เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
NCTmentary: Theory #1midnightcharme
Breakdown The Mental: NCTmentary #1
  •                   NCT (n.)  name stands for the Neo Culture Technology,  describe the group's concept of having an unlimited number of members divided into multiple sub-units based in various cities worldwide.

          เอนซีทีได้ปล่อยวิดิโอจำนวน 5 ตัว แต่ละตัวความยาว 4-5 นาทีโดยประมาณเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2018 ที่ผ่านมา เนื้อหาบอกเล่าถึงที่มาและความคลุมเครือของทฤษฎีและเรื่องราวความเป็นมาของ Dream Lab จากหลายบทวิเคราะห์ของแฟนคลับหลายคนเชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็น metaphor (อุปมา) อย่างหนึ่งซึ่งพยายามสื่อสารอะไรบางอย่างเกี่ยวกับความฝัน

          ในบทวิเคราะห์นี้ผู้เขียนจะลองใช้ความรู้ที่เคยได้เรียนมาในระยะสั้นเกี่ยวกับการตีความและเปรียบเทียบวรรณกรรมโดยใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์มาตีความควบคู่ไปกับเส้นเรื่องและเนื้อหาทั้งหมดของทีเซอร์ทั้ง 5 ตัวที่ถูกปล่อยออกมา 

          Disclaimer: 

    - ใช้วิจารณญาณในการอ่านและโปรดคำนึงไว้เสมอว่าเป็นเพียงการวิเคราะห์ในมุมของผู้เขียนเท่านั้น 

    - ผู้เขียนมิได้ศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาและอักษรศาสตร์โดยตรงหากมีข้อมูลผิดพลาดหรือประสงค์ให้แก้ไขสามารถติดต่อได้ที่ทวิตเตอร์ (@Lera1441)

    - มีการสปอยล์เนื้อหาของทีเซอร์ทั้งหมดและภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้อง จะทำตัวสีแดงกำกับเอาไว้หากเป็นสปอยล์

     

                             

           #1 จุดเริ่มต้น: บทกลอน A Dream Within A Dream ของ Edgar Allan Poe ที่แจฮยอนได้ท่องให้ฟังหน้าตู้เครื่องซักผ้า

        

        ในวิดิโอแจฮยอนกำลังรอให้ผ้าซักเสร็จและหยิบหนังสือเล่มเก่าเล่มหนึ่งออกมาอ่านเพื่อรอเวลา เปิดไปในหน้าบทกลอนบทหนึ่งที่ชื่อว่า A Dream Within A Dream by Edgar Allan Poe (Edgar Allan Poe, เป็นนักกวีชื่อดังชาวอเมริกันคนหนึ่งมีชื่อเสียงในช่วงยุคศตวรรษที่ 19 ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนที่เริ่มจุดประกายแรกให้กับนิยายสืบสวนสอบสวนในยุคแรกเริ่ม)

         เนื้อหาในท่อนแรกของบทกลอน: 

    Take this kiss upon the brow!
    And, in parting from you now,
    Thus much let me avow —
    You are not wrong, who deem
    That my days have been a dream;
    Yet if hope has flown away
    In a night, or in a day,
    In a vision, or in none,
    Is it therefore the less gone?  
    All that we see or seem
    Is but a dream within a dream.

        เนื้อหาในส่วนแรกบทวิเคราะห์หนึ่งของเว็บ Owlcation ได้อธิบายถึงว่าผู้พูดกำลังอยู่ในช่วงของการจากลา อนุมานได้ว่าเป็นการจากลาจากคนรักและเขาก็กล่าวต่อไปว่าการจากลาคงจะไม่มีค่าอะไรเพราะทั้งหมดนี้คงจะเป็นเพียงแค่ความฝันของคนคนหนึ่งเท่านั้น ตัวอักษรสีดำหนาคือบทที่แจฮยอนพูดออกเสียงให้เราได้ฟังกันในวิดิโอเป็นเนื้อหาหลักของบทนี้ โดยเฉพาะช่วงที่ขีดเส้นใต้เอาไว้  

    'All that we see or seem is but a dream within a dream.'


        หากผู้อ่านได้ดูทีเซอร์ทั้งหมด 5 ตัวก็จะสามารถนึกขึ้นได้ว่าในประโยคนี้มีประโยคคีย์เวิร์ดที่ถูกกล่าวขึ้นมาในทุก ๆ วิดิโอ แปลเป็นภาษาไทยสั้น ๆ ได้ว่า 'ฝันซ้อนฝัน' หากความฝันเป็นความฝันที่ไม่ใช่เพียงความฝัน แต่เป็นความฝันในความฝัน ประโยคนี้หมายถึงอะไรกันแน่ ?

         ขอยกทฤษฎี Mirror Stage ของลากองต์นักจิตวิเคราะห์ชาวฝรั่งเศสขึ้นมาอธิบายปูพื้นฐานของผู้อ่านก่อนที่เราจะเข้าสู่ทฤษฎีต่อไป ในทฤษฎี Mirror Stage นั้นเป็นทฤษฎีที่อธิบายว่าทำไมเราถึงมองเราเป็นเรา คิดว่าตัวเราเป็นตัวเรา ตัวเราเป็นปัจเจกแยกห่างจากธรรมชาติ โดยลากองต์ได้ใช้ตัวอย่างเป็นเด็กทารกอายุราว 6 เดือนขึ้นไปไม่เกิน 18 เดือน ทฤษฎีได้บอกว่าเด็กทารกในอายุช่วงนั้นมิได้ตระหนักรู้ว่าตัวเองมีตัวตนเป็นบุคคล (individual) คือ เด็กทารกนั้นคิดว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งกับทุกสรรพสิ่งรอบตัวของตัวเอง ไม่ได้มีรูปร่างแน่นอน แต่สิ่งที่มาพรากความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสรรพสิ่งนั้นไปคือ ณ ตอนที่เด็กเห็นตัวเองในกระจก ขณะที่เด็กเห็นตัวเองในกระจกเด็กจะเริ่มมองเห็น identity ของตัวเอง และสร้าง figure ของตัวเองว่าตนเองเป็น object อย่างหนึ่งที่ดวงตาสามารถมองเห็นได้ 

         การตระหนักรู้เช่นนั้นพรากอะไรไป? ตามทฤษฎีดังกล่าวเชื่อว่าก่อนที่เด็กจะตระหนักรู้ถึง identity ของตัวเองเด็กจะอยู่ในสภาวะเต็มเปี่ยมที่มีมาตั้งแต่ในท้องของแม่ (jouissance) เมื่อเด็กเข้าสู่โลกที่มีภาษาและสังคม (symbolic) โลกนั้นได้พรากสภาวะเต็มเปี่ยมของเด็กไปและเด็กก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่ต้องใช้ภาษาเพื่อที่จะอยู่สังคมได้ (คล้ายกับการที่โยนตัวเองเข้าไปอยู่ในกรอบของสังคม)


         ทฤษฎีต่อมาที่เกี่ยวเนื่องกันกับ Mirror Stage คือทฤษฎีบุคคลิกภาพ Id(อิด), Ego(อีโก้), Super Ego(ซูเปอร์อีโก้) ของซิกมันต์ ฟรอยด์นักจิตวิเคราะห์ชาวออสเตรียที่เป็นต้นแบบของนักจิตวิเคราะห์ยุคแรกเริ่ม ทฤษฎีที่น่าสนใจที่สุดอย่างหนึ่งของฟรอยด์คือการบำบัดจิตผ่านความฝันของคนไข้ โดยสภาวะอันเต็มเปี่ยมของลากองต์นั้นสอดคล้องกันกับสภาวะจิต Id ของฟรอยด์ ซึ่ง Id นี้เป็นสภาวะจิตที่เป็น Unconscious ไม่สามารถควบคุมความคิดได้คิดจะทำอะไรก็ทำตามอย่างต้องการโดยใช้ความสุขของตนเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งทารกมี Id สูงมากและเมื่อโตขึ้นในระยะต่อๆมา Id จะถูกทับด้วย Ego ที่จะเข้ามาควบคุมการกระทำของ Id ทำให้เวลาที่คนคนหนึ่งทำอะไรหากมีแต่ Id การกระทำของเขาจะไม่สมเหตุสมผลแต่เมื่อมี Ego แล้ว Ego จะเป็นส่วน Conscious เข้ามากรองการกระทำของ Id ราวกับที่กรองกากกาแฟทำให้การกระทำของเราสมเหตุสมผลมากขึ้น 


         ซึ่งลากองต์นั้นเชื่อว่าบุคคลที่มีสุขภาพจิตไม่ดีนั้นภาพที่สะท้อนในดวงตาของเขานั้นต่างกับคนอื่นในสังคมทำให้เขาไม่สามารถอยู่ในสังคมปกติได้ วิธีนี้จะเข้ามาช่วยปรับสภาวะจิตของบุคคลนั้นให้เข้าที่และสามารถทำอะไรสมเหตุสมผลได้เหมือนกับคนอื่น 

         สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเกี่ยวอะไรกับ ความฝัน บทกลอนของ Edgar Allan Poe และสิ่งที่ NCTmentary กำลังจะบอก ? 

         ฟรอยด์มีความเชื่อว่า Id เป็นสิ่งที่มักโผล่ขึ้นมาในความฝันของคนเรา ซึ่ง Id เต็มไปด้วยสัญชาตญาณ กิเลส ความต้องการ แรงผลักดัน สิ่งเหล่านี้จะประกอบเป็นรูปร่างหากความฝันคือผ้าใบ Id ภายใต้จิตของเราคือสีที่จะเติมแต่งความฝันของเรา ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบของความชัดเจนหรือความหมายแฝง และทฤษฎีของลากองต์เชื่อว่าสิ่งที่ดวงตาของเราเห็นเป็นสิ่งที่สมองนั้นหลอกให้เราคิดเท่านั้น (เกิดจาก Mirror Stage) เพื่อสร้าง identity ให้อยู่ในสังคมได้ต่อไปซึ่งร่างจริงของเราจะเคยอยู่ในรูปแบบของสภาวะเต็มเปี่ยม (ที่ถูกพรากไปขณะเรายังเป็นทารกอยู่) 

         จากบทกลอนของ Edgar จึงสรุปได้ว่าผู้พูดนั้นมีความคิดอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีข้างตน ผู้พูดนั้นกำลังกล่าวว่าตนกำลังอยู่ในโลกแห่งความฝันที่กำลังฝันอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าเป็นเพียงภาพลวงตาที่ความฝันสร้างเท่านั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าขณะนี้ เวลานี้ ที่เรากำลังอยู่อยู่ตอนนี้ เราไม่ได้ฝันจากที่ไหนอยู่? ความคิดดังกล่าวนี้เป็นการตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของมนุษย์ว่าเรากำลังอยู่ภายใต้การสร้างภาพลวงตาจากใครอยู่รึเปล่าซึ่งสอดคล้องกับการมีอยู่ของสภาวะ Id ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในจิตของมนุษย์

        หากโลกนี้คือความฝัน NCT ใน NCTmentary เอนซีทีทุกคนก็น่าจะอยู่ในช่วงที่สภาวะจิตกำลังสร้างภาพเหล่านั้นขึ้นมา นั่นก็หมายถึงว่าเอนซีทีทุกคนกำลังฝัน ภาพที่ทุกคนหลับในวิดิโออาจจะไม่ใช่เพียงแค่การหลับฝันหนึ่งต่อธรรมดาแต่เป็นการฝันซ้อนฝัน (Dream Within A Dream) อีกที

    #2 จุดที่สอง: Metronome, เสียงหายใจและก้อนหินสื่อสาร 


            ถ้าหากได้ลองสังเกตฉากที่เจโน่เล่นมายากลให้แฮชานดู/ห้องที่จีซองกับเจโน่หลับจะมีเครื่อง Metronome หรือเครื่องกำกับจังหวะวางอยู่บนหัวเตียง เครื่อง Metronome เป็นเครื่องที่มีไว้สำหรับผู้ที่เล่นดนตรีเช่นกีต้าร์หรือเปียโนใช้เพื่อกำกับจังหวะการเล่น และเครื่อง Metronome นี้ก็ถูกใช้ในหนังเรื่อง Sucker Punch ของผู้กำกับ Zack Snyder เช่นกัน 



         สปอยล์เนื้อหาของหนัง: 

         Sucker Punch เป็นเรื่องราวของเด็กสาวชื่อ Babydoll ที่ถูกพ่อเลี้ยงจับไปอยู่ในสถานบำบัดจิตแห่งหนึ่ง ซึ่ง Babydoll ได้เจอกับเจ้าของคณะนางโชว์ในนั้นและสุดท้ายก็ต้องเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนางโชว์ โดยฉากหลักของเรื่องจะเป็นฉากที่ Babydoll เริ่มซ้อมเต้นและหลับตาลง จิตของเธอจะไปสู่อีกมิติหนึ่งซึ่งเป็นมิติเหนือจริง เช่น ต่อสู้กับปีศาจซามูไร หรือ ต่อสู้กับเหล่ากองทัพเยอรมัน ในตอนท้ายของเรื่องคนดูถูกเฉลยว่าแท้จริงแล้ว Babydoll ไม่ได้อยู่ในคณะนางโชว์ ทุกอย่างไม่มีจริง เป็นเรื่องที่สมองอันไม่ปกติของ Babydoll ล้วนสร้างขึ้นมาจึงกล่าวได้ว่า Babydoll นั้นอยู่ในฝันซ้อนฝันอีกทีนั่นเอง

          Metronome อาจเป็นสัญญะของการที่มีผู้ควบคุมอยู่เบื้องหลัง ความฝันของเอนซีทีที่ฝันอยู่ตอนนี้อาจอยู่ภายใต้การควบคุมของใครคนใดคนหนึ่งอยู่


        จะเป็นไปได้หรือไม่ว่ามีความเกี่ยวข้องกับเอ็มวี Without You ที่ประกอบไปด้วยแทอิล แจฮยอน และโดยอง ที่มีภาพซ้อนเป็นฉากคล้ายกับโรงพยาบาลและสายน้ำเกลือ 


          ในเอ็มวีเพลง Without You แทอิลมี Flashback กับหญิงสาวที่เป็นแฟนของโดยองราวกับว่าเขารู้จักเธอที่ไหนมาก่อนแต่ก็จำไม่ได้ จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าฉากหลักของเอ็มวี Without You ก็เป็นโลกในความฝันเช่นกันเพราะในตอนต้นของเอ็มวีแจฮยอนก็มีฉากที่กำลังหลับฝันอยู่ สิ่งที่ทำให้แทอิล โดยอง แจฮยอนมาอยู่ด้วยกันในมิตินี้อาจเป็นเพราะว่ามีความทรงจำที่ Synchronized กัน 


         ข้อสังเกตต่อมาคือเสียงหายใจ ใน NCTmentary มีเสียงหายใจที่ไม่ใช่เสียงหายใจของคนปกติ(เสียงเหมือนเครื่องช่วยหายใจ)  คลออยู่เรื่อย ๆ สังเกตเห็นได้ชัดตอนที่ narrator กำลังบรรยายว่าลูคัสกำลังเข้าสู่ความฝันส่วนลึกอยู่ (อาจหมายถึงเข้าไปในมิติ Boss เพราะหน้าเจอขึ้นว่า Boss) เสียงหายใจที่ว่านั้นเป็นเสียงหายใจที่ดังและสั้นกระชับอยู่พอสมควร
         
         กราฟวัดระดับต่าง ๆ ที่เห็นได้ภายในวิดิโอ ยกตัวอย่างเช่น กราฟ Wake-Sleep ล้วนเป็นกราฟที่เกิดจากการแสดงผลผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร ์(epoch) การวัดระดับต้องผ่านสายที่ติดตามตัวจะเป็นไปได้ไหมว่าฉากโรงพยาบาลในเอ็มวี Without You เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ 


         ข้อสังเกตต่อมาคือข้อความ 'WAKE ME UP' (ปลุกฉันที) ที่สลักไว้บนก้อนหินปรากฎในทั้ง NCTmentary และในเอ็มวี Limitless เวอร์ชั่นญี่ปุ่น 


           ข้อความบนก้อนหินใครเป็นคนเขียนและใครเป็นคนอ่าน? (ในเอ็มวี Limitless มือปริศนาหยิบก้อนหินขึ้นมาไม่ใช่หยิบวางลง) ทำไมถึงจะต้องขอร้องให้ปลุก? ทำไมถึงไม่เขียนใส่กระดาษทำไมต้องเขียนใส่ก้อนหิน? ธรรมชาติของการเขียนสื่อสารธรรมดาคงจะเขียนใส่กระดาษ ในมิติ(ทุก ๆ เอ็มวี)ก็เห็นว่ามีกระดาษให้เขียน การเขียนลงบนก้อนหินอาจมีนัยยะบางอย่างให้คนรับสารอาจเป็นวิธีส่ง หรือ แค่ไม่อยากให้ข้อความนั่นหายไป หรือ อยากใช้ข้อความดังกล่าวเตือนใครบางคนที่อาจลืมว่าตัวเองจะต้องตื่น หรือ อาจเป็นข้อความที่อยากสื่อสารกับคนที่กำลังควบคุมอยู่ที่ไหนซักแห่ง

           ถ้าหากสิ่งเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกัน เอนซีทีทุกคนน่าจะอยู่ในช่วงระยะ unconscious (หรือโคม่า) ในโรงพยาบาลหรือสถานที่แห่งไหนซักที ติดอยู่ในห้วงแห่งความฝันและ(อาจ)ไม่สามารถที่จะตื่นขึ้นมาได้ในระยะเวลาดังกล่าว 

    #3 จุดที่สาม: เรื่องเล่าของยูตะและ Dream In A Dream 


         ช่วงต้นของ EP.4 ยูตะเล่าเรื่องความฝันของตัวเองว่าเจอดวงตาดวงใหญ่ปรากฎขึ้นมาตรงหน้า ยูตะจ้องมองกลับไป แล้วดวงตาดวงนั้นก็เต็มไปด้วยกลีบดอกไม้ มองแล้วรู้สึกผ่อนคลายหลังจากนั้นก็รู้สึกว่าไม่อยากให้ความฝันนั้นจบไป

         หากพูดถึงดวงตาก็น่าจะนึกถึง The Vision ที่เป็นรูปวาดในตอนท้ายของ NCTmentary ตอนที่ยูตะพูดก็มีรูปวาดดวงตาดวงใหญ่โผล่มาเหมือนกันแต่ดวงตาดวงนั้นไม่แน่ใจว่าใช่ดวงตาที่ยูตะพูดถึงหรือเปล่าเพราะว่าไม่ได้มีกลีบดอกไม้อย่างที่ยูตะบอก 

         ถ้ากลีบดอกไม้ในดวงตาดวงนั้นไม่ใช่อุปมาอุปไมยของความฝัน ก็มีวงกลมที่มีลักษณะคล้ายดวงตาอีกดวงหนึ่งเหมือนกับที่ยูตะเล่าทุกอย่างอยู่ในเอ็มวี Dream In A Dream ของเตนล์ 


          เป็นไปได้รึเปล่าว่าวงกลมวงนี้จะเกี่ยวข้องกับ The Vision เตนล์ในเอ็มวี Dream In A Dream อาจเป็นคำอธิบายของการมีอยู่ของ The Vision ก็เป็นได้ 

          เพิ่มเติมสำหรับสิ่งที่น่าจับตามองในเอ็มวี Dream In A Dream ของเตนล์ก็คือ เสลี่ยงโบราณ ฉากหลัง และกลีบดอกไม้

        เสลี่ยงแบบที่เตนล์นั่งอยู่นั่นผู้เขียนไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นเสลี่ยงของประเทศอะไร แต่ในเอ็มวีเพลง Chain (Chain Reaction หนึ่งปรากฎการณ์ในความฝันที่ถูกพูดถึงใน NCTmentary ตอนอยู่ในความฝันของเตนล์) เสลี่ยงเป็นเสลี่ยงแบบเกาหลีไม่ใช่ของญี่ปุ่น 
    เสลี่ยงของจีน
    เสลี่ยงของญี่ปุ่น
    เสลี่ยงของเกาหลี (แบบในเอ็มวีเพลง Chain)

         ในครั้งแรกเราตีความเสลี่ยงเป็นความหมายเชิงทางการทูตมากกว่าว่าจะเป็นนัยยะอะไรเกี่ยวกับมิติความฝันของเอนซีที ในทำนองที่ว่าสมัยก่อนถ้าอยากจะผูกสัมพันธไมตรีทางการทูตย่อมใช้เสลี่ยง หากหลีกไปใช้ยานพาหนะแบบอื่นอาจถูกตีความไปในแง่อื่นได้ เสลี่ยงโบราณน่าจะดูเป็นทางการและจริงใจมากที่สุด แต่ในตอนนี้เมื่อผูกเรื่องเข้ากับเส้นทางหลักของเอนซีที ก็อาจเป็นไปได้ว่าเสลี่ยงน่าจะมีความหมายอะไรมากกว่านั้น 

    ฉากหลังที่เป็นหลังคาโบราณของทั้งสองเอ็มวี

        ในเอ็มวีเพลง Chain ยังมีส่วนที่คล้ายคลึงกันกับทีเซอร์ 7th Sense ของวินวิน


         ดอกไม้ใส่แจกันบนแท่นบูชาของวินวินดูคล้ายกันกับดอกไม้ในแจกันของเตนล์ (แต่ดูแล้วเป็นดอกไม้คนละชนิดอย่างสิ้นเชิง อาจไม่มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด)

        

        ในเอ็มวีของเตนล์บางคนว่าดอกไม้ในตอนท้ายเป็นดอกซากุระซึ่งดูแล้วไม่แน่ชัดว่าใช่หรือไม่แต่คิดว่าน่าจะเป็นกลีบของดอกกุหลาบมากกว่าแต่เป็นเงาสีขาวของดอกกุหลาบ


        ใน NCTmentary ก็มีนัยยะสำคัญเกี่ยวกับดอกกุหลาบเช่นกัน เป็นตอนที่ยูตะเล่าถึงดวงตาที่เต็มไปด้วยดอกไม้ จุดนี้อาจเสริมความเป็นไปได้เรื่องดวงตาในเอ็มวีของเตนล์ที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นของหัวข้อนี้ 

        

        อาจเป็นไปได้หรือเปล่าว่าภาพที่เราเห็นใน Dream In A Dream นั้นจะเป็นภาพของสัมผัส(sense)ที่เชื่อมโยงกับ The Vision เตนล์ในเอ็มวี Dream In A Dream อาจเป็นอีกคาแรคเตอร์หนึ่งที่เป็นคนละคนกับเตนล์ที่เป็นสมาชิกเอ็นซีที Dream In A Dream ความเป็นไปได้นั้นเป็นได้ทั้งภาพ Illusion ในความฝันและเป็นร่างของสัมผัสที่เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในเส้นเรื่องนี้ 

         

    #4 จุดที่สี่: ถุงน้ำของมาร์คและสมาชิกใหม่ทั้งสามคน 

        ในช่วงของ EP.2 มาร์คมีถุงใส่น้ำ 2 ถุงแต่สุดท้ายก็โยนลงพื้นไป ความหมายของน้ำในทาง Literature ให้ความหมายได้หลายอย่างมาขึ้นอยู่กับว่าน้ำนั้นคืออะไร หากน้ำเป็นแม่น้ำอาจหมายถึงช่วงเวลาที่ไม่มีวันไหลย้อนกลับ หากเป็นคลื่นทะเลอาจหมายถึงเสียงที่ไม่มีวันหายไปเพราะทะเลกับคลื่นกระทบฝั่งตลอดเวลา แต่น้ำในถุงพลาสติกของมาร์คเป็นน้ำปริศนาไม่รู้ที่มา น้ำ ในความหมายที่แยกออกจากแม่น้ำและทะเลอาจหมายถึงชีวิต โยนน้ำลงดิน=เกิดชีวิตใหม่ 

         ประกอบกับจริงๆแล้วถ้าสังเกตดูจริงๆมาร์คมีถุงน้ำมากกว่า 2 ถุง คือ 3 ถุง 2 ถุงทิ้งที่ธงสีดำอีกถุงทิ้งจากต้นไม้ (หากผิดขออภัย)

        ชื่อคลิปแนะนำของทั้งหยางหยาง เฮนเดอรี่ และเสี่ยวจวิ้นมี Title ว่า Re-born (การเกิดใหม่) 

        

         ถุงใส่น้ำ 3 อันอาจเป็นอุปมาอุปไมยของการเกิดใหม่ของ 3 คนนี้ก็เป็นได้ ในบทสัมภาษณ์อาจไม่ใช่แค่ Clue ในการทำความรู้จักตัวตนของ 3 คนนี้ อาจเป็น Clue ไปยังเส้นเรื่องหลักของเอ็นซีทีอีกด้วย ในคำตอบที่ไร้คำถามมีคำตอบเกี่ยวกับดอกไม้และสัมผัส (sense) 

    #5 จุดที่ห้า: เทป

        เทปคาสเซ็ตต์น่าจะปรากฎใน NCTmentary เยอะและบ่อยที่สุดไม่แน่ใจว่าเป็นการบันทึกเสียงของผู้พากย์(เสียงของผู้ชายฝรั่ง) หรือเป็นการบันทึกเสียงของอะไรกันแน่ แต่ที่มั่นใจคือมันปรากฎทั้งในเอ็มวี Switch และเอ็มวี Regular ทั้งสอง Version

        เทปคาสเซ็ตต์ที่ว่าน่าจะปรากฎอยู่ในเอ็มวีมากกว่าสองตัวนี้แต่ทางผู้เขียนยังไม่ได้เก็บรายละเอียดไปถึงตรงนั้นและไม่แน่ใจว่ามันหมายถึงอะไรกันแน่ 

         ในตอนต้นของ NCTmentary มีคำอธิบายว่าเอนซีทีผูกพันกันด้วย Empathy และมาเจอกันได้ด้วย Music เทปคาสเซ็ตต์ที่มักจะเอาไว้บันทึกเพลงอาจเป็นการ 'เรียกรวมกลุ่ม' ก็ได้

         ทั้งนี้ยังมีอะไรมากมายที่วิเคราะห์ทิ้งไว้แต่ไม่สามารถเขียนลงไปหมดในตอนนี้ได้เพราะยังเรียบเรียงสิ่งที่จะสื่อได้ไม่ครบถ้วน:

    • บ้านที่พังในฝันของเตนล์อาจหมายถึง Mental Breakdown
    • การล้อเลียนภาพวาด God กับ Adam ของเหรินจวิ้นและเฉินเล่อ
    • รูปปั้นเทพแห่งการหลับ Hypnos
    • แสงสีชมพูใน Dream In A Dream, Chewing Gum และ GO 
    • ทะเลของวินวินกับทีเซอร์ The Origin และ 7th Sense 
    • บันไดวนใน Boss และ Limitless กับฝันประหลาดของคุน
    • บทบาทของแต่ละคนในความฝัน
    • คำพูดของคนพากย์และมาร์คในตอนท้าย
          etc.

         

         'Met through dreams that are wider and deeper than the universe.' - Mark


         เมื่อคิดถึงคำว่าไม่สิ้นสุดมักจะนึกถึง 'จักรวาล' แต่เอ็นซีทีคิดลึกมากไปกว่านั้น เอ็นซีทีคิดไปถึงการ 'ฝัน' ที่อะไรก็สามารถเป็นไปได้ สิ่งนี้แสดงถึงจุดมุ่งหมายที่เอ็นซีทีไม่ได้หวังเพียงแต่อนาคตระยะปีสิบปีเท่านั้นแต่หวังว่าจะเป็น eternity ของโลกแห่งความฝันซึ่งตีความได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมดนตรี เอ็นซีทีไม่ได้หวังแค่ว่าจะอยู่ชั่วคราวแต่หวังว่าจะอยู่ตลอดไปตราบนานเท่านานเหมือนความฝันที่กว้างใหญ่กว่าจักรวาล ไม่มีขีดจำกัด และไร้ที่สิ้นสุด 


    Talk: 

    อมก ดูดพลังมาก 



























            



          

            

         

         

         



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in