รีวิวเว้ย (1811) "ไก่ตัวนี้อย่าว่าแต่จะชนะในวังนี้เลย ต่อให้ท้าพนันเอาบ้านเอาเมืองก็ย่อมได้" บทพูดที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง "ตำนานสมเด็จพระนเรศวร" เป็นตอนที่พระนเรศวรชนไก่กับพระมหาอุปราชา แต่ปัญหาประการสำคัญของบทพูดดังกล่าวมีการตั้งคำถามจากนักวิชาการหลายท่านว่าเหตุการณ์นี้มีอยู่จริงหรือไม่ ดังปรากฏในข้อความที่วินัย พงศ์ศรีเพียร เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า "...ถึงเวลาแล้วที่จะต้องรื้อทิ้งบทเรียนประวัติศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องพระนเรศวรเคยชนไก่กับพระมหาอุปราชา เพราะไม่สามารถยืนยันได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีอยู่จริง ด้วยไม่ปรากฏอยู่ในเอกสารอื่นใดทั้งไทย-เทศ ยกเว้นแต่เพียง 'คำให้การของชาวกรุงเก่า' และ 'คำให้การขุนหลวงหาวัด' ซึ่งเอกสารทั้งสองนี้เป็นบันทึกย้อนหลังห่างจากเหตุการณ์จริงนานกว่า 130 ปี เนื้อหาย่อมคลาดเคลื่อน" ซึ่งข้อสรุปดังกล่าวจะเป็นอย่างไรยังไม่แน่ชัด แต่ที่แน่ ๆ การสู้กันด้วยตัวแทนอย่างการฟังดาบ ตีไก่ ยิงธนู ฯลฯ ถึงขั้นเพื่อชิงเอาบ้านเมืองกันนั้นเคยมีอยู่จริงและมีหลักฐานที่ปรากฏชัดในลักษณะของกีฬายุทธ อย่างกรณีของหนังสือ "ล้านนากีฬายุทธ ความรุนแรงกับกีฬาในสมัยราชวงศ์มังราย" ที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

หนังสือ : ล้านนากีฬายุทธ ความรุนแรงกับกีฬาในสมัยราชวงศ์มังราย
โดย : ชาญ พนารัตน์
จำนวน : 216 หน้า
.
"ล้านนากีฬายุทธ ความรุนแรงกับกีฬาในสมัยราชวงศ์มังราย" หนังสือที่ศึกษาเรื่องราวของ "การใช้ความรุนแรงผ่านกีฬา" ที่มีเป้าหมายมากไปกว่าเพียงแค่การแข่งขันแบบรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เพราะใน "ล้านนากีฬายุทธ ความรุนแรงกับกีฬาในสมัยราชวงศ์มังราย" เป็นการแข่งขันที่เล่นกันถึงล่มสลายหายนะ โดยเป้าหมายของการแข่งขั้นนั้นอาจเป็นได้ทั้งเรื่องของ ทรัพย์สิน บ้านเมือง เกียรติศักดิ์ศรีหรือกระทั่งลมหายใจของผู้เข้าแข่งขัน (จะว่าไปก็คล้ายกับจอนวิค 4 อยู่นะ) โดยที่เนื้อหาของ "ล้านนากีฬายุทธ ความรุนแรงกับกีฬาในสมัยราชวงศ์มังราย" มุ่งนำเสนอเรื่องราวของการใช้กีฬาในฐานะภาพแทนของการใช้ความรุนแรงเพื่อสร้างความชอบธรรมบางประการในลักษณะของการแสวงหาและแย่งชิงผลประโยชน์ผ่านการใช้กีฬาเป็นสื่อกลาง
.
ในส่วนของเนื้อหา "ล้านนากีฬายุทธ ความรุนแรงกับกีฬาในสมัยราชวงศ์มังราย" แบ่งการเล่าเรื่องออกเป็น 5 บท ดังนี้
.
บทที่ 1 การศึกษาสังคมและวัฒนธรรมความรุนแรงในล้านนา
.
บทที่ 2 รัฐและสังคมล้านนา
.
บทที่ 3 ล้านนาปะทะมอญและฮ่อ คริสต์ศตวรรษที่ 13-14
.
บทที่ 4 กีฬาสมัยจารีต สงครามระหว่างล้านนากับสุโขทัยและอยุธยา คริสต์ศตวรรษที่ 15-16
.
บทที่ 5 บทสะท้อน: วัฒนธรรมความรุนแรงในสังคมไท (ย) ในสงคราม กีฬาสมัยจารีต การพนัน
.
"ล้านนากีฬายุทธ ความรุนแรงกับกีฬาในสมัยราชวงศ์มังราย" ชวนให้นึกถึงคำพูดจากตำนานสมเด็จพระนเรศวรที่ว่า "ไก่ตัวนี้อย่าว่าแต่จะชนะในวังนี้เลย ต่อให้ท้าพนันเอาบ้านเอาเมืองก็ย่อมได้" อาจจะเป็นความจริงก็ได้ดังที่ปรากฏในคำให้การ เพราะที่ผ่านมาตลอดทั้งเล่มของ "ล้านนากีฬายุทธ ความรุนแรงกับกีฬาในสมัยราชวงศ์มังราย" แสดงให้เห็นแล้วว่าการใช้กีฬาในฐานะภาพแทนของการแสวงหาและแย่งชิงผลประโยชน์ในครั้งอดีตของดินแดนในภูมิภาคนี้มีมาโดยตลอด และไม่แน่ว่าวัฒนธรรมล้านนาก็เป็นภาพแทนของสังคมยุคเก่าที่อาจจะท้าตีไก่เอาบ้านเอาเมืองกันก็เป็นได้
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in