“ผลพวงจากการอยู่ในแวดล้อมที่ถูกกลั่นแกล้งและรังแกให้รู้สึกว่าเป็นอื่นในสังคมที่โตมา กนกพัชรยอมรับว่า เรื่องราวตั้งแต่วัยเด็กผลักให้เขา กลายเป็นเด็กสมาธิสั้น เรียนไม่จบชั้นปวส. จนกระทั่งเหตุการณ์ที่เขาเริ่มลงมือทำร้ายแฟนจากการทะเลาะวิวาท เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ต้องไปพบแพทย์เพื่อบำบัดภาวการณ์เป็นคนสองบุคลิกและอารมณ์แปรปรวน” กนกพัชร (2561)
การเป็น LGBTQ+ ในสังคมปัจจุบันแม้จะค่อนข้างได้รับการยอมรับมากกว่าเมื่อก่อน แต่จากการศึกษาพบว่าสิ่งที่สังคมเรียกว่า “การยอมรับ” นั้นส่วนมากเป็นเพียงแค่การทนได้เฉย ๆ บุคคลที่กล่าวว่าตนเปิดกว้างกับ LGBTQ+ ส่วนใหญ่มักรับไม่ได้หากคนที่เป็น LGBTQ+ เป็นลูกหลานหรือคนในครอบครัวตนเอง จากผลการสำรวจประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติในหัวข้อ รับได้ แต่ไม่อยากสุงสิง จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 2,210 คน อายุ 18 – 57 ปี และเป็นบุคคลที่แสดงออกตรงเพศสภาพ 861 คน พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 88% ยอมรับว่าตนเองยอมรับ LGBTQ+ ได้หากไม่ใช่คนในครอบครัว และมีเพียง 75% เท่านั้นที่ยอมรับหากเป็นคนในครอบครัว (ปิยวรรณ วิเศษสุวรรณภูมิ, ชนัญชิดา ทุมมานนท์, ชุติมณฑ์ คล้ายแก้ว และกรผกา พัฒนกำพล, 2564) จะเห็นได้ว่าจำนวนคนลดไปค่อนข้างมาก และนี่เป็นเพียงผลสำรวจที่มีจำนวนคนอายุน้อยมากกว่า และมีบุคคลตรงเพศสภาพเพียงแค่ 800 คนจาก 2,000 คนเท่านั้น ในโลกความเป็นจริงบุคคลที่อายุมากกว่านี้และเป็นบุคคลตรงเพศยังคงมีมากกว่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่า LGBTQ+ จะได้รับการยอมรับมากน้อยเพียงใด
LGBTQ+ ได้รับการเลือกปฏิบัติอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัว โรงเรียน หรือสถานที่ทำงาน โดยผลจากการสำรวจประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติพบว่า 47.5% ถูกเลือกปฏิบัติจากครอบครัว จึงทำให้ LGBTQ+ หลายคนมีแนวโน้มที่จะไม่เปิดเผยตนเองกับคนในครอบครัว แต่เลือกที่จะเปิดเผยกับบุคคลภายนอกที่แสดงแนวโน้มว่าจะสนับสนุนตนเองแทน และจากผลสำรวจในปี 2019 ของ The Trever National Survey on LGBTQ Youth Mental Health จากเยาวชน 34,000 คน พบว่า 71% ถูกแบ่งแยกจากอัตลักษณ์ทางเพศหรือเพศวิถีของตนเอง 58% ถูกกีดกันไม่ให้ใช้ห้องน้ำที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศ รวมถึงมากกว่า 50% ที่ถูกเกลี้ยกล่อมให้เปลี่ยนอัตลักษณ์ทางเพศหรือเพศวิถีผ่านการเข้าบำบัดทางจิต ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในประเทศไทยคือการที่มหาวิทยาลัยบางแห่งยังบังคับให้แต่งกายตามเพศกำเนิดเมื่อเข้าเรียนและเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร และ LGBTQ+ มักจะถูกปฏิเสธการจ้างงาน ไม่ได้รับโอกาสในการอบรม และขาดความมั่นคงในอาชีพ (ปิยวรรณ วิเศษสุวรรณภูมิ, ชนัญชิดา ทุมมานนท์, ชุติมณฑ์ คล้ายแก้ว และกรผกา พัฒนกำพล, 2564) นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาของผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า LGBTQ+ โดยเฉพาะบุคคลข้ามเพศเจอความรุนแรงมากที่สุด และครอบครัวเป็นต้นเหตุของความรุนแรงนั้นมากที่สุด (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2564)
จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า LGBTQ+ ได้รับการสนับสนุนจากสังคมค่อนข้างน้อย แต่สิ่งที่เลวร้ายไปมากกว่านั้นคือการที่ LGBTQ+ ถูกคุกคามเพราะอัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขาแตกต่างไปจากกรอบของสังคม โดยมีการศึกษาในนักเรียน LGBTQ+ พบว่า 55% ถูกรังแกภายในหนึ่งเดือนก่อนให้ข้อมูล 31% ถูฏทำร้ายร่างกาย 29% ถูกทำร้ายทางวาจา 26% ถูกล่วงละเมิดทางเพศ (ธันยธร บัวทอง, 2561) ซึ่งการไม่ได้รับการสนับสนุนทางสังคมโดยเฉพาะจากคนในครอบครัวถูกปฏิเสธ เลือกปฏิบัติ เป็นการตีตราจากสังคมว่าพวกเขานั้นแปลกแยกและเป็นสิ่งผิดปกติ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นกระบวนการทางสังคมที่ทำให้บุคคลเกิดความเครียดและเป็นสาเหตุหลักของปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรง บุคคลอาจเริ่มแยกตัวออกจากสังคมเพราะรู้ว่าอัตลักษณ์ไม่ได้รับการยอมรับ จากนั้นอาจเกิดความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า ซึ่งนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ จากการศึกษาพบว่ากลุ่ม LGBTQ+ จะมีความเครียด ภาวะซึมเศร้า และการพยายามฆ่าตัวตายสูง และการปกปิดอัตลักษณ์ทางเพศของตนเป็นปัจจัยของปัญหาเหล่านี้รวมถึงขัดขวางการเข้าถึงความช่วยเหลือจากสังคมด้วย การช่วยเหลือ LGBTQ+ เมื่อเกิดปัญหาด้านจิตใจจึงล่าช้าหรือไม่ได้รับเลย (ปริยศ กิตติธีระศักดิ์, 2562)
จะเห็นได้ว่าปัญหาด้านจิตใจของ LGBTQ+ เกิดจากสังคมที่ไม่เปิดกว้างอย่างแท้จริง และแนวคิดของบุคคลที่ยังไม่ยอมรับเพศนอกกรอบแนวคิดว่าเพศเป็นทวิภาค (binary) จึงทำให้เพศหลากหลายถูกกีดกันออกจากสังคม ดังนั้นเพื่อลดปัญหาด้านจิตใจของกลุ่ม LGBTQ+ และพัฒนาสังคมให้น่าอยู่มากขึ้นสำหรับเพศหลากหลายเราจึงต้องพัฒนากรอบแนวคิดด้านเพศให้กับสังคมส่วนใหญ่ หากจะให้พูดโดยรวมก็คือการปรับทัศนคติของคนส่วนใหญ่ให้ยอมรับความหลากหลายทางเพศ และยอมรับว่าเพศไม่ได้มีเพียงแค่ชายหรือหญิงเท่านั้น
ในส่วนของสถานบริการสุขภาพจิต แพทย์ และพยาบาล สามารถทำได้โดยให้ความเคารพคนไข้ และยืนยันศักดิ์ศรีของเขาในฐานะกลุ่ม LGBTQ+ เพราะปัจจุบันหลายคนยังคงกลัวการถูกตีตราและความไม่เข้าใจจากแพทย์หรือพยาบาลที่ทำการรักษาค่อนข้างมาก รวมถึงผู้ใช้บริการคนอื่น จึงเลือกที่จะไม่ไปพบแพทย์เมื่อมีปัญหา นอกจากนี้แพทย์ พยาบาล จะต้องให้ความสำคัญต่อการยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศของผู้ป่วยด้วย ให้การยืนยันกับเขาว่าภาวะของโรคที่เขาเป็นอยู่ไม่ได้เกิดจากอัตลักษณ์ทางเพศเหล่านั้น แต่เป็นเพราะสังคม ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำแนวคิดนี้ไปใช้บำบัดผู้ป่วย LGBTQ+ บ้างแล้วในต่างประเทศ เช่น “AFFIRM” (Affirmative cognitive behavioral coping skills intervention) หรือ PRIDE Project
ในส่วนของครอบครัวสามารถทำได้โดยการเปิดใจยอมรับด้วยความรัก แน่นอนว่าการยอมรับแนวคิดใหม่สำหรับคนรุ่นเก่าอาจเป็นไปได้ยากและค่อนข้างทุลักทุเล แต่ถ้าหากบุคคลมีความรักให้กับบุคคล LGBTQ+ และใช้ความรักเป็นพื้นฐานที่จะทำความเข้าใจก็จะสามารถพัฒนาแนวคิดเปิดกว้างเรื่องเพศได้ง่ายขึ้น บุคคลในครอบครัวต้องมีทัศนคติทางบวกต่อความหลากหลายทางเพศ มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง อาจมีการพูดคุยกันในครอบครัวแบบเปิดใจเพื่อขยายมุมมองของตนเอง การชื่นชมและส่งเสริมให้วัยรุ่นที่มีความหลากหลายทางเพศได้ทดลองทำสิ่งใหม่ หรือทำในสิ่งที่รัก สิ่งที่ถนัด ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถกระทำได้ เมื่อเขามีความสุขและสนุกกับสิ่งที่ได้ทำจะทำให้ทำสิ่งนั้นได้ดี และครอบครัวก็ควรยินดีกับความสามารถหรือความสำเร็จของพวกเขาด้วยเช่นกันแม้ว่าจะเป็นความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะช่วยให้วัยรุ่น LGBTQ+ มีความมั่นใจในตนเองเพิ่มมากขึ้น และรับรู้ความสามารถของตนเองได้มากขึ้น
ในส่วนของโรงเรียนนั้นครูทุกคนควรจะมีทัศคติทางบวกต่อเพศหลากหลาย มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องของพพัฒนาการวัยรุ่น และให้ข้อมูลเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถีต่าง ๆ ให้แก่วัยรุ่นอย่างถูกต้องโดยไม่มีอคติ รวมไปถึงการสอนเพศศึกษาด้วย เพราะในปัจจุบันพบว่าหลายโรงเรียนไม่ได้มีการสอนเพศศึกษาด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง หรือให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน และครูส่วนใหญ่เลือกที่จะเลี่ยงเรื่องเพศและเน้นให้นักเรียนมีเพศสัมพันธ์หลังเรียนจบไปแล้วเท่านั้น ทั้งที่ด้วยความเป็นวัยรุ่นใน กำลังอยากรู้อยากลองเมื่อไม่ได้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนจึงเลือกที่จะทดลองเรียนรู้เอง ทำให้เกิดผลเสียมากกว่า ถ้าหากครูสามารถถ่ายทอดความรู้ในเรื่องเพศได้อย่างถูกต้องและครอบคลุมเรื่องเพศหลากหลายจะทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องนี้ของนักเรียนมากขึ้น และสามารถช่วยป้องกันการรังแกหรือกีดกันเพื่อนในกลุ่ม LGBTQ+ ออกจากสังคมได้
กล่าวโดยสรุปคือทุกคนในทุกภาคส่วนของสังคมไม่ว่าจะเป็นสังคมเล็กแบบครอบครัว หรือสังคมที่ใหญ่ขึ้นแบบโรงเรียนล้วนมีความสำคัญต่อแนวคิดของเด็กต่อเพศหลากหลายเป็นอย่างมาก ถ้าหากเราสามารถพัฒนาความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศหลากหลาย ทั้งอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถีให้กับเด็ก ๆ ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ การรังแกกันหรือการกีดกันใครออกจากสังคมเพราะอัตลักษณ์ทางเพศหรือเพศวิถีก็สามารถลดลงได้มาก และไม่มีใครที่ต้องเจ็บปวดกับเรื่องเหล่านี้อีกต่อไป
เอกสารอ้างอิง
Mercedes Mehling. (2019). [Image]. https://unsplash.com/photos/7J7x8HLXQKA
ปิยวรรณ วิเศษสุวรรณภูมิ, ชนัญชิดา ทุมมานนท์, ชุติมณฑ์ คล้ายแก้ว และกรผกา พัฒนกำพล. (2564). วัยรุ่นที่มีความหลากหลายทางเพศ:การดูแลช่วยเหลืออย่างเข้าใจ. วารสารเทคโนโลยีสุรนารี. (2)16, 1-13. https://so05.tci-thaijo.org/index.php/sjss/article/view/252048/173744
ปริยศ กิตติธีระศักดิ์. (2562). แบบจำลองความเครียดในคนกลุ่มน้อย: กรอบแนวคิดของภาวะเสี่ยงทางสุขภาพจิต ในคนกลุ่มน้อยทางเพศและเพศสภาวะ. วารสารการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต. (33)1, 1-17. https://he02.tci-thaijo.org/index.php/JPNMH/article/view/184994/130517
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (17 กันยายน 2564). เปิดจุดเปลี่ยนการยอมรับ LGBTQ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. https://resourcecenter.thaihealth.or.th/article/%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A-lgbtq
ไทยพีบีเอส. (17 ธันวาคม 2564). ทำความเข้าใจ "กลุ่มคนข้ามเพศ" พบในอดีตอายุสั้น -ป่วยโรคซึมเศร้าสูง. ไทยพีบีเอส. https://news.thaipbs.or.th/content/310779
ธันยพร บัวทอง. (7 พฤศจิกายน 2561). บูลลี่ : ประสบการณ์ที่เลวร้ายในห้องเรียนของคนข้ามเพศ. BBC. https://www.bbc.com/thai/features-46107153
เลิฟแคร์สเตชั่น. (6 ตุลาคม 2563). เยาวชน LGBTQ กับความเสี่ยงในเรื่องสุขภาพจิต. Lovecarestation.https://www.lovecarestation.com/%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%8A%E0%B8%99-lgbtq-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95/
Mahidol University, Plan International Thailand and UNESCO Bangkok Office. (2014). A Brief on school bullying on the basis of sexual orientation and gender identity: LGBT-friendly Thailand?. UNESCO. https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000227706_tha
สมพร รุ่งเรืองกลกิจ และ พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์. (2564). เพศภาวะกับสุขภาพจิต. วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย 2564, 29(3), 259-72.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in