เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
หลักนิติธรรม: 9 ปี ทวีเกียรติ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ By รณกรณ์ บุญมี บก.
  • รีวิวเว้ย (1345) หากเริ่มต้นด้วยคำถามเดิมจากการรีวิวหนังสือเล่มก่อนที่ว่า "...หากเริ่มต้นด้วยประโยคคำถามที่ว่า "ศาลใดมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของสังคมไทย" แน่นอนว่า ณ เวลานี้หลายคนคงตอบอย่างพร้อมเพียงกันว่า "ศาลรัฐธรรมนูญ"..." แน่นอนว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่ถูกพูดถึงอย่างมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา อาจจะด้วยความที่คดีความส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมือง (ในความรับรู้ของผู้คน) แต่เอาเข้าจริงแล้วคดีที่เข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังมีอีกหลายคดีที่กระทบกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ อย่างกรณีเรื่องของการใช้คำนำหน้านามของผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว และอีกหลายกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีแนวทางคำวินิจฉัยชี้ขาดเพื่อสร้างบรรทัดฐานให้กับสังคมไทย แต่แน่นอนคงยากจะปฏิเสธที่จะบอกว่าสายตาและการจับจองของประชาชน มองดูศาลรัฐธรรมนูญในฐานะขององค์กรหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการเปลี่ยนเกมทางการเมือง อาจจะด้วยหลายเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้คำพิพากษาส่วนบุคคลของศาลฯ กลายเป็นไม่จำเป็นต้องเผยแพร่ลงราชกิจจานุเบกษา ทำให้หลายหนการเข้าถึงคำพิพากษาส่วนตนเพื่ออ่านความเห็นของตุลาการแต่ละท่านไม่ถูกพูดถึงเท่าไหร่นัก และนั่นเป็นเพียงข้องสงสัยหนึ่งจากหลาย ๆ ข้อที่ผู้คนให้ความสำคัญและจับจ้องมองดูการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ
    หนังสือ : หลักนิติธรรม: 9 ปี ทวีเกียรติ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ
    โดย : รณกรณ์ บุญมี บก.
    จำนวน : 472 หน้า
    .
    "หลักนิติธรรม: 9 ปี ทวีเกียรติ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ" หนังสือที่จัดทำขึ้นในวาระเนื่องด้วยการหมดวาระ 9 ปี การเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของ "ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ" ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายอาญา โดยที่เนื้อหาของหนังสือ "หลักนิติธรรม: 9 ปี ทวีเกียรติ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ" มุ่งเน้นไปที่เรื่องของการทำความเข้าใจการทำหน้าที่ของทวีเกียรติ ในช่วงเวลาของการรับหน้าที่เป็นตุลาการในชั้นศาล
    .
    ความตอนหนึ่งในหนังสือ "หลักนิติธรรม: 9 ปี ทวีเกียรติ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ" ได้เขียนเหตุและผลของการทำหนังสือเล่มนี้เอาไว้ดัวนี้ "...ทั้งนี้เนื่องด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เผยแพร่ทั่วไปนั้น เป็นเพียงคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่เห็นชอบ ทำให้ความเห็นเสียงข้างน้อยที่เห็นแย้งกับเสียงส่วนใหญ่ (dissening opinion) หรือบางครั้งแม้เห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านอาจมีเหตุผลเพิ่มเติม หรือมีเหตุผลที่แตกต่างไปจากเสียงส่วนใหญ่ (concurring opinion) เหตุผลเหล่านี้ไม่ถูกเผยแพร่ไปพร้อมกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ... ซึ่งอาจนำไปสู่การถกเถียงถึงความชอบด้วยกฎหมายในเหตุผลของคำวินิจฉัยได้ลึกซึ้งและรอบด้านมากขึ้น ..." (น.7-8)
    .
    สำหรับเนื้อหาของ "หลักนิติธรรม: 9 ปี ทวีเกียรติ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ" สามารถแบ่งออกได้เป็น 9 ส่วนหลัก และในแต่ละส่วนของเนื้อหานั้นจะประกอบไปด้วยเรื่องราว เรื่องเล่า บันทึกความทรงจำ และบันทึกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนบุคคลมาร่วมเข้าไว้ด้วยกัน โดยที่เนื้อหาทั้ง 9 ส่วนแบ่งเป็นดังนี้
    .
    1) บทบรรณาธิการ
    .
    2) เปิดใจทวีเกียรติ
    .
    3) บทวิวรณ์
    .
    4) บทความ
    .
    5) บทรำลึก
    .
    6) สาระสำคัญในคำวินิจฉัยส่วนบุคคล (บางเรื่อง)
    .
    7) ประวัติ แนวคิดและปรัชญาชีวิตของ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ
    .
    8) บทสัมภาษณ์ประธานกรรมการสรรหา
    .
    9) บทส่งท้าย
    .
    ตัวอย่างของบทหนึ่งที่เราในฐานะผู้อ่านอยากแนะนำให้ทุกคนได้ลองอ่าน คือ ส่วนของบทวิวรณ์ ที่เขียนโดย นครรินทร์ เมฆไครรัตน์ เรื่อง "ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ที่มั่นคงในหลักการและหลักวิชา" ในส่วนนี้จะเห็นการพูดถึงคดีสำคัญที่เป็นที่รับรู้ของสังคม 2 คดี ที่ทวีเกียรติกับนครินทร์ มีความเก็นต่างกันในคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ อย่าง "คำวินิจฉัยคดีศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2563" เรื่องของการทำแท้ง และ "คำวินิจฉัยคดีศาลรัฐธรรมนูญที่ 14/2562" กรณีการถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ "คำวินิจฉัยคดีศาลรัฐธรรมนูญที่ 7/2563" การเดินทางกลับมาตุภูมิของบุคคลผู้มีสัญชาติไทย (กรณีลูกครึ่งไทย-ต่างชาติ) และ "คำวินิจฉัยคดีศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562" คำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และอีกหลายคำวินิจฉัยที่ปรากฏอยู่ในข้อเขียนของนครินทร์ สำหรับเราในฐานะของผู้อ่านแล้วข้อเขียนเหล่านั้นแสดงให้เห็นถึงเหตุผลและที่มาที่ไปของหลายคำวินิจฉัย แต่หากจะดีกว่านี้มาถ้ามีการให้เหตุผลเพิ่มเติมในกรณีของความเห็นแย้งกันของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน (อาจจะเริ่มต้นจาก นครินทร์และทวีเกียรติ ก่อนเลยก็ได้)
    .
    นอกจากนี้ในส่วนที่สำคัญอีกตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือส่วนของ "สาระสำคัญในคำวินิจฉัยส่วนตน (บางเรื่อง) ได้มีการรวบรวมเอาคดีกว่า 33 คดีที่ทวีเกียรติ ได้ทำคำวินิจฉัยส่วนตนเอาไว้ในคดีต่าง ๆ โดยการรวบรวมเอาประเด็นและข้อสำคัญของคำวินิจฉัยเหล่านั้นมารวมไว้ด้วยกัน แน่นอนว่าในบรรดาคดีต่าง ๆ ที่ถูกหยิบยกมา มีหลายคดีที่เป็นคดีที่อยู่ในความจดจำของผู้คนในสังคม และหลาย ๆ คดีได้เปลี่ยนทิศทางของสังคมไทยไปตลอดกาล
    .
    การหยิบเอา "หลักนิติธรรม: 9 ปี ทวีเกียรติ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ" ขึ้นมาอ่านนั้นบรรยากาศของการอ่านคงเปรียบได้กับหนังสือที่ระลึกในงานเกษียณอายุราชการของอาจารย์มหาวิทยาลัยหลาย ๆ ท่าน หากแต่ความน่าสนใจประการสำคัญสำหรับ "หลักนิติธรรม: 9 ปี ทวีเกียรติ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ" นอกเหนือไปจากการได้ทำความเข้าใจในชีวิต ตัวตน และผลงานของทวีเกียรติในรอบ 9 ปีในวาระของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่อพิจารณาจากหลายบทหลายตอนในหนังสือและเมื่อพิจารณาจากตัวแสดงต่าง ๆ ที่ปรากฏใน "หลักนิติธรรม: 9 ปี ทวีเกียรติ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ" เราอาจจะมองเห็นเบื้องหลังบางประการที่ตัวอักษรไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in