เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
เศรษฐศาสตร์ 'มัธยม' : แง่มุมอันหลากหลายในชีวิตประจำวัน
  • รีวิวเว้ย (1652) หากใครเรียนมาในสายสามัญศึกษา ในระดับมัธยมของโรงเรียนไทย และยิ่งเรียนในห้องเรียนคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ ด้วยแล้ว วิชาที่เหล่าเด็กวิทยาศาสตร์หายคนขยาดคงยากจะปฏิเสธว่าหนึ่งในนั้นคงมีวิชา "เศรษฐศาสตร์" อยู่ด้วยเป็นแน่ ที่ช่วงเวลานั้นเราก็ไม่แน่ใจว่าเราจะต้องรู้เรื่องเงินเฟ้อ เงินฟืด อุปสงค์ อุปทาน หรือจะต้องรู้เรื่องของจุดตัดบนเส้นกราฟที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของจุด Equilibrium point ไปทำไม ลำพังแต่ต้องท่องจำตารางธาตุก็แทบเอาชีวิตไม่รอดจากระบบการศึกษาไทยอยู่แล้ว และยิ่งต้องมาเรียนวิชาที่ครั้งหนึ่งเราเคยตั้งคำถามว่า "จะรู้ไปทำไม" อีกก็ยิ่งสร้างความท้อใจให้กับผู้เรียนในระบบทางศึกษาเป็นเท่าทวี แต่พอโตมาถึงเพิ่งเข้าใจว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ และอีกหลายวิชาสังคมศาสตร์มีความสำคัญกว่าที่คิด แต่แปลกที่ในระบบการศึกษาของโรงเรียนไทย ดันไม่มีใครจะสนใจว่าวิชาเหล่านี้จะมีประโยชน์ต่อไปในภายหน้าอย่างไร
    หนังสือ : เศรษฐศาสตร์ 'มัธยม' : แง่มุมอันหลากหลายในชีวิตประจำวัน
    โดย : คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
    จำนวน : 398 หน้า
    .
    ที่มาของ "เศรษฐศาสตร์ 'มัธยม' : แง่มุมอันหลากหลายในชีวิตประจำวัน" หนังสือในวาระครอบรอบ 75 ปี ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกระบุเอาไว้อย่างชัดเจนทั้งในเรื่องของที่มาการจัดทำ ขอบเขตการนำเสนอ และทีมผู้เขียนหนังสือเล่มสำคัญสำหรับสังคมเล่มนี้ โดยเหตุแห่งการสร้างสรรค์ "เศรษฐศาสตร์ 'มัธยม' : แง่มุมอันหลากหลายในชีวิตประจำวัน" ถูกระบุไว้ดังนี้
    .
    "หนังสือเล่มนี้เป็นผลลัพธ์ของภารกิจในการบริการวิชาการประการหนึ่งที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน คือการจัดอบรมความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ให้แก่ครูที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้ด้านวิชาสังคมศึกษาในระดับมัธยมศึกษา การอบรมทำให้คุณครูจำนวนหนึ่งเสนอแนะกับทางผู้จัดการอบรมว่าอยากให้คณะเศรษฐศาสตร์ฯ จัดทำหนังสือเสริมสำหรับความรู้เศรษฐศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ คณะเศรษฐศาสตร์ฯ จึงได้ตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำหนังสือนี้ขึ้น ซึ่งประกอบด้วย อ.ณพล สุกใส ผศ.ดร.ตฤณ ไอยะรา ผศ.ดร.นภนต์ ภุมมา ผศ.สิทธิกร นิพภยะ และ ผศ.ดร.อลงกรณ์ ธนศรีธัญญากุล และคณะทำงานชุดนี้ได้บรรลุข้อตกลงพื้นฐานว่าหนังสือเล่มนี้เป็นการแนะนำองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์และประเด็นทางเศรษฐกิจสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา บุคลากรทางการศึกษาที่ไม่ได้สอนวิชาด้านเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก และสาธารณชนผู้สนใจทั่วไป"
    .
    ด้วยเป้าประสงค์ของการเขียน "เศรษฐศาสตร์ 'มัธยม' : แง่มุมอันหลากหลายในชีวิตประจำวัน" ถูกสร้างขึ้นในฐานะของเครื่องมือ (มิใช่เพียงคู่มือ) สำหรับการนำเอาเนื้อหาทางด้านเศรษฐศาสตร์ระดับมัธยม มาถ่ายทอดผ่านประสบการณ์ของอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้ครูผู้สอน นักเรียน และผู้สนใจสามารถเรียนรู้เนื้อหาของวิชาเศรษฐศาสตร์ ทั้งความหมาย ที่มาที่ไป ความสำคัญ พัฒนาการ ความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงของวิชาเศรษฐศาสตร์ ได้อย่างครอบคลุมและเป็นระบบ โดยล้อไปกับขอบข่ายของเนื้อหาวิชาเศรษฐศาสตร์ในชั้นมัธยมของระบบการศึกษาไทย
    .
    โครงสร้างของหนังสือ "เศรษฐศาสตร์ 'มัธยม' : แง่มุมอันหลากหลายในชีวิตประจำวัน" จึงประกอบด้วยเนื้อหาทั้งหมด 11 บท โดยแต่ละบทของ "เศรษฐศาสตร์ 'มัธยม' : แง่มุมอันหลากหลายในชีวิตประจำวัน" จะเริ่มต้นขึ้นด้วยบทนำที่ชวนให้ผู้อ่านลองทำความเข้าใจและเรียนรู้ไปกับแนวทางของเนื้อหาในเบื้องแรกของแต่ละบท และในทุกบทจะปิดท้ายด้วยบทสรุปประจำบท คำถามชวนคิดและหนังสือแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่สนใจจะขยายขอบเขตความรู้ในแต่ละบทที่มากไปกว่าที่เนื้อหาในแต่ละบทของหนังสือนำเสนอไว้ สำหรับเนื้อหาทั้ง 10 บท กับอีก 1 บทนำ ของ "เศรษฐศาสตร์ 'มัธยม' : แง่มุมอันหลากหลายในชีวิตประจำวัน" แบ่งไว้ดังนี้
    .
    บทนำ เศรษฐศาสตร์ 'มัธยม' : แง่มุมอันหลากหลายในชีวิตประจำวัน
    .
    บทที่ 1 ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด: เศรษฐศาสตร์คืออะไร
    .
    บทที่ 2 สัตว์เศรษฐกิจ: มนุษย์ในวิชาเศรษฐศาสตร์มีลักษณะอย่างไร
    .
    บทที่ 3 เงิน: ปัจจัยใดที่เชื่อมร้อยคนในระบบเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน
    .
    บทที่ 4 การผลิต: อาหารเกิดขึ้นได้อย่างไร
    .
    บทที่ 5 ตลาดและการแข่งขัน: ทำไมสินค้าอุตสาหกรรมจึงมีลักษณะที่แตกต่างกัน
    .
    บทที่ 6 บทบาทของภาครัฐ: ระบบเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีรัฐหรือไม่
    .
    บทที่ 7 การแลกเปลี่ยน: สังคมสามารถปิดกั้นการค้าระหว่างประเทศได้หรือไม่
    .
    บทที่ 8 งาน: มนุษย์ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจได้อย่างไร
    .
    บทที่ 9 ระบบกรรมสิทธิ์: สังคมมีวิธีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างไร
    .
    บทที่ 10 การพัฒนา: อะไรคือเป้าหมายของระบบเศรษฐกิจ
    .
    "เศรษฐศาสตร์ 'มัธยม' : แง่มุมอันหลากหลายในชีวิตประจำวัน" ถูกเขียนขึ้นในฐานะของเครื่องมือสำหรับการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ ในระดับชั้นมัธยม แต่เมื่ออ่านเนื้อหาในแต่ละบทจบลงจะพบว่าเนื้อหาของ "เศรษฐศาสตร์ 'มัธยม' : แง่มุมอันหลากหลายในชีวิตประจำวัน" คือหัวใจสำคัญของการวางรากฐานความรู้และความเข้าใจในวิชาเศรษฐศาสตร์ มิใช่เพียงสำหรับครูที่ต้องทำการเรียนการสอน หรือกับนักเรียนที่ต้องเรียนเพื่อสอบในชั้นเรียน หากแต่ "เศรษฐศาสตร์ 'มัธยม' : แง่มุมอันหลากหลายในชีวิตประจำวัน" แสดงให้เราเห็นว่าการทำความเข้าใจในเรื่องของวิชาเศรษฐศาสตร์นับเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจความเปลี่ยนแปลง ปรากฏการณ์ในสังคม และช่วยให้เราเตรียมพร้อมในการออกแบบวิธีการในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมต่อไปในภายหน้า

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in