West Side Story
คงไม่ต้องกล่าวอะไรให้มากความ เพราะเพียงแค่ฉากเปิดเรื่องก็สามารถเอาคนดูอยู่หมัดได้อย่างแน่นิ่ง หรือก็คือ West Side Story นั้นไม่ต่างอะไรจากผลงานโชว์เก๋าของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ที่กำกับให้เด็กมันดูว่า รุ่นใหญ่เขาทำหนังกันยังไง
หรือต่อให้มองข้ามการกำกับชั้นยอดนั้นไป (ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมองข้ามลง) คนดูอย่างเรา ๆ ต่างก็คงต้องรู้สึกไม่มากก็น้อยถึงประเด็นอันลุ่มลึกที่แฝงอยู่รอบตัวและท่วงทำนองการร้องเล่นเต้นรำของเหล่าตัวละคร เพราะตั้งแต่เริ่มต้น การประจัญหน้าของทั้งสองแก๊งค์ต่างมีพื้นฐานอยู่บนความบาดหมางทางเชื้อชาติล้วน ๆ จนแทบจะบังสายตาของพวกเขาให้ไม่เห็นถึงสภาพแวดล้อมรอบข้าง เพราะต่อให้ใครจะชนะก็ตาม ผู้ที่จะมาฮุบทุกอย่างไปในตอนท้ายก็คือเหล่านายทุน เหมือนดั่งที่นายตำรวจพูดกับเหล่าแก๊งค์ชนชั้นแรงงานทั้งสองทำนองว่า จะแก่งแย่งพื้นที่กันให้ตายแค่ไหน สุดท้ายพวกแกก็ไม่ใช่เจ้าของอยู่ดี และเตรียมตัวโดนเหล่านายทุนไล่ที่ได้เลย
นอกเหนือจากนี้ บทเพลง America ของอนิตาก็ดูจะเป็นการหลอกตัวเองให้ฝันหวานถึงคำขวัญในอดีตที่ว่า "อเมริกา ดินแดนแห่งโอกาส" ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้ว ควรจะมีวงเล็บต่อเติมไว้ข้างหลังว่า ของคนผิวขาวและคนรวย แต่ขณะเดียวกัน เธอก็ไม่ได้มืดบอดทางทัศนะตรรกะไปเสียหมด เพราะอย่างน้อยเธอก็เป็นคนจุดประเด็นปิตาธิปไตยภายในเรื่องให้ชัดเจนอย่างขึงขัง การกลับเปอร์โตริโกและมีลูก 6 คน เห็นจะเป็นเพียงความฝันของเหล่าชายเป็นใหญ่ซึ่งเธอเองก็ได้บอกไปเช่นนั้นว่า ฝันไปเถอะ แต่จนแล้วจนรอด อนิตากลับกลายเป็นตัวละครที่แตกสลายและน่าสงสารที่จุดไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม ความรักอันบริสุทธิ์ผุดผ่องระหว่างโทนี่และมาเรียถือเป็นอีกหนึ่งใจความหลักสำคัญของหนังเรื่องนี้ เอาเข้าจริงแล้วจะบอกว่าเป็นเนื้อหาส่วนสำคัญเลยก็คงจะไม่ผิดนัก ซึ่งสปีลเบิร์กและมือเขียนบทอย่างโทนี่ คุชเชอร์ ก็ไม่ได้นำเสนอความหวานชื่นมื่นจนคนดูต้องเขินบิดตัว ในทางกลับกัน มันเป็นความไร้เดียงสาของรักที่ไม่ได้บริสุทธิ์ดั่งที่ตาเห็น การมีประวัติติดคุกของตัวละคร โทนี่ เห็นจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงเกินควบคุม หรือแม้แต่มาเรีย การที่เธอร้องเพลง I Feel Pretty หลังจากที่เกิดโศกนาฏกรมมขึ้น ก็ไม่ต่างอะไรจากความไร้เดียงสาแบบปิดหูปิดตาไม่ฟังความเห็นต่าง ซึ่งทันทีที่เรื่องราวดำเนินไปถึงช่วงเวลาของเพลง Somewhere เมื่อมองจากบริบทปัจจุบัน มันก็อดไม่ได้ที่จะเลิกคิ้วขึ้นสักเล็กน้อยจนคนดูเกือบต่อกับหนังไม่ติด แต่จากการลำดับปรับเปลี่ยนตำแหน่งการร้องเพลงทั้ง 2 ของสปีลเบิร์กให้ต่างไปจากต้นฉบับนี้เอง มันจึงช่วยทำให้ความหมายของทั้งสองเพลงทำหน้าที่ได้อย่างกว้างไกลมากขึ้นจนพอจะรับได้อยู้บ้างก็ตามที
ในท้ายที่สุด ตามที่บอกไปในข้างต้นว่า West Side Story เป็นงานโชว์เก๋าของสปีลเบิร์กที่ต้อมยอมรับจากใจจริงถึงการวางช็อต บล็อกกิ้ง เคลื่อนกล้อง และอีกหนึ่งวิธีถนัดมือของเขา นั่นคือ In-camera cut ซึ่งส่งผลให้ฉากเต้นทุกฉากออกมาสวยสดงดงามอันเจริญหูเจริญตา มันคือความเป็นภาพยนตร์อย่างแท้จริงที่ไม่ใช่ละครเวทีบนแผ่นฟิล์มเหมือนหนังมิวสิคคัลหลาย ๆ เรื่อง ทว่าสิ่งหนึ่งที่สปีลเบิร์กและคุชเชอร์ต่างพยายามตะโกนผ่านตัวละครวาเลนตินาอย่างสุดเสียง รวมไปถึงฉากเรียนรู้ภาษาสเปนของโทนี่ และการเลือกใช้ภาษาสเปนแบบไม่มีซับไตเติ้ล-ว่า คนขาวอย่างพวกเราก็สามารถและยินดีที่จะเรียนรู้ได้ แต่ไม่รู้ว่านั่นหมายถึงเฉพาะคนขาวในภาพยนตร์อย่างเดียวรึเปล่า
เขียนโดย: พัทธนันท์ สวนมะลิ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in