เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
postscript.cineflections
คุณเผาหัวใจเราทั้งเป็น: แปลภาษา อารมณ์ และน้ำตาของราชินีพฤษภาแห่ง Midsommar

  • "For even as love crowns you so shall he crucify you

    Even as he is for your growth so is he for your pruning."

    "แม้ขณะที่ความรักสวมมงกุฎให้เธอ มันก็จะตรึงกางเขนเธอ

    และขณะที่มันให้ความเติบโตแก่เธอนั้น มันก็จะลิดรอนเธอด้วย"


    -- The Prophet, Kahlil Gibran, ปรัชญาชีวิต, คาลิล ยิบราน


    คงเป็นหนังสยองขวัญเรื่องแรกที่เรายิ้มให้กับฉากจบ

    สำหรับคนที่หลงใหลใน 'ความงดงาม' ใน 'ความมืดมนและโกลาหล' ของมนุษย์สีเทาอย่างเรา ช็อตสุดท้ายของ Midsommar (2019) งานเริงระบำอาบเลือดกลางฤดูร้อนของ Ari Aster อาริ แอสเตอร์นั้น มาในจังหวะเวลาที่เหมาะสมและถ่ายทอดออกมาได้สวยงามไม่มีที่ติโดยนักแสดงหญิงคนโปรดของเรา (Florence Pugh ฟลอเรนซ์ พิว)



    *บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนังทั้งหมด 

    (SPOILER ALERT!) 




    รอยยิ้มหน้าเปลวเพลิงของ Dani (แดนี่) อาจเป็นจังหวะที่น่าตกใจของหลายคน เป็นอารมณ์ปิติยินดีอันซับซ้อนท่ามกลางบรรยากาศโกลาหลของผู้คนที่กำลังกรีดร้องโอดโอยในเบื้องหลังของเธอ


    หาก 'ความงาม' ในการยกยิ้มและสายตาสื่ออารมณ์เชิงบวก ที่สวนทางกับ 'การพังทลาย' และ 'ความสูญเสีย' รอบตัว ซ่อนตัวอยู่ในชั้นเชิง (เลเยอร์) ในอารมณ์ของหญิงสาว ณ​ จุดๆนั้นของเรื่อง ซึ่งเหตุการณ์ที่ทวีความรุนแรงและวิปริตต่างนำพาเธอมาอยู่หน้ากองไฟนี้

    สวมมงกุฎดอกไม้อย่างราชินีที่เธอสมควรเป็นในชีวิต และแสยะยิ้มให้กับกองไฟที่กำลังขจัด 'ส่วนเกิน' ที่เคยเกาะกินหัวใจเธอมาตลอด


    How Are You Feeling?: วังวนอารมณ์

    สิ่งหนึ่งที่เราหลงรักใน Midsommar คือการ explore ติดตามและดำดิ่งลึกใน 'อารมณ์' ของมนุษย์ ซึ่งแปรเปลี่ยนและยุ่งเหยิงในเวลาเดียวกันเมื่อขึ้นอยู่กับบริบท สิ่งแวดล้อม และสิ่งปลุกเร้าที่เจ้าตัวกำลังเผชิญอยู่

    บางครั้ง(หรือส่วนใหญ่?) เราหลงรักงานศิลปะ เพลง ตัวศิลปิน หรือหนังเพราะ 'ความชอบ'  และ 'ความหลงใหล'  ในสิ่งที่ 'สัมผัส' (touch) หรือ 'กระตุ้น' ความรู้สึกแรงกล้าในตัวเรา ถึงจะเป็นมนุษย์ผู้สันโดษแค่ไหน ก็ยังไม่วานเสาะหา และใช้เวลาไปกับสิ่งเหล่านั้น ถึงคนรอบข้างจะไม่เข้าใจดีกรีความลึกล้ำหรือ 'ตัวตน' / nature ของความชอบเรา 

    ไม่ว่าจะเป็นเพลงเศร้า รูปวาดที่น่าสะพรึงอย่าง The Scream (1893) ของ Edvard Munch หรือหนังสยองขวัญสั่นประสาทถึงขั้วหัวใจ เราต่างมองหา 'ความเชื่อมโยง' การที่จะ 'เป็นส่วนหนึ่ง' / identify with งานศิลปะ และยึดติด ยึดมั่นอยู่กับความชอบเพราะศิลปินเขา 'เข้าถึง' อารมณ์ที่เรารู้สึก และมองเห็นถึง 'ความงดงาม' ใน 'ความบิดเบี้ยว' นั้น

    เราตกหลุมรักโปสเตอร์ของ Midsommar เหมือนที่เรารักความรวดร้าวที่สวยงามของ Call Me By Your Name (2017) หรือความเจ็บปวดเพราะความเพอร์เฟคจาก Phantom Thread (2017)


    แดนี่กำลังร้องไห้ด้วยสายตาหวาดกลัวและสับสน ปากเธอเผยอน้อยๆ แสดงถึงการเก็บงำทางอารมณ์​ จังหวะเริ่มต้นของการเสียน้ำตาหยดหนึ่งขณะกำลังอดกลั้น hold back การกรีดร้องหรือสะอื้นออกมาให้เต็มที่ และเพราะ 'สายตาอันทรมาน' ของแดนี่เป็นสิ่งที่เด่นชัดที่สุด โปสเตอร์จึงเหมือนจงใจ 'ยัดเยียด' ความอัดอั้นที่แสนน่าอึดอัดต่อผู้มองเห็น อารมณ์หนักหน่วงในด้านซ้ายของโปสเตอร์กลับแย้งกับความสว่างสดใสในมงกุฏดอกไม้ที่บานสะพรั่ง

    เป็นโปสเตอร์ที่จับอารมณ์ของหนังได้อย่างฉลาดและจัดฉากเตือนผู้ชมแล้วว่ากำลังพาตัวเองเข้าไปเจออะไร

    สีหน้าและสายตาของแดนี่บนโปสเตอร์ทำให้เรานึกถึงรูปปั้นกรีก เหมือนกำลังมองการ 'จับ' ฉากอารมณ์ที่เข้มข้นแช่แข็งไว้กับกาลเวลา ซึ่งน่าแปลกที่อารมณ์หวาดกลัวของคนที่กำลังดิ้นรนเพื่อหลุดพ้นอะไรสักอย่างกลับกลายเป็นศิลปะที่ละเอียด น่าพินิจเฝ้าดู 

    รูปปั้นในหัวเราคือ Laocoon and his sons ผู้กำลังยืดยุดชีวิตตัวเองจากงูพิษ หลังโดนสั่งฆ่าเพราะไปเตือนชาวทรอยไม่ให้รับม้าไม้จากชาวกรีกในช่วงท้ายของสงครามกรุงทรอย (ปัจจุบันแสดงอยู่ที่นครวาติกัน)

    Midsommar ทั้งเรื่องเปรียบเสมือน 'การครอบงำทางอารมณ์ - emotional hijacking' ผู้ชม ด้วยเทคนิคลายเซ็นของอาริ แอสเตอร์ ทั้งความตึงเครียดระหว่างกลุ่มคนเล็กๆที่สัมผัสได้ และทวี build-up อารมณ์เครียดและมึนงงขณะจิตกำลังหน่วง ด้วยการปล่อยผู้ชมหลงทางในความรู้สึกที่ไม่อาจระบุเจาะจงสาเหตุได้ถูก การจงใจ 'แช่' กล้องไว้ ณ ช็อตต่างๆที่จะฝังตา ฝังใจ และตามหลอกหลอนความรู้สึกในแง่มืดมนที่ยากจะอธิบาย และการจงใจจัดฉากให้นักแสดงชาวหมู่บ้านยิ้มแย้มอย่างหลอกๆ สื่อมิตรไมตรีอย่างคนในท้องทุ่งที่ไม่จริงใจนัก

    (ก็เขาบอกแล้วว่า หลอกกันได้ กลางวันแสกๆ!)


    ฉากรวม 'run-through' แสดงหลายช็อตน่าสะพรึง (ที่เราคาดเดามาแล้วว่าต้องมี) ขณะแดนี่กำลังเมายาทำให้เรานึกถึงฉากสไตล์เดียวกัน (แต่โหดและรัวเร็วกว่าด้วยจำนวนช็อตที่ถี่ขึ้น) ใน Suspiria (2018) 


    หนึ่ง 'ลางบอกเหตุ / Foreshadowing device' ของเหตุการณ์ในหนังคือหนังสือที่จอช (William Jackson Harper วิลเลียม แจ็คสัน ฮาร์เปอร์) กำลังอ่านในรถขณะเดินทางไปยังฮาร์กา
    จากบทต้นฉบับของอาริ แอสเตอร์ (2017)

    The Poetic Edda ที่จอชกำลังอ่าน เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของไอซ์แลนด์ (ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย แถวเดียวกับสวีเดน) เขียนในปี (1000 - 1300 C.E. - Christian Era หรือสากลศักราช) ตัววรรณกรรม Eddas เป็นแหล่งหลักของความรู้เกี่ยวกับความเชื่อโบราณของ 'คนนอกศาสนา' ชาวนอร์ส (ancient Norse pagan beliefs) โดยบทกลอน Eddas เป็นโศกนาฎกรรมที่กล่าวถึง 'สภาวะทางอารมณ์ - emotional state' ของตัวละครหลัก บรรดาทวยเทพ และวีรบุรุษต่างๆ อย่างละเอียดชัดแจ้ง

    และอาริ แอสเตอร์ก็กำลังทำสิ่งเดียวกัน: พาผู้ชมดำดิ่งเข้าไปสู่ 'สภาวะทางอารมณ์' ของตัวละครหลักของเขา ณ หมู่บ้านของ 'คนนอกศาสนา' ชาวนอร์ส


    กลุ่ม 'คนนอกศาสนา' ในฮาร์กาก็ยังมี 'ภาษาลับๆ' เป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นภาษาแรกที่ชาวบ้านเรียนแต่เกิด


    แดนี่: 
    นายเป็นคนที่เห็นอกเห็นใจคนอื่นมากเลยรู้ไหม

    เพเล่: 
    ก็ภาษาแรกของเราที่นี่มีรากจากอารมณ์ล้วนๆ ผมอาจจะกำลังใช้มันควบคุมคุณอยู่ก็ได้

    บทสนทนาในฉากที่ถูกตัดระหว่างแดนี่และเพเล่

    จากบทต้นฉบับของอาริ แอสเตอร์​ Affects เป็นชื่อของภาษาลับนี้ และคำว่า Affect นอกจากจะใช้เป็นกริยาหมายถึง 'กระทบ' หรือ 'มีผลต่อ' (ใช้แยกกับ effect ที่แปลว่า 'ผลกระทบ) ยังหมายความว่า 'อารมณ์' ในเชิงจิตวิทยาได้อีกด้วย

    (เช่นคำว่า affection / affectionate ที่หมายถึงความรักและการแสดงออกว่ารักใคร่อย่างไรละ)


    สมาคมจิตวิทยาแห่งอเมริกา American Psychological Association (APA) นิยาม Affect ว่า: ประสบการณ์ใดๆของความรู้สึกหรืออารมณ์ และ Affect ใน Midsommar เป็นภาษาที่ละเอียดอ่อนและพัฒนาในตัวเองขึ้นตามกาลเวลา (evolve) เห็นได้จากคัมภีร์ Rupi Radr รูบิ ระเดียร์ในหนัง หรือ 'ชีทดนตรีแห่งอารมณ์ - emotional sheet music' ที่หนึ่งอักษรหมายถึงหนึ่งใน 16 อารมณ์ และถูกเขียนขึ้นโดย Ruben รูเบน คนพิการในหมู่บ้าน (เราแทบจะมองไปถึงการละเลงสีบนหน้ากระดาษของรูเบนตามอารมณ์เพียวๆได้ซ้ำ แต่ตรงนี้หนังยังไม่โฟกัสเท่าไหร่)

    Midsommar สื่ออีกแง่ของ 'ภาษาอารมณ์' โดยการทลายกำแพงขวางกั้นของคนๆหนึ่งและกระตุ้นให้เขาเปิดรับต่อสิ่งปลุกเร้า ('Breaks down your defenses and opens you for the influence.') คำอธิบายที่หญิงคนหนึ่งให้แก่คริสเตียน แฟนหนุ่มของแดนี่ ขณะยื่นแก้ว 'น้ำยา' ให้เขา


    การปลุกเร้าเปิดฉากการร่วมรักที่แปลกประหลาดและวิปริตที่สุดจากหนังที่เคยดูมา การจัดฉากอย่างมีพิธีรีตองเปลี่ยน 'บทสนทนาส่วนตัว' ระหว่างร่างกายสองคน เป็น 'กิจกรรมหมู่' ในการร่วมใจร่วมแรงเฝ้าดู ร้องเพลง และคอยผลักดันการ 'สร้างเด็ก' ในท้องของ Maja มายา 

    ที่น่าสนใจที่สุดคืือ 'การหายใจ' พร้อมกันของเหล่าผู้หญิงผู้รายล้อมคนทั้งสอง ซึ่งสื่อถึงความเป็น 'กลุ่มก้อน' ของชุมชน ที่แสดงอารมณ์ไปพร้อมกัน แม้กระทั่งการขับลมหายใจ(ที่หมายถึงแรงขับเคลื่อนชีวิต หรือการมีชีวิต) ในระหว่างหนึ่งการกิจกรรมที่(ควร)เป็นส่วนตัวมากที่สุดและเป็นการกระทำเพื่อสร้างชีวิตตามสัญชาตญาณดิบพื้นฐานของมนุษย์


    *พอค้นหาความหมายของมายาแล้วก็แอบยิ้ม เป็นอะไรที่ฉลาดและตรงจังหวะอีกแล้ว 

    Maja เป็นชื่อที่เป็นนิยมในยุโรป ทั้งสแกนดิเนเวียและเยอรมันนี

    Maja แปรมาจาก Maia มายอา หนึ่งในลูกสาวของแอตลาสในตำนานกรีก ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของชื่อเดือนพฤษภาคม (May) บางครั้งแปลได้ว่า 'แม่ตัวน้อย - Little Mother' และอาจแปลสไตล์นอร์ดิกว่า เป็นชื่อเล่นของ Maria มาเรีย, Mary แมรี่ หรือ Magdalena แม็กดาลีน่า 

    และแน่นอนว่าคนที่จะ 'ให้ชีวิต' แรกแก่มายา หรือแมรี่ ก็คือ 'คริสเตียน' ในการร่วมรักนอกศาสนา เพราะตามไบเบิ้ลแล้ว พระแม่มารีเป็นสาวพรหมจรรย์นั่นเอง


    Does he feel like home?: หลอกกันว่าฉันรักเธอ

    นวนิยาย The Seven Husbands of Evelyn Hugo นิยาม 'ความใกล้ชิด' ระหว่างคนสองคนไว้ว่า: 

    People think that intimacy is about sex. But intimacy is about truth. When you realize you can tell someone your truth, when you can show yourself to them, when you stand in front of them and their response is 'you’re safe with me' - that’s intimacy.

    "คนมองว่าความใกล้ชิดนั้นเกี่ยวกับเซ็กส์ แต่ความใกล้ชิดนั้นเกี่ยวกับความเป็นจริง เมื่อเราตระหนักว่าเราสามารถบอกความจริงของเรากับใครบางคน เมื่อเราสามารถแสดงตัวตนกับเขา เมื่อเรายืนตรงหน้าเขา และคำตอบของเขาคือ 'คุณปลอดภัยกับผมนะ' -- นั่นแหละ ความใกล้ชิด" 

    มองเผินๆแล้วคล้ายแดนี่หลงอยู่ในเขาวงกตที่ไร้ทางออกในตอนเปิดเรื่อง เธอไม่กล้าย่างเดินไปทางใดทางหนึ่ง เพราะกลัวผลที่จะตามมา กลัวว่าจะถูกทิ้งให้โดดเดี่ยวคนเดียวหาก 'เท' ความรู้สึกหนักอึ้งและปัญหาทั้งหมดของเธอลงกับแฟนหนุ่ม

    ที่จริงแล้ว ความสัมพันธ์ควรเป็น 'ที่ปลอดภัย' ที่ทั้งสองฝ่ายควรมีโอกาสคุยกันถึงสิ่งต่างๆในใจ ตกลง เรียนรู้ และเข้าใจกันแต่เนิ่นๆ (ซึ่งเป็นความหมายแท้ๆ ของการ 'คบหาดูใจ') ว่าพื้นฐานของคนที่เรากำลังคบอยู่เป็นอย่างไร คนอีกคนในความสัมพันธ์ต้องการอะไร ขาดอะไร และเราจะเติมเต็มเขาตรงนั้นได้ไหม จะเป็นฝ่ายที่ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นมากกว่าอยู่คนเดียวไหม 

    หากคนๆนั้นเปรียบเสมือน 'บ้าน' ของเรา ในทางที่ความสัมพันธ์เป็นการให้-รับเท่าๆกัน เราก็ควรเป็นบ้านที่พักพิงให้เขาด้วย

    เราชอบความเห็นในบทวิจารณ์หนึ่งเกี่ยวกับ Midsommar: ไม่ไร้เหตุผลหรอกที่จะก้าวเดินออกจากความสัมพันธ์ที่เรารู้สึกได้ว่าการเติมเต็มและ/หรือใกล้ชิดกับอีกคนกำลังกินพลังงานมากเกินกว่าที่เรามีให้และเราพอจะรับไหว

    คริสเตียนเองขี้ขลาดเกินที่จะบอกหรือเผชิญหน้าคุยกับแดนี่ตรงๆ เขาปล่อยให้อีกฝ่ายคิดวิตกกังวลว่าเป็นความผิดของเธอที่เจ้าปัญหาและอ่อนแอ ทั้งที่ลึกๆแล้วเขาเองอยากที่จะเริ่มใหม่ (สังเกตสายตาเขาที่มองตามพนักงานเสริฟ์หญิงคนนั้นสิ) และอาศัยวิธี gaslighting เอาตัวรอดอย่างเห็นแก่ตัวในความสัมพันธ์ เพื่อให้อีกฝ่ายจำนนต่อเขา รู้สึกดีที่มีเขาในชีวิตและโทษตัวเองอยู่ร่ำไป

    gaslighting เป็น 'การหลอก' อีกฝ่ายในความสัมพันธ์โดยใช้เทคนิคการควบคุมทางจิตวิทยา - psychological manipulation (ส่วนใหญ่มักจะเป็นฝ่ายชายกระทำต่อฝ่ายหญิง) ในความสัมพันธ์แง่ไหนก็ได้ ไม่จำกัดแค่เชิงชู้สาว

    gaslighting เป็นคำจากละครเวทีปี 1938 และหนังในปี 1940 เกี่ยวกับสามีผู้จงใจปั่นหัวภรรยาด้วยการหรี่ไฟที่มาจากแก๊สในบ้านของพวกเขา และยืนกรานปฎิเสธภรรยาเมื่อนางชี้ให้เห็นว่าแสงไฟมืดลง

    โดยใน Midsommar คริสเตีียน 'ต้อน' แดนี่ในบทสนทนาเปิดเรื่อง เขาพยายามอธิบายและนิยาม 'ความเป็นไป' ของน้องสาวแดนี่ 


    คริสเตียนแสดงสัญญาณหลักๆของ gaslighting ในบทสนทนาสั้นๆ

    1. ทำเหมือนเรื่องใหญ่เป็นเรื่องเล็ก (Trivializing) - ผู้ชมรับรู้ถึงอารมณ์กระวนกระวายของแดนี่ และการส่งอีเมล์ไปสามครั้งถึงน้องสาวที่ไม่ยอมตอบก็ไม่ใช่เรื่องเล็ก หากคริสเตียนกลับกล่าว: "I'm sure it's fine - คงไม่มีอะไรน่า" ได้หน้าตาเฉย และไม่ใช่ในแง่การปลอบโยน เขายังพูดเสริมว่า "She does this every other day, Dani - เธอทำยังงี้ทุกวันสองวันแหละแดนี่" เหมือนพยายามบอกแดนี่ว่าเรื่องที่เธอกำลังทุกข์ร้อนอยู่นั้นปกติมากมาย 

    2. เลี่ยงปัญหา (Diverting) - คริสเตียนกำลังโทษแดนี่ทางอ้อมที่เธอวิตกอยู่ คล้ายจะบอกว่าเธอน่ะ วิตกมากเกินไป เขาตะล่อมเธอด้วยประโยค "...but you do, though, babe. You go straight to crisis mode. แต่เธอเป็นนะ ที่รัก เธอดิ่งไปโหมดปัญหาทันทีเลย" ซึ่งเป็นเทคนิคทำให้อีกฝ่ายสับสนและเกิดไม่แน่ใจใน 'ความจริง' ของความรู้สึกตัวเองเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังวิตกอยู่

    3. ถามซ้ำซาก (Repetitive Questioning) - ทั้งๆที่รู้ว่าประโยคในอีเมล์สุดท้ายของน้องสาวแดนี่น่ากังวลแค่ไหน (ผู้ชมที่เพิ่งรับรู้สถานการณ์ก็ยังมองว่ามีอะไรน่ากลัวเกิดขึ้นกับน้องสาวแดนี่แน่ๆ) เขายังถามแดนี่ซ้ำว่า "Okay, but is it, though? - โอเค แต่ใช่จริงหรอ" แล้วโยงปัญหานี้เข้ากับ panic attack อื่นๆที่เคยเกิด ทำให้แดนี่ไขว้เขวหนักขึ้นไปอีก

    และถึงตัวบทอธิบายว่าแดนี่อยากจะเถียงคริสเตียน เธอก็ไม่อยากทะเลาะและสุดท้ายก็ได้แต่พูดซ้ำๆว่าเขาถูกๆ ซึ่งเป็นการ 'ถูกกด' ในบท 'เหยื่อ' ของ gaslighting โดยสมบูรณ์

    และพอทะเลาะกันหลังรู้ว่าคริสเตียนแอบซ่อนเรื่องไปสวีเดนจากแดนี่ เขาก็แสดงสัญญาณอีกข้อของ gaslighting

    4. ปิดตัวเอง (Witholding) - เมื่ออีกฝ่ายแสร้งว่าไม่เข้าใจหรือไม่ยอมฟังท่าเดียว เมื่อจนมุม กล่าวขอโทษ และเถียงแดนี่ไม่ได้ และไม่มีแรงจูงใจหรือความอยากที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น (เพราะเขารู้สึกว่า 'เหนื่อย' กับผู้หญิงคนนี้มากพอแล้ว) คริสเตียนได้แต่พูดซ้ำๆอย่างหนีปัญหาว่า "Maybe I should just go home - ผมควรจะกลับบ้าน" และยืนกรานว่า 'ก็พยายามขอโทษแล้ว' จนทำให้แดนี่ไม่รู้จะทำอย่างไร และขอโทษแทนเขาอีก ทั้งๆที่เขาเป็นฝ่ายผิด และไม่ยอมเปิดเผยพูดตรงๆกับเธอเรื่องเหตุผลที่เขาซ่อนทริปไปสวีเดน

    การขอโทษไม่ใช่ทางลัดที่จะปิดรอยรั่ว จบปัญหาง่ายๆแล้วปลีกตัวออกไป ประสบการณ์และปัญหาที่ผ่านมากับคนรอบข้างสอนเราว่าถึงจะยอมรับผิดและขอโทษแล้ว เราควรจะพูดตรงๆกับอีกฝ่าย สารภาพว่าเราตระหนักถึงความผิดนี้ ว่าเราทำผิดไปทำไม มีเหตุผลอะไร และเผชิญหน้ากับปัญหาตรงหน้าโดยตรง

    ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนทำได้ง่ายนัก

    แต่นั่นแหละ ในความสัมพันธ์ เราเชื่อความคำว่า 'รัก' ที่แท้จริง (ไม่ใช่ 'รัก' จอมปลอมเพียงลมปากของคริสเตียน หรือจากแดนี่ ผู้ไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่เธอประสบอยู่นั้นไม่ใช่ความรักอีกต่อไป) จะทำให้เราพังทลายกำแพงทิฐิ ยอมคุยกับคนที่เรารักดีๆ ตรงๆ ต่อหน้าเขา อย่างที่เราคงจะทำไม่ได้กับคนอื่น เพียงเพราะเรารักคนๆนี้จริงๆ

    gaslighting ทำให้แดนี่สงสัยตัวเองอยู่ซ้ำๆ เห็นการขอโทษคริสเตียนเป็นเรื่องปกติ และมักแก้ตัวแทนคริสเตียนให้เพื่อนๆฟังอยู่เสมอ เธอรู้สึกๆว่าอะไรสักอย่าง 'ไม่ถูกต้อง' แต่ไม่สามารถอธิบายได้ และสงสัยในตัวเองว่า 'เป็นตัวถ่วง' ของคริสเตียน เป็น 'แฟน' ที่ไม่ดีพอสำหรับเขา

    Jack Reynor แจ็ค เรย์นัว ผู้รับบทคริสเตียน ให้สัมภาษณ์ว่าเขาเล่นฉากที่คริสเตียนกำลังเมาด้วยฤทธิ์ยาก่อนร่วมรักกับมายาว่าเป็นครั้งแรกที่คริสเตียนเริ่ม 'รู้ตัว' จริงๆว่าเขาทำอะไรลงไปกับแดนี่ จากสายตาที่เขามองเธอ จ้องเธอจริงๆ และเริ่มรู้สึกผิด ที่เขาเป็นคน 'insensitive - ไร้ความเห็นใจต่อแดนี่'  เขาไม่ตัดสินใจเด็ดขาด ยอมตั้งใจลงแรงกับความสัมพันธ์ หรือเลิกกับแดนี่ไปแต่แรก แม้ก่อนจะเกิดโศกนาฎกรรมในชีวิตเธอ 

    แจ็คให้ความเห็นว่า ถึงโศกนาฎกรรมไม่เกิดขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างแดนี่กับคริิสเตียนนั้นทั้งแตกหัก เป็นพิษและอาศัยการพึ่งพากันและกัน (broken, toxic, co-dependent) ซึ่งทั้งสองคงจะเลิกกัน ไม่ช้าก็เร็ว


    ส่วนหนึ่งของฉากที่ตัดออกจากบทต้นฉบับของอาริ แอสเตอร์ เป็นบทสนทนาระหว่างผู้เฒ่าร่างอวบคนหนึ่งกับคอนนี่ ที่เราอ่านแล้วขนลุกขึ้นมา


    ผู้เฒ่าร่างอวบ:
    สมมุติว่าเธอพบว่าตัวเองเกี่ยวพันกับคนรักที่ไม่สามารถให้ความสำคัญต่อความจำเป็นของเธอมากกว่าเขาได้

    คอนนี่:
    นั่นมันควรจะหมายความว่ายังไง?!

    ผู้เฒ่าร่างอวบ:
    สมมุติว่าเธอรู้ว่าคู่รักไม่สามารถแยกตัวออกแม้จากเศษเสี้ยวของความสบายตัวเองเพื่อให้สิ่งที่จำเป็นแก่เธอ และแสดงให้เห็นว่าเธอมีค่า
    เธอจะไม่เริ่มรู้สึกขุ่นเคืองคนๆนี้หรือ การแสดงออกของเธอจะไม่เริ่มแผ่วลง พอรู้ว่าเขาไม่ลงมือลงแรง เธอจะไม่อยากทำโทษเขาคนนั้น เพราะเขาไม่เห็นค่าเธอหรือ

    การเสียสละคือข้อพิสูจน์ และหากไร้ซึ่งมัน ไม่มีการคบกันได้นานหรอก


    Horrible and Beautiful: งดงามในความเลวร้าย

    ครึ่งแรกของบท Midsommar มักกล่าวถึงอากัปกริยาของแดนี่เสมือนเธอเป็นนักโทษในผิวของตัวเอง (a prisoner in her own skin)


    แดนี่หยิบจับตรงคอตัวเอง - ยังคงรู้สึกอึดอัดในผิวของตัวเอง - หน้า 53

    การหายใจของเธอรวนและเธอกำลังดึงผิวตรงคออีก (คล้ายจะทำให้ผิวหลวมออก) - หน้า 69

    อาริ แอสเตอร์กำลังพยายามสื่อถึงความรู้สึกของแดนี่ที่ยัง 'ไม่เป็นตัวเอง' รู้สึกอึดอัดกับตัวเองและสิ่งที่เป็น ความคิด อารมณ์และความรู้สึกทุกอย่างที่เธอเก็บงำไว้ภายในไม่ให้เล็ดลอดออกมา ถึงกับต้องวิ่งไปสะอื้นอยู่คนเดียวหลายครั้ง

    จนกระทั่ง 'การสะอื้นหมู่' ของเธอปลายเรื่อง ที่แดนี่ได้ปลดปล่อยเต็มที่และพร้อมๆกับหญิงชาวบ้านคนอื่นๆ

    บทอธิบายถึง 'การปลดปล่อย' อารมณ์ทั้งหมดของแดนี่ที่เคยเก็บกักราวยัดใส่ขวดแก้วไว้ อารมณ์ทั้งหมดที่เธอเหนื่อยล้าอดกลั้นไม่ปล่อยออกมา ผู้หญิงทุกคนในวงนั้นเชื่อมโยงกันด้วยความเห็นอกเห็นใจ อาริ แอสเตอร์นิยามฉากว่า "It's remarkable, and very unsettling - มันช่างโดดเด่นเป็นพิเศษ และน่าตื่นตระหนกเอามากๆ"

    และเมื่อการร้องไห้ต่อๆกันกลายเป็นเหมือนโรคติดต่อ อาริ แอสเตอร์อธิบายกลุ่มหญิงสาวร้องไห้ตีโพยตีพายว่าดูคล้ายการกระทำของชนเผ่า (tribal) อย่างแท้จริง

    จากส่วนหนึ่งของวงกลมเพื่อช่วงชิงตำแหน่งราชินีพฤษภาคม แดนี่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ 'วงกลม' กลุ่มชนในหมู่บ้านที่ๆทุกอย่างติดต่อเชื่อมโยงกันไปหมด และผสานเป็นหนึ่งกับธรรมชาติเหมือนคำของเพเล่: 

    เพเล่:
    ธรรมชาติรู้โดยสัญชาตญาณว่าจะคงอยู่อย่างปรองดองอย่างไร มันเป็นกลไก ทุกอย่างทำหน้าที่ของตนเอง


    และการ 'ปลดปล่อย' ของแดนี่ ทำให้เรานึกถึงฉากใน Never Let Me Go (2010) ที่การแสดงของ Andrew Garfield แอนดริว การ์ฟิลด์ยังติดตาและฝังในความรู้สึกตั้งแต่ครั้งแรกที่ดู ถึงตอนนี้


    ในฉาก ตัวละครทอมมี่ที่เล่นโดยแอนดริว เพิ่งรับรู้ความจริงบางอย่างที่ทำให้เขาทนไม่ได้ จนต้องทิ้งตัวลงกรีดร้อง ราวกับปล่อยอารมณ์ทั้งหมดที่อัดอั้นอยู่ออกมา เป็นภาพแห่ง 'การระเบิด' ของอารมณ์เมื่อถึงจุดสิ้นสุดของเส้นทางที่ค้นหาคำตอบมาตลอด ซึ่งสวยงามในความหดหู่ของมัน พอๆกับวลีที่อาริ แอสเตอร์ใช้นิยามฉากจบของ Midsommar:

    "It is horrible and it is beautiful. มันทั้งเลวร้ายและงดงาม"


    xxxxxx


    ปล. ตัวแจ็ค เรย์นัว (พระเอก) เป็นคอหนังตัวยงและเปิดไอจีพูดคุยเรื่องหนังที่ชอบหลายเรื่อง เห็นทีต้องตามไปดูซะแล้ว :)



    ปล 2. ทาง A24 โปรโมตหนัง(ในตอนนั้น)แบบสร้างสรรค์อีกแล้ว โดยออกโปสเตอร์เทศกาลดนตรีหน้าร้อนเลียนแบบ Coachella โคเชลล่า ที่แอลเอเป๊ะๆ ลองอ่านชื่อวงต่างๆดูแล้วคุณจะยิ้มตาม


    ขอบคุณที่สนใจอ่านนะคะ <3

    คิดเห็น ชอบไม่ชอบยังไง รบกวนกดด้านล่างให้เรารู้ จะได้ปรับปรุงบทความต่อๆไปให้ดีขึ้นค่ะ 

    ติชม พูดคุยกับเราทางเม้นท์ข้างล่างได้เสมอ


    หรือจะแวะมาทาง twitter: @cineflectionsx 

    หากชอบบทความ ฝากเพจ FB ด้วยนะคะ เราจะมาอัพเดทความคิด บทเรียน และเรื่องราวจากหนังที่ชอบทั้งเก่าและใหม่เรื่อยๆค่ะ

    x

    ข้าวเอง.


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Aum Anantapohn (@fb2811371242419)
วิเคราะห์ได้ดีเลยค่ะ ภาษาสวยมาก อ่านเพลินสุดๆ รู้ตัวอีกทีก็อ้าว จบแล้ว งี้เลยค่ะ5555555
cineflections (@cineflections)
@fb2811371242419 ขอบคุณมากๆเลยค่ะ ดีใจที่ชอบนะคะ
Nitchamon Mongkolsawat (@nitchamon.m)
อ่านเพลินจนจบเลย ส่วนตัวเคยเป็นแบบแดนี่เลยค่ะ แต่ไม่ได้เจอเรื่องโหดแบบนั้นนะ 5555
เราแสดงออกหลายๆอย่างแบบแดนี่เลยค่ะ
cineflections (@cineflections)
@nitchamon.m ขอบคุณมากเลยค่ะ เป็นกำลังใจให้นะคะ
Silapa Junior (@silapa.junior)
สุดยอดไปเลยครับ ชอบมากเลยที่เอา screenplay มาวิเคราะห์ด้วย : )
cineflections (@cineflections)
@silapa.junior ขอบคุณค่า
planetarium036 (@GiornoExperience)
วิเคราะห์ได้ละเอียดและน่าสนใจมากครับ ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ นะครับ ^_^
cineflections (@cineflections)
@GiornoExperience ขอบคุณมากๆเลยค่ะ ดีใจที่ชอบนะคะ