รีวิวเว้ย (1596) ปาฏิหาริย์ /น./ สิ่งที่น่าอัศจรรย์, ความอัศจรรย์, ในทางพระพุทธศาสนามี 3 อย่าง คือ อิทธิปาฏิหาริย์ หมายถึง การแสดงฤทธิ์ที่พ้นวิสัยของมนุษย์ธรรมดาได้อย่างน่าอัศจรรย์, อาเทสนาปาฏิหาริย์ หมายถึง การทายใจคนได้อย่างน่าอัศจรรย์ และอนุสาสนีปาฏิหาริย์ หมายถึง คำสั่งสอนที่จูงใจคนให้เชื่อถือตามได้อย่างน่าอัศจรรย์ นี่คือการให้ความหมายของคำว่า "ปาฏิหาริย์" ตามพจนานุกรม ซึ่งน่าสนใจว่าแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องของปาฏิหาริย์ในสังคมไทยมุ่งเน้นไปที่เรื่องของ "อิทธิปาฏิหาริย์" เป็นสำคัญ ทั้งทางการเมือง ประวิตัศาสตร์และอีกหลาย ๆ เรื่องที่เกิดขึ้นกับสังคมนี้ ซึ่งตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของสังคมเราจะพบว่าอิทธิปาฏิหาริย์ เกิดขึ้นแทบตลอดเวลาและ "อนุสาสนีปาฏิหาริย์" ก็ดูจะเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญสำหรับการสร้างและธำรงรักษาไว้ซึ่ง "ปาฏิหาริย์" ของสังคมนี้ตลอดมา (และอาจจะตลอดไป)
หนังสือ : ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง: ความบังเอิญของไทยในการเอาตัวรอดจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พิมพ์ครั้งที่ 2)
โดย : พีระ เจริญวัฒนนุกูล
จำนวน : 408 หน้า
.
หนังสือ "ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง: ความบังเอิญของไทยในการเอาตัวรอดจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2" ต่อไปนี้ขอเรียกสั้น ๆ ว่า "ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง" เริ่มต้นจากความต้องการศึกษาประเด็นเรืองของ "ความบังเอิญ" ในมุมมองของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) ดังที่ปรากฏความประสงค์อยู่ในคำนำของหนังสือความว่า "...หนังสือตั้งต้นด้วยคำถามที่ว่าในการศึกษาสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอินเตอร์เนชั่นแนลรีเวชั่น นั้น 'ความบังเอิญ' สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ใด ๆ ในกรณีศึกษาได้หรือไม่ และจะสามารถศึกษารวมทั้งพิสูจน์ถึงความสำคัญของความบังเอิญได้อย่างไร เพื่อที่จะตอบคำถามดังกล่าวหนังสือเล่มนี้จึงได้ตั้งคำถามต่อมาว่า กรณีศึกษาที่จะนำมาใช้ตอบคำถาม ดังกล่าวโดยเฉพาะในกรณีของการรอดพ้นของไทยจากการลงโทษโดยอังกฤษภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (สิงหาคม-ธันวาคม 2488) นั้น ความบังเอิญมีบทบาทสำคัญอย่างไรบ้างที่ช่วยให้ถ่ายรอดพ้นจากวิกฤติการณ์ที่ว่า..."
.
เช่นนั้นจะเห็นว่า "ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง" ตั้งใจศึกษาการรอดพ้นสถานะของการสูญเสียอำนาจอธิปไตยของสยามในช่วงเวลาดังกล่าวผ่านกรอบทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่องของ "ปาฏิหาริย์" และ "ความบังเอิญ" ในมุมมองของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผ่านการศึกษาเอกสารทางประวัติศาสตร์ หลักฐานชั้นต้นทั้งของไทย อังกฤษและอเมริกา ที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยง ส่งต่อ และสร้างให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นประโยชน์โพดผลต่อสยามประเทศในครานั้น
.
โดยเนื้อหาของ "ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง" ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 มีการปรับปรุงเนื้อหาและการใช้ภาษาให้กระชับขึ้นจากฉบับพิมพ์ครั้งก่อน และมีการเพิ่มในส่วนของคำนิยมของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของเสรีไทยมาเนิ่นนาน และการตั้งคำถามในมุมมองของนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นมุมมองของความเป็นไปได้บางประการที่สามารถและอาจเกิดขึ้นได้จากทั้งปาฏิหาริย์ ความบังเอิญ ในฐานะของการสบโอกาสอย่างประจวบเหมาะพอดีของเหตุการณ์ในแต่ละช่วงเวลา และเนื้อหาส่วนหลักของ "ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง" ได้แบ่งออกเป็น 6 บท ที่ว่าด้วยเรื่องของทฤษฎี และการลงไปมีปฏิสัมพันธ์กับหลักฐานและเอกสารชั้นต้นต่าง ๆ เพื่อตอบคำถามของงานศึกษาชิ้นนี้ สำหรับเนื้อหาของ "ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง" แบ่งเป็นดังนี้
.
ปาฏิหาริย์ของปาฏิหาริย์ โดย สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ
.
เมื่อความบังเอิญสร้างปาฏิหาริย์ โดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์
.
บทที่ 1 สภาพปัญหา ปาฏิหาริย์ และวิธีคิดอันสวนทางจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
.
บทที่ 2 ปัญหาของวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488: ท่าทีอังกฤษ อเมริกาและไทย
.
บทที่ 3 ยอมทุกอย่างเพื่อยุติสงคราม: เจรจาที่แคนดีครั้งที่ 1
.
บทที่ 4 ต่อรองและเตะถ่วง: การเจรจาที่แคนดีครั้งที่ 2
.
บทที่ 5 ลงนามหรือไม่: ความแตกแยกมนรัฐบาลกับการเจรจาครั้งสุดท้ายที่สิงคโปร์
.
บทที่ 6 ด้วยปาฏิหาริย์และความบังเอิญ
.
การได้กลับมาอ่าน "ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง: ความบังเอิญของไทยในการเอาตัวรอดจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2" ทำให้เราเกิดคำถามขึ้นเล็ก ๆ ว่าแท้จริงแล้วเราอาจจะหลงลืมเรื่องของความ "ประจวบเหมาะ" ที่ในหลายครั้งมันคือโอกาสสามัญที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อสบเวลาและสบโอกาส เช่นนั้นหากเราลองนำเอากรอบการมองของ "ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง: ความบังเอิญของไทยในการเอาตัวรอดจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2" ไปใช้กับงานหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นอื่น ๆ ไม่แน่ว่าเราอาจจะพบคำตอบของเหตุการณ์ที่ต่างออกไปจากสิ่งเดิมที่เราเคยเชื่อถือ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in