รีวิวเว้ย (1342) เราหยิบเอารีวิวของหนังสือเล่มนี้มาเขียนถึงอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากการจากไปของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 ในวัย 83 ปี ผลงานของนิธิมีอยู่มากมายจนยากเกินจะนับได้ และคุณูปการณ์ของนิธิต่อวงวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ในประเทศไทยก็มีมากมายจนยากที่จะกล่าวได้ครบ สิ่งสำคัญประการหนึ่งของการวางรากฐานทางวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ที่เป็นผลงานชิ้นสำคัญของนิธิ คือ การวางรากฐานของวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ให้กับโลกวิชาการประวัติศาสตร์ ในประเทศไทย อีกทั้งนิธิยังคงทำหน้าที่เป็นเครื่องกระตุ้นและเตือนสังคมไทยอยู่อย่างสม่ำเสมอทั้งในช่วงเหตุการณ์ทางการเมือง และในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของสังคมไทย การสูญเสียนักวิชาการคนสำคัญของวงวิชาการไทยเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจเป็นอย่างยิ่ง หากแต่ตลอดระยะเวลาชั่วชีวิตของนิธิ เขาได้ส่งมอบ ต่อยอด และจุดไฟทางปัญญา เพื่อสร้างนักวิชาการรุ่นใหม่ ๆ ให้เกิดมีขึ้นในสังคมไทย และเขาเองได้ใช้ชีวิตให้เป็นตัวอย่างของบุคคลที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ของตนจนห่วงสุดท้ายของลมหายใจ ขอให้อาจารย์เดินทางสู่ดินแดนสงบสันติ.เราตั้งคำถามกับความเป็นไทยมาช้านาน โดยเฉพาะในทุกวันนี้ที่การต่อสู้กันในเรื่องของความเป็น "คนไทยรึเปล่า" ปรากฏชัดในการถูกชูขึ้นมาเป็นประเด็นในการต่สู้ทางการเมืองของคนบางกลุ่ม น่าแปลกใจว่าภาษาที่พูดกันอยู่หรือพิมพ์ให้อ่านก็เป็นภาษาไทย ยังจะมีหน้ามาถามว่า "คนไทยรึเปล่า (?)" นี่กูพิมพ์ภาษารูนให้มึงอ่านมั้งนะ และก็น่าแปลกที่ความเป็นไทยและวัฒนธรรมไทย (พุทธ) ถูกหยิบมาเป็นประเด็นในการสร้างความเป็นอื่นได้ตลอดเวลา ทั้ง ๆ ที่แม่สิตางค์ก็บอกแล้วว่า "ไทยแปลว่าอิสระ" ซึ่งการที่ความเป็นไทยถูกหยิบมาใช้โดยคนบางกลุ่มอยู่บ่อยครั้งใยการสร้างความเป็นอื่น เราเลยต้องหยิบเอาหนังสือที่เคยอ่านสมัยเรียนปริญญาตรีมาอ่านอีกครั้ง ที่น่าแปลกยิ่งกว่าหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกตอนปี 2534 (แถว ๆ นี้แหละ) แต่ปัจจุบัน 2566 หนังสือเล่มนี้ยังตอบปรากฏการณ์ของสิ่งที่ในหนังสือใช้คำว่า "รูปการจิตสำนึก" ของวัฒนธรรมและความเป็นไทยได้อย่างดีเยี่ยม !!!หนังสือ : ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ ว่าด้วยวัฒนธรรม รัฐ, และรูปการจิตสำนึก
โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์
จำนวน : 208 หน้า
.
"ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ ว่าด้วยวัฒนธรรม รัฐ, และรูปการจิตสำนึก" หนังสือรวมบทความของ "นิธิ เอียวศรีวงศ์" ที่เขียนเอาไว้ในศิลปวัฒนธรรม ที่ว่าด้วยเรื่องราวของการตั้งคำถามและชี้ชวนให้มองถึง "ความเป็นไทย" ผ่านเรื่องราวของวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และอื่น ๆ ที่ก่อรูปให้เกิดขึ้นจนกลายเป็น "จิตสำนึกของความเป็นไทย" ที่ปรากฎกลายเป็นวัฒนธรรมความรับรู้ของคนไทยในรุ่นสงครามเย็น (นิยามคนกลุ่มนี้ตามหนังสือเรื่อง สงครามเย็นในระหว่างโบว์ขาว)
.
"ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ ว่าด้วยวัฒนธรรม รัฐ, และรูปการจิตสำนึก" มีหลายบทความที่เป็นบทความต้องอ่านในวิชาเรียนที่รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ อาทิ บทความเรื่อง "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย" ที่ช่วยขยายให้เห็นว่าเพราะเหตุใดรัฐธรรมนูญไทยเปลี่ยนบ่อย ฉีกบ่อยเหลือเกิน เพราะเอาเข้าจริงแล้วมันอาจจะมีกลไกบางอย่างที่เหนือขึ้นไปกว่ารัฐธรรมนูญ ถ้าอยากรู้ก็ลองหามาอ่านดู
.
และนอกเหนือไปจากนั้น "ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ ว่าด้วยวัฒนธรรม รัฐ, และรูปการจิตสำนึก" ยังช่วยให้เราเข้าใจถึงการก่อรูปและการสร้าง "จิตสำนึกของความเป็นไทย" ผ่านกลไกของรัฐ เครื่องมือทางประวัติศาสตร์ ที่มันส่งผลมาถึงปัจจุบัน ที่หลายครั้งเครื่องมือของรัฐที่สร้างมันก็ทรงพลังอย่างมาก เพียงเพราะกลุ่มคนที่เชื่อไม่เคยสอบทาน ตั้งคำถาม หรือลองหาคำตอบในเรื่องเดียวกันจากมุมมองอื่น นั่นทำให้เราสรุปได้ว่าคนไทยในสังคมไทยยุงหนึ่งช่าง "เชื่อง" ต่อรัฐเสียเหลือเกิน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in