เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
หวังArt
ยังคงไม่เคยลืม
  • "เมื่อเราพยายามนึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้วทั้งการสูญเสีย ความรัก ความหวัง ความเศร้า ความเจ็บปวด ความโกรธ ยิ่งเราพยายามนึกถึงยิ่งเลือนราง รายละเอียดของความทรงจำมีความคลุมเครือ ความทรงจำถูกครอบด้วยความรู้สึกใหม่ ความรู้สึกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และผู้คนยังคงเผชิญความรู้สึกต่าง ๆ ที่การรับรู้ต่างไปจากเดิมด้วยเหตุการณ์ที่เราเคยมองเห็นและมองไม่เห็น อยากมองและไม่อยากมอง หลายสิ่งถูกส่งต่อมาจากอดีตพร้อมกับการประกอบสร้างในปัจจุบัน หลายสิ่งกำลังจะถูกส่งต่อจากปัจจุบันไปพร้อมกับการประกอบสร้างในอนาคต"

     

    ชีวิตการทำงานโรงงานไม่เคยต่างจากรองเท้าที่ต้องรับแรงเสียดทานอยู่ในทุกๆวัน นานวันเข้ารองเท้ายิ่งเสื่อมสภาพ วันแรกที่ก้าวเข้าสู่การทำงานวันที่ยังไม่เสื่อมสภาพมากขนาดนี้ มันรับรู้ได้ว่าเราต่างเปรอะเปื้อนไม่น้อย และก็ได้แต่บอกว่าต้องอดทน 


    ข้อความของสุรีย์ถูกบันทึกลงในสมุด เขาหยิบดินสอ เขียนบอกเล่าชีวิตการเข้าสู่เมืองกรุงครั้งแรกในฐานะแรงงานคนทำงานที่มีความฝันเหมือนกับคนทั่วไป 


    บรรยากาศค่อนข้างปลอดโปร่งอากาศไม่ร้อนมากนัก ลมค่อนข้างเย็น เสียงพิณเสียงแคนจากบ้านข้างๆดังอยู่เบาๆระหว่างที่สุรีย์นั่งรอรถหน้าบ้าน สุรีย์เปิดอ่านสมุดบันทึกเล่มนั้น เรื่องราวในสมุดบรรยากาศต่างกันจากบรรยากาศในตอนนี้


    เสียงเครื่องจักรเย็บผ้าเสียงดัง คนในโรงงานหลายร้อยคนไม่ได้เสียงดังไปกว่าเสียงเครื่องจักร หลายคนก้มหน้าก้มตาทำงานด้วยสีหน้าที่ไม่เห็นรอยยิ้มในวัยสาว ขณะที่หญิงสาวคนหนึ่งลุกไปเข้าห้องน้ำ เขาเปิดประตูห้องน้ำ ใช้ขันตักน้ำขึ้นมาซดเข้าปาก หลังจากนั้นเขาก็กลับไปทำงานต่อ ขณะที่อีกคนหยิบเก้าอี้มานั่งพัก หลังจากที่รู้สึกหน้ามืด เสียงนายจ้างก็ดังขึ้นมา “ลุกขึ้นมา อู้งานหรือยังไง ถึงเอาเก้าอี้มานั่ง แผนกนี้ห้ามนั่งเข้าใจไหม” เขาลุกขึ้นไม่พูดอะไร ก้มหน้าทำงานต่อ 


    สุรีย์กำลังจะกลับบ้าน หลังจากทำงานมาตั้งแต่เช้าจนเย็น คนที่พักที่หอพักก็ทำงานล่วงเวลาไป ส่วนคนที่อยู่บ้านก็กลับบ้านไปก่อน สุรีย์และผู้หญิงอีกหลายคนเดินออกจากโรงงาน บางคนเดินกลับบ้านเลย บางคนก็นั่งไปลงพื้นหน้าโรงงาน สุรีย์เลือกที่กลับบ้านก่อน ทองใบผู้เป็นที่รักที่ได้ถึงบ้านแล้ว ทั้งสองจะได้กลับไปกินมื้อเย็นด้วยกัน ระหว่างทางเดินผ่านร้านขายหนังสือ สุรีย์หันไปเห็นหนังสือพิมพ์และกวาดสายตาอ่าน

     “รัฐบาลประกาศค่าจ้างขั้นต่ำ 12 บาทต่อวัน”


    สุรีย์ยังคงใช้ชีวิตด้วยการทำงานเช้าถึงเย็นกลับบ้านในทุกๆวัน ไม่ต่างจากใครอีกหลายคน



    วันเวลาผ่านมา 9 เดือน ในรอบหลายเดือนสุรีย์และทองใบจะได้กินก๋วยเตี๋ยวร้านโปรด 

    “พี่ วันนี้ฉันซื้อก๋วยเตี๋ยวมาฝาก ถุงละ 2 บาท”

    “ไม่ได้กินนานเลย กินข้าวเหนียวหมูแห้งๆมาหลายวัน”

    “เออ โรงงานฉันพวกนายจ้างมันจ่ายน้อยกว่า 12 บาท มันบอกว่ามีสวัสดิการอย่างอื่นให้แล้ว”
    “สวัสดิการอะไร” 
    “ก็พวกน้ำดื่มนั่นแหละ พวกเราโดนเอาเปรียบอยู่ตลอด ถ้าโรงงานไม่ยอมจ่ายค่าแรงมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำและไม่จ่ายให้ตรงเวลา เราคุยกันไว้ว่าจะนัดหยุดงาน”
    “อะไรที่ฉันช่วยได้บอกฉันนะ”

    ทองใบลุกไปเปิดทีวี เราทั้งคู่นั่งฟังข่าวด้วยกันหลังจากกินก๋วยเตี๋ยวเสร็จ “นักศึกษาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถูกทหาร จับกุม 13 คน  จากการเดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และใบปลิววิจารณ์รัฐบาล ทำให้นักศึกษาและประชาชนได้มีการชุมนุมประท้วงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เสียงจากทีวี

    “วันนี้ฉันเพลียๆ ฉันไปนอนก่อน” 


    วันทำงานวันต่อมาอาการเหนื่อยล้าจากการทำงาน ทำให้เธอได้รับบาดเจ็บในขณะทำงาน

    “โอ้ย” เธอร้องขึ้นมาหลังจากที่เข็มทิ่มนิ้วระหว่างเย็บกางเกง

    “เดี๋ยวฉันออกไปซื้อยาแดงให้” 

    “จะไปไหน” นายจ้างพูดขึ้น 

    “ฉันไปซื้อยาแดง เธอโดนเข็มทิ่มนิ้ว”

    “นึกว่าเรื่องใหญ่ น้ำมันจักรหยอดเดี๋ยวก็หาย ดีกว่ายาแดงอีกนะ“ นายจ้างพูดต่อ 

     

    เมื่อหลายคนได้ยินนายจ้างเช่นนั้น ก็ได้พูดคุยกันถึงความรู้สึกที่หลายๆคนก็รู้สึกไม่ต่างกัน

    “ทำไมชีวิตของพวกเราต้องเจอกับความลำบากอย่างนี้ ที่เห็นๆอยู่ไม่ใช่เรื่องของโชคชะตา แต่เพราะเราไม่ถูกมองว่าเราเป็นคน” 


    “พรุ่งนี้มีคนงานหลายที่ นัดชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ เธอจะไปด้วยกันไหม”

    “ไป! ฉันจะไป แต่ฉันจะเข้าบ้านก่อน เดี๋ยวไปบอกพี่ทองใบ และทำงานบ้านนิดหน่อย”

     

    “พี่ฉันจะไปชุมนุมกับเพื่อนคนงานที่ธรรมศาสตร์” 

    “พี่ไปด้วย”

    ระหว่างเดินทางทองใบก็พูดขึ้นว่า “เราเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เราต่างไม่ได้สู้อยู่คนเดียว” สุนีย์ยิ้มขึ้นในสถานการณ์ที่มีความตึงเครียด เธอรับรู้ได้ว่ามันพลังอยู่รอบตัว ทั้งสองเห็นใครหลายคนที่รู้จัก และใครหลายคนในที่ทำงานเดียวกัน และกำลังมุ่งหน้าไปทางเดียวกัน


     “กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนที่จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาถนนราชดำเนิน” เสียงรายงานจากผู้สื่อข่าว

    เสียงประกาศจากวิทยุกระจายเสียง “รัฐบาลยอมรับข้อเสนอของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ยอมปล่อยผู้ต้องหา และจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ในปีต่อไป”  

     “รัฐบาลได้ใช้กำลังสลายฝูงชนจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 รายและบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และอธิปไตยของชาติ หลังผู้ชุมนุมพยายามบุกยึดสถานที่ราชการด้วยอาวุธปืน” 


    จอมพลถนอม ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” เสียงรายงานจากผู้สื่อข่าว


  • 1 ปีต่อมา สายตาเป็นประกายของทองใบกำลังอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์  ประกาศประกันค่าแรงขั้นต่ำวันละ 20 บาท เริ่มในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล” 

    กาแฟค่ะ”
    “ขอบใจนะ”

    “หลายเดือนผ่านมาเราเข้าร่วมการชุมนุมนัดหยุดงานต่อรองนายจ้างหลายครั้ง หลายอย่างเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แต่ที่โรงงานเรายังคงจ่ายค่าแรงไม่ตรงเวลาบ้าง จ่ายน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำบ้าง ค่าล่วงเวลาก็ได้เป็นน้ำเปล่า เขาก็อ้างเหมือนเดิมว่า มีข้าวขายให้ถูกๆแล้ว ค่าแรงก็ควรลดลง  อีกอย่างเดี๋ยวนี้เขาก็มักจะจ้างเป็นรายชิ้น ตัวละ 50 สตางค์” 

    “งานรายชิ้นถ้าทำเยอะก็ได้เงินเยอะ แต่แบบนี้มันก็ไม่ดีหรอก”

    “ใช่ แม้ทำรายชิ้นจะรายได้ดี แต่ก็ไม่มีหลักประกันหรอกพี่ ถ้าได้เงินเยอะหน่อยก็ถูกย้ายแผนกแล้ว”

    “กางเกงจากโรงงานที่เธอทำ ก็มีขายในต่างประเทศ ราคาก็แพง น่าจะได้กำไรเยอะ ค่าจ้างค่าแรงก็ควรจะเยอะด้วย หรืออย่างน้อยที่สุดก็น่าจะทำให้มีห้องน้ำห้องส้วมดีๆ มีน้ำดื่มให้ใช้ให้กินในโรงงาน” 

    “จะว่าไปที่ทำงานของเราก็ไม่ต่างกัน”

    “อะไรที่เป็นของที่คนงานต้องใช้ สภาพก็จะทรุดโทรม พวกนายจ้างไม่เคยคิดจะทำให้ดีขึ้นเลย” 

    ทองใบถอนหอนใจและเสียงคุยกันได้เงียบลง เขาเลื่อนหนังสือพิมพ์ไปหน้าถัดไป “สลด! มีผู้ถูกยิงเสียชีวิตในโรงงานแห่งหนึ่งที่สมุทรสาคร พบว่ามีอายุเพียง 15 ปี”


    “ทุกคน ตอนนี้ภาวะตลาดตกต่ำ และฉันเองก็พึ่งได้เปิดโรงงานใหม่ที่นครปฐม และฉันจำเป็นต้องยุบบางแผนกที่นี่ เพื่อให้กิจการไปต่อ” นายจ้างพูด

    “แล้วเราทำอะไรได้บ้าง” เสียงคนงานคุยกัน ต่างคนมีสีหน้าวิตก


    “บุญเรือง ไปหลบในห้องน้ำ” นายจ้างพูดขึ้น ขณะที่มีเจ้าหน้ากรมแรงงานเข้ามาตรวงโรงงาน เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจเสร็จเรียบร้อยบุญเรืองก็เดินออกมา 

    บุญเรืองเธอดูไม่ไหวนะ ไปล้างหน้าหน่อยไหม  สุรีย์หันไปคุยกับบุญเรือง คนงานอายุ 15 ปี เขามาจากจังหวัดปราจีนบุรี พึ่งเข้ามาทำงานได้ไม่กี่วัน 

    “เมื่อคืนฉันไม่ได้นอนเลย ที่หอพักฝนตกหลังคารั่ว อากาศหนาวบวกกับละอองฝน เหนื่อยๆมาก็ยังนอนไม่หลับ”

    “เราต้องทำอะไรซักอย่าง เดี๋ยวเราต้องไปคุยกับนายจ้าง ให้คนงานได้มีที่นอน ได้มีห้องน้ำดีๆใช้” นิยมพูดขึ้น


    หลายเดือนต่อมาความไม่ลงรอยกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในโรงงานผลิตกางเกงที่สุรีย์ทำอยู่ได้มีความรุนแรงขึ้น ขณะที่นายจ้างพยายามบีบให้ลูกจ้างต้องออกจากโรงงาน เพื่อจะได้ย้ายบางแผนกไปอยู่ที่โรงงงานในนครปฐม


    “พวกเรามีคนงานที่นครปฐมโดนโกงค่าแรง 7 คน นายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าแรงมา 2วัน พอเขาขอค่ารถ 5 บาท นายจ้างก็ไม่ยอมให้ พวกเขาก็โดนไล่ออก พวกเราจะไม่ยอม” คนงานพูดต่อว่า “ถ้าพวกเขาทำกับเพื่อนเราได้ เขาก็ทำกับเราได้”

    สุรีย์และเพื่อนคนงานได้รวมตัวกันทั้งในโรงงานที่กรุงเทพและนครปฐม เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อให้กับนายจ้าง โดยมีนิยมเป็นหัวแกนนำ “ข้อเรียกร้องของเราก็ไม่มีอะไรมาก อย่างเช่น โบนัส ค่าครองชีพ มันเป็นหัวใจสำคัญของการทำงาน” นิยมพูดขึ้นกับเพื่อนคนงานด้วยกัน


    “เธอเป็นไรมา” ทองใบถาม หลังจากสุรีย์เดินเข้าบ้าน สุรีย์มีรอยแผลเล็กน้อย

    “นายจ้างมันยังไม่ยอมรับข้อเสนอ มันให้พวกผู้ชายมาตีผู้หญิงในโรงงาน แต่พวกเรารอดกันมาได้  เห็นว่าพรุ่งนี้จะมีเจรจา ที่กรมแรงงาน”

    “คนอะไรใจร้ายใจดำจริงๆ  นั่งลงก่อนสิ เดี๋ยวฉันทำแผลให้” 

    “แล้วพรุ่งนี้เธอจะไปไหม” 

    “ฉันไม่ได้ไป มีชอเกียง นิยม และอีกไม่กี่คนที่ไป” 


    “พี่ทองใบ นายจ้างรับข้อเสนอเกือบทุกข้อ ยกเว้นเรื่องค่าครองชีพ แต่ไม่เป็นไร เดี๋ยวโรงงานจะเปิดอีกสามวัน พวกฉันก็กลับเข้าไปทำงานได้แล้ว”

    “ดีเลย เธอพักผ่อนไปก่อนนะ” 

    “วันนี้พี่ซื้อก๋วยเตี๋ยวมาฝาก ร้านโปรดเธอขายดีกว่าเมื่อก่อนเยอะเลย คนเยอะตลอด” 

    “ก็มันอร่อยนี่หน่า” 

    “ถ้าวันไหนมีเงินฉันจะพาไปกินบ่อยๆ”  


    “ทุกคนวันนี้โรงงานเปิด เราจะให้เข้าโรงงานทีละคนเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อย” นายจ้างพูดขึ้น

    ทุกคนทยอยเข้าทีละคน สุรีย์และอีกหลายคนรับรู้ได้ว่ากำลังเผชิญกับความไม่ปกติ”

    “นายจ้างกำลังใช้เล่ห์เหลี่ยมกับเราอยู่แน่ๆ” 

    “หยุด เธอเข้าไม่ได้” นายจ้างพูดขึ้นเมื่อชอเกียงกำลังเดินเข้า 

    และซอเกียงก็ไม่ได้เข้า 

    “แล้วเราเอายังไงดี” 

    “โดนอีกแล้ว” 

    “ไม่เป็นไร เดี๋ยววันนี้เรารับเงินเสร็จเราจะไม่ไปไหน ให้ซอเกียงรอไปก่อน”

    “เราจะยึดโรงงาน จนกว่านายจ้างจะยอมเจรจาดีๆกับเรา” 


    “พวกเธอออกไปได้แล้ว” นายจ้างบอกให้คนงานออกจากโรงงาน แต่คนงานก็ยังยึดโรงงานไว้

    ขณะที่ตำรวจก็เข้ามา ตามที่นายจ้างโทรไป

    “มีไรกัน” 

    “คนงานพวกนี้จะยึดโรงงานของผมไปแล้ว”

    “มันก็เรื่องของเขา ผมทำอะไรคุณไม่ได้หรอก” 


    เวลาการยึดโรงงานผ่านมา 2 เดือน 



  • “ฉันเชื่อว่าเธอแบบทำแบบนั้นหรอก”
    “ขอบคุณที่เชื่อใจกันนะ”
    “ในวันที่ยากเธอลำบาก ฉันรับรู้ความรู้สึกนั้นได้  ฉันจะไม่พยายามทำให้เราทั้งคู่รู้สึกแย่ การที่เราเชื่อใจกันมันจะทำให้เราผ่านวันที่ยากลำบากไปได้ โดยเฉพาะเธอ” 
    “ถ้าวันไหนที่ฉันคิดว่า เราคงอยู่ด้วยกันไม่ได้ ฉันจะบอกกับพี่ตรงๆ” 
    “ฉันก็เช่นกัน”  

    สุรีย์และทองใบโอบกอดกัน ช่วงเวลาในการยึดโรงงานยังคงดำเนินต่อไป สุรีย์และเพื่อนร่วมงานอีกหลายคนขาดรายได้จากการไม่ได้ทำงาน เงินไม่ค่อยพอใช้ ขณะที่มีการปล่อยข่าวต่างๆ ว่าคนงานหลายคนตั้งครรภ์ นอกใจสามี เพราะนัดหยุดงานมา ระหว่างนั้นคนงานหลายคนก็ออกจากโรงงานไปแล้วไม่ได้กลับเข้ามาอีก 

    “เอายังไงดีพวกเรา นายจ้างมันคงคิดว่าพวกเราคงทนไม่ไหวแล้วจะยอมแพ้กันไปเอง”
    “เราไม่ยอม” 
    “ฉันก็ไม่ยอม” 
    “ถ้าเก็บผักขายต่อคงไม่ไหว”
    “เราเปิดโรงงานเองเลยสิ” 
    “เอาด้วย แต่เราไม่มีทุนทำเลยนะ” 
    “เราขายหุ้นกันสิ”คนงานและนักศึกษาที่เข้ามาทำงานด้วยพูดขึ้น 
    ช่วงที่ผ่านมามีนักศึกษาสองสามคนเข้ามาทำงานในโรงงานเย็บผ้า ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในโรงงาน ขณะสุนีย์และอีกหลายคนก็แทบจะไม่กลับบ้าน  นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาอีกหลายคนกระจายไปอยู่ตามโรงงานต่างๆ บางกลุ่มไปทำงานกับชาวนา 

    หลังจากยึดโรงงานมาเป็นเวลาเดือนกว่าๆ คนงานได้รวมตัวก่อตั้งโรงงาน เปลี่ยนชื่อโรงงานเป็น “โรงงานสามัคคีกรรมกร” ผลิตการเกงออกขายเอง โดยมีคนงานจากที่อื่นเและประชาชนเกือบพันคนเข้ารวมพิธีเปิด 
    บรรยากาศการทำงานเปลี่ยนไป ทุกคนทำงานแข็งขันมากขึ้น มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น การทำงานผิดพลาดน้อยลง และส่วนหนึ่งในโรงงานกลายเป็นห้องสมุด มีหนังสือมากมายในห้องสมุด มีการจัดกลุ่มศึกษาในโรงงาน และใช้ห้องสมุดเป็นที่ประชุมสนทนา แลกเปลี่ยนข่าวสาร

    บุญเรืองจากที่เคยเป็นคนแบกหามผ้า ได้กลายเป็นยามดูแลคนงานโรงงาน เขายังใช้เวลาว่างอ่านข่าวและศึกษาเรื่องการเมือง 

    ป้ายผ้าขนาดใหญ่ถูกติดไว้ที่ห้องเย็บผ้า เขียนว่า “แรงงานสร้างสรรค์โลก” และที่ห้องสมุดก็มีป้ายผ้าติดด้วยเช่นกัน เขียนว่า “เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”  บางวันในเวลางานก็มีดนตรีเล่นจากประชาชน นักศึกษา มีนักหนังสือพิมพ์เข้ามาชมมาฟังด้วย 
    สุรีย์ยังคงจำเพลงนั้นได้ดี บทเพลงนั้นในแง่หนึ่งมันสร้างความบันเทิง แต่สำหรับสุรีย์มันเป็นบทเพลงเพื่อการปลดปล่อย 

    สำเพ็งกลายเป็นแหล่งหาผ้าเพื่อนำผลิตกางเกง เสื้อผ้า ทำให้ต้นทุนสูงกว่าโรงงานเดิมของนายจ้าง แม้ว่าคนงานจะขายเสื้อผ้ากางเกงราคาถูกกว่าเดิม แต่ผลรายได้ของคนงานทุกคนก็ได้มากกว่าเดิมสองเท่า กำไรจะถูกแบ่งเป็นค่าจ้างและสวัสดิการค่ากินค่าอยู่ของคนในโรงงาน 


    “เราแบ่งเสื้อผ้า กางเกงส่วนใหญ่ ส่งไปให้ชาวนาที่อีสานด้วยไหม มีข่าวว่ามีคนหนาวตาย น่าเห็นใจพวกเขา” 
    “เอาสิ เดี๋ยวฉันช่วยขน”
    “ครบ 100 ตัวแล้ว”
    “แล้วมีใครไปบ้างเหรอ?”


    “เดี๋ยวฉันไปขายผ้าก่อนนะ”
    “ไปขายที่ไหนเหรอ” 
    “ไปขายแถวหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ ฉันไปก่อนนะ”
    “โชคดีนะ” 

    “หมวกนี่กี่บาทคะ”
    “20 บาทค่ะ”
    “ถูกลงเยอะเลย ถ้าเป็นแบรนด์เดิม 120 บาทแหนะ” 
    สุรีย์รับยิ้มให้คนซื้อ “กางเกงยีนส์ตัวละ 85 บาทนะ” 
    "เอากางเกงหนึ่งตัวค่ะ" 
    "หมวกนี่เท่าไหร่ครับ" ลูกค้าอีกคนถาม

    "ให้พูดตรงๆ ที่เรายึดโรงงาน ฉันก็กลัวนะ กลัวว่าวันหนึ่งเราจะถูกจับ" 
    “แต่มันเป็นวิธีที่ต่อรองอำนาจนายจ้างได้ดีเลยนะ” 
    “ชีวิตพวกเรา พี่น้องก็ดีขึ้นนะ” 
    “ฉันคิดว่าที่สำคัญ การที่เราผลิตเองได้ ขายเองได้ ทำให้โรงงานให้ไปต่อได้ พวกนายจ้างที่ไม่เคยเห็นหัวกรรมกรอย่างเรา จะได้รู้ว่าถ้าไม่มีคนงานกรรมกร งานมันทำต่อไม่ได้” ซอเกียงพูดขึ้น
    “ฉันเห็นด้วย”

    เวลาผ่านไปหลายเดือนการต่อสู้ระหว่างคนงานกรรมกรสามัคคีกับนายจ้าง ยังมีมาเรื่อยๆ จนมีข่าวจากวิทยุแห่งประเทศไทย โดยมีคำสั่งว่าจะมีการจับกุมคนงานกรรมกร  ทำให้คนงานบางส่วนเข้าไปเจรจากับนายกรัฐมนตรี สุรีย์ได้รออยู่ที่โรงงานกับเพื่อนคนงานอีกหลายคน แต่สุดท้ายการเจราไม่เกิดขึ้น คนงานไม่สามารถเข้าพบนายกได้ 
     
    ในเวลาเดียวกันกลุ่มตำรวจนำโดยนายตำรวจขับรถเข้าไปพบนายกรัฐมนตรี หลังจากพบนายก ตำรวจได้มีเข้าไปโรงงานเย็บผ้าและมีการปราบปรามคนงาน
    นายตำรวจพูดขึ้น “ 1..2..3 จะออกจากประตูไหม ถ้าไม่ออก จับ!” นายตำรวจพูดต่อ “2 ประกบ 1 ไม่ไหว ให้ 4 ประกบ 1”
    “เราต้องการพบนายกเพียง 5 นาที” คนงานพูดกับตำรวจ
    “เราจะสอบปากคำเพียงเล็กน้อย รีบขึ้นรถ”
    “เอาตัวมันไปให้หมด” นายตำรวจพูดกับตำรวจ

    แต่ตำรวจก็ได้จับทุกคนเข้าห้องขัง ไม่เพียงแค่คนงานกรรมกร มีนักศึกษา ประชาชนถูกจับไปด้วย เกือบ 50 คน ขณะเดียวกันมีประชาชนมากมายเข้าเยี่ยม และจัดชุมนุม

    มีคนงานบางส่วนรอดจากการถูกจับกุมปราบปราม และยังอยู่ในโรงงาน สุรีย์เป็นหนึ่งในนั้น ตำรวจก็ยังตามจับต่อเนื่อง แต่เวลานั้นมีประชาชนจำนวนมากมาอยู่ที่โรงงาน ตำรวจจึงยอมเจรจา 

    ช่วงเวลาเดียวกันมีประชาชนบางกลุ่มใช้ชื่อว่า “กระทิงแดง” เข้ามาด่าทอคนงานกรรมกร ก่อกวนประชาชนที่มาเยี่ยมคนงาน มีการยิงปืนจากประชาชนกลุ่มดังกล่าว แต่ไม่มีผลอะไร ตำรวจไม่ได้ทำอะไรกับสิ่งเกิดขึ้น สุรีย์คิดว่าเป้าหมายของตำรวจคือ คนงานกรรมกรโรงงานเย็บผ้า 

    ทางด้านสิื่อก็ได้เสนอข่าวคนงานกรรมกรต่างกันไป หนังสือ สำนักข่าวประชาธิปไตย และประชาชาติ  “กรรมกรคนงานเย็บผ้าเป็นคนหาเช้ากินค่ำ จึงควรได้รับค่าแรงอย่างเป็นธรรม” อีกด้านหนังสือพิมพ์สยามรัฐ “คนงานเย็บผ้าเป็นคนต้องอาญาแผ่นดิน เชื่อคำแนะนำนักศึกษา จะเอาอะไรนักหนา” หนังสือพิมพ์สยามรัฐอีกฉบับ เสนอข่าวบทสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี “คนงานเย็บผ้า ทำผิดกฎหมาย ทำให้บุคคลเสื่อมเสียอิสรภาพ ให้อภัยไม่ได้ ขืนปล่อยให้ทำไปจะไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมเหลืออยู่” 

    คนงานกรรมกร ประชาชน นักศึกษา ถูกจับขังคุกได้ไม่นาน ก็ได้ออกจากคุก จากการที่ประชาชนช่วยกันเพื่อให้ได้ประกันตัว หลังจากนั้นคนงานก็ได้เจรจากับนายจ้างหลายครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล นายจ้างไม่รับคนงานกลับเข้าทำงาน เเละนายจ้างได้เสนอให้มีคนชี้ขาด คณะอนุญาโตตุลาการ และได้ผลว่า ให้นายจ้างรับลูกจ้างกับเข้าทำงาน แต่นายจ้างก็ไม่ยอมรับคนงานเข้าทำงาน และไล่ให้ไปสมัครงานที่อื่น ซอเกียง นิยม สุรีย์และอีกหลายคน ได้รวมตัวกันฟ้องนายจ้าง 

    ถ้านายจ้างแพ้นายจ้างถูกปรับ 1,000 บาท 
    แต่ถ้าคนงานแพ้คนงานจะโดนกฎหมายอาญา และถูกขังคุก…


  • “ฉันคิดถึงทุกคน ตั้งแต่ฉันเข้าป่าไป ฉันก็ไม่ได้เจอพี่ทองใบอีกเลย ไม่รู้ว่าเขามีชีวิตอยู่ไหม ฉันไม่รู้ว่าเพื่อนคนงานเป็นอย่างไร" น้ำตาของเธอหยดลงบนสมุดก่อนที่เธอปิดสมุดบันทึกที่เคยบันทึกเรื่องราวในอดีต เก็บใส่กระเป๋า แล้วเดินลงรถที่สถานนีรถไฟกรุงเทพ เธอกลับเข้ากรุงเทพอีกครั้งในช่วงบั้นปลายชีวิต 

    “ภาพที่นี่ต่างไปจากเดิม แต่ความรู้สึกที่ฉันรับรู้ไม่ต่างไปจากเดิม ในช่วงชีวิตที่ผ่านมากาลเวลาทำให้หลายอย่างเปลี่ยนไป การรับรู้ยังคงเป็นเช่นเคย อะไรที่เคยเป็นอย่างหวังไม่เป็นอย่างหวัง อะไรที่เคยเป็นไปได้กลับเป็นไปไม่ได้ ถึงเพื่อนร่วมทางเดิน เมื่อไม่นานมานี้ฉันคิดว่าเราเข้าใกล้ความหวัง แต่มันก็หายไป ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ หรือว่าเวลาไม่เคยเป็นของเราคนส่วนใหญ่"

    "แต่ฉันยังคงหวังว่าเวลาจะเป็นของเราเสมอ”






    ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in