รีวิวเว้ย (1436) สมัยก่อนเราเองไม่เคยสนใจว่าอาคารบ้านเรือน การที่รถติด การที่หน่วยงานราชการตามต่างจังหวัดต้องออกแบบให้มีหน้าตาเหมือน ๆ กัน หรือกระทั่งการเดินอยู่บนทางเท้าแล้วโดนคนตะโกนด่าให้เดินไว ๆ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจและระบบการจัดการของรัฐ และรวมไปถึงการออกแบบ กำหนดและคำนึงถึงผู้คนในเมือง ที่ตลอดหลายปีตั้งแต่เป็นเด็กเราเพิ่งรู้ว่า "รัฐไทยไม่ได้ออกแบบของพวกนี้ให้กับคนทุกคน" หากแต่การออกแบบเป็นไปเพื่อตอบสนองคนบางกลุ่มผ่านการพัฒนาพื้นที่ให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มคนเหล่านั้น ซึ่งรวมไปถึงเรื่องอื่น ๆ นอกเหนือจากการออกแบบทางกายภาพด้วย อาทิ การออกแบบนโยบาย หรือการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐไทยในหลายหนก็แสดงออกในทัศนะเดียวกันกับการออกแบบเมืองหนังสือ : สถาปัตย์-สถาปนา โดย : ชาตรี ประกิตนนทการ
จำนวน : 344 หน้า
.
"สถาปัตย์-สถาปนา" ในชื่อเต็ม ๆ ตามสูตรของหนังสือวิชาการและการตั้งชื่องานวิจัยว่า "สถาปัตย์-สถาปนา: การ (เมือง) ดีไซน์พื้นที่และความนัยสถาปัตยกรรม" เป็นการรวบรวมเอาบทความหลายชิ้นจากคอลัมป์ "พื้นที่ระหว่างบรรทัด" ในมติชนสุดสัปดาห์ ที่มีมากกว่า 140 ตอน มาคัดเลือก จัดกลุ่ม และขัดแยกเพื่อวางโครงสร้างสำหรับการนำเสนอและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลหลังจากที่บทคยามหลายชิ้นถูกตีพิมพ์ระหว่างเหตุการณ์หรืองานศึกษาทางวิชาการกำลังดำเนินอยู่
.
"สถาปัตย์-สถาปนา" จึงได้คัดเลือกเอาบทความหลายชิ้นจากคอลัมป์ดังกล่าว มาจัดกลุ่มการบอกเล่าออกเป็น 3 ส่วน ที่ในแต่ละส่วนทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับทั้งพื้นที่ สถาปัตยกรรมและเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดของงานสถาปัตยกรรม งานออกแบบและงานที่เกี่ยวข้องกับเมือง ทั้งในมิติปัจจุบัน ประวัติศาสตร์และอนาคต โดยเนื้อหาของ "สถาปัตย์-สถาปนา" แบ่งเป็นดังนี้
.
ส่วนที่ 1 พื้นที่เมือง เป็นกลุ่มบทความว่าด้วยความในที่ยอกย้อนซ้อนเร้นของการออกแบบพื้นที่เมืองในมิติต่างๆ ตั้งแต่เมืองที่กำลังเปลี่ยนกลายไปสู่เมืองของชนชั้นสร้างสรรค์ ความแหลมคมของปัญหาการศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในพื้นที่เมือง ความท้าทายใหม่ของศาสตร์เนโรอาคิเทคเชอร์ ต่อวงการการออกแบบระหว่างผังเมืองตลอดจนประวัติศาสตร์การเมืองของพื้นที่สาธารณะในสังคมไทย ต่อวงการการออกแบบระหว่างผังเมืองตลอดจนประวัติศาสตร์การเมืองของพื้นที่สาธารณะในสังคมไทย (น. (11)-(12))
.
ส่วนที่ 2 พื้นที่อุดมการณ์ เป็นกลุ่มบทความขนาดสั้นที่วิเคราะห์ในทางการเมืองที่แฝงอยู่ในงานออกแบบเมืองและงานสถาปัตยกรรมซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อความขัดแย้งทางการเมือง ร่วมสมัยของไทยในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา หลายกรณีเป็นกรณีในงานออกแบบที่ดูเล็กน้อยเสมือนไม่มีนัยสำคัญ แต่แท้จริงแล้วได้ซ้อนแผนอุดมการณ์ทางการเมืองเอาไว้อย่างลึกซึ้งและแนบเนียน (น. (12))
.
ส่วนที่ 3 พื้นที่ความเชื่อ เป็นกลุ่มบทความที่พยายามถอดรหัสความหมายของปรากฏการณ์ทางศิลปะและสถาปัตยกรรมที่อยู่ในพื้นที่ความเชื่อทางศาสนา ที่บางอย่างก็กลายมาเป็นมายาคติร่วมกันของสังคม บางอย่างก็เป็นปมขัดแย้งทางความเชื่อระหว่างผู้คน และบางอย่างก็เป็นข้อถกเถียงทางวิชาการที่ยังต้องได้รับการทบทวนใหม่ (น. (12))
.
อาจจะเรียกได้ว่า "สถาปัตย์-สถาปนา" เป็นหนังสือที่ท้าทายความเชื่อและความคิดเดิม ๆ ของคนในสังคม ทั้งเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจเมือง การพัฒนาชุมชนผ่านกลไกทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงการออกแบบเมืองที่อาศัยเรื่องของความคิด ความทรงจำ ความรู้สึกเข้ามาเป็นกลไกของโลกสมัยใหม่ หากแต่รัฐไทยก็ยังดูห่างไกลจากสิ่งเหล่านั้น นอกจากนี้ "สถาปัตย์-สถาปนา" กำลังบอกผู้อ่านว่าภายใต้พื้นที่ของสถาปัตยกรรม ผังเมือง และการออกแบบ ภายใต้สิ่งเหล่านี้เรื่องบางเรื่อง หรือบางสิ่งบางอยากให้เราต้องมองมันจากหลาย ๆ มุม หลาย ๆ ด้าน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in