คอนเสิร์ตที่ข้าพเจ้าจะมาทำการวิจารณ์ในครั้งนี้คือ Royal Concert - L’essence Féminine de La Musique คือคอนเสิร์ตของวง Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO) ซึ่งถูกจัดขึ้นในวันที่ 9 มกราคม 2568
ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น Hall Concert ประจำของวง RBSO
โดยสภาพภายในของหอประชุมใหญ่จะมีลักษณะเป็น Hall Concert มาตรฐานขนาดใหญ่ มีที่นั่งสามชั้น โดยทั่วไปในคอนเสิร์ตปกติของ RBSO จะมีการเปิดที่นั่งเพียงแค่ชั้นแรกเท่านั้น โดยสำหรับคอนเสิร์ตนี้ที่นั่งในหอประชุมถูกแบ่งเป็นทั้งหมด 5 โซนไล่กันไปตามราคาตั้งแต่ 600 จนถึง 3000 บาท โดยข้าพเจ้าได้เลือกที่นั่งบริเวณโซนกลางค่อนบนราคา 1000 บาทและใช้ส่วนลดนักศึกษาเพื่อลดราคา 50% ทำให้ซื้อตั๋วมาได้ในราคา 500 กว่าๆเท่านั้นซึ่งนับว่าเป็นราคาที่คุ้มค่าอย่างมาก
โดยวง Royal Bangkok Symphony Orchestra หรือ RBSO เป็นวงออร์เคสตร้าระดับแนวหน้าของประเทศไทยซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 โดยแต่เดิมใช้ชื่อว่า Bangkok Symphony Orchestra เท่านั้น โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา RBSO เปรียบเสมือนศูนย์รวมของนักดนตรีคลาสสิกมากฝีมือของประเทศไทย และมีโอกาสได้ร่วมงานกับคอนดักเตอร์และนักดนตรีระดับโลกมากมาย
ด้วยความที่เป็นวงการจัดคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกอย่างบ่อยครั้งที่สุดวงหนึ่ง รวมถึงจัดแสดงอยู่ไม่ไกลเท่า Thailand Philharmonic คอนเสิร์ตของวง RBSO จึงเป็นคอนเสิร์ตที่ข้าพเจ้าเลือกรับชมอยู่บ่อยครั้งเมื่อต้องการฟังดนตรีออร์เคสตร้าสด
โดยคอนเสิร์ตในครั้งนี้นอกจากวง RBSO แล้วยังมีแขกรับเชิญเป็นคอนดักเจอรตและนักดนตรีผู้มีชื่อเสียงระดับโลกอีกสองท่านได้แก่
Katharina Wincor
คอนดักเตอร์หญิงผู้มีผลงานโดดเด่นในระดับนานาชาติ ผู้เคยกำกับวงออร์เคสตร้าที่มีชื่อเสียงมามากมาย เคยได้รับรางวัล Neeme Järvi และรางวัลอันดับที่สามจาก Mahler Competition ปี 2020
และ
Anna Fedorova
Soloist นักเปียโนหญิงเชื้อสายยูเครนผู้ได้รับการยอมรับในระดับโลก เจ้าของบันทึกการแสดงเพลง Rachmaninoff - Piano Concerto no. 2 ซึ่งมียอดเข้าชมกว่า 35 ล้านวิวบนยูทูปซึ่งนับเป็นคลิปการแสดงคอนแชร์โตที่มียอดเข้าชมสูงที่สุดในแพลตฟอร์มดังกล่าว
โดยโปรแกรมการแสดงมีดังนี้
เปียโนคอนแชร์โตอันโดดเด่นชิ้นนี้เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของ Pyotr Illych Tchaikovsky คีตกวีชาวรัสเซียผู้เป็นที่รักของเหล่านักฟังดนตรีคลาสสิก โดย Tchaikovsky ได้ประพันธ์ผลงานชิ้นนี้ขึ้นในระหว่างปี 1874 - 1875 และได้ถูกนำออกแสดงครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาโดยมี Hans von Bülow นักเปียโนผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้นรับหน้าที่เป็น Soloist ซึ่งการแสดงครั้งดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับในแง่บวกอย่างล้มหลามจนส่งผลให้เปียโนคอนแชร์โตบทนี้มีชื่อเสี่ยงมาถึงปัจจุบัน
ถึงแม้การแสดงครั้งแรกครั้งแรกจะเริ่มต้นด้วยความสำเร็จ แต่ก่อนที่คอนแชร์โตอันไพเราะนี้จะได้ออกสู่สายตาผู้ชม ผลงานชิ้นนี้เคยถูกตำหนิและวิจารณ์อย่างรุนแรงมาก่อนเมื่อ Tchaikovsky ได้นำผลงานที่พึ่งประพันธ์เสร็จไปแสดงให้แก่ Nikolai Rubinstein เพื่อนนักดนตรีร่วมวงการที่แต่เดิมเขาต้องการตัวมาเป็น Soloist ให้ผลงานชิ้นนี้ฟัง แต่ทว่า Rubinstein กลับวิจารณ์ผลงานคอนแชร์โตชิ้นนี้ของ Tchaikovsky ในแง่ลบทั้งทางเชิงเทคนิค การเขียนพาร์ทเปียโนที่ไม่มีคุณภาพ และอื่นๆอีกมากมายอีกทั้งแนะนำให้ Tchaikovsky ไปปรับปรุงผลงานมาเสีย ซึ่งทำให้ Tchaikovsky ผู้โกรธเคืองและเสียใจจากคำวิจารณ์ดังกล่าว ยืนยันกับ Rubinstein ว่าเขาจะไม่แก้ไขเปียโนคอนแชร์โตฉบับนี้และจะส่งมันไปตีพิมพ์อย่างที่มันควรเป็น
ถึงแม้จะผ่านการวิจารณ์อย่างร้ายแรงมา แต่ความกล้าที่จะลองในสิ่งที่แปลกใหม่และความยึดมั่นในแนวทางของตนเองของ Tchaikovsky ก็ได้ทำให้เปียโนคอนแชร์โตหมายเลข 1 ได้กลายเป็นหนึ่งในคอนแชร์โตที่มีชื่อเสียงเป็นที่จดจำตลอดกาลทั้งในและนอกวงการดนตรีคลาสสิก
โดยคอนแชร์โตชิ้นนี้ประกอบไปด้วยทั้งหมด 3 มูฟเมนท์
Mvt.I Allegro ma non troppo e molto maestoso – Allegro con spiritoso
มูฟเมนท์แรกของเพลงที่เปิดด้วยทำนองของพาร์ทออเคสตร้าและเปียโนที่ยิ่งใหญ่ หรูหรา และน่าจดจำ ตัดสลับกับอีกท่อนที่นำธีมหลักไปเล่นในอีกรูปแบบที่เพิ่มสีสันที่มืดหม่นและตึงเครียด ชวนให้สงสัยถึงความรู้สึกของผู้ประพันธ์ขณะกำลังเขียนบทเพลงนี้ขึ้น
Mvt. II Andantino semplice – Prestissimo – Tempo I
มูฟเมนท์ที่สองของเพลงที่ให้ความรู้สึกอ่อนหวาน สวยงามแฝงด้วยความเศร้าสร้อย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงเอกลักษณ์ของตัดสลับระหว่างอารมณ์ที่ขัดแย้งกันเหมือนในมูฟเมนท์แรกโดยการใส่พาร์ทที่มีทำนองฟังดูเร็วและสดใสซึ่งขัดกับความเชื่องช้าอ่อนหวานของธีมที่เปิดขึ้นมาในช่วงต้น
Mvt.III Allegro con fuoco – Molto meno mosso – Allegro vivo
มูฟเมนท์สุดท้ายเป็นท่อนที่ให้ความรู้สึกรวดเร็ว กระฉับกระเฉงกว่าท่อนอื่นๆ ตัวดนตรีมีจังหวะเหมือนเพลงเต้นรำหรือเพลงพื้นบ้านของประเทศแถบยุโรปตะวันออก โดยท่อนนี้เมื่อเทียบกับ
ท่อนอื่นๆของเพลงแล้วถือว่ามีความคงที่เชิงอารมณ์ของเพลงกว่ามากถึงจะมีการใช้ท่อนช้าแทรกเข้ามาบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้อารมณ์เพลงพลิกไปอีกทางโดยสิ้นเชิงเหมือนในมูฟเมนท์ที่ 1 หรือ 2
โดยรวมแล้วข้าพเจ้ามองว่าบทประพันธ์นี้เป็นบทประพันธ์ที่มีความน่าสนใจในเชิงอารมณ์ถึงแม้ว่าจะยังไม่ถึงขั้นเป็นหนึ่งในเปียโนคอนแชร์โตที่ข้าพเจ้าชื่นชอบที่สุดก็ตาม การตีความบทเพลงของ Soloist นั้นทำให้ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม และ ชัดเจน ออกไปในทางอ่อนหวาน มากกว่ารุนแรงและทรงพลัง วงออเคสตร้าโดยรวมแล้วตีความบทเพลงและแสดงออกมาได้อย่างดีและเข้ากันกับ Soloist ถึงจะมีบางเครื่องอย่างเช่นในส่วนของเครื่องทองเหลืองที่ควงคุมเสียงเป่าได้ผิดพลาดไปบางจุดแต่ไม่ได้ถึงกับทำลายอรรถรสในการฟัง
Rimsky Korsakov- Scheherazade
เมื่อนึงถึงดนตรีคลาสสิกที่มีการผสมกลิ่นอายความเป็นอาหรับ ผลงานชิ้นนี้คงเป็นผลงานที่ใครหลายๆคนนึงถึงขึ้นมาเป็นชิ้นแรก ด้วยการเรียบเรียงเสียงประสานที่สวยงาม และโทนของดนตรีที่ราวกับพาผู้ชมเข้าไปเดินทางในโลกของนิทานอาหรับราตรีที่ทำให้ผลงานชิ้นนี้สมควรแก่การถูกเรียกว่าผลงานชิ้นเอกของ Nikolai Rimsky- Korsakov คีตกวีชาวรัสเซีย
โดยผลงานชิ้นนี้ถูกประพันธ์ขึ้นในปี 1888 โดยในช่วงก่อนหน้านั้น Rimsky-Korsakov เคยเป็นสมาชิกของกลุ่มนักดนตรีแนวชาตินิยมรัสเซียกลุ่มหนึ่งที่มีชื่อว่า “The Five” กลุ่มนั่งดนตรีกลุ่มนี้มีเป้าหมายสำคัญคือการพยายามค้นหาอัตลักษณ์ความเป็นดนตรีคลาสสิกแบบรัสเซีย โดยมุ่งหวังอยากจะให้รัสเซียมีแนวทางดนตรีของตัวเองโดยไม่ต้องทำตามประเทศตะวันตกอื่นๆดังที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งในสไตล์ดนตรีที่กลุ่ม The Five มักนำมายึดโยงกับแนวคิดของตนเอง คือแนวดนตรีแบบ Orientalism ซึ่งเป็นการนำกลิ่นอายของประเทศในทางตะวันออกมาผสมผสานในดนตรีแบบตะวันตก ซึ่งเป็นแนวดนตรีนี้มีเองที่ส่งอิทธิพลมาถึงแนวทางการประพันธ์ต่อมาของ Rimsky Korsakov และเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดผ่าน Scheherazade ชิ้นนี้ ทั้งจากการนำแรงบันดาลใจมาจากนิทานอาหรับราตรีและการใช้โทนเสียงที่ไม่เหมือนดนตรีตะวันตกทั่วๆไป
นอกจากในเรื่องความโดดเด่นของบทเพลงที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ผลงานชิ้นนี้ยังถือว่าเป็นบทประพันธ์ที่มีความท้าทายต่อนักดนตรีเป็นอย่างมากเนื่องจากมีท่อนเดี่ยวของเครื่องดนตรีต่างๆในวงอยู่จำนานมาก โดยเฉพาะพาร์ทโซโล่ของไวโอลินที่มีการใช้เทคนิคระดับสูงหลายอย่างมาประกอบ แต่ความซับซ้อนเหล่านั้นก็ได้เพิ่มพูนความมีมนต์ขลัง และเสน่ห์ของบทเพลงชิ้นนี้ขึ้นไปมากกว่าเดิม
โดยบทประพันธ์ชิ้นนี้แบ่งออก 4 มูฟเมนท์
I. The Sea and Sinbad's Ship
มูฟเมนท์แรกของบทประพันธ์ที่มีความโอ่อ่า ยิ่งใหญ่ ซึ่งบรรยายภาพของการเดินทางท่ามกลางท้องทะเลของกะลาสีซินแบดที่ออกล่องเรือไปพบกับการผจญภัยมากมาย ซึ่งจุดเด่นที่สุดของมูฟเมนท์นี้คือการใช้ท่วงทำนองของเพลงเพื่อบรรยายภาพของการเดินทางท้องทะเล จังหวะของเพลงซึ่งฟังดูเหมือนคลื่นสาดกระทบกับเรือทำให้ผู้ฟังสามารถจินตนาการทิวทัศน์ที่บทเพลงพยายามจะบรรยายได้อย่างชัดเจน เป็นจุดเริ่มต้นที่สวยงามและหน้าตื่นเต้นของนิทานที่ถูกเล่าผ่านบทเพลงเรื่องนี้
II. The Story of the Kalendar Prince
มูฟเมนท์ที่สองของเพลงซึ่งเริ่มมีการใช้ทำนองดนตรีที่มีความเป็นตะวันออกมากยิ่งขึ้นกว่ามูฟเมนท์ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ถูกกล่าวถึงชัดเจนว่าเรื่องราวที่ผู้ประพันธ์พยายามเล่าในบทนี้ของเพลงเป็นเรื่องราวของตัวละครใด แต่ดนตรีที่ถูกสื่อสารออกมาทำให้ผู้ฟังสามารถสัมผัสได้ถึงการเดินทางผจญภัยของตัวละครในบทเพลงท่อนนี้
III. The Young Prince and the Young Princess
บทเพลงมูฟเมนท์ที่สามที่พาผู้ชมเข้าสู่ฉากโรแมนติกที่อ่อนหวานแต่ก็แฝงด้วยความรุ่นร้อน ทำนองดนตรีในท่อนนี้มีความอ่อนช้อยสวยงามเหมือนกับเพลงเต้นรำที่ผสมผสานกับความชวนฝันผ่านการไล่สเกลโน้ตอย่างรวดเร็วของเครื่องเป่าในบางจุดของเพลง โทนดนตรีนี้เองคือสิ่งที่จะดึงผู้ชมให้จินตนาการถึงฉากบรรยายความรักและการเกี้ยวพาราสีกันของคู่รักในบทนี้
IV. Festival at Baghdad. The Sea. The Ship Breaks against a Cliff Surmounted by a Bronze Horseman
การเดินทางในท้องทะเลจากมูฟเมนท์แรกได้ถูกนำกลับมาใช้งานอีกครั้งในบทสุดท้ายเพื่อทำการปิดจบ โดยในครั้งนี้ภาพการผจญภัยท่ามกลางท้องทะเลได้ถูกเร่งเร้าจนเกิดความน่าระทึกใจกว่าเดิมด้วยทำนองในช่วงต้นท่อนที่มีความรวดเร็ว กระฉับกระเฉง ก่อนที่เมโลดี้ซึ่งบรรยายภาพของเรือที่โคลงเคลงบทผิวน้ำจะถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งเพื่อบรรยายการที่เรือปะทะเลเข้ากับคลื่นและชนหน้าผาจนเรือแตกในที่สุด
มูฟเมนท์ทั้งสี่นี้เองถูกเชื่อมโยงเอาไว้ด้วยโมทีฟของไวโอลินซึ่งรับบทเป็นเสียงเล่านิทานของ Scheherazade หญิงสาวผู้จำต้องเล่านิทานเพื่อเอาตัวรอดจากความตา และเครื่องทองเหลืองซึ่งแทนเสียงและอำนาจอันน่าเกรงขามของสุลต่านผู้สังหารหญิงสาวไปนับไม่ถ้วน
งานประพันธ์ชิ้นนี้นับได้ว่าเป็นบทเพลงที่ข้าพเจ้าชื่นชอบมากที่สุดเพลงหนึ่งในบรรดาดนตรีคลาสสิก และนี่เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสฟังเพลงนี้แบบเล่นสด โดยส่วนตัวข้าพเจ้ามองว่าวงออร์เคสตร้าสามารถบรรเลงเพลงนี้ออกมาได้ดีถึงแม้จะเป็นบทเพลงที่มีความท้าทายสูง ท่อนโซโล่ของเครื่องดนตรีบางท่อนเล่นออกมาได้ดีมากๆโดยเฉพาะกับท่อนโซโล่ของโอโบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่านักดนตรีมีความใส่ใจต่อการตีความอารมณ์ของเพลงและมีความชำนาญในทางเทคนิคเป็นอย่างดี
โดยรวมแล้วข้าพเจ้านับว่าประสบการณ์การฟัง Scheherazade สดครั้งแรกครั้งนี้ถือเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจและคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in