เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
film review by tothelimboandneverbacktothelimboandneverback
โพสต์นี้มีเนื้อหาที่อาจไม่เหมาะสมกับเยาวชน review Plan 75 (2022) / ในวันที่ทุนนิยมหยิบยื่นทางเลือกให้คุณกำหนดความตายได้ (spoiler)
    • trigger warnings: mentions of death (พูดถึงความตาย), mentions of physical abuse (พูดถึงการทำร้ายร่างกาย)
    • content warnings: euthanasia (การุณยฆาต), spoil


    "เมื่อคุณค่าในตัวเราไม่ได้หมดลงเพราะอายุที่เข้าใกล้ความตายมากขึ้นทุกวัน หากแต่เป็นเพราะคุณไม่มีคุณค่าในสายตาของโลกที่กำลังขับเคลื่อนด้วยทุนนิยมอีกต่อไปแล้ว"

    และนี่คือสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่อง Plan 75 วันเลือกตาย กำลังจะสื่อกับสังคมญี่ปุ่น ซึ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super Aged Society) มาตั้งแต่ปี 2007 หรือก็คือ สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ หรือเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเกินกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด รวมไปถึงสัดส่วนโครงสร้างประชากรของญี่ปุ่นที่สัดส่วนประชากรวัยทำงานลดลง และสัดส่วนของเด็กเกิดใหม่ที่ลดลงตามไปด้วย ซึ่งนั่นก็หมายความว่ารัฐจำเป็นต้องนำค่าใช้จ่ายของประเทศไปใช้จ่ายในส่วนของสวัสดิการผู้สูงอายุมากขึ้น และสร้าง "ภาระ" ให้กับคนรุ่นใหม่ในการแบกรับภาษี และเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2022 กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นก็ได้ประกาศว่าปัจจุบันมีประชากรอายุ 100 ปีขึ้นไปมีจำนวนถึง 90,526 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4,016 คน และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีผู้สูงอายุเกิน 100 ปีมากถึง 9 หมื่นคน แน่นอนว่าปัญหานี้จะต้องเป็นที่ถกเถียงในวงกว้างของสังคมญี่ปุ่นแน่นอนว่ารัฐจะมีมาตรการหรือนโยบายในการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร และสังคมญี่ปุ่นคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้




    ภาพยนตร์เรื่อง Plan 75 ก็ได้หยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพูดถึง โดยได้สมมุติขึ้นมาว่าญี่ปุ่นมีโครงการ Plan 75 ซึ่งเป็นกฎหมายที่อนุญาตให้ผู้สูงอายุที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไปสามารถทำการุณยฆาตได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (i.e. การอนุญาตให้ปลิดชีวิตตนเอง) โดยรัฐจะมอบสิทธิพิเศษให้มากมาย นั่นก็คือการมอบเงินชดเชยเป็นจำนวน 1 แสนเยน รวมไปถึงการไปพักผ่อนหย่อนใจโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และบริการพูดคุยเป็นระยะเวลา 15 นาทีทุกวันในระยะเวลา 1 เดือนก่อนจะลาโลกนี้ไป


    Plan 75 ได้เล่าผ่านมุมมองของคนสามคนด้วยกัน นั่นก็คือ มิจิ (แสดงโดย จิเอโกะ ไบโช) หญิงชราวัย 78 ปีที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียว และรับจ้างทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดในโรงแรม แต่โดนเชิญออกอย่างกะทันหันจึงทำให้เธอกลายเป็นคนว่างงาน รวมไปถึงโดนเจ้าของห้องพักที่อาศัยอยู่กดดันให้ย้ายออก ฮิโรมุ (แสดงโดย ฮายาโตะ อิโซมูระ) เจ้าหน้าที่รับสมัครซึ่งเป็นด่านหน้าของโครงการ Plan 75 ได้กลับมาพบกับลุงของตนเองที่ไม่ได้เจอกันมา 20 ปีอีกครั้งผ่านโครงการนี้ และมาเรีย (สเตฟานี อาริอาน) หญิงชาวฟิลิปปินส์ที่จากบ้านมาไกลมาทำงานหาเงินในญี่ปุ่นเพื่อหาเงินไปใช้จ่ายในการรักษาลูกสาวของตนเองที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัด นั่นจึงทำให้เธอได้เข้ามาทำงานเป็นพนักงานดูแลศพของผู้เสียชีวิตในโครงการนี้




    *spoil เนื้อหาส่วนสำคัญ


    ผู้เขียนได้ไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้โดยไม่ได้ดูตัวอย่างไปก่อน รับทราบเพียงแต่ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการการุณยฆาตผู้สูงอายุจึงทำให้ผู้เขียนตัดสินใจไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ทว่าสิ่งที่ตกตะกอนได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้กลับไม่ใช่ประเด็นการวิพากษ์การุณยฆาตแต่อย่างใด — ซึ่งแม้แต่ปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นประเด็นถกเถียงในสังคม หากแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กำลังวิพากษ์ถึงการจัดการและสวัสดิการรองรับคนชราที่ไม่เพียงพอรองรับทุกคนในประเทศญี่ปุ่น และเป็นไปได้ที่ว่าในอนาคตอันใกล้ สิ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่องนี้อาจจะเกิดขึ้นจริงก็เป็นได้


    มิจิเองก็เป็นหนึ่งในผู้สูงอายุของญี่ปุ่นที่สวัสดิการเข้าไม่ถึงอย่างเพียงพอ และมันก็เห็นได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเธอและเพื่อน ๆ ของเธอถูกเชิญให้ออกจากงานกะทันหัน ด้วยเหตุผลที่ว่า “พวกเธอแก่เกินไปและน่าสงสาร” ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากเพื่อนคนหนึ่งของเธอเกิดล้มระหว่างทำงานจนต้องถูกส่งไปที่โรงพยาบาล แน่นอนว่าคนแก่ส่วนมากร่างกายอาจจะไม่สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพดังเดิมแล้ว หากแต่มิจิเองก็ยังเชื่อว่าตนเองยังมี “คุณค่า” มากพอที่จะทำงานในโลกของทุนนิยม ซึ่งภาพยนตร์ก็แสดงให้เห็นว่าเธอยังสามารถทำได้ดี และเป็นคนที่มักจัดการอะไรหลาย ๆ อย่างแทนเพื่อนของเธอ อย่างเช่น เธอได้รับเป็นคนเขียนชื่อให้เพื่อนในตอนที่พวกเธอไปร้องคาราโอเกะด้วยกัน ดังนั้นมิจิที่กำลังตกงาน และที่พักที่เธออาศัยอยู่ก็กดดันให้เธอย้ายออกโดยเร็ว จึงต้องเริ่มหางานอีกครั้งในวัย 78 ปี — และแน่นอนว่าทุกที่ก็ปฏิเสธที่จะรับคนแก่เข้ามาทำงาน มิหนำซ้ำยังแนะนำให้เธอเข้าไปขอรับความช่วยเหลือจากสถานสงเคราะห์ด้วย แน่นอนว่ามิจิที่คิดว่าตนเองยังมี “คุณค่า” มากพอจึงเลือกที่จะปฏิเสธทางนั้น จนสุดท้ายเธอต้องยอมไปรับจ้างโบกรถในตอนกลางคืนท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บและร่างกายที่ไม่เป็นใจอีกต่อไป ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าฉากนั้นได้สร้างความรู้หนักอึ้งและตกตะกอนความรู้สึกบางอย่างในใจของใครหลายคนแน่นอน




    ทุนนิยมตัดสินว่าผู้สูงอายุเหล่านี้ไม่มีคุณค่ามากพอที่จะทำงานอีกแล้ว หากแต่ก็ไม่เหลือพื้นที่ให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถอยู่อย่างสบาย ๆ ได้อีกเช่นกัน เพราะการที่คุณจะมีที่อยู่อาศัยให้พักผ่อนหย่อนใจได้อย่างถาวร คุณก็ต้องมีหลักประกันว่าคุณมีงานทำที่มั่นคงพอจะสามารถจ่ายค่าเช่าได้ตลอดทั้งปี หากแต่ “อายุ” ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการรับเข้าทำงานก็ทำให้ยากที่จะหางานที่มั่นคง รวมไปถึงมิจิเองก็ไม่ได้มั่นใจว่าตนเองจะมีชีวิตอยู่ได้นานพอที่จะจ่ายค่าเช่าที่พักล่วงหน้าได้ถึงปีหรือสองปีหรือไม่ ทุนนิยมกำลังสร้าง dilemma (สภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก) บางอย่างที่ไม่เพียงแต่ผู้สูงอายุในปัจจุบันต้องเผชิญเท่านั้น หากแต่เป็นอนาคตที่คนวัยหนุ่มสาวอาจจะต้องเผชิญด้วยเช่นกัน


    การที่ทุนนิยมครอบงำทุกอย่างในโลกใบนี้นี่เอง รัฐสวัสดิการจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้เรายังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมนุษย์ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่กลไกหนึ่งที่ช่วยให้ทุนไหลเวียนเท่านั้น หากแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสวัสดิการเหล่านั้นไม่ได้เพียงพอจะรองรับทุกคน เพราะไม่อย่างนั้นผู้สูงอายุก็คงไม่ต้องทำงานแล้ว และก็เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อมิจิไม่มีทางเลือกจนสุดท้ายต้องยอมไปพึ่งสถานสงเคราะห์ แต่ก็ถูกปฏิเสธอีกเมื่อเธอเห็นป้ายว่าวันนี้ปิดรับบริการให้คำปรึกษาแล้ว โดยที่ผู้เขียนคิดว่ามิจิก็ไม่น่าจะไปช้าหรืออะไรเลย แต่อาจเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสวัสดิการนี้ไม่ได้มี "แรงงาน" มาให้บริการรองรับที่เพียงพอ


    การที่โลกนี้ปฏิเสธคุณค่าในตัวคุณคงสร้างความรู้สึกที่เหงาจับใจสำหรับคนวัยชราอย่างมิจิที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียวไม่น้อย และยิ่งการที่เพื่อนเพียงคนเดียวของเธอที่ยังคงติดต่อ และไปมาหาสู่กันต้องตายอย่างอเนจอนาถในบ้านของตนเองเพียงลำพัง ยิ่งทำให้มิจิไม่อยากจะมีจุดจบแบบนั้น สุดท้ายแล้ว “Plan 75” จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่จะตายได้อย่างสะดวกสบายมากที่สุด และยิ่งการที่โครงการมีทางเลือกให้คุณสามารถการุณยฆาตและเผาร่วมกับคนอื่น ๆ เพื่อไม่ให้คุณต้องตายอย่างโดดเดี่ยวเกินไปคงสร้างความรู้สึก “อุ่นใจเล็ก ๆ” ให้คนชราที่กลัวจะต้องตายอย่างโดดเดี่ยวไม่น้อย


    แต่การการุณยฆาตควรเป็นตัวเลือกแรกในการจัดการปัญหาสังคมผู้สูงอายุจริงหรือ หรือเพราะรัฐไม่อยากจัดการปัญหาและอยากผลักภาระออกไปกันแน่?

    ผู้เขียนค่อนข้างเห็นด้วยว่ากฎหมายควรอนุญาตให้เราสามารถมีทางเลือกที่จะการุณยฆาตได้ แต่มันควรจะเกิดจาก “ความสมัครใจที่แท้จริง” ไม่ใช่เพราะสังคมและรัฐหล่อหลอมให้คุณ “สมัครใจ” เพียงเพราะทุนนิยมไม่เห็นคุณค่าในตัวคุณแล้ว ซึ่งภาพยนตร์ก็มีหลายจุดที่ทำให้เราเห็นว่าสังคมกำลังบีบคั้นผู้สูงอายุอย่างไร ไม่ว่าจะการโฆษณาย้ำ ๆ ว่าเป็นการทำเพื่ออนาคตของลูกหลาน หรือสวัสดิการมากมาย (ที่อยู่ดี ๆ รัฐก็เสกขึ้นมาให้คุณได้) ที่จะได้รับหากคุณเข้าร่วมโครงการ หรือแม้แต่การที่ผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจแสดงให้เห็นว่า Plan 75 เป็นโครงการที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างมหาศาลที่ยิ่งเป็นตัวตอกย้ำว่าการมีตัวตนของคุณหมดประโยชน์สำหรับโลกใบนี้แล้ว ผู้เขียนจึงคิดว่าการการุณยฆาตไม่ใช่ประเด็นที่ภาพยนตร์เรื่องนี้กำลังวิพากษ์ และไม่ได้สนับสนุนให้คุณมีแนวคิดว่า ‘มีชีวิตดีกว่า อย่าตายเลย’ แบบนั้น แต่กำลังวิพากษ์ถึงสวัสดิการที่ยังไม่เพียงพอจนรัฐต้องคิดโครงการ Plan 75 ขึ้นมาเพื่อกำจัดคนที่ทุนนิยมมองว่า "ไร้ประโยชน์" แล้วเสียมากกว่า


    แล้วคุณค่าในตัวเราจะหมดลงเมื่อเราไม่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกต่อไปแล้วจริงหรือ สังคมกำลัังวัดคุณค่าในตัวมนุษย์จากอะไรกันแน่ นั่นอาจจะเป็นสิ่งที่ภาพยนตร์ได้ทิ้งท้ายไว้ให้เราต้องขบคิดและวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไป


    เมื่อแท้จริงแล้วการอุทิศตนเพื่อชาติ คือกลไกหนึ่งที่ทำให้ทุนนิยมยังคงอยู่ต่อไป




    ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการอุทิศตนเพื่อทำงานหนักและชาตินิยมสูงอยู่แล้ว ดังนั้นการทำงานจึงเสมือนกับการอุทิศตนเพื่อชาติอย่างหนึ่ง และอาจเป็นทางออกเดียวของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างที่จะสามารถหาเงินมาซื้อความสุขให้ตนเองและคิดว่ามันอาจจะช่วยขยับสถานะทางสังคมของตนเองให้สูงขึ้นได้อีกสักนิด ทุนนิยม ผนวกกับลัทธิชาตินิยมที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมนี้เองจึงทำให้เราคิดว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากก้มหน้าก้มตาทำงานและหลงคิดว่าเป็นการทำประโยชน์เพื่อชาติ ทั้งที่เราอาจจะเป็นแค่ "ฟันเฟืองชิ้นหนึ่ง"ที่ช่วยให้ทุนไหลเวียนต่อไปได้เท่านั้น และนั่นคือสิ่งที่ถ่ายทอดผ่าน “ฮิโรมุ” เจ้าหน้าที่ของโครงการ Plan 75 ที่เป็นด่านหน้าในการรับสมัครผู้สูงอายุเสมือนกับเซลล์ขายของก็ไม่ปาน


    ฮิโรมุในคราบของเจ้าหน้าที่โครงการดูมีภาพลักษณ์ใจดีและอบอุ่น แต่เบื้องหลังรอยยิ้มบนใบหน้ากลับซ่อนความเฉยชาที่มีต่อผู้สูงอายุที่มาสมัครเข้าร่วมโครงการให้รัฐปลิดชีพตนเอง และภาพยนตร์ก็ถ่ายทอดส่วนนั้นออกมาได้อย่างแยบยล ผู้เขียนคิดว่าฮิโรมุเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดเหมือนกับตัวละครชายที่เป็นตัวเปิดเรื่องของเรื่องนี้ — ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์จริงในปี 2016 ที่มีชายคนหนึ่งบุกเข้าไปในบ้านพักคนชรา และใช้มีดแทงคนชราที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้จนเสียชีวิตไปทั้งหมด 19 คน ด้วยแนวคิดที่ว่าผู้สูงอายุเหล่านี้เป็น "ภาระของสังคม"


    "คนญี่ปุ่นเชื่อว่าการได้ตายเพื่อชาตินั้นน่าภาคภูมิใจ”


    การที่คิดว่าคนกลุ่มหนึ่งไร้ประโยชน์เพียงเพราะคิดว่าเขาไม่สามารถทำคุณประโยชน์ให้ชาติ i.e. ทำเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้แล้ว และคนกลุ่มนั้นก็สมควรถูกกำจัดเป็นเรื่องที่น่ากลัว และมันก็ทำให้เรามองคนกลุ่มนั้นเป็น “ความเป็นอื่น” (The Otherness) ได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นฮิโรมุคงรู้สึกตกใจไม่น้อย เมื่อคน คนหนึ่งที่ไม่ได้เป็น “ความเป็นอื่น” ในสายตาเขา หากแต่เป็นลุง ที่ไม่ได้พบหน้ากันมา 20 ปีกลับมาสมัครเข้าร่วมโครงการ


    ด้วยเหตุนี้เองฮิโรมุและลุงของเขาจึงได้หวนกลับเข้ามาในชีวิตกันและกันอีกครั้ง ฮิโรมุ — ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าชีวิตของเขาคงไม่ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับผู้สูงอายุมากนัก จึงเสมือนกับได้รู้จักลุงของตนเองใหม่อีกครั้ง ความเฉยชาเริ่มเปลี่ยนไปทีละเล็กละน้อยตั้งแต่ที่เขาได้เห็นชีวิตบั้นปลายของลุงตัวเองที่ทั้งอ้างว้างและโดดเดี่ยว และไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าไหร่นัก ถึงแม้ในภาพยนตร์จะไม่ได้บอกเหตุผลว่าทำไมพ่อของฮิโรมุกับลุงของเขาถึงแตกหักกันจนแม้แต่งานศพพ่อของเขา ลุงก็ยังไม่มา ผู้เขียนคิดว่าจุดแตกหักนั้นเองน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ฮิโรมุมองลุงของเขาด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่ดีเท่าไหร่นัก ดังนั้นการที่เขาได้กลับมาเจอลุงอีกครั้ง ได้รู้จักลุงอีกครั้งคงเปลี่ยนความคิดของเขาที่มีต่อลุงตนเองไม่น้อย และสิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นจุดที่กระทบความรู้สึกและความคิดของฮิโรมุมากที่สุดก็คือ ลุงของเขาเองก็ได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับชาติเช่นกัน


    การได้หวนกลับมาเจอกันอีกครั้งนั่นเองทำให้ฮิโรมุได้รู้ว่าลุงของเขาได้ออกเดินทางเพื่อหางานทำไปเรื่อย ๆ ทั่วทั้งญี่ปุ่น ไม่ว่าจะการสร้างถนน สร้างเขื่อน ฯลฯ ภาพยนตร์ก็ไม่ได้บอกเราโต้ง ๆ ว่าลุงของฮิโรมุทำแบบนั้นไปเพื่ออะไร แต่ผู้เขียนคิดว่า การสร้าง Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐาน) นั้นก็ถือเป็นกระบวนการอย่างหนึ่งในการสร้างชาติ (State-building) ดังนั้นการที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการวางรากฐานของประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเมืองหรือเศรษฐกิจในลำดับถัด ๆ ไป คงสร้างความรู้สึกชาตินิยมและภูมิใจไม่มากก็น้อย ยิ่งไปกว่านั้น "การบริจาคเลือด" เองก็มีนัยยะและยึดโยงกับความเป็นชาตินิยมด้วยเช่นกัน "เลือด" (血) เป็นความเชื่อหรือสัญลักษณ์ของ "ความบริสุทธิ์" "พลังงานชีวิต" หรือในเชิงศาสนาก็เป็น "สิ่งสกปรก" (汚れ) ที่ต้องผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์มาตั้งแต่สมัยเอโดะแล้ว แต่กระนั้น เลือดก็ได้ถูกนำมายึดโยงกับความเป็นชาติอย่างจริงจังก็นับตั้งแต่สมัยเมจิเป็นต้นมา จนเกิดเป็นคำอย่าง "Yamato blood" (ยามาโตะ มาจากราชวงศ์ยามาโตะของญี่ปุ่น) หรือก็คือ "เลือดญี่ปุ่นอันบริสุทธิ์"[1] ที่สร้างความเป็นชาตินิยมที่ฝังรากลึกในสังคมญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน




    กระนั้นผู้เขียนรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เมื่อการที่ชายคนหนึ่งได้อุทิศตัวทำงานเพื่อชาติ แม้กระทั่งจวบจนวาระสุดท้ายเขาก็ยังคิดว่าความตายของตนเองคือการทำประโยชน์เพื่อชาติ แต่กลับไม่มีใครเห็นคุณค่าของสิ่งที่เขาทำแม้แต่น้อย เมื่อแก่ตัวลงไปก็กลับถูกมองว่าเป็นภาระ และไร้ประโยชน์ต่อประเทศชาติ และนั่นอาจสร้างความรู้สึกสะเทือนใจ และข้อกังขาในงานของฮิโรมุไม่น้อยว่าสิ่งที่เขาทำนั้นคือสิ่งที่ถูกต้องจริง ๆ หรือ เช่นเดียวกับ โยโกะ (แสดงโดย ยูมิ คาวาอิ) คอลเซนเตอร์ที่รับหน้าที่โทรคุยกับมิจิทุกวันเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน ทั้งสองได้มีโอกาสใกล้ชิดกับผู้สูงอายุและได้รับรู้เรื่องราวของพวกเขา และเป็นคนสุดท้ายที่ได้พูดคุยกับผู้สูงอายุทั้งสองคนก่อนที่จะส่งไปสู่ความตาย ซึ่งด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ทั้งฮิโรมุและโยโกะได้ตัดสินใจทำอะไรบางอย่างที่ขัดกับหน้าที่การงานของพวกเขา


    รัฐเป็นเจ้าของชีวิตเราตั้งแต่ "เกิดยันตาย"

    สิ่งแรกที่ผู้เขียนนึกถึงระหว่างดูภาพยนตร์เรื่องนี้คือคำว่า "Biopower" ซึ่งเป็นแนวคิดของ Michel Foucault ที่พูดถึงอำนาจในรูปแบบหนึ่งซึ่งซับซ้อนกว่าอำนาจที่เป็นรูปแบบตายตัว อย่างการบังคับ หรือการใช้อำนาจข่มขู่ แต่อำนาจที่ Foucault พูดถึงนี้คืออำนาจของรัฐที่สามารถชี้เป็นชี้ตายทั้งในระดับปัจเจก หรือระดับประชากรได้ และรัฐจะใช้อำนาจนั้นในการควบคุมคนในสังคมเมื่อรัฐเห็นว่าใครผิดแปลก หรือผิดปกติไปจากสังคมส่วนใหญ่ในสายตาของรัฐ เพื่อให้คนในสังคมมองว่าคนคนนั้น หรือคนกลุ่มนั้น ก็ผิดปกติด้วยเช่นกัน จนอาจนำไปสู่การ "กำจัด" หรือการพยายามทำให้กลับมาเป็น "ปกติ" นั่นเอง


    เมื่อเข้าใจความหมายแล้วคงเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมผู้เขียนถึงนึกถึงคำนี้ขึ้นมา เพราะผู้สูงอายุในเรื่องก็กำลังถูกมองว่าเป็น "ความผิดปกติ" ในสายตาของรัฐด้วยเช่นกัน และด้วยเหตุนี้เองจึงนำไปสู่การคิดโครงการอย่าง Plan 75 ขึ้นมาเพื่อที่รัฐจะสามารถใช้มันได้อย่างแยบคายในการกำจัดคนกลุ่มนี้ออกไป หนำซ้ำการใช้เทคนิคอย่างการโฆษณา การเข้าหาผู้สูงอายุอย่างเป็นมิตร หลอกล่อด้วยสวัสดิการที่ไร้ซึ่งค่าใช้จ่าย ใช้ความชาตินิยมสูงที่เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของญี่ปุ่นมาทำให้ทั้งผู้สูงอายุและคนในชาติรู้สึกว่ามันเป็นโครงการที่ไม่ได้บีบบังคับอะไรใคร และเป็นการสร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศจริง ๆ ก็แยบคายมากเสียจนแทบไม่รู้สึกเลยว่ามันกำลังบ่งชี้ว่า รัฐมีอำนาจที่จะกำจัดคุณตอนไหนก็ได้หากรัฐ (และทุนนิยม) มองว่าคุณเป็นภาระและไม่มีประโยชน์อีกต่อไป


    และนั่นก็เป็นสิ่งที่ผู้กำกับ จิเอะ ฮายาคาวะ กังวลเช่นเดียวกัน เมื่อเธอได้ให้สัมภาษณ์ใน Plan 75: An interview with director Chie Hayakawa โดยพูดถึงสังคมญี่ปุ่นว่ากำลังจะกลายเป็น "สังคมใจแคบ" ที่พยายามจะกำจัดและกีดกันคนที่อ่อนแอกว่าออกไป ซึ่งผู้เขียนมองว่ามันเป็นผลพวงจากการที่รัฐให้สวัสดิการที่ไม่เพียงพอ และค่านิยมแบบตัวใครตัวมัน ไม่ได้มี empathy ให้คนรอบตัวมากขนาดนั้น ทั้งนี้ เหตุผลข้อหลังก็ต้องมาพินิจพิเคราะห์กันอีกทีว่าเพราะค่านิยมการทำงานหนักที่รัฐและทุนนิยมผนึกกำลังหล่อหลอมให้คนในสังคมต้องแข่งขันกันตลอดเวลาหรือเปล่า หรือมันก็เป็นส่วนหนึ่งของ "Biopower" เช่นกันหรือเปล่า สังคมญี่ปุ่นจึงมีแนวคิดเช่นนี้


    การอุทิศตัวให้กับการทำงานมากเกินไปอาจทำให้คุณหลงลืมและเผลอทิ้งใครบางคนไว้เบื้องหลัง




    การถ่ายทอดผ่านมุมมองคนนอก ที่ไม่ได้ถูกผูกมัดกับค่านิยม ความเป็นชาตินิยมของประเทศต้นทางก็เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจ ตลอดทั้งเรื่องมาเรียดูเหมือนจะไม่ได้เชื่อมโยงกับโครงการ Plan 75 เลย สิ่งเดียวที่เธอเชื่อมโยงนั่นก็คือการเป็นพนักงานดูแลศพของโครงการ แต่ทั้งเรื่องก็แสดงให้เห็นว่ามาเรียมุ่งเป้าแต่จะหาเงินเพื่อนำไปรักษาลูกของเธอ มาเรียไม่ได้เป็นเพียงแค่ "คนนอก" ที่ไม่ได้ถูกผูกมัดและเชื่อมโยงกับตัวละครไหนในเรื่องแต่เพียงเท่านั้น แต่การที่เธอเป็นแรงงานข้ามชาติ "ชาวฟิลิปปินส์" — ไม่ใช่ "คนญี่ปุ่น" ยิ่งทำให้มาเรียมีนัยยะของการเป็นคนนอกสำหรับญี่ปุ่นโดยแท้


    ทว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ไม่ได้ต้องการจะวิพากษ์ถึงการเป็นคนชายขอบในญี่ปุ่นของแรงงานในประเทศโลกที่สามแต่อย่างใด แต่อาจจะต้องการหยิบประเด็นนี้มาเพื่อวิพากษ์ถึงความเย็นชา และเฉยชาของสังคมญี่ปุ่นเสียเอง มาเรียก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ทุ่มเทให้กับการทำงาน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เธอแตกต่างจากสังคมการทำงานของญี่ปุ่นนั่นก็คือมาเรียมีความผูกพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับครอบครัวและเพื่อนของเธอ ซึ่งตรงข้ามกับสังคมญี่ปุ่นที่บริษัทและองค์กรส่วนใหญ่ยังมีค่านิยมที่ยังยึดติดกับการโหมทำงานจนล่วงเวลาจนไม่มีเวลาให้กับใครนอกจากงานตรงหน้า คนรุ่นใหม่เริ่มใช้ชีวิตแบบปลีกวิเวก ห่างเหินจากครอบครัวมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ว่าสาเหตุของการแตกหักระหว่างพ่อกับลุงของฮิโรมุเองก็อาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน กระนั้น อีกนัยหนึ่งที่ผู้เขียนเล็งเห็นก็คืออาจจะเป็นไปได้ที่ว่างานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุนั้นไม่ได้เป็นที่ต้องการสำหรับตลาดแรงงานคนในประเทศมากนัก หรืออาจจะสะท้อนว่ารัฐไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรมนุษย์มาให้บริการสาธารณะได้อย่างเพียงพอนั่นเอง (จนสุดท้ายต้องนำไปสู่โครงการอย่าง Plan 75 ขึ้นมา) ดังนั้นงานเหล่านี้จึงกลายเป็นความต้องการของแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้เกี่ยงงาน และมักจะทำในส่วนของ Informal sector (แรงงานนอกระบบ) เสียมากกว่า


    ในช่วงหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ในปี 2011 สังคมญี่ปุ่นเทิดทูนคำว่า "絆" (คิซึนะ) เป็นอย่างมาก คิซึนะ หมายถึงสายสัมพันธ์ มักถูกใช้พูดถึงสายสัมพันธ์หรือความผูกพันในครอบครัว ทว่าหลังภัยพิบัติคำคำนี้ก็ถูกใช้ในความหมายที่ครอบคลุมถึงสายสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ดังนั้นคำว่าคิซึนะจึงถูกเลือกให้เป็นคันจิประจำปี 2011 นั่นเอง กระนั้นดูเหมือนสังคมญี่ปุ่นจะไม่ได้ดำเนินไปในทิศทางเช่นนั้นเลย และผู้เขียนก็คิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ก็กำลังถ่ายทอดประเด็นนี้ผ่านสายตาของมาเรียด้วยเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ว่ามาเรียที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผู้คนต่างมีความเอื้ออารีต่อกัน และผูกพันใกล้ชิดกับครอบครัวตนเองอย่างแท้จริงจึงเข้าไปช่วยฮิโรมุในตอนท้ายเรื่องทันทีโดยไม่หวังอะไร ซึ่งได้สร้างคำถามให้เรามาขบคิดเล่นอยู่เหมือนกันว่าหากเป็นเจ้าหน้าที่คนอื่น โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนญี่ปุ่นด้วยกันเองนั้น พวกเขาจะเข้าไปช่วยฮิโรมุหรือไม่ หรือแม้แต่ตัวเราเองจะกล้าเข้าไปช่วยเหลือเขาอย่างที่มาเรียทำหรือเปล่า




    Plan 75 อาจไม่ใช่ภาพยนตร์ที่มีจุดพีคหรือสร้างความรู้สึกหวือหวาอะไร แต่สิ่งที่ภาพยนตร์ได้พาไปสำรวจและทิ้งไว้ให้เราได้ตกตะกอนนั้นกลับสร้างความ "กลัว" จากก้นบึ้งในใจอย่างบอกไม่ถูก กลัวอนาคตที่ยังมาไม่ถึง กลัวว่าเมื่อแก่ตัวไปจะต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ต้องอยู่คนเดียว และสุดท้ายก็ต้องตายอย่างโดดเดี่ยว ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้สร้างความกลัวให้กับคนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นเท่านั้น หากแต่ผู้เขียนเองก็รู้สึกหนักอึ้งในใจหลังดูภาพยนตร์เรื่องนี้จบเช่นเดียวกัน เพราะเป็นอันที่รู้ดีกันว่าประเทศไทยเองก็ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน ทว่าขนาดญี่ปุ่นที่เป็นประเทศหนึ่งที่มีสวัสดิการที่เอื้ออำนวยต่อผู้สูงอายุมาก ผู้สูงอายุหลายคนในญี่ปุ่นก็ยังต้องพบเจออุปสรรคและความยากลำบากในบั้นปลายชีวิตและไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายเท่าไหร่นัก ไม่ต้องพูดถึงประเทศเราที่แค่เดินเล่นแถวสยามหรือย่านสุขุมวิท คุณก็จะพบเห็นผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากที่ยังมาหาบเร่ขายของหรือต้องกลายเป็นขอทานอยู่


    คงต้องย้ำกันอีกครั้งว่าภาพยนตร์เรื่อง Plan 75 ไม่ได้ต้องการจะวิพากษ์ประเด็นการการุณยฆาตแต่อย่างใด หากแต่ต้องการจะแสดงให้เราเห็นว่า รัฐที่มีอำนาจในการชี้เป็นชี้ตายชีวิตของเรา และสังคมที่ถูกครอบงำด้วยทุนนิยมและชาตินิยมจนหล่อหลอมให้เรากลายเป็นคนเฉยชา และมองคนบางกลุ่มเป็นความเป็นอื่นที่สมควรถูกกำจัดนั้น เมื่อสิ่งเหล่านั้นผนึกกำลังกันแล้วมันได้นำไปสู่อะไร  บางทีอาจจะไม่ต้องมีกฎหมายอย่าง Plan 75 ออกมาเลยก็ได้หากรัฐสามารถจัดสรรสวัสดิการได้อย่างเพียงพอจริง ๆ ประเด็นเหล่านี้อาจจะต้องเป็นสิ่งที่สังคมญี่ปุ่นต้องถกเถียงกันต่อไปว่าประเทศของพวกเขาจะดำเนินไปในทิศทางไหน วัฒนธรรมหรือแนวคิดบางอย่างที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมมาเป็นเวลานานจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ นั่นก็เป็นสิ่งที่ผู้เขียนเองก็เฝ้ารอที่จะเห็นเช่นกัน (รวมถึงสังคมไทยเองด้วย)





    tothelimboandneverback






    [1] Jieun Kim, "The specter of “bad blood” in Japanese blood banks," Critical Studies of Contemporary Biosciences 37, no. 4 (2018): https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/14636778.2018.1546575. 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in