เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
SighseeingWhizPalm
Bangkok, ครบรอบ 130 ปีความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
  •           เบื่อจะคิดชื่อ Entry ให้ดูมีกิมมิคเหมือนๆ ที่เคยเขียนไปแล้วค่ะ หมดมุกมาก เพราะเรื่องที่จะเขียนวันนี้ก็ยังไม่หนีไปจากบริเวณเดิมๆ ทีเขียนไว้สามเอนทรีก่อน แถมเกริ่นตรงนี้เลยว่าธีมของนิทรรศการที่เขียนวันนี้ ยังไปคล้ายตอนแรกสุดที่เคยเขียนไว้อีก(หัวเราะ) เอาเป็นว่า ขอเล่าสั้นๆ เน้นรูปประปราย พอให้ไม่เป็นการสปอยตัวงานเกินไปอย่างที่ผ่านๆมาแล้วกันค่ะ 

              เรามาอยู่กันที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พิพิธภัณฑสถานแห่งแรกของประเทศไทย ที่ตั้งอยู่บริเวณท้องสนามหลวง ฝั่งเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า(ขาเข้า) กันค่ะ ที่นี่เปิดทุกวัน ยกเว้นวัน จันทร์-อังคาร เวลา 9.00-16.00 น. มีค่าเข้าสำหรับชาวไทย 30 บาท โดยค่าใช้จ่ายเท่านี้ สามารถเดินดูได้รอบบริเวณเลยล่ะค่ะ แต่สิ่งที่จะเขียนถึงในวันนี้ ขอเน้นแค่ในส่วนของนิทรรศกาลที่จัดขึ้นช่วงนี้ จนถึง วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2561 ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน(ชื่ออาคารจัดแสดงด้านหน้าสุด) ในหัวข้อ “วิถีแห่งศรัทธาจากศิลปทัศน์ญี่ปุ่น” (The History of Japanese Art : Life and Faith)


              นิทรรศการในส่วนนี้เป็นนิทรรศการเวียนค่ะ หัวข้อสำหรับคราวนี้ อย่างที่บอกไปว่านี่เป็นช่วงปีที่ครบรอบ 130 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ทำให้ได้มีการแลกเปลี่ยนสิ่งของทางวัฒนธรรมมาจัดแสดงกันทั้งสิ้น 130 ชิ้น เท่ากับว่า เราจะได้ชมสิ่งของที่เป็นสมบัติของประเทศญี่ปุ่นมากมาย โดยไม่ต้องตีตั๋วบินหลายชั่วโมงค่ะ(ค้นข้อมูลแล้วทราบมาว่า ของทั้งหมดขนมาทั้งจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว และ คิวชู ค่ะ)


              ด้วยความที่เป็นนิทรรศการที่กล่าวถึงในแง่วิสัยทัศน์ แน่นอนว่าในการเดินชม ผู้ชมจะได้สัมผัสกับความเป็นมาตั้งแต่ต้นค่ะ


    ตั้งแต่ยุคโจมน ราวๆ 4,500 ปีก่อน

    ไล่มาจนถึงยุคเฮอัน

              แน่นอนว่าวัฒนธรรมมักตีคู่มาคู่กับศาสนา ดังนั้นเราจะได้เห็นแนวคิด ภาพวาด หรืองานศิลปกรรมในรูปแบบของพระพุทธรูปค่อนข้างเยอะ แต่ไม่น่าเบื่อนะคะ เพราะตัวนิทรรศการเอง จะค่อยๆพาให้เราไหลไปตามยุคสมัย แล้วก็ซึมซับในหลายๆมุมมองค่ะ อย่างในเรื่องของ ค่านิยม ธรรมเนียมประเพณี รวมถึงการปฏิบัติต่างๆก็มีให้ชม


    ตรงนี้เป็นส่วนของ ของเล่น สำหรับเด็กๆ ทั้งเด็กชายและเด็กหญิงเลยค่ะ

    เครื่องแต่งกาย

    พิธีต่างๆ อย่างการชงชา พร้อมทั้งรายละเอียด และข้าวของเครื่องใช้
    ศิลปะทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์อย่างการตีดาบ ก็มีให้ชม

              จากการใช้เวลาร่วมชั่วโมงกว่า ทำให้แน่ใจได้เลยว่าของที่นำมาจัดแสดงไม่ธรรมดาจริงๆค่ะ ดูได้จากรายละเอียด การเก็บรักษา(ในตู้มีจัดแสดงถูกควบคุมอุณหภูมิอย่างเคร่งครัด) และคุณค่าทางวัฒนธรรม ซึ่งเห็นได้จากลวดลาย หรือตราสัญลักษณ์ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ดาบทาจิที่นำมาแสดงในภาพด้านบน ก็เป็นดาบที่ประดับตราของตระกูลโทกุคาวะล่ะค่ะ เคลมได้ว่าผู้ใช้ไม่ใช่สามัญชนคนธรรมดาแน่นอน

              สำหรับใครที่คิดว่าส่วนจัดแสดงไม่ใหญ่มาก น่าจะมีอะไรให้ชมน้อยล่ะก็คิดผิดค่ะ ถ้าได้ไล่อ่านดีๆแล้วจะหิ้วความรู้ รวมถึงความฟินในการเสพงานศิลปะกลับบ้านไปเต็มกระเป๋าแน่ๆ หรืออย่างน้อยสุดเลย กระซิบได้ว่าก่อนเดินออกจากงาน คุณไม่กลับบ้านมือเปล่าแน่ เพราะมีโซนนี้อยู่


    ลองทำภาพพิมพ์อุกิโอะเอะ แล้วหิ้วกลับได้ 1 คน ต่อแผ่น ขนาดโปสการ์ด !


              หรือ อีกสักนิดก่อนปิดเอนทรี ถ้าคุณคิดว่ายังไม่จุใจ เชื่อเถอะค่ะว่าบัตร 30 บาท(สำหรับชาวไทย) ในมือคุณยังให้อะไรคุณได้อีกเยอะ เพราะนอกจากพระที่นั่งศิวโมกขพิมานนี่แล้ว ยังมีส่วนจัดแสดงอื่นๆให้ได้ชมค่ะ เรียกได้ว่าใช้เวลาอยู่ได้แทบทั้งวันเลย ส่วนจะมีอะไรบ้าง ขอขี้โกงใช้ภาพเก่าหลายๆ ปีก่อนมาแปะยั่วน้ำลายทิ้งท้ายนะคะ เพราะเราก็ยังยืนยันว่าอยากให้มาเองอยู่ดี ไม่ว่าจะกี่เอนทรีก็ตาม



              ส่วนเอนทรีหน้า คราวนี้สัญญาแล้วล่ะค่ะ ว่าจะพาไปไกลๆ จากแถวหลักกิโลเมตรที่ 0 ของประเทศไทยแน่ๆ ส่วนจะไกลมาก ไกลน้อย หรือหลุดข้ามประเทศไปไหน อยากให้ติดตามกันต่อค่ะ แล้วพบกันนะคะ


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in