เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Pupzy's in quarantinePupzyy
ความสุข
  • ในช่วงโควิดแน่นอนครับทุกคนคงจะได้มีโอกาสกักตัวอยู่บ้าน โดยกิจกรรมยามว่างของแต่ละคนก็แตกต่างกันไปไม่ว่าจะเป็นดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกาย หรือเรียนออนไลน์ ผมเป็นคนหนึ่งที่ใช้เวลาว่างช่วงกักตัวในการเรียนออนไลน์ โดยคอร์สที่ผมเรียนมีชื่อว่า introduction to psychology จัดทำโดย Yale University โดยเว็บไซต์ที่ชื่อว่า coursera (https://www.coursera.org/learn/introduction-psychology/home/welcome) ซึ่งเนื้อหาข้างในจะเกี่ยวกับจิตวิทยาพื้นฐาน สมอง วิวัฒนาการ ภาษา ความคิดความจำ เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่ผมมองว่ามันเป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตอย่างมากและผมอยากหยิบยกมาแบ่งปันให้กับท่านผู้อ่านคือเรื่องของ ความสุข และธรรมชาติของมัน

    ความสุขหรือ happiness เป็นสิ่งที่เราต้องการมันตลอดเวลาหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งในเชิงจิตวิทยาว่า ความสุขคือการที่ความต้องการของเราถูกสนอง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราหิว เรามีความต้องการที่จะกิน พอเราได้กินอาหารนั้นหมายความว่าเราได้สนองความต้องการนั้น เพราะฉะนั้น การที่เราอิ่มก็คือความสุข ในตัวอย่างนี้ โดยSteve Pinker นักจิตวิทยาชาวแคนาดา-อเมริกาได้ให้นิยามของความสุขที่ค่อนข้างสั้นและรัดกุมว่า เราจะมีความสุขก็ต่อเมื่อเรามีสุขภาพที่ดี ได้กินอาหารที่ดี รู้สึกสะดวกสบาย รู้สึกปลอดภัย เจริญรุ่งเรือง รอบรู้ เป็นที่เคารพ รู้สึกไม่โดดเดี่ยว และรู้สึกการเป็นที่ถูกรักจากคนรอบข้าง หากท่านผู้อ่านลองทำเช็กลิสต์ดูแล้วรู้สึกอย่างที่ Steve กล่าวมานั่งแสดงว่าท่านผู้อ่านกำลังมีความสุขกับชีวิตทุกวันนี้อยู่ 

    พอท่านผู้อ่านพอเข้าใจถึงนิยามของคำว่าความสุขในเชิงจิตวิทยาแล้ว ผมอยากจะตั้งคำถามสั้นๆ กับท่านผู้อ่านว่า ท่านผู้อ่านมีความสุขมากแค่ไหนในทุกวันนี้ โดยใช้ตัวเลข 1-10 เป็นค่าวัดถึงความสุข (1= มีความสุขน้อยที่สุด 10= มีความสุขมากที่สุด) มันอาจจะดูเป็นคำถามที่ค่อนข้างคลุมเครือและไม่ค่อยเฉพาะเจาะจงเท่าไหร่ แต่ท่านผู้อ่านเชื่อหรือไม่ครับว่า จากผลการสำรวจผู้คนส่วนให้มักจะให้คำตอบที่ประมาณ 7-8 แต่ไม่มีใครเลยที่ให้คะแนนความสุขของตัวเองต่ำกว่า 5 โดยประเทศที่มีความสุขมากที่สุดจากการทำการสำรวจนี้คือประเทศ วิเซอร์แลนด์ ค่าเฉลี่ยของตัวเลขจะอยู่ที่ 8.39 ในทางตรงกันข้ามประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุดของการทำการสำรวจนี้คือประเทศ บัลการี โดยค่าเฉลี่ยของตัวเลขจะอยู่ที่ 5.03 อีกหนึ่งสิ่งที่ค่อนข้างน่าสนใจในการสำรวจนี้คือ กลุ่มคนที่ถูกถามในวันที่อากาศแจ่มใสมีแนวโน้มที่จะให้คะแนนความสุขของตัวเองมากกว่ากลุ่มคนที่ถูกถามในวันที่ฝนตก

    เราวกกลับมาที่ทฤษฎีของ Steve อย่างไรก็ตามเขาได้กล่าวว่ามันไม่ได้ง่ายอย่างนั้นในทางปฏิบัติโดยเขาได้ตั้งคำถามต่อไปอีกว่า ทำไมบางคนมีร่างกายแข็งแรง เป็นที่เคารพ เจริญรุ่งเรือง แต่ก็ดูเหมือนว่าเขาก็ยังไม่มีความสุขอยู่ และอีกหนึ่งคำถามที่ว่ากลุ่มคนบางกลุ่มอยู่ในสถานะเดียวกันสภาพแวดล้อมเดียวกันแต่ทำไมระดับความสุขของพวกเขาถึงต่างกันอยู่ จากสองคำถามที่กล่าวมาทำให้เราเห็นว่าความสุขเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนและมีหลายปัจจัยที่ส่งอิทธิพลต่อมัน

    ต่อไปเรามาทำความรู้จักกับธรรมชาติของความสุขกันครับ ปัจจัยแรกที่จะทำให้คนเรามีระดับของความสุขที่ต่างกัน ก็คือกรรมพันธุ์ ความสุขเป็นสิ่งที่สามารถถ่ายทอดได้จากรุ่นสู่รุ่น ท่านผู้อ่านเคยสังเกตไหมครับว่าบางคนดูจะเป็นคนที่มีความสุขตลอดเวลาโดยธรรมชาติแต่กลับอีกบางคนที่บางทีเราแค่เพียงได้เห็นหน้าก็สามารถรับรู้ได้ว่าเขาไม่มีความสุข นักจิตวิทยาได้ทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีนี้โดยการนำฝาแฝดที่เกิดจากพ่อแม่เดียวกันไปเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่ต่างกันผลปรากฏว่าทั้งคู่มีระดับของความสุขที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน และอย่างสุดท้ายที่ยิ่งทำให้ผมรู้สึกเห็นด้วยกับทฤษฎีนี้ก็คือ ในเมื่อกรรมพันธุ์กำหนดอารมณ์ อารมณ์กำหนดความสุข เพราะฉะนั้นมันก็คงไม่แปลกที่ความสุขจะเกิดจากกรรมพันธุ์

    ปัจจัยถัดมาที่มีส่วนในการกำหนดระดับความสุขของคนเราคือ เหตุการณ์ต่างๆ ทั้งดีและร้าย หลายๆ คนมักจะมองว่ามันเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อความสุข นักจิตวิทยาได้ทำการสัมภาษณ์ผู้คนที่ผ่านเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ว่า เหตุการณ์เหล่านั้นส่งผลกระทบต่อความสุขของพวกเขาแค่ไหน แน่นอนครับพวกเขาตอบว่ามันส่งผลกระทบ แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือมันส่งผลกระทบน้อยและส่งผลกระทบในช่วงเวลาที่สั้น ท่านผู้อ่านลองนึกภาพความรู้สึกที่ในวันเราผิดหวังกับการประกาศผลสอบที่ไม่เป็นไปดั่งใจ แต่พอเวลาผ่านไปหากเรานำความรู้สึกในวันนั้นมาเปรียบเทียบกับความรู้สึกของเราในทุกวันนี้ เราจะพบว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นมันส่งผลกระทบต่อความสุขของเราค่อนข้างน้อย ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงไม่ได้รู้สึกว่าความสุขของพวกเขาได้ลดลงไปมากเมื่อผ่านเหตุการณ์นั้นมา แม้กระทั่งผู้ป่วยที่สูญเสียแขนขา ทุกวันนี้พวกเขาอาจจะไม่ค่อยรู้สึกเสียใจอะไรกับมันเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาสั้นๆ ในอดีต หรือในอีกมุมหนึ่งหลายท่านอาจจะคิดว่าการได้รับรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลจะทำให้เรามีความสุขขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วเราอาจจะดีใจในวันแรกที่รู้ผลแต่เมื่อเวลาผ่านไป เราก็จะรู้สึกเหมือนเดิม เราก็ยังคงเจอกับปัญหาเดิมๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะเห็นได้ว่าการได้รับรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ได้ส่งผลกระทบมากนักกับความสุขของเรา โดยสาเหตุง่ายๆ ที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้คือ ตามธรรมชาติและกฎของวิวัฒนาการเราจะมีการปรับตัวให้เคยชินไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีหรือเรื่องที่แย่ หรือเรียกอีกอย่างว่า habituation ประกอบกับ Dan Gilbert นักธุรกิจชาวอเมริกาได้พูดเกี่ยวกับเรื่องของ ภูมิคุ้มกันทางจิตวิทยา หรือเรียกอีกอย่างว่า the psychological immune system ซึ่งเป็นกลไกของมนุษย์ที่เรามักจะมองหาสิ่งที่ดีในเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ หนึ่งในภูมิคุ้มกันทางจิตวิทยาที่เห็นได้ชัดคือการหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า Rationalization ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนที่สอบตกมักจะไม่โทษตัวเองว่าไม่ตั้งใจเรียนแต่กลับโทษคุณครูว่าพวกเขาสอนไม่เข้าใจ

    สิ่งต่อมาที่ส่งผลกระทบต่อระดับความสุขค่อนข้างมากคือ ความสำเร็จที่เราได้รับซึ่งเปรียบเทียบกับผู้คนรอบๆ ตัว มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มนุษย์จึงให้ความสำคัญกับจุดยืนของตัวเองท่ามกลางผู้คนรอบๆ ตัว มันจึงไม่แปลกที่พ่อแม่หลายๆ คนมักจะโอ้อวดลูกตัวเองให้คนอื่นได้รับรู้เพราะนั้นแสดงถึงความสำเร็จของเขาและมันจะทำให้เขามียิ่งความสุขเมื่อรู้ว่าลูกของตัวเองประสบความสำเร็จมากกว่าลูกของคนอื่น ท่านผู้อ่านลองสมมุติง่ายๆครับ ว่า ระหว่างตัวเลือกแรก ท่านผู้อ่านได้เงิน 2000 บาท แต่ผู้คนรอบตัวของท่านกลับได้ 3000 บาท กับตัวเลือกที่สอง ท่านได้เงิน 1500 บาท แต่ผู้คนรอบตัวของท่านได้เพียง 1000 บาท แน่นอนครับมันอาจจะเป็นคำถามที่ไม่ยากอะไรนัก แต่เมื่อเราตกลงไปในสถานการณ์แบบนั้นจริงๆ แล้วผู้คนจำนวนไม่น้อยที่จะเลือกตัวเลือกที่สองแทนที่ตัวเลือกแรกเพราะมันทำให้พวกเขารู้สึกรู้ว่าพวกเขาอยู่ในสถานะทางสังคมที่ดีกว่า เพราะฉะนั้นผมอยากจะสรุปสั้นๆว่า หนึ่งสิ่งที่เป็นตัวแปรของความสุขของมนุษย์คือสังคมและคนรอบๆ ตัว

    และอย่างสุดท้ายที่ผมมองว่ามันน่าสนใจ เลยอยากจะยกมาแบ่งปันให้กับท่านผู้อ่าน มาจากงานวิจัยของ Danny Kahneman นักจิตวิทยาชาวอิสลาเอ-อเมริกา ที่ได้ทำการทดลองโดยให้ผู้ทำการทดลองเลือกว่าอะไรดีกว่ากันระหว่างตัวเลือกแรก พวกเขาได้รับการรักษาพยาบาลด้วยความเจ็บปวดเป็นเวลา 1 ชั่วโมงกับ ตัวเลือกที่สอง ขั้นตอนการรักษาเจ็บปวดเหมือนเดิมทุกอย่างแต่ระยะเวลาที่ทำการรักษาเพิ่มขึ้นมา 5 นาที ผลออกมาค่อนข้างน่าตกใจเพราะคนส่วนใหญ่เลือกวิธีที่สองโดยให้เหตุผลว่าวิธีที่สองให้ความทรงจำที่ดีกว่าและพวกเรารู้สึกดีกว่าเมื่อสิ้นสุดการรักษา จากการทดลองนี้ทำให้เห็นว่ามนุษย์ไม่ได้ใส่ใจในปริมาณของความรู้สึกดีหรือปริมาณของความเจ็บปวด แต่กลับให้ความสนใจไปที่จุดพีและตอนจบ เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ทำการทดลองส่วนใหญ่ถึงเลือกตัวเลือกที่สองเพราะพวกเขารู้สึกว่ายิ่งความเจ็บปวดของพวกเขาเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ความสุขที่ตามมาก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น และพวกเขาจะให้ความสำคัญกับความสุขในตอนสุดท้ายมากกว่าความเจ็บปวดในระยะเวลากว่า 1 ชม อีกหนึ่งตัวอย่างง่ายๆ และค่อนข้างที่จะใกล้ตัวคือ หลายคนอาจจะเคยไปงานปาร์ตี้มาหลายต่อหลายครั้งแต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือเราจะรู้สึกมีความสุขมากกว่าถ้างานปาร์ตี้นั้นจบลงอย่างสวยงาม เช่น ได้จูบคนที่ชอบ ได้รับคำชมจากเพื่อนฝูง ได้รับความสนใจจากงานปาร์ตี้นั้นๆ ถึงแม้ว่าตอนเริ่มงานและช่วงเวลาส่วนใหญ่อาจจะดูน่าเบื่อไม่สนุกหรือไม่น่าสนใจ ในทางตรงกันข้ามเราจะรู้สึกแย่ถ้าหากงานปาร์ตี้นั้นจบลงไม่สวยงามเช่น มีการทะเลาะวิวาท เห็นคนที่ชอบจูบกับคนอื่น หรือ ต้องกลับก่อนเวลา ต่อให้ช่วงเวลาส่วนใหญ่ของงานจะเต็มไปด้วยความสุขก็ตาม

    จากปัจจัยและเหตุผลต่างๆ ที่ผมนำมาแบ่งปันให้กับท่านผู้อ่าน บางเนื้อหาอาจจะมีข้อมูลไม่เพียงพอหรือมีทฤษฎีอื่นๆ ที่สามารถมานำมาโต้เถียงได้ ผมก็ขออภัยในการหาข้อมูลของผม อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อย และผมอยากจะจบบทความนี้ด้วยนิยามของความสุขที่ว่า ความสุขความทุกข์มันไม่ได้เกิดจากสภาพแวดล้อมแต่มันเกิดจากความคิดของเรา ราวกับวลีสอนใจจากกวีชื่อดังชาวอังกฤษ William Shakespeare ที่เขียนไว้ว่า There is nothing either good or bad but thinking makes it so.
        



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in