เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
แนวโน้มการพัฒนาระบบนักบริหารระดับสูงในภาครัฐของไทย By สุนิสา ช่อแก้ว
  • รีวิวเว้ย (1359) ในวิชาเรียนรัฐศาสตร์บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินว่าปัญหาที่น่ากังวลจริง ๆ สำหรับรัฐบาลไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากเกมการเมืองระหว่างพรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้านหรือพรรคร่วมรัฐบาล แต่ในหลายหนปัญหาที่น่ากลัวที่สุดสำหรับรัฐบาลที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศคือปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลไกสำคัญอย่าง "ข้าราชการประจำ" เพราะข้าราชการประจำคือหน่วยสำคัญที่กุมข้อมูล กลไก เทคนิควิธี ขั้นตอนการดำเนินงานและอื่น ๆ ที่จะส่งผลโดยตรงและโดยอ้อมต่อการทำงานของรัฐบาล ทั้งในเรื่องของการขับเคลื่อนนโยบายนำเอานโยบายไปปฏิบัติใช้ และรวมไปถึงการติดตามตรวจสอบผลของการนำเอานโยบายต่าง ๆ ไปปฏิบัติ และเป็นมือไม้ที่สำคัญของกลไกการบริหาร หากเมื่อใดที่กลไกข้าราชการประจำปล่อยเกียร์ว่างใส่รัฐบาลแล้วเมื่อนั้นหายนะเตรียมบังเกิดกับรัฐบาลได้ทันที แล้วอะไรที่จะทำให้รัฐบาลสามารถขับเคลื่อนงานไปพร้อม ๆ กับกลไกข้าราชการประจำได้ (?) คำถามนี้หลายคนละเลยที่จะมองหาคำตอบของคำถาม ซึ่งในบางครั้งหลายคนละเลยที่จะมองข้ามคำถามข้อนี้ไปเลยเสียด้วยซ้ำไป ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว "ระบบราชการ (ประจำ)" อาจจะทรงอิทธิพลยิ่งกว่านักการเมืองและพรรคการเมืองเสียอีก

    หนังสือ : แนวโน้มการพัฒนาระบบนักบริหารระดับสูงในภาครัฐของไทย
    โดย : สุนิสา ช่อแก้ว
    จำนวน : 282 หน้า
    .
    "แนวโน้มการพัฒนาระบบนักบริหารระดับสูงในภาครัฐของไทย" หนังสือที่จัดทำขึ้นจากการนำเอางานวิจัยมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือ (เล่มใหญ่) ที่ทำหน้าที่ในการศึกษาถึงเรื่องของ "การพัฒนาระบบนักบริหารระดับสูงในภาครัฐของไทย" หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นงานวิจัยที่มุ่งศึกษาในเรื่องของข้าราชการ (ประจำ) ระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐ ที่นกลุ่มนี่คือหัวใจสำคัญในการเชื่อมประสานระหว่างกลไกฝ่ายบริหารกับข้าราชการในหน่วยงานต่าง ๆ โดยการทำหน้าที่ในการเชื่อมประสารการขับเคลื่อนนโยบาย การดำเนินงาน การบริการจัดการในหน่วยงานนั้น ๆ ทั้งในระดับกำหนดนโยบายและระดับผู้ปฏิบัติงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อขับเคลื่อนองค์กรหรือภารกิจให้ลุล่วงลงได้
    .
    สำหรับ "แนวโน้มการพัฒนาระบบนักบริหารระดับสูงในภาครัฐของไทย" มุ่งศึกษาในเรื่องของการศึกษาแนวโน้ม และออกแบบการพัฒนาระบบนักบริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐให้สอดรับกับภาระงาน ความต้องการ ศักยภาพและรวมไปถึงการรักษาคนที่มีศักยภาพให้ยังคงทำงานอยู่กับองค์กรผ่านการศึกษา ออกแบบและพัฒนาระบบที่จะสามารถตอบกับวัตถุประสงค์เหล่านั้นได้ ผ่านการศึกษาเปรียบเทียบกับระบบของต่างประเทศทั้งสิ้น 4 ประเทศ และศึกษาระบบของไทยผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐของไทยอย่างเข้มข้นเพื่อศึกษาและออกแบบระบบที่สอดรับความเปลี่ยนแปลง โดยงานวิจัย "แนวโน้มการพัฒนาระบบนักบริหารระดับสูงในภาครัฐของไทย" ชิ้นนี้ได้จำแนกนักบริหารระดับสูงออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (นิยามศัพท์เฉพาะ, น. 7-8)
    .
    "(1) นักบริหารระดับสูงกลุ่มที่ 1 หมายถึง ตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น (ตำแหน่งระดับ 9) ได้แก่ ตำแหน่งรองหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม โดยให้ปลัดกระทรวงผู้บังคับบัญชา หรือให้หัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือต่อรัฐมนตรี
    .
    (2) นักบริหารระดับสูงกลุ่มที่ 2 หมายถึง ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (ตำแหน่งระดับ 10) ได้แก่ รองหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการระดับกรม รองหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือต่อรัฐมนตรีแล้วแต่กรณี โดยให้ปลัดกระทรวงผู้ยังคับบัญชา หรือหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรืออยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี เสนอผ่านรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้อนุมัติ
    .
    (3) นักบริหารระดับสูงกลุ่มที่ 3 หมายถึง ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (ตำแหน่งระดับ 11) ได้แก่ หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง หัวหน้าส่วนระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีแล้วแต่กรณี โดยให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติ"
    .
    สำหรับเนื้อหาของ "แนวโน้มการพัฒนาระบบนักบริหารระดับสูงในภาครัฐของไทย" ด้วยความที่เป็นหนังสือที่มาจากงานวิจัยทำให้การนำเสนอเนื้อหาของหนังสือยังคงรักษาวิธีการเล่าเรื่องและร้อยเรียงวิธีการนำเสนอในรูปแบบของรูปเล่มงานวิจัย และประกอบไปด้วยประเด็นการศึกษาทั้งสิ้น 7 ประเด็นได้แก่ (1) มุมมองต่อนักบริหารระดับสูง (2) รูปแบบการบริหารจัดการนักบริหารระดับสูง (3) การกำหนดคุณสมบัติ (4) การคัดเลือกและการแต่งตั้ง (5) การพัฒนา (6) การบริหารผลงาน และ (7) การกำหนดค่าตอบแทน โดยเนื้อหาของ "แนวโน้มการพัฒนาระบบนักบริหารระดับสูงในภาครัฐของไทย" แบ่งออกเป็น 9 บทดังนี้
    .
    บทที่ 1 บทนำ
    .
    บทที่ 2 ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
    .
    บทที่ 3 ระเบียบวิธีวิจัย
    .
    บทที่ 4 ผลการศึกษาการทบทวนระบบนักบริหารระดับสูงในต่างประเทศ: ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย
    .
    บทที่ 5 ผลการศึกษาการทบทวนระบบนักบริหารระดับสูงในภาครัฐไทย
    .
    บทที่ 6 ผลการศึกษาแนวโน้มในการพัฒนาระบบนักบริหารระดับสูงในภาครัฐของไทย
    .
    บทที่ 7 แนวโน้มในการพัฒนาระบบนักบริหารระดับสูงในภาครัฐไทย
    .
    บทที่ 8 สรุปผลการศึกษา
    .
    บทที่ 9 การอภิปรายผลและข้อเสนอแนะ
    .
    "แนวโน้มการพัฒนาระบบนักบริหารระดับสูงในภาครัฐของไทย" พาเรากลับไปหาคำตอบของคำถามที่ว่า เหตุใดเราถึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของระบบราชการ ที่มิใช่แค่เรื่องของการทำงาน อำนาจหน้าที่ หากแต่การบริหารจัดการเรื่องของ "คน" ในระบบราบการเองก็เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการทำงานของกลไกต่าง ๆ ทั้งเรื่องของการขับเคลื่อนนโนบายของฝ่ายบริหาร การติดตามผลการดำเนินงาน "แนวโน้มการพัฒนาระบบนักบริหารระดับสูงในภาครัฐของไทย" ช่วยให้เราเข้าใจถึงความสำคัญและจำเป็นของการบริหารจัดการ "คน" ที่มีความสามารถในระบบราชการเพื่อให้พวกเขากลายมาเป็นกลไกสำคัญในการประสานและขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
    .
    สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่: https://djrctu.com/publications/%e0%b9%81%e0%b8%99%e0%b8%a7%e0%b9%82%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%a1%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%9e%e0%b8%b1%e0%b8%92%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%9a%e0%b8%9a%e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%81/

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in