รีวิวเว้ย (1235) ถ้าย้อนกลับไปในสมัยที่เราเป็นเด็ก เราจะพบเรื่องเล่าเกี่ยวกับเรื่องของ "การเลิกทาส" อยู่บ่อยครั้ง ทั้งในแบบเรียนในห้องเรียนและจากละครหลังข่าวที่เราได้นั่งดูก่อนเข้านอนตอนค่ำ อย่างเรื่องนางทาส ลูกทาส และอีกหลายเรื่องละครที่มีฉากหลังเป็นเรื่องของช่วงเวลาก่อนการเปลี่ยนสยามให้มีความทันสมัย ในช่วงเวลาที่เราเป็นเด็กเราอานจะยังไม่เข้าใจว่า "ทาส" คืออะไร (?) แล้ว ทาสกับธาตุมันต่างกันที่ตรงไหน กระทั่งเมื่อโตขึ้นมาจนเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับเราเริ่มได้ยินคำนี้บ่อยครั้งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าคำว่า "ทาส" ที่เรามักจะได้ยินมักไปผูกโยงกับรัชกาลที่ 5 และวันที่ 23 ตุลาคม (วันปิยะ) ของทุกปี เรื่องเล่าและเรื่องราวเกี่ยวกับทาสและ "การเลิกทาส" วนซ้ำกลับมาใหม่ให้เราได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอ ยิ่งในช่วงเวลาของการต่อสู้กันทางการเมืองของชุดความคิด-ความเชื่อที่แตกต่างกัน "การเลิกทาส" ก็ถูกหยิบชูในฐานะของเครื่องมือสำหรับการทวงบุญคุณโดยคนบางกลุ่ม และคำว่า "ทาส" ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในฐานะของภาพแทนสัญลักษณ์ของการกดทับและการปลดแอก ซึ่งอันที่จริงแล้ว "ทาส" และ "การเลิกทาส" มันควรถูกจดจำและทำความเข้าใจมันแบบไหนกันนะ
หนังสือ : ทาสไท (ย): อำนาจ ความกรุณา และปิยมหาราชในภาพจำ
โดย : ญาณินี ไพทยวัฒน์
จำนวน : 288 หน้า
"ทาสไท (ย): อำนาจ ความกรุณา และปิยมหาราชในภาพจำ" หนังสือที่ผู้เขียนและผู้เขียนคำนิยมบอกเอาไว้อย่างชัดแจ้งตั้งแต่ในหน้าแรก ๆ ของหนังสือว่า "หนังสือเล่มนี้ศึกษาความเปลี่ยนแปลงการรับรู้เรื่องทาสในสังคมไทย หลังจากการออกพระราชบัญญัติทาษ รัตนโกสินศก 124 (พ.ศ. 2488) จนถึงปัจจุบัน เป็นแนวทางการศึกษาเรื่องทาสที่ต่างไปจากที่ได้เคยกระทำกันมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ทาสในมิติทางสังคม การเมืองการเมือง และเศรษฐกิจ ขณะที่เล่มนี้เน้นไปที่การสร้างความรับรู้เรื่องทาสในสังคมไทย ผ่านปฏิบัติการทางวาทกรรมอันวางอยู่บนคำพูดและข้อเขียนที่สร้างความหมายให้แก่สิ่งต่าง ๆ ในสังคม กระทั่งตกผลึกมาเป็นความจริงในความรับรู้ของคนทั่วไป ... หนังสือเล่มนี้ที่ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิตเรื่อง "การศึกษาวัตกรรมเรื่องทาสไทย" สาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งศึกษาความเปลี่ยนแปลงต่อความรับรู้เรื่องทาสในสังคมไทยที่สัมพันธ์กับบริบทการเมืองในช่วงเวลาต่าง ๆ จนถึงทศวรรษ 2540 ที่เข้าสู่วาระครบรอบ 100 ปีแห่งการเลิกทาสในประเทศไทย เพื่อหาคำตอบว่าเรื่องราวของทาสไทยที่เน้นการนำเสนอภาพพระราชกรณียกิจเลิกทาสของรัชกาลที่ 5 กลายเป็นวาทกรรมกระแสหลักในสังคมไทยได้อย่างไร" (น. (8)-(16))
"ทาสไท (ย): อำนาจ ความกรุณา และปิยมหาราชในภาพจำ" ผู้เขียนมุ่งศึกษาประเด็นเรื่องของ "ทาสไทย" ผ่านวาทกรรมที่ยึดโยงความเป็นทาสและความเป็นไท (ย) เข้าไว้ด้วยกัน ด้วยผู้เขียนได้ขยายความ "วาทกรรม" ในงานศึกษาชิ้นนี้เอาไว้ในหน้าที่ 14-16 เพื่อให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจขอบเขตการศึกษาวาทกรรมทาสไทยได้โดยเข้าใจจุดมุ่งหมายของการศึกษา และเพื่อป้องกันความเข้าใจที่อาจจะคลาดเคลื่อนได้เนื่องด้วย ในเวลานี้สังคมไทยนิยมใช้คำว่า "วาทกรรม" ได้เกลื่อนกลาดพอ ๆ กับที่หลายคนขยันพูดถึงเรื่อง "Soft Power" ที่ยังผลให้ความหมายของคำทั้ง 2 หลุดวงโคจรไปจากรากกำเนิดของพวกมันไกลเหลือเกิน
ซึ่งการที่ "ทาสไท (ย): อำนาจ ความกรุณา และปิยมหาราชในภาพจำ" ถูกจำกัดขอบเขตของการเล่าเรื่องให้ชัดเจนไว้ตั้งแต่แรก ด้วยการที่ผู้เขียนตั้งใจศึกษาเรื่องของทาสตั้งแต่ช่วงก่อน พรบ.ทาษ (2488) จนถึงช่วงวาระครบรอบ 100 ปีของการเลิกทาส ทำให้หนังสือ "ทาสไท (ย): อำนาจ ความกรุณา และปิยมหาราชในภาพจำ" สามารถถ่ายทอดและเชื่อมโยงพลวัตของพัฒนาการเรื่องทาสไทยและ "วาทกรรมทาสไทย" ได้อย่างชัดเจน ด้วยแต่ละช่วงเวลาของประวัติศาสตร์มีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของความรับรู้เกี่ยวกับทาสอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และช่วงการเข้ามาของการเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ ซึ่งเป็นจุดตัดที่ชัดเจนของ "วาทกรรมความเป็นทาส" ในสังคมสยาม-ไทย
สำหรับเนื้อหาของ "ทาสไท (ย): อำนาจ ความกรุณา และปิยมหาราชในภาพจำ" ถูกแบ่งเป็นบทต่าง ๆ ดังนี้
คำนิยม โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
ปฐมบทของการผลิตซ้ำเรื่องทาสและการเลิกทาสในสังคมไทย
ก่อนทาสจะเป็นไท: หลักฐานและการรับรู้เกี่ยวกับทาสจากอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
กำเนิดวาทกรรม "ทาสไทย" ภายใต้พระบารมีของพระปิยมหาราช
ท้าทายวาทกรรมเก่าสร้างสำนึกพลเมืองใหม่และแรงปะทะจากสังคมนิยม
การหวนคืนของพระราชกรณียกิจเลิกทาส ท่ามกลางกระแสอนุรักษนิยม
สู่ศตวรรษแห่งพระราชกรณียกิจเลิกทาสในสังคมไทย
บทสรุป
เมื่ออ่าน "ทาสไท (ย): อำนาจ ความกรุณา และปิยมหาราชในภาพจำ" จบลง เราจะพบว่าความเปลี่ยนแปลงในสังคมหลายประการ หลายครั้งเกิดขึ้นมาจากสถานการณ์ที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ และในหลายครั้งเราจะพบว่าในหลายความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเพียงเพราะการอยากทำให้เกิด "ความเป็นสมัยใหม่" มากกว่าการมาจากรากฐานของความเข้าใจในสิ่งนั้นอย่างถ่องแท้ อาทิ เรื่องของสิทธิมนุษยชน หรือคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ทั้งที่จริง ๆ แล้วสิ่งที่หลายคนเชื่ออย่างคำประพันธ์ที่บอกว่า "อันความกรุณาปราณี จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน" ในหลายครั้งฝนแห่งความกรุณาปราณีก็เป็นผลพวงของอะไรบางอย่าง ซึ่งมิได้หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจจากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน หากแต่เป็นฝนที่เกิดจากตัวเร่งปฏิกิริยาบางประการ คล้ายกับการทำฝนเทียมที่ต้องมีตัวเร่งปฏิกิริยาบางอย่างเพื่อให้เมฆกลันตัวเป็นหยดน้ำลงสู่ผืนดิน
สำหรับใครที่สนใจ "ทาสไท (ย): อำนาจ ความกรุณา และปิยมหาราชในภาพจำ" สามารถจับจองได้ที่บูธ M49 สำนักพิมพ์มติชน
ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และ
วันที่ 30 มีนาคม - 9 เมษายน 2023
#สำนักพิมพ์มติชน #Matichonbook
#งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่51
#สัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่21
#ทาสไท(ย):อำนาจ_ความกรุณา_และปิยมหาราชในภาพจำ
#ญาณินี_ไพทยวัฒน์ #ธเนศ_อาภรณ์สุวรรณ.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in