เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Watercolor Art Supplies太閤 名人
เลือกสีน้ำอย่างไรให้เหมาะกับตัวเอง?

  • มีหลายท่านที่อยากจะเริ่มฝึกใช้สีน้ำ
    แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร?
    ซื้ออุปกรณ์แบบใดจึงจะเหมาะกับตัวเอง?
    เดี๋ยวอันนั้นก็แพงจัง อันนี้ถูกจัง

    ต่างกันอย่างไร? ใช้แทนกันได้ไหม?



    บทความนี้จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อตอบคำถามเหล่านั้น!


    สีน้ำ หรือภาษาอังกฤษคือ Watercolor ตามฝรั่งเขาว่า นั้นแบ่งใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภทคือ

    1. Transparent Watercolor สีน้ำแบบใสที่เราเห็นกันทั่วไป
    2. Gouache Watercolor สีน้ำแบบทึบ หรือที่บ้านเราเรียกว่า "สีโปสเตอร์" นั่นเอง (เวลาฝรั่งเขาพูดคำว่า Watercolor เขาจะรวมประเภทนี้เข้าไปด้วย ดังนั้นอย่าไปงงหากเขาพูดว่า Watercolor แต่หมายถึงสีโปสเตอร์)

     สีน้ำที่เราจะเจาะจงพูดถึงในบทความนี้ก็คือประเภทแรกนั่นเอง


    ท่านใดที่อยากอ่านเฉพาะที่เกี่ยวกับเกรดของสีน้ำ ข้ามไปเลยก็ได้ค่ะ


    สีน้ำ อันนี้เอาตามภาษาปากแล้วนะ แถวบ้านเรามันจะมีหลายแบบ ได้แก่

    • แบบตลับ
    • แบบหลอด
    • แบบหมึกขวด
    (สีไม้ระบายน้ำ หรือชอล์คระบายน้ำนี่ไม่นับนะ)


    1. สีน้ำตลับ

    ADVERTISEMENT

    จากภาพคือสีน้ำตลับยี่ห้อ Sennelier (ซึ่งภายหลังได้ทำการนำ W&N Cotman มายัดเข้าไปเพิ่ม)

    จุดเด่นของสีน้ำตลับคือ ความพกพาง่าย มีขนาดเล็ก สะดวกใช้งาน บางยี่ห้อจะแถมพู่กันขนาดเล็กสำหรับพกพามาด้วย

    ลักษณะของมันจะมาแบบแห้ง ๆ เพื่อไม่ให้พกพาไปไหนแล้วเลอะ ต้องละลายน้ำก่อนใช้งาน

    ข้อเสียหลักของสีน้ำตลับคือ ตัวแพนสีมันเล็ก ไม่เหมาะกับการระบายพื้นที่ใหญ่ ๆ 


    ตัวแพนสีหลัก ๆ มี 2 ขนาดมาตรฐาน คือ Full Pan และ Half Pan

    จากภาพ 2 แถวขวาคือ Half Pan และที่เหลือทั้งหมดคือ Full Pan จากสีน้ำยี่ห้อ Schmincke

    (ขอขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.wetcanvas.com/forums/showthread.php?t=606492)

    สีน้ำตลับที่มาเป็นแพนลักษณะอื่น ๆ ก็มีเช่นกัน เพียงแต่ไม่ใช่ขนาดมาตรฐาน เช่น

    สีน้ำตลับยี่ห้อ Camellia

    (ขอขอบคุณภาพประกอบจาก https://www.enasco.com/c/artsandcrafts/Paints/Watercolors/Pan+Sets/?&page=2)

    สีน้ำยี่ห้อ MasterArt


    ตัวกล่องของสีน้ำตลับก็มีหลายแบบ

    - กล่องพลาสติก ความทนทานจะไม่ค่อยมาก แตกและเป็นรอยง่าย โดยปกติแล้วจะมีราคาถูกที่สุดในทั้ง 3 กล่อง

    ภาพกล่องพลาสติกของสีน้ำยี่ห้อ Rembrandt
    (ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.cheapjoes.com/rembrandt-luxury-watercolor-pocket-box.html)


    - กล่องโลหะ เป็นกล่องที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในบรรดาผู้ที่ใช้สีน้ำตลับ อาจจะด้วยเพราะหาซื้อง่ายที่สุด ความทนทานของมัน และความหรูหราของตัวกล่อง ที่พิเศษของสีน้ำตลับกล่องโลหะคือ มักจะมีที่สอดนิ้วบริเวณใต้กล่อง เพื่อไม่ให้ตลับหล่นเมื่อทำการระบายสี

    (ขอขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.blueroosterartsupplies.com/Artist-Watercolor-Metal-Box-Small-p/blu012p.htm)

    สีน้ำตลับกล่องโลหะมีหลายขนาดให้เลือกสรรค์ ซึ่งราคาก็จะทวีคูณขึ้นไปอีก

    (ขอขอบคุณภาพประกอบจาก https://www.artsupplies.co.uk/item-lightweight-metal-tin-watercolour-boxes.htm)

    กล่องโลหะเปล่า + แพนสี มีขายในร้านค้าออนไลน์ Mininoshop

    และหากต้องการสั่งแพนเพิ่มเติม มีขายที่ร้าน นานาภัณฑ์


    - กล่องไม้ เป็นกล่องที่มีรูปลักษณ์หรูหรา ซึ่งแน่นอนว่ามีราคาแพง มีการพกพาที่ยากนิดหน่อยเพราะส่วนมากจะทำเฉพาะขนาดใหญ่ และส่วนตัวคิดว่าเสี่ยงต่อการขึ้นราของทั้งสีและทั้งกล่อง หากเก็บในที่ชื้น

    ภาพกล่องไม้ของสีน้ำยี่ห้อ Sennelier

    (ขอขอบคุณภาพประกอบจาก https://www.cassart.co.uk/painting/watercolour_paints/painting_sets/sennelier_watercolour_wooden_box_set_of_24_half_pans.htm)


    2. สีน้ำหลอด

    เป็นสีน้ำที่เป็นที่นิยมใช้มากที่สุดในบรรดา 3 ประเภทนี้
    เนื่องด้วยราคาที่มักจะถูกกว่า และความสดของสีที่มีแบบเปียก ๆ นั่นเอง

    สีน้ำแบบหลอดนี้มีหลายขนาดให้เลือกสรรค์ เป็นสีแบบเปียก บีบออกมาจากหลอดแล้วสามารถใช้ได้เลย ไม่จำเป็นต้องละลายน้ำก่อนแบบสีน้ำตลับ
    (แต่การใช้ครั้งต่อไปก็จะต้องละลายน้ำก่อนอยู่ดี ซึ่งสีน้ำเกรด Beginner บางยี่ห้อหากแห้งแล้วจะกลับมาใช้อีกแทบไม่ได้เลย)
    จานสีที่มีขายสำหรับใส่สีน้ำแบบหลอดนั้นไม่ค่อยจะมีขนาดที่เล็ก และตัวสีที่บีบใส่จาน บางทีก็ไม่แห้ง
    จึงลำบากกว่าแบบตลับในการนำออกไปวาดนอกสถานที่

    เพิ่มเติมคือ ซื้อหลอดใหญ่จะมีความคุ้มค่ามากกว่าซื้อหลอดเล็ก


    3. สีน้ำแบบหมึก

    เป็นสีน้ำที่จะมาในรูปแบบขวด เป็นน้ำใสเลย จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่มีแป้ง ไม่ทึบแน่นอน
    มีข้อเสียเล็ก ๆ คือ pigment ไม่เข้มข้นสักเท่าไร และพกพายาก

    ยี่ห้อที่เห็นบ่อยในประเทศไทยคือ

    สีหมึก Talens ECOLINE

    (ขอบคุณภาพประกอบจาก https://www.royaltalens.com/en-gb/brands/talens/graphic-art-products/ecoline-liquid-water-colour/)


    และอีกยี่ห้อที่เคยได้ยิน แต่ไม่ทราบว่าหาซื้อที่ไหนคือ

    สีหมึกยี่ห้อ Winsor & Newton
    (ขอขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.lelong.com.my/winsor-newton-drawing-ink-14ml-bottle-26-colours-black-30ml-bottle-yellowbeeart-F133979-2007-01-Sale-I.htm)

    เราพูดถึงประเภทต่าง ๆ ของสีน้ำที่มีวางขายแล้ว เรามาเข้าเรื่องที่เขียนหัวข้อเอาไว้ดีกว่า


    ก่อนอื่นเลย คำที่เราจะใช้เยอะมากในเรื่องนี้คือคำว่า
    Pigment (n.) เม็ดสี
    ยิ่งมีเม็ดสีในสีน้ำเยอะ สีก็ยิ่งสดเข้มข้นมาก
    ตามปกติแล้วในสีน้ำประเภทใด ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น จะไม่ได้มีแค่ Pigment ที่อยู่ในสี
    สีบางเกรดมักจะมีส่วนผสมอื่น ๆ เข้ามาเพื่อลดต้นทุนการผลิต


    "เกรดของสีน้ำ และข้อมูลสำหรับการตัดสินใจซื้อ"

    สีน้ำแบ่งเป็น 3 เกรดใหญ่ ๆ ดังนี้
    - เกรดผู้เริ่มต้น (Beginner Grade)
    - เกรดนักเรียน (Student หรือ Studio Grade)
    - เกรดศิลปิน (Artist Grade)

    ซึ่งการจะรู้ว่าสีน้ำยี่ห้อใดคือเกรดอะไร อยู่ที่คุณภาพของเนื้อสี เพราะบางยี่ห้อก็พิมพ์หลอกมาว่าเป็น Artist Grade แต่จริง ๆ แล้วเป็นเพียง Beginner Grade ก็มี

    **บทความนี้จะพยายามแทรกลิ้งค์ของร้านค้าที่ขายสีน้ำแต่ละยี่ห้อไว้นะคะ ไม่ได้เป็นการโฆษณา แต่ลงไว้เพื่อให้ผู้อ่านรู้ช่องทางการหาซื้อ**


    สีน้ำเกรด Beginner

    ลักษณะคือ เป็นสีน้ำราคาไม่แพงที่หาซื้อได้ตามร้านเครื่องเขียนทั่วไป
    จะมี pigment ค่อนข้างน้อย และมีส่วนผสมของอย่างอื่นมาก เช่น แป้ง
    ทำให้สีที่ได้จะไม่ค่อยเข้มข้น ระบายออกมาไม่ค่อยใส ทึบเลยก็มี 
    ที่สังเกตได้ง่ายเลยคือบางยี่ห้อเมื่อระบายไปแล้วจับดู จะพบว่าเหมือนมีแป้งติดกระดาษอยู่ (เกรดอื่น ๆ จะไม่ค่อยเป็นแบบนี้)

    สีน้ำแบบหลอดเมื่อปล่อยทิ้งให้แห้งจะจับตัวแข็ง แตก จับดูจะสาก ๆ
    ถ้าเป็นสีน้ำตลับที่ให้มาจะแห้งอยู่แล้ว จับดูจะสาก ทั้งสองแบบต้องใช้น้ำประมาณหนึ่งในการละลาย

    สีเกรดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่อยากเริ่มเอามาละเลงน้ำเล่น เริ่มอยากฝึกปาดสีให้เรียบ
    หรือฝึกเทคนิคการเล่นกับน้ำแบบที่ไม่แอดว้านซ์มาก ให้รู้ธรรมชาติของน้ำ
    หรือลองเอามาระบายสไตล์การ์ตูนก็ไม่แย่ เพราะการระบายสไตล์นี้ไม่จำเป็นต้องใช้เนื้อสีที่ดีมาก
    สีเกรดนี้ มักจะมีสีที่ค่อนข้างสดใส สะท้อนแสงแสบตา //เวอร์
    ผลลัพธ์ของเนื้อสีที่ระบายออกมาแน่นอนว่าอาจจะมีรอยแป้ง ดูหยาบ ๆ บ้าง ก็ตามราคานั่นแหละ

    ตอนฝึกระบาย จะทำเสีย ทำเละยังไงก็ไม่เป็นไร เพราะมันไม่แพง และให้ปริมาณสีเยอะด้วย


    *ข้อควรระวัง : มีสีชนิดหนึ่งที่เขียนไว้ว่า สี Tempera แต่แปลไทยเป็นสีน้ำ
    ความจริงแล้วมันคือสีฝุ่นผสมน้ำ อยู่ในประเภทสีกวอชนะคะ มันไม่ใช่สีน้ำจริง ๆ ค่ะ


    ยี่ห้อที่เห็นกันบ่อย ๆ

    สีน้ำตลับ MasterArt ราคาประมาณ 30-50 บาท

    สีน้ำหลอด MasterArt ราคาประมาณ 60 บาท

    สีน้ำหลอดยี่ห้อ ST หลอดราคากล่องเล็ก 120 บาท

    สีน้ำตลับยี่ห้อ ST มีแบบ 12 สี/24สี ราคา 140/199 บาท



    สีน้ำ Pentel ราคากล่อง 18 สี ประมาณ 200-300 บาท


    สีน้ำยี่ห้อ REEVES ราคาประมาณ 200-300 บาท


    ยี่ห้อ Renaissance กล่อง 12 สี ราคาประมาณ 279 บาท

    (ขอขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.lazada.co.th/renaissance-12-x12-6874526.html)

    ยี่ห้อ Sakura koi มีตั้งแต่ราคา 330-600 แล้วแต่จำนวนสี

    (ขอขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.winexpress.biz/product/2187/sakura-koi-watercolor-field-box-set-24)

    เกรดผู้เริ่มต้นยี่ห้ออื่น ๆ เท่าที่พอนึกออก

    สีน้ำ M&G แบบก้อนราคา 65 บาท
    แบบกล่อง 12 หลอด 80 บาท

    Camellia กล่องละ 300 บาท

    Sakura แบบหลอด กล่องละ 200 - 500 บาท

    Art Creation กล่อง 12 สี กล่องละ 300 บาท

    เลอฟรัง ลูฟ กล่องละ 400 บาท



    สีน้ำเกรด Studio/เกรดนักเรียน

    ลักษณะคือจะมี Pigment ที่มากกว่าเกรดผู้เริ่มต้นอยู่พอสมควร ความเข้มข้นของสีจึงมีมากขึ้น และนอกจากนี้ จะไม่ค่อยมีแป้งมาลดคุณภาพของเนื้อสีแล้ว

    "แม้จะขึ้นชื่อว่าเกรด Studio แต่ก็สามารถนำไปใช้ระบายสีงานระดับมืออาชีพได้อย่างไม่น่าเกลียด"

    เนื่องจากวัตถุดิบในการผลิต Pigment สีของจริงนั้นมีราคาแพง และสีเกรดนักเรียนนี้ต้องการจะตอบโจทย์ผู้ใช้งานในเรื่องราคาที่ต่ำกว่าเกรดศิลปิน Pigment บางสีจึงถูกสังเคราะห์ขึ้นเพื่อเลียนแบบ Pigment สีจริง เช่น

    ธาตุ Cobalt ที่นำมาทำสี Cobalt Blue มีราคาแพง เมื่อนำมาทำเป็นสีเกรดนักเรียน จึงมีการเลียนแบบสี Cobalt Blue ขึ้น ในชื่อ Cobalt Blue Hue ซึ่งสีจะต่างกันเพียงเล็กน้อย ดังภาพตัวอย่าง

    สี Cobalt Blue Hue ของ W&N Cotman

    สี Cobalt Blue ของ W&N Professional
    เปรียบเทียบสี Alizarin Crimson ของ W&N Professional กับ Alizarin Crimson Hue ของ W&N Cotman

    เวลาเห็นชื่อสีมีคำว่า Hue ต่อท้าย แสดงว่าสีนั้นเป็น Pigment ที่ทำเลียนแบบ Pigment จริง

    ถึงกระนั้น สีเกรดอาร์ตติสบางยี่ห้อ ก็มียี่ห้อทำออกมาทั้งจริง ทั้งเลียนแบบเลย

    ตัวที่เลียนแบบก็จะอยู่ใน series ที่ราคาถูกกว่า เช่น ยี่ห้อ Holbein


    ตัวอย่างยี่ห้อสีน้ำเกรดนักเรียน

    Winsor & Newton Cotman

    ราคาหลอดเล็ก 70-80 บาท หลอดใหญ่ 120-130 บาท

    ยี่ห้อนี้ค่อนข้างหาซื้อง่าย ร้านเครื่องเขียนทั่วไป ร้านสมใจ หรือออนไลน์ก็มี

    เมื่อบีบใส่จานสีแล้ว สียี่ห้อนี้จะแห้งไว และแข็งตัว ไม่เหนียว ไม่เลอะ แต่เมื่อต้องการใช้ จะต้องละลายน้ำก่อนสักพักจึงจะใช้ได้

    หรือจะแบบตลับก็มีหลายรุ่นเลย กล่องพลาสติกบ้าง กล่องเหล็กบ้าง 

    ฟูลแพนบ้าง ฮาร์ฟแพนบ้าง ราคาก็สูงตามจำนวนสี 12/24/45 สี 

    แต่ที่เห็นใช้กันเยอะก็คือ Winsor Blue Box แบบ 12 สี ราคา 1100 บาท

    (ขอบคุณภาพประกอบจาก http://pesim65.deviantart.com/art/Winsor-and-Newton-Cotman-Blue-Box-561303429)

    รุ่นอื่น ๆ ที่มีวางขาย



    ศิลปากรประดิษฐ์

    ยี่ห้อคนไทยทำเอง ไม่โดนภาษีนำเข้า จึงเป็นสีน้ำเกรดนักเรียนมีราคาที่ถูกพอ ๆ กับเกรดผู้เริ่มต้นเลยทีเดียว Pigment สีนั้นก็เข้มข้นปานกลาง ในราคาหลอดละ 30-40 บาทเท่านั้น มีแบบขายยกกล่อง 12 สี กล่องละ 320-370 บาท แล้วแต่ร้านค้า

    ยี่ห้อนี้มีข้อเสียหลัก ๆ คือเมื่อบีบใส่จานสีแล้วจะไม่แห้ง เหนียว เลอะมาก วิธีเลี่ยงก็คือบีบจำนวนพอเหมาะที่ต้องการจะใช้ และล้างจานสีอย่างสม่ำเสมอ

    ยี่ห้อนี้หาซื้อได้จากร้านสมใจ สมุดลานนาเชียงใหม่ ร้านเครื่องเขียนขนาดใหญ่อื่น ๆ

    และแบบกล่อง 12 สี มีขายในร้านค้าออนไลน์ CWArt



    van Gogh

    เป็นยี่ห้อเดียวกับเกรดผู้เริ่มต้น Art Creation, เกรดศิลปิน Rembrandt และสีหมึก ECOLINE

    มี Pigment สีที่เข้มข้นกว่า W&N Cotman ตามความรู้สึกของผู้เขียน แต่จะมีแป้งเยอะในบางสี เช่นสี Cerulean Blue

    สีน้ำหลอด ราคาอยู่ที่ประมาณ 70-80 บาท สีน้ำตลับ 15 สี ราคาอยู่ที่ 790 บาท (มีพู่กันแถมให้)

    (ขอขอบคุณจาก http://www.artistcraftsman.com/van-gogh-student-watercolors.html)

    (ขอขอบคุณภาพประกอบจากร้านนานาภัณฑ์)

    สีน้ำยี่ห้อนี้หาซื้อได้จากร้านเครื่องเขียนขนาดใหญ่ และร้านค้าออนไลน์ CWArt


    Mijello Mission Silver

    ยี่ห้อเกาหลีที่เริ่มจะเข้ามามีขายในประเทศไทย มีคุณสมบัติเด่นคือ เนื้อสีทำจากสารในธรรมชาติแท้ ตัวกล่องค่อนข้างแบน พกพาสะดวก กล่องเล็ก 1 หลุม = 6ml ส่วนกล่องใหญ่ 1 หลุม = 12ml

    (ขอขอบคุณภาพประกอบจาก CWArt)

    สามารถหาซื้อได้ที่ร้านออนไลน์ CWArt / ร้านสมใจ เมญ่า เชียงใหม่ ก็มีเช่นกัน

    Sennelier la petite Aquarelle FINE|STUDENT

    เป็นเกรดสตูดิโอรุ่นที่เพิ่งออกมาใหม่ของ Sennelier ที่ตัวผู้เขียนเองยังไม่เคยใช้ และยังไม่เคยอ่านรีวิวใด ๆ เลย

    เคยฟังคนขายเขาเล่าสรรพคุณก็คล้าย ๆ กับสีเกรดสตูดิโอยี่ห้ออื่น ก็คือมี Pigment สีที่เข้มข้นไม่เท่าเกรดอาร์ตติส แต่มีความใส มีความทนแสง

    มีขายในรูปแบบตลับ 12 สี 1,428 บาท 24 สี 2,418 บาท และหลอดในตลับ 12 สี 2,418 บาท

    (ขอขอบคุณภาพประกอบจาก HHK)


    สีน้ำเกรด Artist / เกรดศิลปิน

    เป็นสีน้ำเกรดที่

    - มี Pigment เข้มข้นมากที่สุดในทั้ง 3 แบบ

    - สีมีความทนแสงสูง ไม่ซีดเมื่อเวลาผ่านไป

    - มีความใส ไม่ทึบ มีส่วนผสมของอย่างอื่นน้อยมาก

    เพื่อคุณภาพการวาดสีน้ำที่ดีที่สุดสำหรับศิลปิน และแน่นอนว่าราคาก็สูงลิ่วตามไปด้วย แต่ละยี่ห้อจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไปอย่างชัดเจน เช่น บางยี่ห้อมีส่วนผสมของน้ำผึ้ง ทำให้สีวิ่งเข้าหากันเมื่อเล่นเทคนิคเปียกบนเปียก หรือบางยี่ห้อผลิตจากสารธรรมชาติล้วน ๆ ให้สีที่สดแปลก เป็นต้น


    ตัวอย่างยี่ห้อสีน้ำเกรดอาร์ตติส


    Winsor & Newton Professional

    สีน้ำเกรดอาร์ตติสยี่ห้อที่ได้รับความนิยมมาก ไม่ว่าจะที่ไทยหรือต่างประเทศ ด้วย Pigment ที่มีความเข้มข้นสูง ไม่มีแป้ง เนื้อสีมีความใส สีหลอดนั้นเมื่อบีบออกมาใส่ถาดแล้วทิ้งไว้จะค่อนข้างแห้ง ไม่เยิ้ม ไม่ไหล สามารถพกพาจานสีไประบายข้างนอกได้โดยไม่หกเลอะเทอะ ส่วนสีตลับนั้นก็จะแห้งไวหลังจากใช้งานเสร็จ

    ราคาค่อนข้างสูงกว่าเกรดสตูดิโอ มีหลอด 5ml. ราคาประมาณ 180-295 บาท (ตก ml. ละ 36-59 บาท)

    แบบตลับมีหลายรุ่น ทั้งกล่องโลหะ กล่องพลาสติก

    แหล่งหาซื้อคือร้านเครื่องเขียนขนาดใหญ่, สมใจ, สมุดลานนา, CWArtนานาภัณฑ์

    (ขอขอบคุณรูปประกอบจาก https://s-media-cache-ak0.pinimg.com/564x/5f/29/b2/5f29b2645f129e2f3cebc32fc3f9f499.jpg)


    Sennelier

    อีกหนึ่งยี่ห้อสีน้ำเกรดอาร์ตติสที่เป็นที่นิยมในประเทศไทยมาก ด้วยจุดเด่นเรื่องความสดใสของ Pigment และมีรุ่นที่ผสมน้ำผึ้งเพื่อทำให้เกิดเอฟเฟ็คต์พิเศษขึ้นมาด้วย

    ลักษณะของเนื้อสียี่ห้อนี้จะค่อนข้างเหลว หนืด ทั้งแบบก้อนที่ผ่านการใช้งานแล้วและแบบบีบจากหลอด ทำให้เก็บรักษาจานสียากสักเล็กน้อย เพราะมันไม่แห้งสักที วิธีช่วยคือเอาจานสีตากแดดไว้ หรือไม่ก็ไดร์เป่าผม

    มีให้เลือกสรรค์ทั้งแบบหลอด ราคา 175-205 บาทตาม series อ้างอิงราคาจาก สมใจออนไลน์
    หากซื้อที่ B2S ราคาจะอยู่ที่หลอดละเกือบ 300 บาท (ตอนนี้มีโปรโมชัน 3 แถม 1 แต่ลองคำนวณคร่าว ๆ แล้วแพงกว่าซื้อที่สมใจ)

    (ขอขอบคุณภาพประกอบจากร้านสมใจออนไลน์)

    สีน้ำตลับของ Sennelier นั้นก็มีให้เลือกสรรค์หลายรุ่น หลายขนาดด้วยกัน

    ซึ่งสามารถคลิกเข้าไปดูในเว็ปไซต์ของ HHK เพื่อตรวจสอบราคาได้

    (ขอขอบคุณภาพประกอบจาก HHK Art & Paper)

    Kusakabe

    สีน้ำสัญชาติญี่ปุ่นยี่ห้อนี้ เนื้อสีระบายออกมาค่อนข้างใส มีเฉดสีแปลก ๆ ให้เลือกเยอะกว่ายี่ห้ออื่น แนวพาสเทล สีทอง สีเงิน สีเนื้อ เหมาะสำหรับทุกสไตล์

    หลอดสีมีให้เลือก 2 ขนาดได้แก่ขนาด 5ml. ราคา 70-100 บาทและ 20ml. ราคา 175-245 บาท           ในบ้านเราไม่ค่อยมีขายแบบกล่องรวมหลายสีแบบในภาพ

    ร้านค้าที่มีขาย ร้าน CWArt, สมใจ

    (ขอขอบคุณภาพประกอบจาก https://th.aliexpress.com/item/Free-shipping-Yong-mountain-sent-Kusakabe-artist-24-18-12-color-Transparent-watercolor-pigment/32593506820.html)


    Holbein

    เป็นสียี่ห้อที่หลายท่านอาจจะเคยได้ยินกิตติศัพท์ในเรื่องความใส (Transparent) ของเนื้อสี ในราคาไม่แพงเท่าเกรดอาร์ตติสยี่ห้ออื่น ๆ โดยมีราคาอยู่ที่หลอดละ 97-200 บาทแล้วแต่ series แบบกล่องจะไม่ค่อยมีขายเท่าไร ส่วนแบบตลับที่มีขายก็ค่อนข้างมีราคาแพง

    มีโทนสีที่หลากหลาย มีโทนพาสเทลเช่นเดียวกันกับ Kusakabe มีสีที่ค่อนข้างสดมาก 


    (ขอขอบคุณภาพประกอบจาก http://holbeinamerica.com/ และร้าน SiamArt)

    ความพิเศษแบบส่วนตัวสำหรับผู้เขียนก็คือ

    ตามปกติแล้ว สีชื่อเดียวกันของแต่ละยี่ห้อ สีจะไม่เหมือนกัน แต่จะไม่ต่างกันมาก แต่กับ Holbein ไม่ใช่แบบนั้น มันมีความแปลกใหม่ในโทนสี ทำให้รู้สึกว่าใช้สีของยี่ห้อนี้แล้วสีมันมีความ Unique ไม่เหมือนชาวบ้าน ยกตัวอย่างเช่นสี Olive Green ดังภาพ


    หาซื้อได้ที่ร้าน SiamArtCWArt, ร้านสมใจบางสาขา


    Rembrandt

    ยี่ห้อนี้ แบบตลับมีขายเยอะในประเทศไทย และมีราคาไม่แพงเท่า W&N Professional กับ Sennelier

    ลักษณะของเนื้อสีเหมือนกันกับเกรดอาร์ตติสยี่ห้ออื่นที่มีความเข้มข้นของ Pigment และค่าทนสีที่สูง ไม่มีแป้ง ลักษณะเด่นที่ต่างจากชาวบ้านคือ สียี่ห้อนี้จะค่อนข้างจับกันหนืด ๆ และเกาะยึดกับกระดาษได้ดี

    (ขอขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.bijansartstudio.com/1445-Buy-Rembrandt-Watercolor-Pan-Set-of-24.aspx)

    ราคาแบบตลับพลาสติก 12 สี อยู่ที่ 1750 บาท

    ราคาตลับโลหะ 12/24/48 สี อยู่ที่ 1890/3640/5390 บาท

    ราคากล่องไม้ 22 สี อยู่ที่ 5920 บาท

    ราคาหลอด 5ml อยู่ที่ 130-165 บาท

    ราคาหลอด 20ml อยู่ที่ 240-305 บาท

    หาซื้อได้จากร้านค้าออนไลน์ CWArt, สมุดลานนา, สมใจบางสาขา


    วิจิตรรงค์

    สีที่ชื่อไม่คุ้นยี่ห้อนี้คือเกรดศิลปินของสีน้ำศิลปากรประดิษฐ์ค่ะ วิจัยโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับบริษัทนานมี เพื่อที่จะสร้างสีเกรดศิลปินราคาย่อมเยาว์เพื่อคนไทย (ไม่โดนภาษีจากนอกจึงมีราคาถูกกว่ามาก) ปลอดสารพิษและมีคุณภาพ Pigment กับค่าทนแสงที่สูง

    สีวิจิตรรงค์มีขายเฉพาะแบบหลอด 8ml. ในราคาหลอดละ 65-105 บาทแล้วแต่ series

    ข้อเสียของสียี่ห้อนี้คือมีเฉดสีให้เลือกเพียง 24 สีเท่านั้น และหาซื้อทั่วไปค่อนข้างยากอีกด้วย

    หาซื้อได้จากร้านสมใจออนไลน์, สมุดลานนาสาขาหลังมช. และสาขาถ.ช้างเผือก

    (ขอขอบคุณภาพประกอบจากร้านสมใจ)


    Mijello Mission Gold

    เป็นสีสัญชาติเกาหลีใต้ที่มี Pigment สูง มีค่าทนแสงที่สูง และผลิตจากสารในธรรมชาติ

    ราคากล่องละ 2600 บาท มี 36 สี หลอดละ 7ml. มาพร้อมจานสีที่ทนทานและดีไซน์สวย

    หาซื้อได้จากร้านค้าออนไลน์ CWArt 

    (ขอขอบคุณภาพประกอบจาก CWArt)


    ยี่ห้ออื่น ๆ ที่มีขายในประเทศไทย

    • Shinhan PWC 
    • Daniel Smith

    ร้านค้าออนไลน์ที่ขายสีน้ำ (เท่าที่รู้จัก)

    ยี่ห้ออื่น ๆ ที่มีขายในต่างประเทศ


    การเลือกซื้อสีน้ำให้เหมาะสมกับตัวเอง

    แนะนำกันไปแล้วสำหรับยี่ห้อสีน้ำที่มีขายในประเทศไทย และความแตกต่างของสีเกรดต่าง ๆ

    ต่อมา เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราควรใช้สีน้ำเกรดใด? แบบตลับหรือแบบหลอด?


    มี 2 สิ่งหลัก ๆ ที่ควรคำนึงในการเลือกซื้อสีน้ำจากเกรด

    1. ความจริงจังในการใช้สีน้ำ 

    ระดับงานอดิเรก

    หากคุณต้องการที่จะเริ่มต้นฝึกสีน้ำแบบไม่จริงจังมากนัก คุณใช้สีน้ำยี่ห้ออะไรก็ได้ค่ะ สีน้ำยี่ห้อที่ยกมาข้างต้นนั้นสามารถนำมาฝึกเพื่อเพิ่มทักษะ ฝึกเพื่อให้รู้จักสีน้ำ เรียนรู้เทคนิคเบื้องต้นได้ เพียงแต่มันอาจจะสร้างความประทับใจให้คุณได้มากหรือน้อยในชิ้นงานนั้น

    การใช้สีน้ำเกรดสูง ๆ แน่นอนอยู่แล้วว่าจะทำให้ผลลัพธ์ของการปาดสีออกมาดีกว่า  ถ้าคุณอยากมีแรงบันดาลใจดี ๆ ในการฝึกฝน คุณจะใช้สีเกรดสตูดิโอหรือเกรดอาร์ตติสในครั้งแรกเลยก็ได้ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์งานที่ดีกว่าสีเกรดผู้เริ่มต้น ถ้าคุณชอบ

    ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าคุณไม่เข้าใจความแตกต่างของสีแต่ละเกรด คุณยังไม่ควรเริ่มใช้สีน้ำเกรดที่สูงขึ้น 

    ระดับจริงจังขึ้นมาอีก

    ในระดับนี้คือคุณอยากเก่งขึ้น อยากเรียนรู้ อยากพัฒนา เพราะคุณชอบสีน้ำมากกว่างานอดิเรก ในระดับนี้ก็ยังสามารถใช้สีน้ำเกรดผู้เริ่มต้นได้ค่ะ แต่คุณจะเริ่มเรียนรู้แล้วว่าเทคนิคบางอย่างมันไม่สามารถใช้สีน้ำเกรดผู้เริ่มต้นทำขึ้นมาได้ จึงอาจจะต้องมีการขยับขึ้นมาเล่นเกรดสตูดิโอ หรือเกรดศิลปินแทนเพื่อศึกษาเทคนิคเหล่านั้น

    ระดับอาชีพ

    ในขั้นนี้คือระดับที่คุณต้องการจะจริงจังกับสีน้ำมากถึงขั้นรับจ้าง ทำเป็นอาชีพ คุณควรจะลงทุนซื้ออย่างน้อยก็เกรดสตูดิโอแล้ว ด้วยคุณภาพสีที่ดีขึ้น จะทำให้คุณเล่นเทคนิคได้หลากหลายมากขึ้น (นอกเสียจากว่าสไตล์งานของคุณมันไม่ได้ใช้ลักษณะเด่นของสีน้ำมากนัก กรณีนี้ก็ยังยืนยันว่าใช้เกรดไหนก็ได้)

    ความแตกต่างของเกรดอาร์ตติสกับเกรดสตูดิโอก็คือวัตถุดิบและส่วนผสมที่ใช้ทำสีนั่นเอง หากคุณไม่ได้ต้องการที่จะใช้สีที่เข้มข้นมาก ๆ หรือสีที่ใช้ Pigment แท้เป็นส่วนผสม (ซึ่งสีมักจะสวยกว่า Pigment เลียนแบบ) คุณไม่จำเป็นต้องซื้อสีเกรดอาร์ตติสก็ได้ เพราะราคามันสูงต่างจากเกรดสตูดิโอมาก


    2. งบประมาณที่มี

    หลายท่านเมื่อได้ลองเล่นสีน้ำแล้วจะมีความรู้สึกว่าอยากจะลองใช้เกรดอาร์ตติสสักครั้ง แต่มันมีราคาแพงมาก สำหรับผู้ที่งบน้อย ตัวผู้เขียนจึงอยากจะให้คิดคำนึงดี ๆ ก่อนค่ะว่าจำเป็นแค่ไหนที่ต้องใช้เกรดแพง ซื้อมาใช้แล้วรู้ความแตกต่างของเกรดอาร์ตติสกับเกรดอื่นไหม? ถ้ายังศึกษาไม่ดี ยังไม่แนะนำให้ซื้อค่ะ มันจะไปรบกวนกระเป๋าคุณเสียเปล่า ๆ (แต่สำหรับผู้ที่ทุนหนา จัดไปชุดใหญ่ไฟกระพริบได้เลย!!)

    เอ๊ แต่มันมีเกรดอาร์ตติสบางยี่ห้อที่ราคาพอรับไหวน้า อย่างวิจิตรรงค์กับ Holbein ลองซื้อมาใช้ดูก็ไม่เสียหายค่ะ :D


    การเลือกใช้สีน้ำจากประเภทหลอด/ตลับ

    ประเภทหลอดเหมาะสำหรับ

    • ผู้ที่ต้องการใช้สีน้ำแบบนิ่ง ๆ อยู่กับที่ ไม่ต้องพกเดินทางไปนู่นนี่นั่น
    • เอามาบีบเติมในตลับ ในกรณีที่สี+แพนหาซื้อยาก
    • ผู้ที่ต้องการความคุ้มค่าในราคาสี เพราะถูกกว่าแบบตลับมาก
    • ผู้ที่ต้องการระบายสีน้ำภาพใหญ่ (แบบแพนจะเล็กเกินไป ไม่สะดวก)
    • ผู้ที่ต้องการจัดการจานสีของตัวเอง เลือกสีเอง
    • ผู้ที่ต้องการพื้นที่กว้าง ๆ ในการผสมสี
    • ผู้เล่นสีน้ำทั่วไปที่คิดไม่ออกว่าจะใช้แบบไหนดี (?)

    ประเภทตลับเหมาะสำหรับ

    • นักสเก็ตช์นอกสถานที่ ที่ต้องการความสะดวกในการพกพาอุปกรณ์ต่าง ๆ
    • ผู้ที่คิดไม่ออกว่าจะซื้อสีอะไรดี เพราะสีน้ำตลับส่วนใหญ่จะมีสีมาให้เลย
    • ผู้ที่ระบายภาพไม่ใหญ่มาก เพราะแพนเล็ก ระบายภาพใหญ่ไม่สะดวก








    จบไปแล้วสำหรับบทความที่ผู้เขียนใช้เวลานานที่สุดตั้งแต่เคยเขียนบทความมา
    อาจจะมีข้อมูลส่วนหนึ่งส่วนใดที่ผิดพลาดบ้าง สามารถท้วงติงเข้ามาได้นะคะ ยินดีแก้ไขให้ถูกต้องค่ะ หากท่านผู้อ่านไม่เข้าใจประเด็นไหน คอมเม้นต์ถามได้นะคะ ถ้าตอบได้จะตอบทุกคำถามเลยค่ะ

    (ใช้เวลา 2 วันเต็ม ๆ ในการเขียนบทความนี้ อาจจะมีเบลอบ้าง อย่าถือสากันนะคะ)



    สุดท้ายนี้ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่อ่านบทความนี้จนจบนะคะ
    เค้นพลังคนเขียนมากจริง ๆ กว่าจะออกมาเป็นบทความนี้ได้ 
    หวังว่าจะมีประโยชน์กับท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อยค่ะ :D


    ช่องทางการติดตามผู้เขียน

    นามแฝง Fubugetsu (Little Does)

    Page | IG Fubugetsu

     Twitter ร้านสมุดทำมือ | IG ร้านสมุดทำมือ


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
ขอบคุณมาก ๆ เลยค่ะ กำลังหาข้อมูลสีน้ำ ได้ความรู้มาก ๆ เลยค่ะ
ขอบคุณมาก ๆ เลยค่ะ กำลังหาข้อมูลสีน้ำ ได้ความรู้มาก ๆ เลยค่ะ
Soung Iimoya (@fb1016478095148)
บทความดีมากค่ะ กำลังหัดก็เอาระดับเริ่มต้นไปก่อนนน
太閤 名人 (@kiichida)
@fb1016478095148 ขอบพระคุณที่เข้ามาอ่านจนจบนะคะ
โคนัน คุง (@fb1314926748881)
ได้ความรู้อย่างคุ้มค่าจริงๆครับ #มือใหม่
太閤 名人 (@kiichida)
@fb1314926748881 ยินดีที่ได้นำเสนอค่ะ
ขอบคุณครับ..สำหรับข้อมูล
太閤 名人 (@kiichida)
@fb1246885145338 ยินดีมากค่ะ
ชอบมากครับ
太閤 名人 (@kiichida)
@fb2858143807594 ดีใจที่เป็นประโยชน์ค่ะ
ammndas (@ammndas)
สำหรับผู้เริ่มต้น ควรซื้อสีอะไรบ้างคะ(แบบหลอด)
太閤 名人 (@kiichida)
@ammndas lemon yellow/crimson red/prussian blue เป็นแม่สีนะคะ สามารถเลือกสีอื่นที่คิดว่าผสมจากแม่สีไม่ได้ตามใจชอบเลยค่ะ เช่น sap green/dioxazine violet/sepia
Atcharaphan Kupradit (@fb1346537768798)
ชอบมากๆเลยค่ะ เขียนละเอียดมากๆๆๆ ขอบคุณนะคะ
太閤 名人 (@kiichida)
@fb1346537768798 ดีใจที่กระทู้ของเรามีประโยชน์นะคะ ขอบคุณเช่นกันที่เข้ามาอ่านค่ะ ^^
ขียนได้ละเอียดมากๆเลยค่ะ พี่ขอเอาไปแชร์นะคะ
太閤 名人 (@kiichida)
@maaphookow ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ เชิญแชร์ได้ตามสบายเลยค่า ^_^
velvetmatte (@velvetmatte)
เขียนดีค่ะ ชอบ ๆ
太閤 名人 (@kiichida)
@velvetmatte ขอบคุณมากค่ะ ^_^
Pluto Tist Tect (@km_sunny)
เขียนดีค่ะ ชัดเจนดีมากในรายละเอียดของสีแต่ละยี่ห้อ
太閤 名人 (@kiichida)
@km_sunny งือออ ป้าอ่านจบนี่ก็ดีใจแล้ว T T ขอบคุณน้า
minimore (@minimore)
มินิมอร์ชอบบบ XD
เป็นบทความที่ดีมาก ตัวเองเคยผ่านจุดที่ไม่กล้าเล่นสีน้ำ แต่ผ่านมาได้เพราะมีคนแนะนำตั้งแต่เริ่มเลยเหมือนกัน ขอบคุณแทนคนอื่นๆ ด้วยนะจ๊ะ

เคยใช้ Holbien, ShinHan เพื่อนมาดูถาดสีบอกทำไมมันลูกกวาดงี้ ก็เราชอบวาดสาวๆ ฮ่าๆ ล่าสุดเห็น Kusakabe ขายที่ B2S จ้ะ สาขาปิ่นเกล้านะ ที่อื่นยังไม่ได้เช็คเลย (ตอนนี้อยากลอง Sennelier แต่รองานลดราคาประจำปีจ้ะ)
太閤 名人 (@kiichida)
@minimore ขอบคุณสำหรับพื้นที่ให้เราได้เขียนบทความด้วยนะคะ ^___^ ดีใจมากเลยที่ผลตอบรับดีมาก ๆ

สี sennelier ลองคำนวณดูราคาก่อนนะคะ เห็นที่ลด ๆ อาจจะแพงกว่าที่อื่นก็ได้ //ประสบการณ์ตรงเลย ฮรือ 5555
คิดว่าซื้อที่สมใจถูกที่สุดแล้วค่ะ
minimore (@minimore)
@kiichida โอ๊ย ขอบคุณมากเลยจ้ะ เดี๋ยวลองเช็คราคาดีๆ ก่อนไปซื้อ ตอนนี้ยังไม่มีสีขาดแคลน แต่เล็งกระดาษอาเช่อยู่ อยากลอง แต่ถ้าไม่ลดก็ทำใจยากนิดนึงพี่เค้าแพง T_T

เชียร์ให้เขียนอีกน้า ชอบอ่าน รีวิวเครื่องเขียนอื่นๆ ก็ชอบ ฮี่
太閤 名人 (@kiichida)
@minimore อาเช่ ลองดูแบบเป็นแผ่นใหญ่ก็มีอันที่ราคาเอื้อมถึงได้นะคะ ^_^ 170/330 บาทต่อแผ่น แล้วแต่แกรม อะไรแบบนี้

จริง ๆ เราเขียนในเว็ปเด็กดีมาก่อนอะค่ะ แล้วรู้สึกว่ามันเขียนยาวมากไม่ได้ ก็เลยย้ายมาที่นี่ รู้สึกโอเคกับหน้าเว็ปมากกว่าด้วย จะพยายามเขียนมาลงบ่อย ๆ นะคะ ^^ ขอบคุณที่เข้ามาคุยกับเราค่ะ
Nga Pc (@fb1769505416426)
@kiichida จริงครับ
Noon Pornsawan (@fb1020304921646)
อยากสอบถามเรื่องการใช้สีน้ำ ได้หรือป่าวคะ?