ในปัจจุบัน การจัดงานแต่งงานได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างมาก โดยจะเน้นจัดงานให้มีความกระชับ รวดเร็ว และเน้นตัดพิธีที่ไม่จำเป็นออกไป แต่ยังคงไว้ซึ่งความถูกต้อง ตามประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดกันมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ดังนั้น ในบทความนี้ จะมาแชร์ 5 ขั้นตอนสำคัญในพิธีแต่งงานแบบไทย ง่าย ๆ เพื่อให้คู่บ่าวสาวได้นำไปใช้วางแผนงานแต่งงาน และเลือกพิธีที่เหมาะสม จะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง เราไปดูกันได้เลย
ในช่วงเช้าก่อนเริ่มทำพิธีแต่งงานแบบไทย ง่าย ๆ บ่าวสาวจะทำการนิมนต์พระสงฆ์จำนวน 9 รูป เพื่อตักบาตร ถวายสังฆทาน ปิดท้ายด้วยการถวายดอกไม้ธูปเทียน และเครื่องปัจจัยไทยธรรม เพื่อเพิ่มความสิริมงคล
สำหรับอาหารที่นิยมเตรียมใส่บาตร จะเน้นถวายอาหารที่มีความหมายดี สื่อถึงความรักที่งอกเงย ยืนยาว และมั่นคง ไม่ว่าจะเป็น ขนมจีนน้ำยา ต้มจืด ขนมจีบ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมทองเอก ขนมชั้น และขนมถ้วยฟู เป็นต้น
การแห่ขันหมาก นับเป็นอีกหนึ่งขนบธรรมเนียมไทยที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งสื่อถึงความเคารพต่อพ่อแม่ของบ่าวสาว และให้เกียรติเจ้าสาว ด้วยการจัดพิธีสู่ขออย่างถูกต้อง และเข้าตามตรอกออกตามประตู ในขณะที่เจ้าสาวก็ยอมรับเจ้าบ่าวเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัวเช่นกัน
โดยฝ่ายเจ้าสาวจะต้องเตรียมตัวกั้นประตูเงินประตูทอง เพื่อรอต้อนรับฝ่ายเจ้าบ่าว และเรียกค่าเปิดทางจากฝ่ายเจ้าบ่าว ส่วนฝั่งเจ้าบ่าวจะต้องทำการตั้งขันหมากเอก และขันหมากโท พร้อมกับฝ่าด่านประตูเงินประตูทอง
หลังจากพิธีแห่ขันมากเสร็จสิ้นแล้ว พิธีถัดมาก็คือการนำของจากขบวน มาจัดวางเรียงกัน โดยเถ้าแก่ฝ่ายชายจะเริ่มการเจรจาสู่ขอ เมื่อตกลงยินยอมแล้วผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว จะนำพานสินสอดออกมาเปิด เพื่อทำพิธีนับสินสอด
เมื่อถึงเวลาฤกษ์อันเป็นมงคล ฝ่ายเจ้าบ่าวจะทำการสวมแหวนหมั้นให้ฝ่ายเจ้าสาว จากนั้นฝ่ายหญิงไหว้ลงบนตักของฝ่ายชาย พร้อมกับสวมแหวนแลกกับฝ่ายชาย ซึ่งในปัจจุบันฝ่ายชาย จะนิยมไหว้ลงบนตักของเจ้าสาวเช่นกัน
พิธีมงคลลำดับต่อไปที่ขาดไปไม่ได้เลย คือ พิธีรับไหว้ผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการฝากเนื้อฝากตัวของคู่บ่าวสาว โดยบ่าวสาวต้องกราบไหว้พ่อแม่ 3 ครั้ง ส่วนญาติคนอื่นให้กราบครั้งเดียว โดยไม่ต้องแบมือ จากนั้นญาติผู้ใหญ่จะให้พร และใส่ซองเงิน หรือของมีค่าลงบนพาน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in