รีวิวเว้ย (1458) หลายวันก่อนเห็นตัวเลขการเพิ่มขึ้นของประชากรไทยแยกตามจังหวัด เปรียบเทียบระหว่าง พ.ศ. 2558 กับ พ.ศ. 2566 น่าสนใจว่าในหลายจังหวัดของไทยส่วนใหญ่มีตัวเลขประชากรในจังหวัดลดลง มีเพียง 20 จังหวัด (โดยประมาณ) ที่มีตัวเลขของประชากรมนพื้นที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระหว่าง พ.ศ. 2558 กับ พ.ศ. 2566 กลุ่มจังหวัดปริมณฑลมีตัวเลขการเพิ่มขึ้นของประชากรที่เห็นได้อย่างชัดเจน และหนึ่งในจังหวัดที่มีตัวเลขการเพิ่มขึ้นของประชากรเป็นอันดับที่ 1 ได้แก่จังหวัดปทุมธานี มีตัวเลขการเพิ่มขึ้นของประชากรอยู่ที่ 124,950 คน อาจอนุมานได้ว่าการเพิ่มขึ้นของตัวเลขดังกล่าวเป็นผลจากการขยายตัวของเมืองและแหล่งที่อยู่อาศัยที่ขยับออกมาจากพื้นที่กรุงเทพฯ ที่พื้นที่ของเมืองมีอยู่อย่างจำกัดและราคาที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัยก็ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เขตติดต่ออย่างปริมณฑลมีการเพิ่มขึ้นของประชากรตามสถิติของทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง
หนังสือ : ปทุมธานี สภาพแวดล้อมและประวัติศาสตร์ กับชื่อพื้นที่เขตการปกครองท้องถิ่น
โดย : นิพันธ์ วิเชียรน้อย
จำนวน : 85 หน้า
.
"ปทุมธานี สภาพแวดล้อมและประวัติศาสตร์ กับชื่อพื้นที่เขตการปกครองท้องถิ่น" หนังสือเล่มเล็กแต่ชื่อยาวเป็นหนังสือที่ทำหน้าที่ในการนำเสนอผลของงานวิจัยในชื่อเดียวกันกับชื่อหนังสือ โดยที่วัตถุประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนี้ได้มีการกำหนดเอาไว้ว่า "... มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชื่อจังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้านในจังหวัดปทุมธานีว่า การตั้งชื่อพื้นที่ในครั้งแรกของการตั้งถิ่นฐานมีลักษณะสัมพันธ์กับภูมิประเทศที่ปรากฏมากน้อยเพียงใด และวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์กับการวางแผนเศรษฐกิจ" (น. 76)
.
ดังนั้นการบอกเล่าถึงเนื้อหาใน "ปทุมธานี สภาพแวดล้อมและประวัติศาสตร์ กับชื่อพื้นที่เขตการปกครองท้องถิ่น" จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการบอกเล่าและศึกษา ประวัติความเป็นมาของพื้นที่ สภาพภูมิศาสตร์ อาณาเขตติดต่อ ภูมิประเทศ แม่น้ำ หน่วยการปกครองและกิจกรรมอื่น ๆ ในพื้นที่ภายใต้เขตปกครอง โดยเนื้อหาของ "ปทุมธานี สภาพแวดล้อมและประวัติศาสตร์ กับชื่อพื้นที่เขตการปกครองท้องถิ่น" จัดแบ่งออกเป็นบทตามอำเภอที่ปรากฏอยู่ในจังหวัดปทุมธานี อีกทั้งยังคงมีบทที่ว่าด้วยเรื่องของภาพร่วมและการวิเคราะห์ผลการศึกษาของงานวิจัย สำหรับเนื้อหาของ "ปทุมธานี สภาพแวดล้อมและประวัติศาสตร์ กับชื่อพื้นที่เขตการปกครองท้องถิ่น" แบ่งเป็นดังนี้
.
บทที่ 1 จังหวัดปทุมธานี
.
บทที่ 2 อำเภอปทุมธานี
.
บทที่ 3 อำเภอสามโคก
.
บทที่ 4 อำเภอลาดหลุมแก้ว
.
บทที่ 5 อำเภอหนองเสือ
.
บทที่ 6 อำเภอลำลูกกา
.
บทที่ 7 อำเภอธัญบุรี
.
บทที่ 8 อำเภอคลองหลวง
.
บทที่ 9 ระเบียบวิธีวิจัย
.
บทที่ 10 ผลการวิเคราะห์และข้อเสนอแนะ
.
บทที่ 11 การวางแผนเศรษฐกิจเมืองปทุมธานี
.
"ปทุมธานี สภาพแวดล้อมและประวัติศาสตร์ กับชื่อพื้นที่เขตการปกครองท้องถิ่น" ช่วยให้ผู้อ่านได้เห็นและได้ทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ของจังหวัดปทุมธานีได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการย้อนกลับไปทำความเข้าใจบริยทของพื้นที่ ที่มาที่ไป สภาพพื้นที่ในครั้งอดีต อีกทั้งการวางแนวทางของการพัฒนาเชิงพื้นที่ดังที่กราเติบโตของเมือง (จังหวัด) กำลังพัฒนาไปข้างหน้าดังที่ปรากฏในเบื้องต้น ผ่านการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎรในพื้นที่ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นอันดับแรกของประเทศไทย (ในปี พ.ศ. 2566)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in