"To philosophise is to learn how to die."
-- Cicero
"การพูดจาและคิดเยี่ยงนักปราชญ์ คือการเรียนรู้ว่าจะตายอย่างไร"
-- ซิเซอโร, นักการเมืองและทนายโรมัน (106 - 43 B.C.)
ยอมรับว่ามุมมอง และ ความรู้สึก ต่อโลกรอบข้างเปลี่ยนไปหลังเดินออกจากโรง
ความคิดวนเวียนอื้ออึงในหัวเต็มไปหมด หากเสียงที่ดังที่สุด (ที่เหมือนหลุดติดตัวมานอกจอด้วย หลัง timer หยุดที่นาทีที่ 75) คือความเงียบ
พูดคุยกับคนที่ไปดูด้วยแบบปกติน่ะแหละ ยังไม่ได้ถึงขั้นถูกสะกตจิตหรืออินกับหนังมากจนเหม่อต่อสิ่งรอบข้าง (ประสบการณ์หลังดู Inception (2010) อะไรประมาณนั้น --เป็นคนที่หลงเข้า film trance ได้ในระดับหนึ่ง ขึ้นอยู่กับหนัง) แต่อย่างที่เขาพูดกัน: 'หนังมันทำอะไรกับเรา'
มีความรู้สึกโหวงๆ ความคิดยังเป็นกลุ่มหมอก เหมือนคิดถึงหนังลึกๆ คิดถึงหนังนานๆ อย่างอธิบายสะสางเป็นฉากๆคืนนั้นไม่หมด
หมุนเปิดก๊อกน้ำ กดสวิชต์ไฟ ปิดประตู ก็ได้ยินเสียงแต่ละเสียงแยกกันชัดเจน เสียงที่ปกติเรามองข้ามเพราะเป็นส่วนธรรมดาในชีวิตประจำวัน จนแอบตกใจว่า เฮ้ย นี่เรายังอยู่ในโลกของหนังหรอ!
(อ้าว ก็อินกว่าที่คิดนี่หว่า)
'ความเงียบ' ที่พี่เต๋อจงใจใส่ในหนัง กลับทำให้คนดูอย่างเรารู้สึกถึงทุกรายละเอียดเล็กๆที่ประกอบกันเป็น 'ชีวิต' ถึงความเคลื่อนไหว การกระทำ คำพูด สิ่งรอบตัวที่ประกอบกันเป็นโลกของเรา เป็นความเป็นจริงของเรา เป็น 'ชีวิต' อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ในทุกลมหายใจตอนนี้
มองดูกรุงเทพฯคืนนั้น และ ระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นในรุ่งเช้าถัดมาผ่านหน้าต่างห้องของตึกสูง อดคิดไม่ได้ว่า นานแค่ไหนแล้วที่ไม่ได้เห็นเธอสวยแบบนี้
เพราะ 'ความเงียบ' ใน 'ชีวิต' ที่ปกติอยู่แบบรับฟังสิ่งรอบตัวที่ทำให้ประสาทวอกแวก พร้อมทำหลายอย่างพร้อมกัน multi-task แบบคนเจนวาย ทำให้กลับมามองชีวิตแบบช้าลง ชัดขึ้น 'รู้สึก' กับทุกสิ่งมากขึ้น
ทุกสิ่งที่ให้ความหมายกับชีวิต ทุกสิ่งที่ทำให้รู้สึกถึงความ 'เป็นอยู่' ของชีวิต (feeling 'alive' in life) ที่คาบเส้นบางๆกั้น 'ความไร้ชีวิต' (lifelessness) หรือความตายที่เป็นประเด็นของหนัง
เพราะชีวิตคือซีรีย์แห่งประสบการณ์ลูกแล้วลูกเล่า คือหนังสั้นหลายตอนที่กรอกลับไปไม่ได้ คือการเก็บเกี่ยว "ความทรงจำ" ทั้งดี ร้าย และส่วนเทาระหว่างกลาง ที่เราได้เผชิญขณะทำความรู้จักโลก คน และสิ่งรอบข้างมากขึ้นในแต่ละขวบปีอายุ
ดังที่ตัวละครในนิยาย อมตะ ของ วิมล ไทรนิ่มนวลเปรียบเปรยการอาลัยชีวิต ว่าเป็นการ "เสียดายความทรงจำ และเสียดายประสบการณ์ใหม่ๆที่เราปรารถนาจะได้รับ"
เป็นการเสียดาย 'ห้องเช่า' ใน Archives A: 05. Room for Rent ที่เรารู้สึก จดจำ และเก็บสิ่งของ รักษา "artifact" ทั้งที่จับต้องได้และไม่ได้ ทั้งที่เติมสีชมพู ให้ความเข้มแข็งและสร้างบาดแผลต่อใจ ห้องที่เราต้อง "ย้ายออก" เมื่อตัดขาดจาก 'ชีวิต'
สิ่งที่ให้ความหมายกับชีวิตกลับเป็นสิ่งที่ต้องละจากเมื่อความตายมาเยือน
ถามว่าถ้างั้นแล้ว ชีวิตที่ผ่านมา สิ่งของ artifacts ที่เก็บไว้ เหมือนพิพิธภัณฑ์ความทรงจำแห่งความเป็นอยู่ของคนๆหนึ่ง จะหมดความหมายเพราะ 'ความตาย' หรือเปล่า เพราะเจ้าของ 'ห้องเช่า' ไม่อยู่แล้ว
คำตอบ(ที่กลับมาคิดทบทวนหลังดูหนัง)คือ ความตายและชีวิตผูกพันกันเหมือนปัญหาไก่กับไข่
จะมีสิ่งหนึ่งโดยขาดอีกสิ่งหนึ่งไม่ได้
ในความมีชีวิต มีความตายเกี่ยวข้องอยู่
และในความตาย นั้นเต็มไปด้วยความมีชีวิต
หลังเพื่อนสนิทของเขาจากไป พระเอกในนวนิยาย Norwegian Wood ของนักเขียนคนโปรดเราอย่างฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) กลับตระหนักถึงประเด็นสำคัญของหนังสือว่า ความตายไม่ได้เป็นด้านตรงข้ามของชีวิต หากเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ("Death exists, not as the opposite of, but as a part of life.")
ส่วนตอนดู Blade Runner 2049 (2017) เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เราก็ฉุกคิดกับประโยคในหนังที่ว่า "ความเจ็บปวดทำให้เรามีความเป็นมนุษย์ -- Pain is what makes you human." พอกลับมาผนวกกับคำพูดของน้องมรรค (09. An Old Boy เด็กชายผู้มีจิตวิญญาณและความคิดราวผ่านโลกมาเกินวัย ณ Die Tomorrow) ที่ว่าการมีชีวิตอยู่นั้น 'เจ็บปวด' กว่าความตาย เพราะ 'เจ็บตรงนี้ เจ็บในใจ' แล้วเหมือนได้คิดกึ่งๆครบวงจรยังไงไม่รู้
เพราะเป็นมนุษย์ จึงมีความรู้สึก อ่อนไหว เจ็บปวด ในความเป็นอยู่ (mortality)
นักคิด และนักปรัชญายุค เรเนซองค์ (Renaissance) มิเชล มองเทน (Michel Eyquem de Montaigne) เปรียบความตายเป็น "การพ่ายแพ้อย่างไม่ดิ้นรน" (passive surrender) เขามองคล้ายน้องมรรคว่าชีวิตเสียอีก ที่ยากกว่าความตาย เพราะต้องใช้ทั้งความตั้งใจและการจัดการ และเพราะมีความเจ็บปวดมากกว่า ในความเปราะบาง ไม่ยั่งยืนหรือแน่นอน
ความเป็นมนุษย์ จึงทำให้เรารู้สึกถึง 'ความเจ็บปวด' ที่ทำให้ระลึกถึง 'ความตาย' ในเวลาเดียวกัน ทั้งๆที่ความตายนั้นแฝงอยู่ในชีวิต ในเซลล์ และ จิดใจที่ "เกิด และ ตาย อยู่แล้วทุกขณะ" เพราะ "เราหลงไปคิดเองว่า ความตายที่แท้จริงมันอยู่ตรงที่เราสิ้นลมหายใจแล้วเท่านั้น" (อมตะ, วิมล ไทรนิ่มนวล)
คำคมหนึ่งที่มักได้ยินจนชินขึ้นต้นประโยคด้วยคำเกริ่น: "ชีวิตมันสั้นเกินไปที่จะ... Life is too short to...." ก็เพราะเราระลึกถึงความตายในความมีชีวิตอยู่ ความไม่ถาวรในการเป็นอยู่ของเราในห้องเช่า ในร่างกายตอนนี้ เพราะหากมองมุมกว้างแล้ว เราเป็นแค่ชั่ววินาทีของจักรวาล เป็นจุดเล็กๆ ในไทม์ไลน์ที่มีมายาวนานเกินมนุษย์จะเข้าใจ
เป็นเวลาที่ "แสนสั้น แค่ความฝันของผีเสื้อ” (อมตะ, วิมล ไทรนิ่มนวล) เหมือนคำที่พี่เต๋อกล่าวถึงใน Archives A: 09. Butterfly's Dream: “ตอนสมัยเรียนปรัชญาจีนที่มหาวิทยาลัย เคยอ่านเจอว่า ‘เราอาจเป็นเพียงความฝันของผีเสื้อ’"
ทุกวันในชีวิตที่สั้นๆ ดูเป็นวันธรรมดาและเรียบง่าย หากความตายไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวเสียก่อน และ "ถ้าเราโชคดีมากๆ" นวนิยาย The Hours ของไมเคิล คันนิ่งแฮมกล่าวไว้ "เราก็จะถูกกลืนกินโดยเวลาไปเอง" ("...most of us, the vast majority, are slowly devoured by some disease, or, if we're very fortunate, by time itself.")
บ้างก็ว่า เพราะเราอาจเกิดมาด้วยลางสังหรณ์ใน 'ความเป็นอยู่' (mortality) เวลากลับเป็นเครื่องวัดทิศทางเดียว ทั้งที่มีเข็มทิศอื่นในโลก คือทิศของ "เส้นตรง" ที่พุ่งไปหาความตายเท่านั้น ("We must be born with an intuition of mortality…… for all the compass in the world, there’s only one direction, and time is its only measure." -- Rosencratz and Guildenstern Are Dead (Tom Stoppard), และ 'เส้นตรง' ใน Archives A: 12. Time Is a Line)
ในระหว่างเวลาชีวิตนั้น เรามักเห็น หรือได้พบ ความตาย ในหลายรูปแบบ ทั้งเจอกับตัวเอง คนรู้จัก ผ่านข่าว สื่อ หรือโดยไม่คาดคิด เหมือน 'เงา' ที่ตามชีวิตอยู่เนืองๆ เป็น 'ความคิด[ที่ความตาย]คว้าคอเราไว้อยู่ทุกขณะ" ("...thought of death and of the idea that at every moment it is gripping us by the throat") ทั้งๆ ที่ความตายเป็น "อะไรที่เราไม่สามารถเตรียมตัวได้" เป็น "ภวังค์อันไร้ทิศทาง" ("an aimless reverie") (How to Live, Sarah Bakewell)
มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่คิดถึงอนาคต
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่ากลีบสมองด้านหน้า (frontal lobe) ของเราทำให้คนสามารถคิดถึง 'ความเป็นอยู่' ของตัวตนของเราอย่างยาวนานในห้วงเวลา (the self's extended existence throughout time) และในความคิดจินตนาการไกลของคนนี่เอง คนส่วนใหญ่มักได้ฝึกฝนในการคิดถึงแต่สิ่งดีๆ จนมักกะความเป็นไปได้ของสิ่งดีๆที่จะเกิดขึ้นสูง พูดง่ายๆ ว่าจะมองโลกในแง่ดีเกินไป และมักเติมช่องว่าง (gap) ในการมองอนาคตด้วยตัวเอง ด้วยธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการรู้อนาคตเพื่อที่จะควบคุมประสบการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น
อ่านเจอตรงนี้ในหนังสือ Stumbling on Happiness ของนักจิตวิทยาสังคม (Social Psychologist) แดเนียล กิลเบิร์ต (Daniel Gilbert) แล้วนึกถึงตัวละครในแต่ละฉากของ Die Tomorrow ที่จินตนาการถึงอนาคต (Lucky Girls) วางแผนวันรุ่งขึ้นและผลัดวันอะไรๆที่จะทำกับคนข้างตัว (You Smile) ถกกันเรื่องการยอมรับ 'ความตาย' เป็นส่วนหนึ่งของอนาคตและปัจจุบันของชีวิตคู่ (A Passport) ครุ่นคิดถึงเหตุการณ์ที่จะตามมาหลังอุบัติเหตุในปัจจุบัน (พาร์ทพี่เต้ย -- แต่พาร์ทนี้มันเจ๋งตรงที่วิเคราะห์ได้หลายแบบจริงๆ) และปัดคำพูดสามคำในบทสนทนาสุดท้าย (No One Say I Love You) โดยไม่รู้ที่มาของคำขอ
เราชอบนึกมองไปไกล ถึงสิ่งที่ยังไม่เกิด อาศัยธรรมชาติความเป็นมนุษย์ที่พึ่งอารมณ์ ความรู้สึก และความคิดปัจจุบันในการตัดสินและมองอนาคต
ตั้งแต่เสียงนาฬิกาติ๊กๆเจาะจงแต่ละวินาทีที่ผ่านไประหว่างเรานั่งดูหนังอยู่ (คิดถึงสกอร์ดันเคิกขึ้นมาแปลกๆ) Die Tomorrow ทำให้เราย้อนกลับมาคิดถึง และอ้าแขนรับความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ส่วนที่ใกล้กว่าที่คิดและอยู่กับเราทุกชั่วขณะ
เพราะในความเป็นปกติ ในความมีชีวิต ความตายทำให้ความเป็นอยู่ของเราเป็นปัจจุบัน
เพราะจะตายวันพรุ่ง หรือตายตอนไหน ก็ไม่มีใครรู้ อยากให้คิดเสียว่า Die Tomorrow และบวกความตายในการจินตนาการถึงโลกอนาคตอันใกล้ ถึงสิ่งที่อยากทำ อยากเป็น ถึงคนที่รักและคนรอบข้าง ถึงชีวิตที่เป็นอยู่
สั้นๆ ง่ายๆ ตามประโยคและแฮชแทค hashtag ต่างๆ ในโซเซียลที่โปรโมทหนัง หลายอย่างเริ่มต้นด้วย 'today' เพราะ tomorrow คืออนาคต คืออะไรที่เราไม่รู้ว่าจะได้มาไหม แม้จะแสนใกล้ เพราะ 'today' อาจเป็นวันสุดท้ายที่ไม่มี tomorrow ตามมา
ขอให้ live today เพราะ die tomorrow นะคะ.
Shot Yesterday.
01. An Old Woman
กลับไปถามอาม่า (อายุ 86 ปี) เรื่อง 'ความตาย' เพราะจำได้ว่านางเคยพูดคล้ายๆในหนัง (6. An Old Man) เรื่อง ไม่แน่ใจว่าจะอยู่ไปอีกนานเท่าไหร่ และบางที ก็อยากตายๆ ให้มันจบๆ ไป แต่คราวนี้นางตอบเหนือมาก
ดูคลิปแล้วคิดตาม จริงๆ แล้วในความดู 'ไม่มีอะไร' ของคำว่า 'ไม่รู้' ซ้ำๆ ของอาม่า คือความจริง
"เพราะว่าเราไม่เคยตาย เราจะไปรู้ได้ยังไงเราถึงจะกลัว"
ก็ 'มันไม่เคยตาย' นี่หน่า Die Tomorrow สะท้อนให้เห็น 'วันต่อมา' ของชีวิตที่ดำเนินต่อไปหลังความตายเกิดขึ้นแล้ว แต่ 'ความตาย' จริงๆแล้วเป็นยังไง เราก็ยังไม่รู้
นักคิดอย่างมองเทน (Montaigne) ยังเชื่อเสียอีกว่า ในระหว่างตาย เราจะไม่เจอกับความตายเลย เพราะเราจะ "หายไป" ก่อนที่มันจะ "มาถึง" ("In dying, you do not encounter death at all, for you are gone before it gets there.")
02. An Old Girl
ถามหลานมอต้น (อายุ 12 ปี) ที่เป็นหนอนหนังสือ แล้วน้องตอบได้น่ารักมาก
"ก็กลัวแต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะสุดท้ายก็ต้องตายเหมือนกันทุกคน แต่เค้าบอกว่าก็ทำความดีไว้ .... จะได้ไปที่ดีๆ"
"เค้าบอกว่าเกิดมาแล้วใช้ให้คุ้ม เพราะถ้าเราอยู่ในที่อื่นๆ ไม่มีที่ไหนทำความดีได้เท่าเกิดเป็นมนุษย์แล้ว"
.
//
cinema + reflections = cineflections เพราะการดูหนังไม่ได้จบเพียงหน้าจอ.
ขอบคุณที่สนใจอ่านนะคะ
คิดเห็น ชอบไม่ชอบยังไง รบกวนกดด้านล่างให้เรารู้ จะได้ปรับปรุงบทความต่อๆไปให้ดีขึ้นค่ะ
ติชม พูดคุยกับเราทางเม้นท์ข้างล่างได้เสมอ
หากชอบบทความ ฝากเพจ FB ด้วยนะคะ เราจะมาอัพเดทความคิด บทเรียน และเรื่องราวจากหนังที่ชอบทั้งเก่าและใหม่เรื่อยๆค่ะ
ขอบคุณค่า
x
ข้าวเอง.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in