เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
ประชานิยมสายกลางในยุโรป By นิธิ เนื่องจำนงค์
  • รีวิวเว้ย (1392) น่าสนใจเมื่อลองค้นหาคำว่า "พรรคประชานิยมสายกลาง" ในภาษาไทย เราจะไม่พบความหมายของพรรคประชานิยมสายกลาง หากแต่สิ่งที่เราพบจากคำค้นหากลายเป็นเรื่องของ "พรรคการเมือง" ที่ถูกจับคู่กับคำว่า "ประชานิยม" หรือถ้าค้นให้ลึกไปกว่านั้นอีกสักหน่อยเราจะพบคำว่า "พรรคการเมืองทางสายกลางแนวพุทธศาสนา" ที่เมื่อกดเข้าไปอ่านนิยาม ความหมายและการให้เหตุผลสิ่งที่เราทำได้มากที่สุดคือกดปิด อันที่จริงคำว่า "ประชานิยม" ดูจะเป็นคำที่ถูกมองว่เป็นปัญหายิ่งโดยเฉพาะในการเมืองไทย และคำว่า "สายกลาง" ก็ดูจะเป็นปัญหาไม่ต่างกันเพราะคำดังกล่าวก็ถูกยึดกุมความหมายเอาไว้ด้วยหลักคิดแบบพุทธศาสนาที่ว่าด้วยเรื่องของ "ทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา)" ทำให้เมื่อเอ่ยถึง "พรรคการเมืองประชานิยมสายกลาง" ในภาษาไทยจึงความหมายที่ได้รับจึงออกมาในลักษณะของการหยิบเรื่องนั่น ผสมเรื่องนี้ ปนเรื่องโน้น
    หนังสือ : ประชานิยมสายกลางในยุโรป
    โดย : นิธิ เนื่องจำนงค์
    จำนวน : 92 หน้า
    .
    "ประชานิยมสายกลางในยุโรป" ชื่อเต็มของหนังสือคือ ประชานิยมสายกลางในยุโรป คุณลักษณะสำคัญและนัยที่มีต่อประชาธิปไตย โดยที่ "ประชานิยมสายกลางในยุโรป" เป็นเล่มรายงานวิจัยของศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เนื้อหาของหนังสือจะพาผู้อ่านไปตั้งคำถามถึงสิ่งที่ในรอบหลายปีมานี้เป็นที่ถูกพูดถึงและหยิบขึ้นมาใช้ในฐานะของเครื่องมือในการโจมตีทางการเมือง ที่หลายคนน่าจะคุ้นหูกันอย่าง "ประชานิยม" หากแต่สิ่งที่ปรากฏใน "ประชานิยมสายกลางในยุโรป" มิใช่เรื่องของ "นโยบาบประชานิยม" หากแต่เป็นเรื่องของ "พรรคการเมืองประชานิยม" ที่มีทั้งพรรคฝ่ายขวา ฝ่ายซ้าย แต่ที่ "ประชานิยมสายกลางในยุโรป" ให้ความสำคัญในการศึกษาคือ "พรรคประชานิยมสายกลาง" โดยที่คำถามไปที่เรื่องของ (1) พรรคประชานิยมสายกลางมีลักษณะอย่างไร (2) เหตุใดพรรคประชานิยมสายกลางจึงประสบความสำเร็จในหลาย ๆ ประเทศ และ (3) การก้าวขึ้นมาของพรรคประชานิยมสายกลางมีนัยอย่างไรต่อประชาธิปไตย
    .
    "ประชานิยมสายกลางในยุโรป" มุ่งแสวงหาคำตอบทั้ง 3 ประการผ่าน 2 ประเทศที่ผู้เขียนทำการศึกษาได้แก่สาธารณรัฐเช็ก และอิตาลี ด้วยการเข้าไปหาคำตอบในข้อคำถามผ่านพรรคการเมืองในทั้ง 2 ประเทศ สำหรับเนื้อหาของ "ประชานิยมสายกลางในยุโรป" มีลำดับการเล่าเรื่องในกรณีศึกษาระหว่างเช็กและอิตาลี ที่จะเริ่มต้นจากภาพรวม ประวัติศาสตร์ ลำดับเหตุการณ์ การขึ้นมาและเข้ามามีบทบาทของพรรคประชานิยมสายกลาง ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ และบทสรุปในส่วนสุดท้ายที่พูดถึงพรรคประชานิยมสายกลางของประเทศนั้น ๆ ที่ส่งผลต่อประชาธิปไตยในประเทศ โดยเนื้อหาของ "ประชานิยมสายกลางในยุโรป" แบ่งออกเป็น 4 บทดังนี้
    .
    บทที่ 1 บทนำ
    .
    บทที่ 2 ประชานิยมสายกลางในสาธารณรัฐเช็ก
    .
    บทที่ 3 ประชานิยมสายกลางในอิตาลี
    .
    บทที่ 4 บทสรุป
    .
    เมื่ออ่าน "ประชานิยมสายกลางในยุโรป" เราจะเห็นว่าการก้าวขึ้นมามีบทยาทของพรรคประชาธิปไตยสายกลางใน 2 ประเทศตัวอย่างอย่างเช็คและอิตาลี เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ซึ่งหนังสือ "ประชานิยมสายกลางในยุโรป" ได้ชี้ให้ผู้อ่านเห็นคุณลักษณะร่วมบางประการของพรรคประชานิยมสายกลางที่ก้าวขึ้นมามีบทบาท และยังแสดงให้เห็นถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จของพรรคประชานิยมสายกลางที่ส่งให้พรรคในกลุ่มนี่ก้าวขึ้นมามีบทบาทในหลายประเทศในยุโรปได้อย่างรวดเร็วและเป็นที่น่าจับตามอง น่าสนใจว่าหากมีการขยายกรณีที่นำมาใช้ศึกษาออกไปในอีกหลายประเทศในยุโรปที่พรรคประชานิยมสายกลางกำลังก่อตัว ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นจุดร่วมสำคัญหลาย ๆ ประการของปรากฏการณ์ทางการเมืองในครั้งนี้ก็เป็นได้

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in