เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
การบริหารกิจการท้องถิ่นที่ดีในประเทศไทย By นิพนธ์ ศศิธรเสาวภา
  • รีวิวเว้ย (1279) รีวิวเว้ย × สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    .
    เวลาที่เราพูดถึงเรื่องของ "ระบบที่ดี" เรามักจะมีคำถามตามมาเสมอว่าคำว่าที่ดีนั้นเราจะใช้อะไรเป็นตัววัด และมันดีจริง ๆ หรือแล้วเราจะเชื่อได้อย่างไรว่าดีจริง การหาคำตอบว่าอะไรดีหรือไม่ดีโดยเฉพาะเรื่องของระบบ ระเบียบ โครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเมือง สิ่งเหล่านี้เมื่อวางอยู่บนฐานคิดเกี่ยวกับ "ดี" มักจะสร้างข้อถกเถียงได้อยู่เสมอว่าดีจริงหรือ ดีอย่างไร และเพราะอะไรจึงคิดว่าดี ดังนั้นการชี้ว่าอะไรเป็นเรื่องดีหรือไม่ดีโดยเฉพาะในเรื่องของระบบและโครงสร้างทางการเมืองจึงจำเป็นต้องวางตัวอยู่บนฐานคิดในเรื่องของการสร้างข้อถกเถียงและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และด้วยความซับซ้อนของคำว่า "ดี, ที่ดี" นี้เองในหลายปีมานี้วงวิชาการด้านการบริหารรัฐกิจและวงวิชาการด้านการเมืองการปกครองท้องถิ่นจึงมีปัญหากับคำว่า "ธรรมาภิบาล (Good Governance)" เพราะนอกจากการแปลว่า "ธรรมาภิบาล" และในหลายครั้งคำนี้ก็ถูกแปลด้วยคำว่า "ที่ดี" ที่ดูจะมีปัญหาพอ ๆ กัน

    หนังสือ : การบริหารกิจการท้องถิ่นที่ดีในประเทศไทย
    โดย : นิพนธ์ ศศิธรเสาวภา
    จำนวน : 247 หน้า
    .
    "การบริหารกิจการท้องถิ่นที่ดีในประเทศไทย" เป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของ "การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี" (Goog Governance) ที่ผู้เขียนได้หยิบเอาแนวคิดดังกล่าวมาใช้ในการศึกษาในเรื่องของการเมืองการปกครองท้องถิ่น ผู้เขียนได้พยายามถ่ายทอดให้เห็นถึงการบริหารงานท้องถิ่นที่สอดรับกับเรื่องของ "การบริหารและการจัดการปกครองที่ดี" โดยเนื้อหาของหนังสือ "การบริหารกิจการท้องถิ่นที่ดีในประเทศไทย" แบ่งออกเป็นบทต่าง ๆ ดังนี้
    .
    บทที่ 1 แนวคิดทฤษฎีการปกครองท้องถิ่นและการจัดการปกครองท้องถิ่นที่ดี
    .
    บทที่ 2 องค์ประกอบและลักษณะสำคัญของการปกครองท้องถิ่น
    .
    บทที่ 3 โครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของการปกครองท้องถิ่นไทย
    .
    บทที่ 4 พัฒนาการของแนวคิดการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
    .
    บทที่ 5 พัฒนาการตัวแปร องค์ประกอบและตัวชี้วัดของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีในประเทศไทย
    .
    บทที่ 6 หลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีของไทย
    .
    บทที่ 7 การบริหารกิจการท้องถิ่นที่ดีของไทย
    .
    บทที่ 8 การสร้างการบริหารกิจการท้องถิ่นที่ดีในยุคโลกาภิวัฒน์กับประชาธิปไตยท้องถิ่น
    .
    หากคุณประโยชน์ของการอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง อยู่ที่เรื่องของการส่งมอบความรู้ คุณประโยชน์อีกประการของงานวิชาการและงานเขียนต่าง ๆ คือการสร้างบทสนทนาและบทตอบโต้ผ่านการใช้องค์ความรู้ที่ได้รับมา ซึ่ง "การบริหารกิจการท้องถิ่นที่ดีในประเทศไทย" นอกเหนือไปจากเรื่องของเนื้อหาและองค์ความรู้ที่ได้แล้ว หนังสือยังช่วยให้ผู้อ่านเกิดบทสนทนาต่อตัวบท โดยเฉพาะในเรื่องของการเลือกใช้คำภายใต้ข้อถกเถียงในเรื่องของคำอย่าง "ที่ดี" สำหรับหลายคนข้อถกเถียงดังกล่าวอาจจะไม่ใช่สาระหลังสำคัญของงานชิ้นนี้ แต่สำหรับหลายคนการชวนคิดต่อในเรื่องของการเลือกใช้คำและความหมายของหลาย ๆ คำในโลกวิชาการภาษาไทย ก็น่าสนใจอยู่มิใช่น้อย โดยเฉพาะเมื่อคำนั้นมีนัยส่อถึง คุณธรรม ประเพณี ความดี ค่านิยม บทสนทนาเบื้อหลังเนื้อหาจึงน่าสนใจไม่แพ้ตัวเนื้อหาของหนังสือเลยแม้แต่น้อย
    .
    สำหรับผู้สนใจในข้อถก-เถียง และการนิยามความหมายของ Governance ในไทยสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน GOVERNANCE 101 By ธีรพัฒน์ อังศุชวาล (https://minimore.com/b/Us3Wj/794)

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in