เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
ไฮเวยาธิปไตย By ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
  • รีวิวเว้ย (1250) เวลาที่เรามองถนนเส้นหนึ่งเรามักจะคิดถึงอะไร (?) หลายคนอาจจะให้ภาพของถนนเป็นภาพแทนของการเดินทาง การจากลา หรือการกลับมาในสถานที่ที่เราคุ้นเคย หลายคนอาจจะใช้ภาพของถนนแทนภาพของบาดแผลในความทรงจำ และหลายคนก็อาจจะมองภาพของถนนในฐานะภาพสะท้อนของการพัฒนาความเจริญ โดยเฉพาะรัฐไทยในช่วงสงครามเย็นที่ถนนถูกใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือต่อต้านการขยายตัวของกลุ่มคอมมิวนิสต์ หน้าที่ของถนนจึงแตกต่างกันออกไปทั้งจากความคิดของบุคคลและจากความคิดของรัฐ ช่วงเวลาหนึ่งถนนจึงเคยถูกใช้เป็นตัวบ่งชี้ (indicator) ของการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้า และเมื่อไม่นานมานี้ตัวบ่งชี้ที่ว่าด้วยเรื่องของถนนลูกรังและถนนราดยางก็ยังเป็นตัวบ่งชี้ที่ถูกหยิบใช้ในเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในสังคมการเมืองไทย แต่นอกเหนือไปจากเรื่องของการเป็นตัวบ่งชี้ความเจริญแล้ว ถนนยังมีเบื้องลึก เบื้องหลัง ที่เราคาดไม่ถึงอีกมาก อาทิ เรื่องของการสั่งสมทุนทางการเมืองของนักการเมืองท้องถิ่น
    หนังสือ : ไฮเวยาธิปไตย อำนาจของถนนกับพลวัตการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย
    โดย : ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
    จำนวน : 384 หน้า

    "ไฮเวยาธิปไตย อำนาจของถนนกับพลวัตการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย" มีวัตถุประสงค์อยู่ 2 ประการ คือ (1) เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลวัตและบทบาทของระบบทางหลวงต่อสังคมไทยนับแต่ครั้งอดีตในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กระทั่งปัจจุบัน และ (2) เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่ระบบทางหลวงส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมไทย ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอภาพของทางหลวงผ่านสิ่งที่เรียกว่า "ไฮเวยยาธิปไตย" อันเป็นที่มาของชื่อหนังสือ "ไฮเวยาธิปไตย อำนาจของถนนกับพลวัตการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย"

    โดยผู้เขียนได้ให้นิยามของ "ไฮเวยาธิปไตย " เอาไว้ว่า "เป็นคำที่ผู้เขียนสร้างขึ้นมาจาก 2 คำ นั่นคือ ไฮเวย์ ที่แปลตามตัวอักษรว่าทางหลวง และคำว่าอธิปไตย ที่แม้จะมีความหมายในเชิงอำนาจทางการเมืองว่าอำนาจสูงสุดของรัฐที่จะใช้บังคับบัญชาภายในอาณาเขตของตน ยังมีความหมายว่าความเป็นใหญ่ที่ถูกใช้ร่วมกับคำอื่นอย่างประชาธิปไตย ไฮเวยาธิปไตยจึงมุ่งหวังที่จะชี้ให้เห็นถึง 'อำนาจอันมหาศาลของการสร้างทางหลวงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นพลวัต' การเปลี่ยนแปลงของการสัญจรระดับประเทศ-ท้องถิ่น ซึ่งได้รับผลกระทบต่อมิติทางกายภาพไม่ว่าจะเป็นผังเมืองหรือการตั้งถิ่นฐานอื่น ๆ เช่นเดียวกับมิติสังคมและวัฒนธรรม มิติเศรษฐกิจและมิติสิ่งแวดล้อม" (น.3)

    สำหรับเนื้อหาของ "ไฮเวยาธิปไตย อำนาจของถนนกับพลวัตการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย" บอกเล่าเรื่องราวของทางหลวงหรือไฮเวย์ของไทยตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2455 - 2563 โดยบอกเล่าผ่านพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของก่รพัฒนาระบบการขนส่งทางถนนของสยาม-ไทยจากครั้งอดีตกระทั่งปัจจุบัน รวมถึงการบอกเล่าเรื่องราวของพัฒนาการทางถนนที่ผูกโยงอยู่กับเรื่องของสงคราม การเมือง และการครอบงำด้วยชุดวิธีคิดของการพัฒนาในหลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงการบอกเล่าเรื่องราวของการสูญเสียที่เกิดขึ้นบนท้องถนนผ่านสถิติ ตัวเลข และการตั้งคำถามถึงรากฐานที่มาของอุบัติเหตุที่อุบัติขึ้นในแต่ละเหตุได้อ่านน่าสนใจ สำหรับเนื้อหาของ "ไฮเวยาธิปไตย อำนาจของถนนกับพลวัตการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย" แบ่งออกเป็น 5 บทดังต่อไปนี้

    บทที่ 1 บทนำ

    บทที่ 2 พัฒนาการของไฮเวยาธิปไตยภายใต้อุดมการณ์ระบบราชการและการเมืองไทย

    บทที่ 3 เทพบุตรทางหลวง อำนาจความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เมืองและชนบทอันเนื่องมาจากไฮเวยาธิปไตย

    บทที่ 4 มัจจุราชทางหลวง ว่าด้วยการเดินทางอุบัติเหตุ และการสูญเสียอันเนื่องมาจากไฮเวยาธิปไตย

    บทที่ 5 บทสรุป

    "ไฮเวยาธิปไตย อำนาจของถนนกับพลวัตการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย" ทำให้เราได้เข้าใจว่าแท้จริงแล้วถนนเป็นมากกว่าถนนที่ผู้คนสัญจรไปมา เพราะแท้จริงแล้วเมื่อเรามองถนนเส้นหนึ่งเราอาจจะเห็นอะไรหลายอย่างอยู่ก่อน ระหว่าง หลัง ถนนเส้นนั้น ๆ อาทิ การเมืองของการสร้างถนน เป้าหมายของการสร้างถนนหนทางขึ้นมา กลุ่มทุนกลุ่มการเมืองที่เติบโตและได้โอกาสในการสั่งสมความมั่งคั่งจากการพัฒนาของถนน และรวมไปถึงการสูญเสียที่ไม่ใช่แต่เพียงตัวเลขที่ภาครัฐเก็บในฐานะสถิติตัวเลข หากแต่ตัวเลขการสูญเสียที่ถูกบันทึกไว้ เป็นพ่อ แม่ พี่ น้อง และครอบครัวของใครสักคนเสมอ ซึ่ง "ไฮเวยาธิปไตย อำนาจของถนนกับพลวัตการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย" ย้ำเตือนกับเราว่าในหลายครั้งการสูญเสียที่เกิดก็มิใช่เรื่องของบาปกรรมหรือความบังเอิญหากแต่ในหลาย ๆ หนถนนเองเสียอีกที่เป็นต้นทางของการสูญเสียที่อาจป้องกันได้ด้วยการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in