ก็รบเพลินจนลืมรัก (ซึ่งก็ทำให้เศร้าโศกไม่ต่างจากคนที่เป็นได้แค่พี่น้อง) แต่นั่นก็เป็นความไม่สมหวังที่ได้รับคำชื่นชมสรรเสริญในสายตาอุดมการณ์สร้างชาติ เพราะถือว่าหนุ่มสาวคู่นั้นมีน้ำใจรักชาติ และยอมเสียสละได้แม้ความสุขของตนเองเพื่อให้ชาติดำรงอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นแบบอย่างบุคคลที่เรียกว่า “คนใหม่สังคมนิยม” ตามที่ชาติต้องการอย่างแท้จริง

            ตัวอย่างวรรณกรรมปฏิวัติน่าอ่านที่จะขอเลือกมาแนะนำ ได้แก่ ຄ້າງຄືນໃນປ່າເລີກ (ค้างคืนในป่าลึก) ของจันที เดือนสะหวัน เป็นเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลซีไรต์ (S.E.A Write Award) ปี 1999 แปลและตีพิมพ์เป็นภาษาไทยแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2548 ในหนังสือที่ชื่อว่า “พลิกแผ่นดิน ปลิ้นแผ่นฟ้า”  โดยสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งได้รวมเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลซีไรต์ของนักเขียนลาวคนอื่น ๆ ไว้ด้วยอีกหลายเรื่อง เรื่องสั้นเรื่องนี้นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่าง “หมายใจ” หัวหน้าสมาคมแม่หญิงลาวประจำสำนักงานแขวงเวียงจันทน์ ที่ได้รับภารกิจให้ไปทำงานที่เขตห้วยหวาย (ป่าหวาย) กับ “เญียเจอ” ชายหนุ่มเผ่าม้งที่ทำงานอยู่ในหน่วยทหารป้องกันสำนักงานแขวง ซึ่งรับหน้าที่เป็นคนคุ้มกันเธอในการเดินทางครั้งนี้ หนุ่มสาวนักปฏิวัติทั้งสองจำเป็นต้อง “ค้างคืนในป่าลึก” ด้วยกันสองต่อสอง ซึ่งถ้าเป็นนวนิยายเรื่องอื่นคงมีลุ้นโมเมนต์ใจเต้นตึกตักกันบ้าง แต่เรื่องราวในวรรณกรรมปฏิวัติเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ก็ต้องขออุบไว้ก่อน ติดตามอ่านต่อได้ในตัวเล่ม

    หนังสือ ໂຮມເລື່ອງສັ້ນຂອງຈັນທີ ເດືອນສະຫວັນ (รวมเรื่องสั้นของจันที เดือนสะหวัน) และหนังสือพลิกแผ่นดิน ปลิ้นแผ่นฟ้า
    (ภาพ: https://www.laobookdokked.com/book/e-000104/ໂຮມເລື່ອງສັ້ນຂອງຈັນທີ-ເດືອນສະຫວັນ/ และ http://search.library.nsru.ac.th/BibDetail.aspx?bibno=121826)

  • ภาพยนตร์

             เช่นเดียวกับวรรณกรรม ภาพยนตร์ก็เป็นสื่ออีกประเภทหนึ่งที่พรรคประชาชนปฏิวัติลาวนำมาใช้เพื่อส่งเสริมการเผยแพร่อุดมการณ์สร้างชาติ โดยพรรคได้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลการสร้างภาพยนตร์อย่างจริงจัง เรียกว่า “กรมฮูบเงา (ກົມຮູບເງົາ)” ซึ่งได้ผลิต ฮูบเงา” ต้นฉบับลาวมาให้ประชาชนรับชมหลายเรื่องและถือว่าก้าวแรก ๆ ของการผลิตภาพยนตร์ภาษาลาวโดยคนลาว ภาพยนตร์ที่ผลิตขึ้นมีแนวเนื้อหาที่คล้ายคลึงกับเนื้อหาวรรณกรรม กล่าวคือ เป็นแนวสัจทัศน์สังคมนิยม สะท้อนความเป็นไปของบ้านเมือง เรื่องราวของการปฏิวัติ และสร้างตัวละครที่เป็นแบบอย่างให้กับคนในสังคม โดยเนื้อหาที่นำมาทำเป็นภาพยนตร์นั้นบ้างก็แต่งขึ้นใหม่ บ้างก็ดัดแปลงจากวรรณกรรมที่มีอยู่แล้ว

             ตัวอย่างผลงานภาพยนตร์เด่น ๆ ที่จะหยิบยกมาแนะนำให้รู้จักครั้งนี้มี เรื่อง คือ ສຽງປືນຈາກທົ່ງໄຫ (เสียงปืนจากทุ่งไห: The Sound of Guns from the Field) ออกฉายในปี 1975 บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่สมรภูมิรบทุ่งไหหินในแขวงเชียงขวาง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความลำบากในช่วงการต่อสู้ของขบวนการปฏิวัติลาว จบลงด้วยการที่ฝ่ายปฏิวัติเป็นฝ่ายชนะ และเรื่อง ບົວແດງ (บัวแดง: BuDaeng) ออกฉายในปี 1988 ดัดแปลงมาจากบทละครเวทีเรื่อง “บัวแดง” ของดาลา กันละยา (ผู้แปลหนังสืองสองเล่มของกอร์กีที่กล่าวถึงไปก่อนหน้า) ภายใต้นามปากกา “ดวงจำปา” เนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความรักบนอุดมการณ์ปฏิวัติของบัวแดงและคำหมั้นที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านในชนบท ในบริบทประเทศลาวช่วงปี 1972 ที่กำลังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจักรวรรดิอเมริกาในช่วงสงครามเย็น ความรักของชายหนุ่มหญิงสาวทั้งคู่ต้องถูกขัดขวาง เพราะคำหมั้นเข้าฝ่ายแนวลาวซึ่งในขณะนั้นถูกตีตราว่าเป็น “แนวลาวขายชาติ” จนมีอันต้องพลัดพรากจากกันในที่สุด

    • ภาพยนตร์เรื่องเสียงปืนจากทุ่งไห (1975)


    • ภาพยนตร์เรื่องบัวแดง (1988)

  •          ประเทศลาวที่เราคนไทยรู้จักกันดีว่าเป็น เมืองมรดกทางวัฒนธรรม’ ยังมีแง่มุมที่น่าสนใจมากกว่าวัฒนธรรมสมัยโบราณอยู่อีกมาก แม้ว่าเรื่องราวเกี่ยวกับช่วงที่ลาวเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้แพร่หลายนักในสังคมไทย แต่หากเราจะทำความรู้จักประเทศเพื่อนบ้านของเราให้ดีขึ้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของประเทศลาวนี้ก็เป็นอีกเรื่องราวหนึ่งที่น่ารู้อยู่ไม่น้อย ประเทศลาวยังมีเรื่องราวอีกหลายเรื่องที่น่ารู้ มีที่เที่ยวหลายแห่งที่น่าไป มีเพลงลาวหลายเพลงที่น่าฟัง มีหนังสือลาวหลายเล่มที่น่าอ่าน และมีภาพยนตร์ลาวหลายเรื่องที่น่าดู หากได้ไปลาวคราวหน้า อย่าลืมสังเกตซอกหลืบหรือสถานที่ริมถนนสักสายที่ผ่านไปให้ดี ๆ ไม่แน่ว่าอาจจะมีเรื่องราวเกี่ยวกับการปฏิวัติรอให้ไปพบอยู่ก็ได้!        

             หากสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับภาษาลาว วัฒนธรรม วิถีชีวิต หรือแง่มุมอื่น ๆ เกี่ยวกับประเทศลาว สามารถติดตามคอนเทนต์สนุก ๆ เพิ่มเติมได้ที่ Facebook Page: Read Out Lao’d เล่าเรื่องลาวนะ :)!


    ข้อมูลอ้างอิง
    ภาษาไทย
    ชัยรัตน์ พลมุข. (2564). คำบรรยายในรายวิชาปริทัศน์วรรณคดีลาว. คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
    นรินทร์ พุดลา. (2550). พรรคประชาชนปฏิวัติลาวกับการสร้างตัวตนวัฒนธรรมลาว. วารสารปาริชาต มหาวิทยาลัยทักษิณ,  19(2), 31-44.
    นิพัทธ์ ทองเล็ก. (2563). ศึกทุ่งไหหิน ... นรกบนดิน. สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/columnists/news_2421482
    ปณิตา สระวาสี. (2559). ลาว  ภูมิหลังและบริบทของพิพิธภัณฑ์ในประเทศลาว. สืบค้นจาก https://www.sac.or.th/databases/southeastasia/subject.php?c_id=4&sj_id=42
    รณชัย คงเติม. (2553). ภาพสะท้อนสังคมลาวผ่านวรรณกรรมยุค จินตนาการใหม่” ค.ศ.1986 – ปัจจุบัน (ภาคนิพนธ์ปริญญาบัณฑิต,           มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์). สืบค้นจาก http://km-ir.arts.tu.ac.th/s/ir/item/2401. databases/southeastasia/subject.php?c_id=4&sj_id=42.
    Histofun Deluxe. (2563). Worker and Kolkhoz Woman มรดกคอมมิวนิสต์ที่ยังคงอยู่ในรัสเซีย. สืบค้นจาก https://www.blockdit.com/posts/5fa565cda0ee8b7fe06e9aa1

    ภาษาอังกฤษ
    Koshcheeva, Anna. “Layers of Cultural History in Monuments of Vientiane, Laos.” SEAP Cornell Bulletin, Spring 2020 (2020): n. pag. Print.
    Lao National Anthem TV LAOS. (2017). Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=X6kbdgEiq2U.
    MV L'Internationale with Lao lyrics by PrinceSS 25 August 2015 ແອັງແຕກນາຊິໂອນາເລີ. (2015). Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=3WW9uCyMbHw
    National anthem of the kingdom of Laos (1947-1975) : "ເພງຊາດລາວ"(Pheng Xat Lao). (2016). Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=FprI5YdEzHM.
    Pheng Xat Lao. (n.d.). Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/Pheng_Xat_Lao
    ຮູບເງົາ ບົວແດງ Bua Daeng Movie. (2013). Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=-QXCXnK7OBE
    "ສຽງປືນຈາກທົ່ງໄຫ" "The sound of guns from the field" 1975. (2016). Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=qsp-e1hbOEE

    ภาษาลาว
    ເພງຊາດລາວ. (n.d.). ຊອກຫາຈາກ https://lo.wikipedia.org/wiki/ເພງຊາດລາວ
    Laos daily news. (2019). ຫໍພິພິທະພັນກອງທັບ ເປີດຫ້ອງວາງສະແດງວັດຖຸ ຮູບພາບຊອກຫາຈາກhttp://news.com.la/?p=68978.
     
    ที่มาภาพประกอบ
    http://search.library.nsru.ac.th/BibDetail.aspx?bibno=121826
    https://m.justgola.com/a/lao-people-s-army-museum-1978048223
    https://www.facebook.com/LaoOldPhotos/photos/pcb.1748174061927610/1748172865261063/
    https://www.flickr.com/photos/rob-young/15345619074
    https://www.laobookdokked.com/book/e-000104/
    https://www.twirpx.com/file/2687580/
    https://www.twirpx.com/file/2687586/

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in