เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
ป่วนนาฬิกา By สุธิดา วิมุตติโกศล
  • รีวิวเว้ย (1767) ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่ "เวลากลายเป็นสิ่งมีค่า" ? การใช้เวลาโดยเปล่าประโยชน์ถือเป็นสิ่งผิดบาปทั้งในมิติของศาสนาและในมิติของโลกทุนนิยม อย่างในกรณีของศาสนาคริสต์ปรากฏเรื่องราวของบาปแห่งความเกียจคร้าน (Sloth) ที่นับเป็นหนึ่งในบาป 7 ประการของศาสนาโดยมีปีศาจอย่างเบลเฟเกอร์ (Belphegor) ปิศาจผู้ไม่ยอมทำอะไร เป็นตัวแทนของบาปแห่งความเกียจคร้านนี้ นอกจากนั้นในศาสนาพุทธ (ไทย) ยังมีคำสอนในเรื่องของการทำงานและการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ อันสะท้อนออกมาจากคำสอนของพระหลาย ๆ รูป อย่างกรณีของ "การฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน" และ "งานคือชีวิต ชีวิตคืองาน บันดาลสุข ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อทำงาน" คำสอนและความเชื่อทางศาสนาในลักษณะนี้นับเป็นการสะท้อนเรื่องของการใช้เวลาและการทำงานในโลกทุนนิยมได้อย่างน่าสนใจ และในโลกทุนนิยมเองหากความเกียจคร้านบังเกิดมันมักตามมาด้านบทลงโทษจากโลกทุนนิยมเสมอ 
    หนังสือ : ป่วนนาฬิกา: วรรณกรรมคาดการณ์ กับอนาคตนอกเวลาทุนนิยม
    โดย : สุธิดา วิมุตติโกศล
    จำนวน : 264 หน้า 
    .
    "ป่วนนาฬิกา: วรรณกรรมคาดการณ์ กับอนาคตนอกเวลาทุนนิยม" (ขอเรียกสั้น ๆ ว่า "ป่วนนาฬิกา") หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของวรรณกรรมคาดการณ์ ที่ผูกโยงเรื่องราวของวรรณกรรมเข้ากับการล่มสลายของสังคมและความท้าทายเมื่อความล่มสลายเดินทางมาถึง โดยที่ "ป่วนนาฬิกา" มุ่งนำเสนอเรื่องราวของวรรณกรรม 6 ชิ้น ทั้งในรูปแบบของเรื่องสั้น นวนิยาย และซีรีย์ใน Netflix ที่ว่าด้วยเรื่องของเวลาและการล่มสลายของโลกทุนนิยม ผ่านเส้นเรื่อง เหตุการณ์และตัวแสดงที่แตกต่างกันไปในแต่ละวรรณกรรมที่ถูกหยิบชูขึ้นมาใน "ป่วนนาฬิกา"
    .
    สำหรับเนื้อหาของ "ป่วนนาฬิกา" แบ่งการเล่าเรื่องในตัวเล่มออกเป็น 2 ภาค อันประกอบไปด้วย 
    .
    ภาค 1 เวลานาฬิกา ความจริง และนิยาย SF (Speculative Fiction) ประกอบด้วยเรื่องของ เวลาในโลกความจริงทุนนิยม และ วรรณกรรมคาดการณ์: อ่านปัจจุบัน-ฝันถึงอนาคต 
    .
    ภาค 2 เวลาอ่าน ประกอยด้วยเนื้อหาที่อ่านเรื่องของเวลาของโลกทุนนิยม ผ่านวรรณกรรมคาดการณ์ทั้ง 6 ชิ้น ที่ประกอบไปด้วย The New Black, Yelli Card Man, Folding Beijing, Orxy and Crake, Carol & The End of The World และ Station Eleven พร้อมทั้งการปิดท้ายหนังสือด้วยบทส่งท้ายที่ขมวดปมเรื่องของเวลาทุนนิยมและวรรณกรรมคาดการณ์จากงานทั้ง 6 ชิ้น ให้เห็นซึ่งความเหมือน ความต่าง และความเชื่อมโยง ในบทที่ว่าด้วยเรื่อง นับถอยหลัง: สู่จุดจบของ "ความจริง"
    .
    เป็นที่น่าสนใจว่าเรื่องราวของวรรณกรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏใน "ป่วนนาฬิกา" นั้น ชวนให้ผู้อ่านตั้งคำถามกับเรื่องของเวลาในโลกทุนนิยม ถึงความจำเป็น ความสมเหตุสมผลของโลกทุนนิยมในวันที่สังคมล่มสลาย (และก่อนที่สังคมจะล่มสลาย) การขับเคลื่อนชีวิตของตัวละครที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมแต่ละชิ้นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาบอกเล่านั้น หากถูกแทนที่ด้วยเรื่องราวของผู้คนและเหตุการณ์ที่ปรากฏบนโลกจริง (ซึ่งหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกก็ดูจะต้องตรงกับหลายเรื่องของวรรณกรรมคาดการณ์ที่เป็นตัวอย่างที่ถูกหยิบยกมาในเล่ม) การเลือกใช้ชีวิตของคนในโลกจริงจะคล้อยตามหรือสอดรับกับบรรดาตัวละครที่ปรากฏใน "ป่วนนาฬิกา" อย่างไร หรือจะแปลกแยกแตกต่างกันเพียงใด ในโลกที่นาฬิกาของทุนนิยมเดินตรงอย่างมั่นคงในระดับเศษเสี้ยววินาที และพร้อมลงทัณฑ์กับผู้ที่ละเมิดความศักดิ์สิทธิ์ของนาฬิกาทุนนิยม

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in