เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
ต่างจังหวัดในแดนไทย By ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
  • รีวิวเว้ย (1466) ภาพจำของต่างจังหวัดและคนต่างจังหวัดในการผลิตซ้ำของสื่อต่าง ๆ ในยุคสมัยหนึ่ง คือ ภาพแทนของผู้คนที่น่ารัก เมืองชนบทที่อากาศดี และมีวิถีชีวิตในแบบสโลว์ไลฟ์ ทำให้ "ต่างจังหวัด" เป็นภาพฝันของใครหลายคนที่อยากไปใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายของชีวิต กระทั่งหากเราย้อนถอยกลับไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้เราจะพบภาพการผลิตซ้ำความเป็นต่างจังหวัดปรากฏอยู่ในเพลง "ภูมิแพ้กรุงเทพฯ" ที่เพลงนี้อาจจะทำให้เราหลงลืมเรื่องของปัญหาฝุ่นควันในต่างจังหวัดไปในบัดดล หากแต่ในความเป็นจริงความเป็นต่างจังหวัดในประเทศไทย กลับกลายเป็นภาพของความล้าหลังและภาพของพื้นที่ที่จำต้องถูกบังคับ (บัญชา) ควบคุมจากส่วนกลาง ทั้งในเรื่องของการกำหนดนโยบายในการจัดการเรื่องต่าง ๆ ในพื้นที่ รวมไปถึงเรื่องของการออกแบบบริการสาธารณะในพื้นที่ ที่ในทุกวันนี้ (2567) รัฐไทยก็ยังเข้าใจว่าการออกแบบทุก ๆ อย่างของต่างจังหงัดจำเป็นต้องเกิดขึ้นจากส่วนกลางเป็นสำคัญ
    หนังสือ : ต่างจังหวัดในแดนไทย : การควบคุมพื้นที่ ความรู้ เเละความทรงจำนอกกรุงเทพฯ
    โดย : ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
    จำนวน : 360 หน้า
    .
    "ต่างจังหวัดในแดนไทย : การควบคุมพื้นที่ ความรู้ เเละความทรงจำนอกกรุงเทพฯ" หนังสือที่เล่าเรื่องราวของ "ต่างจังหวัด" และ "เมืองกรุงเทพฯ" ผ่านการพิจารณาความสัมพันธ์ของพื้นที่ทั้ง 2 พื้นที่ผ่านการเปรียบเทียบระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดในหลากหลายมิติ ทั้งมิติทางประวัติศาสตร์ มิติของการพัฒนา มิติของการศึกษา และอีกหลากหลายด้านที่ช่วยสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ทั้ง 2 ภายใต้การควบคุมของรัฐไทย ที่โลกหมุนอยู่รอบกรุงเทพฯ เป็นสำคัญ
    .
    ข้อความตอนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในคำนำของหนังสือ บอกเล่าถึงขอบเขตของเนื้อหาในการนำเสนอของหนังสือเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ความว่า "หนังสือเล่มนี้ให้ความสำคัญกับคำว่าต่างจังหวัด ในฐานะความสัมพันธ์เชิงอำนาจระดับพื้นที่ โดยเทียบระหว่างเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ โดยพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นองค์ประธาน ต่างไปจากหนังสือทั่วไปที่ไม่เน้นไปที่เรื่องเมือง ก็เน้นไปที่ชนบท หรือเห็นการเปรียบเทียบระหว่างเมืองและชนบทอย่างกว้าง ๆ หรือไม่ก็มองไม่พ้นการที่เอาเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง หนังสือเล่มนี้จึงมีต่างจังหวัดเป็น ศูนย์ กลางที่มีชีวิตอยู่บนความสัมพันธ์ที่เหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมไม่ว่าจะเป็นกลไกทางการเมือง การจัดการทรัพยากร พื้นที่ และผู้คน" (น. ฏ)
    .
    สำหรับเนื้อหาของ "ต่างจังหวัดในแดนไทย : การควบคุมพื้นที่ ความรู้ เเละความทรงจำนอกกรุงเทพฯ" แบ่งออกเป็นบทหลักทั้งสิ้น 6 บท ที่จะทำหน้าที่ในการฉายให้เห็นความสัมพันธ์ของต่าง "จังหวัด" กับ "กรุงเทพฯ" ในบริบทต่าง ๆ โดยเริ่มต้นตั้งแต่มิติทางประวัติศาสตร์ไปจนกระทั่งถึงเรื่องของความเป็นต่างจังหวัดในวัฒนธรรมและความรับรู้ของรัฐและผู้คนในรัฐ โดยเนื้อหาในแต่งะบทแบ่งเป็นดังนี้
    .
    บทที่ 1 ความเป็น “ต่างจังหวัด” ว่าด้วยนิยาม และแนวคิดเกี่ยวกับท้องถิ่น
    .
    บทที่ 2 ต่างจังหวัด บนอำนาจ-ความรู้ท้องถิ่น 3 ประการ
    .
    บทที่ 3 ว่าด้วยการเขียนประวัติศาสตร์ และโครงสร้างพื้นฐานความทรงจำของท้องถิ่น-ต่างจังหวัด
    .
    บทที่ 4 ต่างจังหวัดในมิติของพื้นที่และอำนาจ : ภาคเมือง
    .
    บทที่ 5 ต่างจังหวัดในมิติของพื้นที่และอำนาจ : ภาคชนบท
    .
    บทที่ 6 เสียงของต่างจังหวัดในวัฒนธรรมประชานิยม 
    .
    บทที่ 7 บทสรุป
    .
    "ต่างจังหวัดในแดนไทย : การควบคุมพื้นที่ ความรู้ เเละความทรงจำนอกกรุงเทพฯ" ช่วยให้เราเห็นภาพและที่มาของวิธีคิดในแบบที่หลายคนเคยได้ยินว่า "โลกหมุนรอบกรุงเทพฯ" ทั้งในฐานะของจุดเริ่มต้นของการพัฒนา ไปจนถึงเรื่องของการเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่จำเป็นต้องถูกดูแลผ่านการทุ่มทรัพยากรในการบริหารจัดการและพัฒนาพื้นที่ อีกทั้ง "ต่างจังหวัดในแดนไทย : การควบคุมพื้นที่ ความรู้ เเละความทรงจำนอกกรุงเทพฯ" ช่วยให้เราเข้าใจในเรื่องของสิ่งที้เกิดขึ้นกับคนกรุงเทพฯ นับเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศเสมอ อย่างกรณีของฝุ่นที่ถ้าเกิดในต่างจังหวัดปัญหานี้จะไม่ใช่ปัญหาของประเทศ หากแต่เมื่อใดที่ฝุ่นเริ่มรุกเข้ามาในเขตกรุงเทพฯ เมื่อนั้นปัญหาเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาระดับประเทศในทันที

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in