บทความต่อไปนี้คือการรีวิวหนังสือและมีเนื้อหารุนแรง
เวลาที่คนสำคัญในชีวิตตาย ใครๆมักพูดว่า
"อยากแก้แค้นคนร้ายให้สาสม"
เวลาที่เกิดคดีที่เหี้ยมโหด คนในสังคมมักโจษจันว่า
"อยากให้คนร้ายเจอแบบเดียวกันกับที่เหยื่อถูกกระทำ"
กฎหมายใหม่ฉบับหนึ่งเพื่อรับมือกับคดีอาชญากรรม
"กฎหมายแก้แค้น"
อนุญาตให้เหยื่อหรือผู้เสียหายสามารถกระทำกับคนร้ายแบบเดียวกับที่คนร้ายทำกับเหยื่อได้โดบถือเป็นการลงโทษอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ตาต่อตาฟันต่อฟัน กฎหมายฉบับนี้จะสามารถช่วยเหยื่อและครอบครัวที่เหลืออยู่ในจริงหรือ
กฎหมายให้ฆ่า
เป็นหนังสือญี่ปุ่น เขียนโดย โคะบะยะชิ ยุกะ
หนังสือจะตั้งคำถามกับเราว่า
หากว่าเราเป็นผู้เสียหาย หากลูกชายของเราถูกฆ่าตายอย่างไม่ปราณี
เราจะฆ่าคนที่ทำแบบนั้นกับลูกชายเราด้วย"มือ"ตัวเองมั้ย
ในเมื่อเข้าไปรับโทษแล้วก็จะออกมาก่อคดีอีก
การรับโทษนี่ไม่สาสมเอาเลย
หรือถ้าเกิดคนร้ายเป็นผู้เยาว์ล่ะ ถ้าเกิดคนร้ายอายุ 17 ล่ะ อายุสิบเจ็ดยังถือว่าไร้เดียงสาใช่ไหม ยังถือว่าไม่รู้ความหรือเปล่าถึงปล่อยมันไป
ถ้าเกิดว่าคนร้ายเป็นคนวิกลจริตล่ะ แบบนี้คนวิกลจริตก็ฆ่าใครก็ได้ใช่ไหม
กฎหมายแก้แค้นไม่มียกเว้นพวกนี้
หนังสือเล่มนี้ตั้งคำถามมากมาย พาเราไปอยู่ในจุดของเหยื่อ พาเราไปอยู่ในจุดของผู้กระทำ พาเราไปหาเหตุผลหลังการกระทำเหล่านั้น หรือความไร้เหตุผลของการกระทำเหล่านั้น
คิดว่าคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้จนจบก็คงมีความคิดของตนเองที่แตกต่างกันออกไป
ต่อจากนี้
"สปอยล์"
1. Siren
ลูกชายถูกวัยรุ่น 4 คนลักพาตัวไปทรมานแล้วฆ่าเป็นเวลา 4 วัน พนักงานสืบสวนที่เคยเห็นที่เกิดเหตุมาจนชินยังต้องเบือนหน้าหนีสภาพศพ
ถ้าคุณเป็นพ่อคุณจะทำยังไง จะฆ่าวัยรุ่นคนนั้นเหมือนกับที่เขาฆ่าลูกชายคุณไหม ลูกชายคุณมีคนเดียวในโลกนะ
"หมอนั่นผิดเพราะมันไม่ยอมเชื่อฟังฉัน" เขากล่าว
แม่เขาคุกเข่าขอร้องคุณอยู่ที่พื้นทุกวัน
"จริงๆเขาเป็นเด็กอ่อนโยน จิตใจบริสุทธิ์นะคะ" เธอกล่าว
เราชอบ Siren ตรงที่แสดงให้เห็นถึงข้อเสียโดยตรงของการแก้แค้นแบบตาต่อตาฟันต่อฟันแบบนี้ได้เห็นภาพดีค่ะ
2. Border
ลูกสาวของคุณฆ่าแม่ของคุณ
คุณจะทำอย่างไร คุณรักแม่มากนะ ลูกสาวคุณล่ะ ฆ่าเธอ?
Border เป็นตอนที่เราชอบมากเพราะว่าพลิกไปพลิกมาสุดๆ พาให้คนอ่านฟังความข้างเดียวเหมือนตัวละครและสุดท้ายก็เปิดเผยความจริงอันน่าตกใจออกมา
3. Anchor
คนวิกลจริตแทงคนแปลกหน้าสามคน มีผู้มีสิทธิ์เป็นผู้แก้แค้นสามคน
พี่ชายอยากแก้แค้นให้น้องชายของเขา
ลูกสาวอยากแก้แค้นให้แม่ของเธอ
คู่หมั้นกลับไม่อยาก
คู่หมั้นกลับถูกสังคมโจมตี ทำไมล่ะ ไม่รักคู่หมั้นของตัวเองล่ะสิ ทำไมทนอยู่ได้ล่ะ คนรักทั้งคนเชียวนะ สังคมโกรธแค้นแทนเหยื่อ และรู้สึกว่าไม่ยุติธรมเลย ทำไมคู่หมั้นถึงไม่แก้แค้น ใครเป็นคนจะถือมีดกันแน่ คู่หมั้นหรือสังคม?
"อุตส่าห์แกล้งทำเป็นป่วยแล้วนะนี่ ถ้ารู้ว่าจะถูกฆ่าตายล่ะก็ ฉันน่าจะฆ่าคนให้มากกว่านี่ดีกว่า" ฆาตกรกล่าว
4. Fake
เรื่องนี้ไม่อยากพูดถึงเลย เพราะว่าชอบมาก อยากให้ไปอ่านกันเอง เป็นตอนนึงที่รู้สึกว่าพีคจริงๆ ชอบประโยคที่ว่า
ถ้าเด็กถูกเลี้ยงดูด้วยการทุบตีไม่เข้าใจเหตุผลว่าผู้ใหญ่โกรธเรื่องอะไร เวลาไปเข้าโรงเรียนหรือสังคม บางครั้งพอเจอเรื่องอะไรไม่ดี เด็กเหล่านั้นจะเกิดความคิดว่า ใช้วิธีทุบตีเอาก็ได้
กับประโยค
"อย่าว่าแม่เรานะ"
5. Judgement
พวกเขาฆ่าน้องสาวของคุณ ปล่อยให้น้องสาวของคุณอดตาย ปล่อยให้น้องสาวของคุณนอนป่วย พวกเขาจับน้องสาวคุณลงถุงขยะและปล่อยให้ตายในนั้น
คุณอายุ 10 ขวบ
น้องสาวคุณล่ะ 5 ขวบ
พวกเขาล่ะ แม่แท้ๆของคุณกับพ่อเลี้ยงของคุณ
สังคมกำลังประนามคุณที่จะแก้แค้นแม่แท้ๆของตัวเอง
"ความกังวลใจที่จะถูกทอดทิ้งมีมากกว่าความกลัวว่าจะถูกทารุณ"
ตอนนี้เป็นตอนที่เราชอบมากที่สุดในเล่มค่ะ และลุ้นมากที่สุด หวังมากที่สุด ขอร้องล่ะ ฮะยะโตะเพิ่งสิบขวบเองนะ ใครก็ได้มาพาเขาไปจากที่นี่ที
เราชอบเล่มนี้เพราะว่า มันสื่อสารได้ดี ตั้งคำถามกับคนอ่านได้ครบถ้วนในหลายๆประเด็น เล่นประเด็นที่กฏหมายจริงๆไม่ครอบคลุม เช่น ผู้เยาว์ คนวิกลจริต หรือประเด็นขัดแย้งอย่างครอบครัว
ไม่ว่าคนอ่านจะสนับสนุนความคิดนี้หรือไม่ หรือบางทีคุณอาจจะเป็นเพียงคนในสังคมที่โกรธแค้นคนหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ก็ตั้งคำถามกับคุณแล้วว่าเราควรทำอะไรกันแน่ คดีทุกคดีก็ดูเกิดขึ้นได้จริงทั้งนั้นเลย
ถ้าหากเขาไม่ได้ผิดจริงล่ะ ชีวิตเขาก็เอากลับคืนมาไม่ได้
ถ้าเขาไม่สำนึกเลยล่ะ จะปล่อยมันไปรึไง คนที่เรารักทั้งคนนะ
ไม่ว่าคุณจะตอบคำถามว่ายังไง เล่มนี้ก็น่าอ่านค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in