ในวรรณคดีไทยหลายๆ เรื่อง มักจะมีฉากที่ตัวละครพูดอ้อมค้อม ไม่พูดตรงๆ โดยเฉพาะบรรดานางในวรรณคดีทั้งหลาย จนบางครั้งผู้อ่านก็อดไม่ได้ที่จะคิดว่า "พูดอ้อมกันขนาดนี้ เมื่อไหร่จะสื่อถึงสิ่งที่จะพูดจริงๆ ได้นะ?"
พวกเราจึงได้คัดฉากที่น่าสนใจจากวรรณคดีไทยบางเรื่องมาปรับเปลี่ยนคำพูด ในหัวข้อ ถ้าตัวละครในวรรณคดีไทยพูดสิ่งที่อยู่ในใจออกมาตรงๆ ไม่ต้องอ้อมค้อม ไม่มีภาพลักษณ์หรือคุณค่าตามสังคมในสมัยก่อนมากำหนดการแสดงออกของพวกเขา จะออกมาเป็นอย่างไร
วรรณคดีไทยเรื่องแรกที่หยิบมานำเสนอคือ "ลิลิตพระลอ"
(ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง)
หลังจากข่าวลือเรื่องความหล่อของพระลอไปถึงหูของ พระเพื่อนพระแพง ซึ่งเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์เมืองสรอง ทำให้ทั้งสองพี่น้องพร่ำเพ้อถึงแต่พระลอแต่บอกใครไม่ได้ เพราะเมืองสรวงที่พระลออยู่กับเมืองสรองที่พระเพื่อนพระแพงอยู่เป็นศัตรูกัน
สองพี่เลี้ยงที่เฝ้าดูแลเห็นนายของตนดูไม่สดชื่น หมองหม่นเหมือนจะไม่สบายจึงเข้าไปถามไถ่ พระเพื่อนพระแพงจึงได้บอกพระพี่เลี้ยงทั้งสองว่า:
เจ็บเผือเหลือแผ่นดิน นะพี่ หลากระบิลในแหล่งหล้า นะพี่ บอกแล้วจะไว้หน้าแห่งใด นะพี่ ความอายใครช่วยได้ นะพี่ อายแก่คนไส้ท่านหัว นะพี่ แหนงตัวตายดีกว่า นะพี่ สองพี่อย่าได้ถามเผือ นะพี่ เจ็บเผือเหลือแห่งพร้อง โอ้เอนดูรักน้อง อย่าซ้ำจำตาย หนึ่งราฯ
พระพี่เลี้ยงจึงบอกไปว่า:
ข้าไหว้ถวายชีพิต เผือข้าชิดข้าเชื่อ เขือดังฤาเหตุใด ธมิไว้ใจเท่าเผ้า สองแม่ ณ หัวเจ้า มิได้เอนดูเผือฤา ฯ
ทำให้เห็นว่าการพูดอ้อมค้อมของพระเพื่อนพระแพงทำให้นางรื่นนางโรยไม่เข้าใจสิ่งที่ทั้งสองพระองค์พยายามจะสื่อ จนมาถึงโคลงสี่สุภาพที่ทุกคนน่าจะเคยคุ้นหูคุ้นตากันดี:
เสียงฦาเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤาพี่
สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ ฯ
'เขาก็ลือกันทั่วบ้านทั่วเมือง พวกพี่ไปอยู่ที่ไหนมาทำไมไม่รู้ว่าพูดถึงใคร' จากโคลงสี่สุภาพบทนี้ทำให้พระพี่เลี้ยงทั้งสองจึงเข้าใจว่าหมายถึงพระลอ จึงได้อาสาช่วยให้ทั้งสองพี่น้องได้ดั่งใจปรารถนาตามเนื้อเรื่องต่อไป
จากฉากนี้ ทำให้พวกเราคิดว่า "แล้วถ้าพระเพื่อนพระแพงไม่พูดอ้อมค้อมจะเป็นอย่างไร?" จึงออกมาเป็นภาพต่อไปนี้:
เรื่องต่อมาคือเรื่อง "มัทนะพาธา" ตำนานดอกกุหลาบ
(พระราชนิพนธ์ในพระบทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
พวกเราหยิบฉากที่เทพบุตรสุเทษณ์ให้มายาวินใช้มนตราสั่งให้นางมัทนามาหาตน หลังจากที่คลายมนตร์แล้ว สุเทษณ์ก็ได้บอกรักกับนางมัทนา แล้วบอกเพียงว่าถ้ามัทนารับรักแล้วสุเทษณ์จะได้อะไรบ้าง แต่นางมัทนาก็ได้ตอบปฏิเสธไปว่า ตนเองไม่ดีพอ อีกทั้งสุเทษณ์ยังมีนางฟ้าองค์อื่นอยู่ด้วย
ทำให้เห็นว่านางมัทนาไม่ได้เชื่อในความรักของสุเทษณ์ อีกทั้งนางมัทนายังแน่วแน่และซื่อตรงต่อความรู้สึกของตนเองที่ไม่ได้รักสุเทษณ์อีกด้วย
ตัวอย่างการโต้ตอบระหว่างทั้งสอง เช่น
สุเทษณ์. นี่เจ้ามิยอมรัก รสะรักฉะนั้นฤจ๋า?
ตัวฉันจะเลวสา หะสะด้วยประการไฉน?
มัทนา. อ้าองค์พระผู้สุระวิศิษฏ์, พระจะผิดสถานใด?
หม่อมฉันสิทรามเพราะบมิได้ อนุวัตน์พระบัณฑูร.
พวกเราจึงนำฉากนี้มาเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างนางมัทนาในสมัยนั้นซึ่งใช้การพูดอ้อมค้อมแต่รักษาน้ำใจและรักษาหน้าของสุเทษณ์ (แม้สุเทษณ์จะไม่เห็นความตั้งใจนี้ของมัทนาก็ตาม) กับถ้าหากนางมัทนาเป็นคนที่พูดตรงๆ สั้น กระชับ ได้ใจความ:
บทต้นฉบับนี้คือ
มัทนา. โอ้โอ๋ละเหี่ยอุระสดับ วรศัพทะท่านทรง
อ้อยอิ่งแสดงวรประสง- คะณตัวกระหม่อมฉัน;
อยากใคร่สนองพระวรสุน- ทรคุณอเนกนั้น,
จนใจเพราะผิดคติสุธรรม์ สุจริตประติชฺญา.
ขอให้พระองค์อะมะระเท- วะเสวยประโมทา,
หม่อมฉันจะขอประณตะลา สุระราชลิลาศไป,
(มัทนากราบแล้วตั้งท่าจะไป, แต่สุเทษณ์จับข้อมือไว้ด้วยกริยาออกจะโกรธ.)
สุเทษณ์. ช้าก่อน! หล่อนจะไปไหน
มัทนา. หม่อมฉันอยู่ไป
ก็เครื่องแต่ทรงรำคาญ.
สุเทษณ์. ใครหนอบอกแก่นงคราญ ว่าพี่รำคาญ?
มัทนา. หม่อมฉันสังเกตเองเห็น.
สุเทษณ์. เออ! หล่อนนี้มาล้อเล่น! อันตัวพี่เปน
คนโง่ฤาบ้าฉันใด?
มัทนา. หม่อมฉันเคารพเทพไท ทูลอย่างจริงใจ
ก็บมิทรงเชื่อเลย,
เรื่องสุดท้ายที่จะหยิบมาพูดถึงคือ "เงาะป่า"
(พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
ฉากที่จะกล่าวถึงคือฉากที่ นางลำหับ ไปเก็บดอกไม้ โดยมี ซมพลา ซึ่งแอบชอบนางลำหับอยู่ ตามไปดูตามแผนที่ ไม้ไผ่ (น้องชายของลำหับ) วางไว้ให้ทั้งคู่ได้มาเจอกัน
ระหว่างนั้นก็เกิดอุบัติเหตุที่ไม่ได้คาดคิดขึ้น ทำให้ทั้งสองได้แตะเนื้อต้องตัวกัน ตามความเชื่อและประเพณีของชาวเงาะ การแตะตัวเพศตรงข้ามที่ไม่ใช่ครอบครัวของตนก็ถือว่าเป็นการได้เป็นสามีภรรยากันแล้ว ทว่าก่อนหน้านั้น ฮเนา ได้มาสู่ขอนางลำหับกับครอบครัวของนางไว้ก่อนแล้ว จึงทำให้นางลำบากใจ แต่ลำหับก็ติดหนี้บุญคุณซมพลาที่เข้ามาช่วยเหลือตนจากงูพิษ อีกทั้งยังถูกซมพลาบอกรักอย่างตรงไปตรงมาทำให้นางเขินอีก ลำหับจึงรักซมพลาตอบ
นางลำหับจึงแสร้งกล่าวกับซมพลาว่า:
แม้นเทวาว่าคู่ควรแอบอิง ไยจึ่งนิ่งให้ฮเนาเขาขอร้อง
จนบิดายกให้ได้นัดงาน พึ่งซมซานมานำทำให้หมอง
เปนจนใจไม่รู้ที่จะปรองดอง อย่าได้ข้องเคืองขัดอัธยา
และนางยังบอกต่ออีกว่า:
จนจิตร ข้าไม่เคยคิดจะมีผัว
ฝ่ายฮเนาเขาก็ไม่ได้ใกล้ตัว จะดีชั่วฉันใดก็ไม่รู้
ถึงตัวเจ้าเล่าก็ไม่ได้นึกรัก ไม้ไผ่ชักนำเฉลยก็เฉยอยู่
นี่เจ้ากรรมนำให้มาพบงู เจ้าจึ่งจู่เข้ามาว่าให้น่าอาย
คิดถึงบุญคุณมีช่วยชีวิตร จะจงจิตรรักเจ้าไม่จางหาย
เปนสัจจากว่าชีวิตรจะวอดวาย ข้าบรรยายตอบเสร็จจงเมตตา
พวกเราจึงหยิบฉากนี้มานำเสนอว่า ถ้านางลำหับเป็นคนที่พูดตรงๆ นางจะพูดอย่างไร และได้ออกมาเป็นรูปดังนี้:
ทุกคนคงจะเห็นจากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า ตัวละครทั้งสามมีการพูดที่อ้อมค้อม เยิ่นเย้อ น่าขัดใจอย่างไรเมื่อนำข้อความมาเทียบกับการพูดตรงประเด็นในรูปภาพประกอบ
ในฐานะของผู้อ่านและผู้ชม ทุกคนมีตัวละครอะไร จากเรื่องไหนอีกบ้างที่อยากให้พวกเขาหยุดพูดจาอ้อมค้อม หรือในชีวิตประจำวันมีเรื่องใดบ้าง ที่น่าจะจบง่ายกว่าหากสื่อสารกันตรงๆ มาลองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้านล่างได้นะคะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in