เอกวรรณกรรมสำหรับเด็กอย่างเรา ก็ต้องทำธีสิสหนังสือนิทานหัวข้อการเติบโตอยู่แล้วสิ!
เทอมสุดท้ายของการเรียนมหาวิทยาลัยมีเรื่องใหญ่อยู่เรื่องเดียวเท่านั้น คือการทำธีสิส
เรามีเรื่องที่อยากเอาไปทำเป็นธีสิสตั้งแต่ตอนปี 2 และมีความตั้งใจตั้งแต่ตอนปี 1 ว่าธีสิสของเรา เราจะทำหนังสือนิทานแน่นอน เมื่อถึงวันนำเสนอไอเดียเบื้องต้นให้คุณครูเอกวรรณกรรมสำหรับเด็กฟังครั้งแรก เราก็ต้องเสนอหนังสือนิทานอยู่แล้ว!
ตอนแรกเรามีหัวข้อที่อยากทำ 2 หัวข้อ เรื่องแรกคือเรื่องเสียง มาจากวิิชาบันเทิงคดีตอนปี 2 เราเขียนเรื่อง 'เสียงอะไรนะ' เป็นน้องกระต่ายตัวหนึ่งที่ได้ยินเสียงโครกคราก แล้วไล่ถามโต๊ะ ตู้ เตียงในบ้านว่า 'ใช่เสียงคุณหรือเปล่า' เราอยากต่อยอดเล่มนี้เป็นหนังสือนิทาน 1 ชุด เกี่ยวกับเรื่องเสียงทั้งหมด นอกจากท้องร้อง ก็จะมีเสียงตดที่เด็ก ๆ ชอบนักชอบหนา กับเสียงสะอึก
เรื่องที่สองที่เราคิดไว้ คือเรื่องการเติบโต มาจากตอนที่เราใช้ชีวิตของเราไปเรื่อย ๆ ในแต่ละวัน แล้วพบว่าอะไรที่เมื่อก่อนเราคิดอีกอย่าง ตอนนี้เรากลับคิดอีกอย่าง และได้คำตอบว่าเป็นเพราะเราโตขึ้นแล้ว เช่น เมื่อก่อนจะไม่กินก๋วยเตี๋ยวปรุงรสเด็ดขาด แต่เดี๋ยวนี้พริกป่นหนึ่งช้อนพูน ๆ ยังไม่เผ็ดเลยขอเพิ่มอีกนิดแล้วกัน เราเลยจะเอาเรื่องนี้มาทำเป็นหนังสือภาพแบบงง ๆ จัดประเภทไม่ถูก จะบันเทิงคดี แต่ก็เป็นเรื่องจริง จะสารคดีแต่ก็ไร้สาระเกินไป เป็นไอเดียที่คิดว่า โอ้โห เท่มาก!
ผลสุดท้ายเราเลยเลือกเสนอไปแค่เรื่องการเติบโตเรื่องเดียว เพราะเทียบกันแล้ว การเติบโตเท่กว่าเรื่องเสียงเยอะ
แต่เมื่อนำเสนอกับคุณครูทั้ง 5 คน ความคิดของเรากลับเปลี่ยนไป
เราตั้งใจให้กลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก 7-9 ปี วัยครึ่ง ๆ กลาง ๆ จะโตก็ไม่มาก จะว่าเด็กก็ไม่ใช่เสียทีเดียว วัยนี้น่าจะชอบหนังสือเรื่องที่บอกว่าเขาโตแล้วนะ แต่พอได้นำเสนอไปเป็นคนต้น ๆ ในห้อง แล้วฟังเพื่อน ๆ นำเสนอไอเดียของตัวเอง เรากลับไม่มั่นใจเลยว่าเราจะทำสำเร็จ
อันดับแรก หนังสือภาพ ต้องมีภาพ
ภาพกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่กวนใจเรา เพราะเราวาดภาพไม่เก่ง เราได้รับคำปลอบใจจากคุณครูและคนอื่น ๆ หลายครั้งว่าให้หาลายเส้นที่เป็นสไตล์ของตัวเองก็พอ ไม่ต้องวาดให้สวยก็ได้ แต่เราตามหามาตั้งแต่ปี 1 แล้วก็ยังหาไม่เจอ เลยลังเลว่าอาจถึงเวลาที่ต้องยอมแพ้หรือเปล่านะ
อันดับที่สอง ต้องคุยกับเด็ก 7-9 ปีเยอะ ๆ
นี่คือคำแนะนำจากคุณครูหลังได้ฟังไอเดียของเรา ซึ่งเราเห็นด้วยทั้งหมดเลย เราจะใส่มุกที่เด็กมหาลัยเข้าใจ ไปให้เด็กประถมอ่านเข้าใจได้อย่างไร พอได้ยินอย่างนั้นเราก็เลยเริ่มวางแผนคร่าว ๆ ในหัว ว่าจะไปขอฝึกงานที่โรงแรมครีม จะได้คุยกับเด็ก ๆ ที่นั่นเยอะ ๆ เด็กที่โรงแรมครีมมีตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงพี่ประถม แล้วก็พูดเก่งคล่องแคล่ว มีนิสัยเป็นเอกลักษณ์กันทุกคน คำพูดของพี่ประถมจะทำให้งานของเราสนุกแน่ ๆ
แต่เราก็ไม่เชื่อในตัวเองเลยว่าจะทำหนังสือภาพเรื่องนี้ออกมาเป็นชิ้นเป็นอันได้ ทั้งการวาดภาพ และเขียนมุกอะไรให้พี่ประถมตลก
ในตอนเย็นของวันที่ไปนำเสนอไอเดียกับคุณครูครั้งแรก เรามานั่งคิดที่บ้าน ทบทวนกับตัวเองในระยะเวลาสั้น ๆ หรือที่เรียกว่าชั่ววูบ จนเกิดความคิดหนึ่งวิ่งเข้ามาในหัว
'เราถนัดแฟนตาซี ทำไมไม่เขียนแบบที่เราถนัดล่ะ'
'อยากเขียนอะไรแปลก ๆ แบบที่ไม่ค่อยมีในหนังสือไทย เอาเด็กวัยรุ่นไปติดเกาะร้างดีไหม?'
หลังจากนั้นไม่กี่นาทีความคิดหลายอย่างก็ไหลเข้ามาเหมือนสายน้ำ เราจดเก็บไว้ก่อนที่จะหายไป จนได้หัวข้อที่เรามั่นใจมากที่สุด
ธีสิส ติดเกาะ
ตอนนี้ยังเป็นแค่ชื่อเล่นไว้เรียกกับตัวเอง อนาคตหลังเขียนจบจะเปลี่ยนให้ดูดีกว่านี้
จากหนังสือภาพสำหรับเด็ก 7-9 ปี เป็นวรรณกรรมเยาวชน สำหรับอายุ 14 ปีขึ้นไป จากเรื่องการเติบโตเล็ก ๆ ของพี่ประถม เปลี่ยนเป็นการยอมรับตัวตนของตัวเองในวัยรุ่นที่ต้องการให้เพื่อนและสังคมยอมรับ
พอตัดสินใจว่าจะใช้หัวข้อนี้แน่ ๆ ความเครียดและกดดันไม่เชื่อในตัวเองหายไปเลย เรารู้สึกเหมือนได้กลับบ้าน กลับสู่สิ่งที่ตัวเองถนัดและเคยทำมาแล้ว เพราะเราชอบเขียนบรรยายมากกว่า และชอบเขียนเรื่องแฟนตาซีฟุ้ง ๆ เพ้อ ๆ เป็นพิเศษ เป็นความหวังและจุดเริ่มต้นที่ดีของธีสิสติดเกาะ
เรายังเสียใจอยู่นิด ๆ เพราะอยากทำหนังสือนิทาน แต่แค่นิดเดียวเท่านั้น ถ้าเทียบกับความเครียดตอนวาดภาพแล้ว เราขอกลับสู่อ้อมกอดของสิ่งที่เราถนัดดีกว่า
เอาเป็นว่าตอนนี้ธีสิสของเรากำลังติดเกาะอยู่ และบทความต่อไปนี้จะเป็นการเล่าเรื่องราวหาทางออกจากเกาะแล้วกันนะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in