เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
SEX APPEAR เพศสะพรั่ง By ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์
  • รีวิวเว้ย (1492) ในทุกสังคมมักมีเรื่องที่ "พูดไม่ได้" หรือ "ห้ามพูด" อยู่อย่างน้อยเรื่องหนึ่งเสมอ หรืออย่างบางสังคมที่มีจินตนาการรูปร่างสันฐานของดินแดนเป็นรูปขวานบ้าง หรือหัวช้างตามทัศนะของชาวต่างชาติบ้าง เป็นหนึ่งในสังคมที่มีเรื่อง "ต้องห้าม" เต็มไปหมด หากเราลองหยิบยกเอาสักเรื่องขึ้นมาอย่างกรณีเรื่อง "เพศ" เราอาจจะรับรู้ได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องอ่อนไหวอาจจัดอยู่ในระดับเดียวกับการเสียดินแดนเชิงกายภาพ ตามความรู้สึกของใครหลายคนในสังคมเลยทีเดียว ความน่าแปลกประหลาดกับความ "รับไม่ได้" ของสังคมแห่งนั้น ในประเด็นเรื่องเพศ คือ ดินแดนแห่งนี้กลับมีสถิติการท้องก่อนวัยสูงลิ่ว และภาพสะท้อนของดินแดนแห่งนี้ในสายตาคนนอกกลับเป็นเรื่อง "เพศ" ที่เป็นภาพสะท้อนสำคัญของสังคมและเป็นที่รับรู้ของคนนอกเสียด้วยซ้ำ น่าแปลกที่เรื่อง "ปกติ" ของความเป็นมนุษย์ กลับเป็นเรื่อง "ต้องห้าม" ในดินแดนที่หลายคนพยายามจะเป็นยิ่งกว่ามนุษย์คนอื่น
    หนังสือ : SEX APPEAR เพศสะพรั่ง
    โดย : ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์
    จำนวน : 208 หน้า
    .
    "SEX APPEAR" ในชื่อภาษาไทยว่า "เพศสะพรั่ง" เป็นหนังสือความเรียงที่พร่าเลือนเรื่องจริง เรื่องแต่ง เรื่องสมมติให้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน ที่มีหมุดหมายหลักของการบอกเล่าอยู่ที่เรื่องราวของ "เพศ" ทั้งเรื่องของเพศสภาพ เพศวิถี รสนิยมทางเพศ วิถีของเพศ กระทั่งเรื่องเล่าของการร่วมเพศ ที่เราเองก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าความเรียงทั้ง 17 ชิ้น ที่ปรากฏอยู่ใน "เพศสะพรั่ง" เรื่องไหนจริง เรื่องไหนแต่ง แต่การแสวงหาความจริงว่าเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งไม่ใช่ใจความสำคัญของหนังสือเล่มนี้
    .
    หากแต่สิ่งที่ "เพศสะพรั่ง" กำลังบอกเรา คือ ไม่ว่าเรื่องที่ปรากฏอยู่ในความเรียงทั้ง 17 ชิ้นจะจริงหรือแต่ง หากแต่สภาวะหรือเหตุการณ์ที่ปรากฏในเรื่องแต่ละเรื่องนั้นอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ในสังคมนี้และในโลกนี้ แน่นอนว่าหลายเรื่องราวที่ปรากฏใน "เพศสะพรั่ง" คือการตบหน้าสังคมบางแห่งที่มองเรื่อง "เพศ" เป็นเรื่องต้องห้าม ต้องคำสาป ชั่วร้าย เลวทราม ที่ดินแดนแห่งความดีต้องปกปิดเก็บซ้อน ทั้งที่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่ดินแดนทุกแห่งจำต้องหยิบยกขึ้นมาพูดคุยและพูดถึงอย่างเปิดเผย เพื่อให้บรรทัดฐานและความเข้าใจเกิดขึ้นในสังคม และรวมไปถึงเพื่อให้สังคมนั้น ๆ เข้าใจความความเลวร้ายหลายประการก็เกิดขึ้นเพียงเพราะการเก็บซ้อนเรื่องเหล่านี้เอาไว้ภายใต้แนวคิดของ "ความดี/คนดี/สังคมดี" ทั้งที่สังคมและคนในสังคมจะดีกว่านี้ได้ ถ้าเรามองเรื่องเพศเป็นสิ่งสามัญธรรมดา ที่ทุกคนควรเรียนรู้ อยู่กับมัน ทำความเข้าใจ พูดคุยกันได้และให้ความเคารพต่อกัน ในฐานะของเพื่อนมนุษย์ที่ต่างคนต่างก็มีความเป็นคนอย่างเสมอหน้าและเท่าเทียม

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in