The Hobbit or There Back Again / 1937 / 2012
ตอนสมัยเรียนมัธยมต้น การที่จะซื้อหนังสือวรรณกรรมเล่มละ 200-300 ถือเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสและเกินเอื้อมสำหรับเด็กบ้านนอกแบบเรา แต่ถึงอย่างนั้น เด็กแบบเราก็ไปขวนขวายไปหามาอ่านจนได้
เมื่อนักเขียนสาวนาม J.K. Rowling ได้จุดประกายรักการอ่านให้กับเด็กๆทั่วโลก ด้วยการส่งเด็กแว่นหัวดำนาม "แฮรี่ พอตเตอร์" เข้ามาครองใจเด็กๆ จากที่ตอนพักเที่ยงเคยต้องไปวิ่งเล่นกับเพื่อนหน้าห้อง หรือต้องออกไปเดินเตรดเตร่ทั่วโรงเรียน เลยได้เห็นภาพการนั่งอ่านหนังสือวรรณกรรมเล่มโต และมีเพื่อนๆมุงรอออ่านต่อ.. การอ่านกวรรณกรรมเยาวชนกลายเป็นเรื่องยอดฮิต เพื่อนๆเอาหนังสือวรรณกรรมมาแชร์กันที่โรงเรียน นับเป็นช่วงเวลาการอ่านที่สนุกสนาน จนกระทั่ง หนังเรื่อง The Lord Of The Ring (2001) โด่งดัง ...
นั่นทำให้ฉันได้พบกับหนังสือเรื่อง The Lord Of The Ring วรรณกรรมที่ไม่ค่อยจะเข้าข่าย "เพื่อเยาวชน" สักเท่าไรนักในตอนนั้น มันเล่มหนากว่า วรรณกรรมเยาวชนเรื่องอื่นที่เคยอ่าน และพบว่า ภาษายังไม่ชวนอ่านอีกด้วย เพราะมันช่างดู อืดอาดยืดยาดเนิบนาบ เหลือเกินในตอนนั้น (และในตอนนี้ด้วย ฮ่าๆ)
กระทั่ง The Two towers (2002) เริ่มจะเข้าฉาย ก็ได้พบว่าเพื่อนคนหนึ่งกำลังอ่านหนังสือ "The Hobbit"
เมื่อถามคนที่อ่าน Hobbit ว่า "สนุกกว่า เดอะ ลอร์ด ไหม"
หลายๆครั้ง มักได้ยินคำตอบทำนองว่า "สนุกกว่ามาก"
ตอนนั้น เรื่องราวของ สม็อก และ บิลโบ กลายเป็นเรื่องตลก
เมื่อได้เห็นว่า ตัวละครบิลโบ ดู "ไม่เจ๋ง" เพียงใดใน The Lord Of The Ring และยิ่งไม่เข้าใจว่า
คนอย่าง บิลโบ แบ๊กกินส์ ยิ่งใหญ่ขนาดไหน ใครๆถึงรู้จักโฟรโด ในฐานะของ หลาน ของ "แบ๊กกินส์หัวขโมย"
ทั้ง 3 ภาคของ The Lord Of The Ring ชื่อของบิลโบ แบ๊กกินส์ จึงเป็นเพียง ตำแหน่งลอยๆ ไร้ความสลักสำคัญ..
กระทั่ง Peter Jackson คิดทำ Hobbit แม้โปรเจคจะอุปสรรคเยอะเหลือคณา แต่กระแสของหนังก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลงไปเลย เพราะ TLOR สร้างฐานแฟนไว้เป็นจำนวนมหาศาล ทำให้หนังภาค "ประวัติความเป็นมาของ The Lord Of The Ring" จึงยิ่งเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น..
ถึงเวลาที่ต้องอ่าน The Hobbit สักทีกระมัง...
หลังอ่านจบ ประโยคและสีหน้าท่าทางของเพื่อนคนนั้น ตอนที่เราอยู่ ม.ต้นลอยขึ้นมาทันที
"สนุกกว่า เดอะ ลอร์ด เยอะ!"
ใช่! มันเป็นเช่นนั้น ... เพราะอะไรน่ะหรือ!
ฉบับหนังสือ The Hobbit เป็นวรรณกรรมเยาวชนเล่มเล็กที่ใช้ภาษาง่ายๆ เล่าเรื่องการผจญภัย "สุดคาดคิด" ของฮอบบิท เผ่าพันธ์ที่รักความสงบ แต่กลับต้องไปร่วมทริป "ล่ามังกร" กับเหล่าคนแคระไร้บ้าน ที่ต้องการทวงบ้านคืน หนังสือเล่าเรื่องง่ายๆ แทรกมุขตลกเป็นระยะ เรื่องราวดำเนินไปอย่างสนุกสนาน ที่สำคัญ ตัวละครบิลโบ เมื่อเทียบกับ โฟรโดแล้ว เรียกว่า "คนละชั้น" บิลโบ คงเข้าทำนอง "สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ" บิลโบมีความเป็นผู้นำ กล้าตัดสินใจ และ ที่สำคัญ ตลก! นั่นทำให้อดเอาไปเทียบกับ โฟรโด ไม่ได้
ส่วนหนึ่งเพราะ The Hobbit เล่าเรื่องเรื่องเดียว คือทริปคนแคระล่ามังกร ทำให้อ่านแล้วเพลิดเพลิน และอ่านจบในเวลาอันรวดเร็ว ผิดกับ TLOR ฉบับหนังสือหนาๆ 3 เล่ม ที่รายละเอียดงดงาม แต่ก็เนิบนาบตามสไตล์โทลคีนจริงๆ ฉะนั้นแล้ว ฉบับหนังสือ ให้ The Hobbit ในแง่ความบันเทิง และ TLOR ในแง่ความงดงามของจินตนาการ
ฉบับหนังที่พึ่งเข้าฉายไปนั้น เซงแซ่ไปด้วยเสียงวิพากย์วิจารณ์ว่า "อู้ววว จะเทียบ TLOR ได้หรือนี่" อนึ่ง เพราะคนดูจำนวนมากต่างเป็นแฟนหนัง TLOR ความแตกต่างของ หนังทั้ง 2 เรื่องคือ "ความจริงจัง" ของเหตุการณ์
โฟรโด เอาแหวนไปทำลายในหุบเขาไฟประลัยกัลป์ อารากอนทวงคืนบัลลังก์ เหล่าพันธมิตรร่วมมือกันปกป้องมิดเดิ้ลเอิร์ธ
บิลโบ ช่วยแก๊งคนแคระปราบมังกร ขโมยแหวนมาจากสัตว์ประหลาดกอลลัม
หลายคนมองว่า The Hobbit ภาคปฐมบทนั้นดูจืดชืดไปหน่อย ตอนเริ่มพาลจะหลับ ตัวละครเยอะแยะเกินไป และความสมเหตุสมผลยังน้อยเกินไป
โอ้ว นี่มัน นิทานเด็กนะเพ่! ไม่ใช่ Skyfall ถึงจะได้มาจับผิดเรื่องเอ็มเปิดไฟฉายกันน่ะ!
ฉบับหนังของ The Hobbit นั้นถูกยืดกลายเป็นไตรภาค (เพื่อให้มีดีกรีเทียบเท่ากับ TLOR และ...เพื่อเงิน ฮ่า!) จากที่ตอนแรกแค่ภาคแรกก็กลัวจะไม่ได้สร้าง จนตอนนี้ใครๆต่างก็รุมทึ้ง เลยทำให้หนังภาคปฐมบทมีเวลาเล่าเรื่องได้อย่างเต็มที่ ตัวหนังมีการดัดแปลงค่อนข้างมาก คือมีการเพิ่มปมประเด็นปัญหาต่างๆยิบย่อยระหว่างทางเข้ามา ซึ่งขอชื่นชมว่าทำออกมาได้สนุกมากแบบที่ไม่ทำร้ายจิตใจแฟนหนังสือเลย เพราะเรื่องราวลื่นไหล กลมกลืน ทั้งยังสนุกกว่าฉบับหนังสือที่เล่าบางเรื่องแบบผ่านๆ แต่ในฉบับหนังหยิบมาขยายความและเรียงลำดับการเล่าเรื่องให้เข้าใจง่ายขึ้น อีกด้วย แฟน TLOR อาจหลั่งน้ำตาด้วยความคิดถึง เมื่อได้เห็นฉากเมืองต่างๆ หรือกระทั่งบรรพบุรุษของเหล่าตัวละครที่ชอบ
สิ่งเดียวที่แตกต่างและเราถือเป็นข้อด้อยของ The Hobbit ไม่ใช่การเล่าเรื่อง (ที่แม้หลายคนมองว่ายืดยาดเกินไปแต่เรามองว่า สนุกดี) แต่เป็นเรื่องของเทคนิคการถ่ายทำ ที่เรากลับชอบโทนสีแบบ TLOR มากกว่า กระทั่ง CG ง่อยๆของ TLOR ยังดูสมูธกว่าใน The Hobbit ที่บางฉากเห็นแล้วแอบเสียอารมณ์นิดๆ ที่วิจิตร(เกินไป) จนมองออกว่าอันไหน Green screen อันไหน Prop ในสตูดิโอ
อาจเพราะยิ่งยุคสมัยที่เรารู้เบื้องหน้าเบื้องหลังของการถ่ายทำมากขึ้น ทำให้จินตนาการเรายิ่งลดลง หนังหลอกเราได้ยากขึ้น
ใน The Hobbit หนังมีโทนสีที่สุกสว่างสดใส ขณะที่ใน TLOR หนังเป็นโทนหม่นมัว
นั่นคือ The Hobbit นั้นเป็นยุคที่ทุกอย่างยังสุขสงบ งดงาม หญ้าเป็นสีเขียวขจี ท้องฟ้าสดใส แดดทอประกายขณะที่ใน TLOR เป็นยุคสงคราม ทำให้สีของหนังทั้งเรื่องออกซีด (ไม่ใช่เพราะฟิล์มเก่านะ ฮ่าๆ) และทุกอย่างดูหม่นมัว เนินเขาเขียวแก่ ดูจืดชืดไร้ชีวิตชีวา
แต่หากซื่อสัตย์กับความรู้สึกแรกหลังออกจากโรงแล้ว คงต้องบอกว่า "เฉยๆ" หากเทียบกับ Followships Of The Ring ที่ตอนได้ดูครั้งแรกก็หลงรักแบบที่ถอนตัวไม่ขึ้นจนทั้ง 3 ภาคกลายเป็นหนังที่ดูต่อกันแบบนันสต๊อปได้ไม่มีเบื่อ
การแสดงของ Martin Freeman ทำให้ถึงกับกรี๊ด "นี่ล่ะ บิลโบ!" เป็นการคัดเลือกที่ลงตัว สมบูรณ์มาก
ฉากแอคชั่นนันสต๊อปใน The Hobbit ทำได้สนุกและน่าติดตาม แม้จะโดนแฟนหนัง(ที่ไม่ใช่แฟนหนังสือ) ไถ่ถามกันมาอีกว่า "โอเวอร์เกินจริง" Mission Impossible มาก คงต้องย้ำกันอีกครั้งว่านี่คือ Fantasy Novel และ มันเป็นการผจญภัย "สุดคาดคิด" จริงๆ
และนี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายหรอกนะ!
4/5
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in