รีวิวเว้ย (1710) การนำถือศาสนาพุทธในสังคมไทย หากให้แบ่งแบบหยาบ ๆ ไว ๆ น่าจะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มของศาสนาพุทธแบบใช้ปัญญาและเหตุผลเป็นที่ตั้ง และกลุ่มของศาสนาพุทธที่ใช้ความเชื่อ พิธีกรรม เป็นที่ตั้งหรืออาจจะเรียกกลุ่มหลังนี้ว่า "ศาสนาไทย" น่าจะได้ และด้วยการแบ่งศาสนาพุทธออกเป็น 2 กลุ่มนี้เอง ทำให้มีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์ของการปะทะกันในการแย่งชิงความเป็น "พุทธที่แท้" กระทั่งนำมาสู่การค่อนขอดกันไปมาว่านี่คือพุทธ นั้นไม่ใช่พุทธ กระทั่งนำไปสู่การถกเถียงถึงการแย่งชิงความเป็น "พุทธที่แท้" อยู่เสมอ

หนังสือ : เข้าใจพุทธศาสนาด้วยเหตุผล
โดย : เสริมสิน สมะลาภา
จำนวน : 99 หน้า
.
"เข้าใจพุทธศาสนาด้วยเหตุผล" เป็นหนึ่งในหนังสือที่พยายามถ่ายทอดมุมมองในเรื่องของศาสนาพุทธให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงการเป็นศาสนาแห่ง "เหตุและผล" ตามรูปแบบและวิธีคิดของพุทธศาสนาสายหนึ่ง ที่มองว่าพุทธศาสนาคือศาสนาแห่งเหตุ-ผล เมื่อมีเหตุ ผลมักตามมาเสมอ และแน่นอนว่าเมื่อมีผลบางอย่างเกิดขึ้นหากย้อนมองกลับไปจะเห็นเหตุแห่งผลเหล่านั้นเสมอ เพราะการมองปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของศาสนาพุทธ (บางสาย) เชื่อว่าปรากฏการณ์ต่าง ๆ มิได้ลอยลงมาจากฟ้าแบบไม่มีบริบทรอบข้าง
.
ในส่วนเนื้อหาของ "เข้าใจพุทธศาสนาด้วยเหตุผล" แบ่งการบอกเล่าออกเป็น บทต่าง ๆ อันประกอบไปด้วย บทนำ, ภาพรวม, ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล (Cause and Effect), เหตุปัจจัยนิยม (Determinism), อนัตตา (ความไม่มีตัวตนที่แท้จริง), ความทุกข์, ความสุข, สู่เป้าหมายสูงสุด มรรค ผล นิพพาน
.
เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของ "เข้าใจพุทธศาสนาด้วยเหตุผล" จะเห็นได้ว่ามุมมองและการถ่ายทอดเรื่องราวของ "เข้าใจพุทธศาสนาด้วยเหตุผล" คือการมุ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นเหตุเป็นผล และความมีเหตุและผลของพุทธศาสนา ผ่านการนำเสนอเรื่องราวของคำสอนทางศาสนาที่มีความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล (Cause and Effect) เป็นสำคัญ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in