รีวิวเว้ย (1468) วิธีคิดในเรื่องการอนุรักษ์ของไทย โดยเฉพาะของรัฐไทย มุ่งเน้นการอนุรักษ์ที่แยกขาดออกไปจากบริบทโดยรอบ รวมถึงตัดขาดผู้คนออกไปจากสิ่งที่จะต้องทำการอนุรักษ์ ตลอดมาเราจึงจะเห็นว่าการอนุรักษ์ของรัฐไทย ทั้งในเรื่องของวัฒนธรรม ธรรมชาติ อาคารสถานที่-สิ่งปลูกสร้าง และอีกหลายอย่างที่วางตัวอยู่บนวิธีคิดของการอนุรักษ์โดยรัฐ มักจะทำการขับไล่ผู้คนให้ออกไปพ้นจากสิ่งที่รัฐหมายใจจะอนุรักษ์ เราจึงมักเห็นการอนุรักษ์ของรัฐมักตามมาด้วยปัญหาอยู่เสมอ ทั้งการตัดขาดจากผู้คนและชุนชน กระทั่งนำไปสู่การไล่-ล่า ผู้คนในนามของการอนุรักษ์โดยรัฐ
หนังสือ : ธรรมชาติสถาปนา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสมัยของทุน
โดย : ณภัค เสรีรักษ์
จำนวน : 175 หน้า
.
"ธรรมชาติสถาปนา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสมัยของทุน" หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของ "ธรรมชาติ" โดยบอกเล่าผ่านแนวคิดในเรื่องของการสถาปนาการอนุรักษ์ธรรมชาติ ผ่านการบอกเล่าในลักษณะของงานศึกษาเอกสารและกรณีศึกษา ที่จะพาผู้อ่านไปทบทวนแนวคิดและพลวัตของการอนุรักษ์ธรรมชาติตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมากระทั่งถึงช่วงเวลาของ "มนุษยสมัย" โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ทุนนิยมกลายมาเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งการอนุรักษ์ก็ตกอยู่ในสถานะที่ไม่ต่างกันในโลกทุนนิยมในปัจจุบัน โดยในหนังสือเล่มนี้ได้กำหนดคำเรียกให้กับโครงการอนุรักษ์ธรรมชาติว่า "ธรรมชาติสถาปนา"
.
สำหรับเนื้อหาของ "ธรรมชาติสถาปนา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสมัยของทุน" แบ่งการบอกเล่าออกเป็น 6 ส่วนหลัก และอีก 1 บทสรุป ที่เนื้อหาในแต่ละส่วนจะช่วยบอกเล่าในเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยรัฐ ผ่านมุมมองทางสังคมวิทยาและเศรษฐศาสตร์การเมือง โดยเนื้อหาของ "ธรรมชาติสถาปนา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสมัยของทุน" แบ่งไว้ดังนี้
.
(1) บทนำ ประกอบไปด้วย หลากความหมายของการอนุรักษ์, จาก “ธรรมชาติ” สู่ “สิ่งแวดล้อม”, มานุษยวิทยากับสิ่งแวดล้อม และโครงสร้างและลำดับเรื่องราวในหนังสือ
.
(2) นิเวศวิทยาการเมืองกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม ประกอบไปด้วย ข้อถกเถียงว่าด้วยยุคสมัยของสมัยปัจจุบัน, วิธีวิทยานิเวศการเมืองในหย่อมย่านของมนุษยสมัย, นิเวศวิทยาการเมืองกับการอนุรักษ์ธรรมชาติในสมัยของทุน
.
(3) สิ่งแวดล้อมนิยมและความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ประกอบไปด้วย การกลายเป็นปัญหาระดับโลกของสิ่งแวดล้อม, สิ่งแวดล้อมนิยมอันหลากหลาย, ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม และจากการอนุรักษ์ “สิ่งแวดล้อม” ไปจนถึง “ความหลายหลายทางชีวภาพ”
.
(4) พื้นที่คุ้มครองในฐานะ “ธรรมชาติสถาปนา” ประกอบไปด้วย ความสำคัญของการศึกษา “พื้นที่คุ้มครอง” ในทางมานุษยวิทยา, ประวัติศาสตร์ความคิดของ “พื้นที่คุ้มครอง”, การอนุรักษ์ธรรมชาติแบบทุนนิยม
.
(5) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ประกอบไปด้วย กำเนิดและพัฒนาการของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกระแสหลักในประเทศไทย, โครงการอนุรักษ์ข้ามชาติกับกำเนิด “ธรรมชาติสถาปนา” ในประเทศไทย
.
(6) โครงการอนุรักษ์บางแห่งในประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบไปด้วย ท้องถิ่นของโครงการอนุรักษ์อุรังอุตังระดับโลก
.
(7) บทสรุป ประกอบไปด้วย จาก “พื้นที่คุ้มครอง” สู่การอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่พ้นไปจาก “สมัยของมนุษย์”, รื้อถอน “ธรรมชาติสถาปนา” และสู่อนาคตของธรรมชาติสถาปนา (ใหม่) ที่พ้นไปจาก “สมัยทุนนิยม”
.
"ธรรมชาติสถาปนา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสมัยของทุน" ชักชวนให้ผู้อ่านตั้งคำถามและมองหาความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติ ในปัจจุบันที่แนวทางดั้งเดิมอันเป็นที่นิยมของรัฐในการขับเคลื่อนเรื่องของการอนุรักษ์จำเป็นต้องถูกตั้งคำถาม ทบทวน และท้าทายแนวคิดดังกล่าวของรัฐ ซึ่ง "ธรรมชาติสถาปนา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสมัยของทุน" ชักช่วนผู้อ่านตั้งคำถามผ่านความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม ธรรมชาติ ผู้คนและโลกทุนิยมที่การอนุรักษ์ธรรมชาติถูกทำให้เป็นหนึ่งในชุดเครื่องมืสำคัญของภาครัฐและภาคธุรกิจ และรวมไปถึงการชี้ให้เห็นถึงการขยายตัวของแนวทางในการอนุรักษ์ธรรมชาติแบบป่าปลอดมนุษย์ที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในฐานะของหลักการอนุรักษ์ธรรมชาติในยุคสมัยหนึ่ง และหนังสือยังได้ฝากความท้าทายสำคัญต่อการพัฒนาแนวทางของการอนุรักษ์ธรรมชาติของรัฐไปสู่ "การอนุรักษ์ธรรมชาติแบบอยู่ร่วมกัน" ที่สมควรถูกนำมาใช้เป็นแนวทางของธรรมชาติสถาปนา
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in