เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
BOOKSone fine day
ความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริงของชนชั้นล่าง : มนต์รักทรานซิสเตอร์
  • เมื่อโฆษกประกาศชื่อ ‘สุรแผน เพชรน้ำไหล’ คนหัวเราะคิกคักกับชื่อแปลกหู

    แผนขาสั่นก้าวขึ้นเวทีท่ามกลางเสียงเฮและปรบมือ

     

    มนต์รักทรานซิสเตอร์เป็นวรรณกรรมชื่อดังจากปลายปากกาของนักเขียนรางวัลศรีบูรพามากฝีมืออย่างวัฒน์ วรรลยางกูร พิมพ์ครั้งแรกในปี 2524 ด้วยเนื้อหาที่เป็นเหมือนละครชีวิตที่ผู้อ่านเข้าถึงได้ง่ายรวมไปถึงบรรยากาศธรรมชาติและชีวิตชนบทที่มีเสน่ห์น่าติดตามทั้งยังให้ความรู้สึกอยากเอาใจช่วยให้ตัวละครให้รอดปลอดภัยจากการผจญภัยในเมืองใหญ่และมรสุมชีวิตที่พบเจอ ทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้มีการนำต้นฉบับมาสร้างใหม่เป็นภาพยนตร์ มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544) รวมไปถึงละครโทรทัศน์ที่ออกอากาศไปก่อนหน้านี้อย่าง มนต์ฮักทรานซิสเตอร์ (2561) แสดงให้เห็นถึงเสน่ห์ที่ยาวนานของวรรณกรรมที่อยู่ในใจของผู้อ่านหลายคนซึ่งยังคงส่องประกายจนทำให้ถูกหยิบยกมาสร้างใหม่ในรูปแบบต่างๆแม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม

    วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นเรื่องราวชีวิตที่ต้องสู้ของหนุ่มบ้านนาชาวบางน้ำไหลคนหนึ่งที่ชื่อว่าแผน ชีวิตของแผนดำเนินมาอย่างเรียบง่าย เขาเติบโตมาในชนบทเล็กๆมีโอกาสที่จะไล่ตามความรักอย่างลูกผู้ชายคนหนึ่ง เขาตกหลุมสาวเสื้อฟ้าหน้าใสชื่อ สะเดา ที่มีพ่อดุแสนดุตามประสาคนมีลูกสาวสวยแผนตัดสินใจที่จะลงสนามรักแข่งกับศัตรูหัวใจของตนที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมและสามารถเด็ดดอกฟ้ามาครอบครองในที่สุด ดูเหมือนว่าเรื่องราวของแผนสามารถจะได้หลังจากผ่านอุปสรรคความรักสำคัญ หากเส้นทางความรักหนุ่มสาวชนบทก็ไม่ใช่เนื้อหาสาระหลักที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอให้กับผู้อ่าน จุดพลิกผันเกิดขึ้นเมื่อแผนจำต้องจากไปไกลเพื่อเป็นทหารเกณฑ์ในยามที่สะเดาท้องแก่ใกล้คลอด แต่เรื่องที่ทำให้ชีวิตของแผนกับสะเดาต้องหมุนกลับตาลปัตรจากหน้ามือเป็นหลังมืออย่างแท้จริงคือ เมื่อแผนตัดสินใจหนีทหารไปตามหาความฝันของตน หลังจากผ่านการคัดเลือกจากวงดนตรีของนักร้องชื่อดังที่มาเปิดการแสดงหน้าค่ายทหารเพราะนอกจากสะเดาแล้ว สิ่งที่แผนรักและใฝ่ฝันเช่นเดียวกับหนุ่มบ้านนาหลายๆ คนคือการขึ้นไปเป็นนักร้องลูกทุ่งชื่อดังที่มีมิตรรักแฟนเพลงมากมาย แต่อย่างไรก็ตามในโลกความเป็นจริงโหดร้ายและกำหนดให้ชีวิตเป็นไปตามความต้องการของคนไม่ได้ฉันท์ใดผู้เขียนมนต์รักทรานซิสเตอร์ก็เลือกที่จะไม่ส่งตัวละครให้ไปถึงดวงดาวฉันท์นั้น

    ผู้เขียนไม่ได้วางให้เส้นทางการไปเป็นนักร้องของแผนโรยด้วยกลีบกุหลาบความขัดแย้งที่เกิดขึ้นคือเขาเริ่มต้นเข้าสู่เส้นทางนี้ด้วยการหนีทหารและเชื่อมั่นว่าตนกำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของตัวเองและครอบครัว หากความฝันก็พังทลายลงเมื่อความจริงปรากฏตรงหน้า แผนที่เคยวาดฝันเพียงว่าจะได้ขึ้นไปร้องเพลงบนเวทีใหญ่ห้อมรอบด้วยแสงสีเสียงและมีเงินหนาเป็นฟ่อนจากการทำงานกลับไปให้ลูกเมียก็ตระหนักได้ว่าตนเป็นเพียงปลาตัวน้อยในห้วงมหาสมุทรอันกว้างใหญ่เพียงเท่านั้นสุดท้ายแล้วแผนก็ไม่อาจขึ้นไปเป็นดวงดาวอย่างที่เคยฝันไว้ ซ้ำยังกลายเป็นคนที่หันหลังให้ลูกเมียมาเป็นเวลาหลายปี ผู้เขียนเน้นย้ำถึงความล้มเหลวของความฝันและบทลงโทษของการทะเยอทะยานในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้สำหรับคนอย่างพวกเขาให้เห็นอย่างชัดเจน

    นอกจากนี้ยังมีปมความขัดแย้งระหว่างตัวละครและสังคมซึ่งทำให้ตัวละครไม่สามารถอยู่ในสังคมต่อไปได้อีก แผนต้องหลบหนีหัวซุกหัวซุนหลังจากเกิดสถานการณ์ที่ไม่ได้ตั้งใจอย่างการขัดขืนไม่อ่อนโอนไปกับการเล้าโลมผู้จัดการวงดนตรีรุ่นใหญ่จนทำให้อีกฝ่ายถึงแก่ความตาย เขายังมีคดีหนีทหารที่ติดตัวทำให้ไม่สามารถเริ่มต้นใหม่อย่างใสสะอาดได้  แม้จะสิ่งที่แผนต้องเผชิญจะลำบากยากเข็ญสักเพียงไหนเขาก็ไม่กลับไปหาลูกเมียเสียทีซึ่งเข้ากับค่านิยมในสังคมไทยที่ยึดคติหากไม่ประสบความสำเร็จก็จะไม่ย้อนกลับหาคนที่รออยู่ในช่วงที่รู้สึกมืดมนไร้ทางออกของชีวิตแผนก็ยังไม่คิดที่จะกลับไปที่บางน้ำไหลเขาคิดเพียงแต่ว่า

     “อีกไม่นานหรอกพี่จะกลับไปพร้อมโชคดีรออีกนิดสะเดาเอ๋ย รอให้ดาวแห่งเคราะห์โคจรผ่านชีวิตเราไปก่อนแล้วดาวแห่งโชคจักจรัสแสง … การได้มาทีหลังการเสียช่วงนี้เราอาจต้องยอมสูญเสียความรักความอบอุ่นในครอบครัวหวังจะได้ความรักความอบอุ่นที่มั่นคงกว่าในวันหน้า” (วัฒน์วรรลยางกูร, น. 99)

    การวางกรอบความคิดเช่นนี้ให้ตัวละครทำให้แผนต้องประสบเคราะห์กรรมต่อไปเรื่อยๆและไม่อาจไปสู้หน้าคนที่บ้านได้ คนจนผู้พ่ายแพ้จำต้องหาทางไปต่อจำต้องเบียดคนที่แห่ไปสมัครงานในไร่ข้าวโพดและขึ้นรถออกจากเมืองไปทำงานหนักค่าแรงต่ำนับเป็นฉากที่แสดงให้เห็นถึงทางเลือกที่จำกัดของคนที่ถูกตราหน้าและอยู่ในสถานะที่ตกต่ำในสังคมกลับไปไล่ตามฝันเลย ผู้เขียนเลือกที่จะถล่มชีวิตของตัวละครอย่างหนักหน่วงเพื่อตอกย้ำถึงความอับจนหนทางของคนที่ไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงที่จะเรียกร้องให้ชีวิตของตนดีขึ้นได้เมื่อหนุ่มบางน้ำไหลไปทำงานในไร่ข้าวโพดสิ่งที่เขาเจอเป็นความหนักหนาที่เหนือกว่าการถูกกดค่าแรงในเมืองหลวงเสียอีก ในตอนนึงนายหน้าจัดหางานได้บอกกับแผนว่า“ที่นี่เขาไม่ชอบคนหัวแข็ง อย่างพวกจบ ม.6 ม.8 เคยมีมาสมัคร ผมยังรับไม่ได้พวกหัวสูงมันหัวหมอ คุมยาก” (วัฒน์ วรรลยางกูร, น. 133) แสดงให้เห็นว่าคนที่มีระดับการศึกษาต่ำนั้นจะถูกกดทับได้ง่ายดายกว่าและมีแนวโน้มที่จะเชื่อฟังมากกว่าคนที่เรียนสูงในความคิดของตัวละครที่มีอำนาจในการตัดสินใจ นอกจากนี้เมื่อมีคนตายจากพิษของป่า ความเห็นของหัวหน้าคนงานที่มองเพียงว่าการตายจากพิษไข้ป่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นมงคลต่อตัวเองและไร่ที่ตนเป็นเจ้าของ ทำให้ชวนคิดว่าเหล่านายทุนมองชนชั้นล่างที่ทำงานให้เป็นเพียงเครื่องมือทำเงินตนเองเท่านั้นเป็นสิ่งที่รู้กันดีในหมู่นายทุนที่ถือไพ่เหนือกว่าและคนงานที่ไม่ได้รับความปฏิบัติอย่างเท่าเทียม แต่พวกเขาไม่เคยมีสิทธิ์ที่ไม่อาจจะเรียกร้องอะไรได้เพราะอำนาจต่อรองอันน้อยนิดของพวกเขา

    วรรณกรรมเรื่องนี้นำเสนอการเป็นวรรณกรรมลูกทุ่งที่นำเสนอมุมมองการดิ้นรนต่อสู้ชีวิตของคนชั้นแรงงานผู้ไล่ตามฝันสถานะของคนชนบทที่เข้ามาทำงานหรือคนเมืองที่มีฐานะยากจนนั้นไม่สามารถต่อรองหรือมีหน้าที่การงานที่ดีได้เพราะเรียนมาไม่สูงและมีโอกาสในชีวิตไม่มากนักทำได้เพียงปลูกพืชผักไปตามเรื่องหรือต้องไปเป็นลูกจ้างใช้แรงงานอยู่ร่ำไป เขาใช้ตัวละครแผนเป็นผู้ถ่ายทอดชีวิตของที่ยากลำบากในฐานะคนจนที่ถูกกดทับและต้องดิ้นรนเพื่อหาทางออกให้กับชีวิตและยังใช้แผนเป็นผู้ประสบพบเห็นชีวิตของคนอื่นที่มีความยากลำบากไม่ต่างกันแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในชนบทที่ห่างไกลและทำไร่ทำสวนเช่นเดียวกับแผนก็ตาม หยาดเหงื่อและความเหนื่อยยากในการใช้ชีวิตของคนชนชั้นแรงงานเป็นสิ่งที่ผู้เขียนยกมานำเสนออยู่ตลอดทั้งเรื่องเมื่อครั้งยังทำสวนทำไร่กับเมียรัก แผนได้แต่ลุ้นให้พืชผลของตนออกดอกออกผลได้กำไรและไม่เป็นหนี้สินแต่ถึงจะไม่เป็นหนี้ใครแผนกับสะเดาก็ได้กำไรค่าตอบแทนที่อาบเหงื่อต่างน้ำทำงานปลูกไร่แตงของตนกลับมาไม่ถึงสองร้อยบาทเมื่อเขาเข้ากรุงเทพฯ เมืองใหญ่ที่ดูทันสมัยแต่ก็เสื่อมโทรมเหลือเกิน ภาพเดิมที่ผู้เขียนนำเสนอให้เขาเห็นซ้ำคือบรรดาคนยากจนที่ยังต้องทำงานให้ได้เงินอย่างเหนื่อยยากในลักษณะของคนเมืองชั้นล่างดังตัวอย่างที่จะยกหยิบมาต่อไปนี้        

    “โน่นคนขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปหาบราวผ้าหลากสีตั้งติดทางเดินเขาพร้อมจะหาบราวผ้าเผ่นโผนหนีตำรวจ เขาร้องตะโกนเรียกลูกค้า …คนขายยาแก้สิวยืนรอเหยื่อตรงหัวมุม พอเห็นใครหน้าดำเปื้อนสิวเขาจะปรี่เข้าประชิดบอกขายยาแก้สิวชุดละ 39 บาท … มีเด็กยืนขายหนังสือพิมพ์หัวสีเขียว สีบานเย็นและสีแสด เขาจะคอยยื่นให้คนนั้นคนนี้โดยเฉพาะคนที่ยอมสบตาด้วย” (วัฒน์ วรรลยางกูร, .116-117)

    ผู้เขียนแสดงให้เห็นถึงชีวิตปากกัดตีนถีบของคนชั้นล่างที่ดิ้นรนทำมาหากินเพื่อความอยู่รอดในเมืองใหญ่คนเหล่านี้จำต้องทิ้งศักดิ์ศรีเพื่อมาเสนอขายสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองว่าไม่จำเป็นหรือไร้ค่าเพื่อเงินที่ใช้อยู่กินในแต่ละวันทั้งสภาพสังคมที่ไม่น่าอยู่ ผู้เขียนถ่ายทอดความสิ้นหวังของคนที่ไร้วุฒิการศึกษาที่ไม่อาจจะไปสู้กับคนอื่นเขาได้อันเป็นเรื่องจริงอันน่าเจ็บปวดของชนชั้นแรงงานในเมืองหลวงผ่านความคิดของแผน “จะไปหาสมัครงานที่ไหนดี พวกนักเรียนนักศึกษามีปริญญายังเตะฝุ่นเยอะแยะ ป.สี่อย่างเราจะไปทำอะไร” (วัฒน์วรรลยางกูรน.116)  นอกจากนี้ข่าวในหนังสือพิมพ์ก็ล้วนแต่ไม่จรรโลงและชวนให้หดหู่ใจ ในพาดหัวหนังสือพิมพ์ก็ว่าด้วยเรื่อง ‘พระเอกหนุ่มพบรักสาววัย50 เมียหลวงนายพลโวย เมียน้อยลักชุดชั้นใน’ ลักษณะข่าวที่ถูกตีแผ่ว่าเป็นเรื่องสำคัญในระดับพาดหัวนั้นชี้ให้เห็นว่าที่แห่งนี้มีสภาพสังคมที่ไม่ได้เจริญไปในทิศทางเดียวกับความเจริญทางวัตถุ ความลำบากแร้นแค้นของคนในชนบทกับการดิ้นรนหาเงินของคนในเมืองไม่ต่างไปจากกันเท่าใดนักเมื่อคนเหล่านั้นคือคนชนชั้นล่างที่หาเช้ากินค่ำในสังคมและแทบจะไม่มีโอกาสที่จะลืมตาอ้าปากได้เลย

    ในตอนที่แผนและเพื่อนจับพลัดจับผลูเข้าไปในงานแฟชั่นโชว์จากห้องเสื้อชั้นนำผู้เขียนทำให้เห็นว่าในขณะที่มีคนที่ไม่มีอันจะกินและต้องหาเลี้ยงชีพไปวันๆกลุ่มคนบางกลุ่มในสังคมก็มีเวลาที่จะตามประสาคนมีเงินและจัดรายการประกวดการแต่ง ‘แฟนซี’ เพื่อความบันเทิงของตนเองและฉากการประกวดการแต่งตัวเป็นคนทุกข์ยากก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างที่ว่านี้อย่างชัดเจน ผู้เข้าประกวดแต่ละคนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าขาดวิ่นและแสดงท่าทางที่น่าสงสาร พวกเขาได้รับเสียงตอบรับและเงินบริจาคมากมายจากการบอกเล่าชีวิตลำเค็ญในจินตนาการของตัวเอง เมื่อถึงคราวของแผนและเพื่อนคนจนที่เป็นคนจนจริงๆและใส่เสื้อผ้าสกปรกมอมแมมอันเป็นอาภรณ์ปกติของคนชนชั้นล่างขึ้นไปบนเวทีพวกเขากลับไม่มีท่าทีที่จะเข้าใจ แสดงให้เห็นว่าเสียงของคนจนไม่ได้รับความสนใจและให้คุณค่า ผู้เขียนเหน็บแหนมงานการกุศลเพื่อเรี่ยไรเงินให้กับผู้ยากไร้ของเหล่าเศรษฐีว่าความจริงแล้วพวกเขาไม่ได้เข้าถึงหรือเฉียดใกล้ความรู้สึกของคนจนเลยแม้แต่น้อย พวกเขาสักแต่จะให้เงินบริจาคและหวังที่จะรับคำชื่นชมว่าใจกว้างประดุจแม่น้ำจากผู้อื่นเท่านั้น การแต่งตัวเป็นคนจากอีกฟากฝั่งของสังคมที่พวกเขาไม่เคยสัมผัสด้วยเหตุผลที่จะเรี่ยไรเงินเพื่อการกุศลก็ไม่ทำให้พวกเขาเข้าใจคนจนอย่างแท้จริง แสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่มีในสังคมและทำให้ผู้อ่านตระหนักว่าช่องว่างของคนจนและคนรวยก็ยังคงอยู่ต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง

    นอกจากนี้ยังมีการแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่างชีวิตของคนชนบทที่ทำงานเลี้ยงชีพด้วยแรงงานที่หาความบันเทิงที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานในแต่ละวันได้จากการฟังละครวิทยุและโฆษณาจากวิทยุทรานซิสเตอร์หรือนานๆ ทีก็มีเทศกาลรื่นเริง มีเวทีประกวดเพลงลูกทุ่ง รวมไปถึงร้านขายยาที่มาฉายหนังให้ชาวบ้านดูบ้างตามโอกาส กับชีวิตของคนบางกลุ่มในเมืองใหญ่ที่มีอุตสาหกรรมบันเทิงเป็นแหล่งรายได้ใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนจำนวนมากตั้งแต่ระดับนายทุนใหญ่ลงมาจนถึงเด็กทำความสะอาด ผู้เขียนจับประเด็นข้างหลังม่านของคนที่ต้องทำงานแลกเงินในวงการดนตรีที่คนนอกไม่ได้ให้ความสนใจมากนักมาพูดถึงทั้งเรื่องวิธีการไต่เต้าที่ใช้เต้าไต่ของเหล่านักร้องสาวๆที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในฐานะนักร้องแถวหน้า กับคนบางกลุ่มที่อับหนทางก็ต้องเปลี่ยนจากนักร้องมาเป็นหางเครื่องแม้แต่แผนก็รำพึงกับตัวเองถึงเส้นทางที่ตัวเองเฝ้าใฝ่ฝันและมองจากประสบการณ์ชีวิตผู้อื่นไว้ว่า“ที่แน่ๆ มันไม่ใช่วิถีทางกลีบกุหลาบ บางทีออกจะมืดมนไร้หลักประกัน” (วัฒน์วรรลยางกูร. 96)

    ลีลาภาษาที่ผู้เขียนใช้บรรยายความสิ้นหวังของตัวละครก็ช่วยขับให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมและเข้าใจถึงความยากลำบากที่ตัวละครต้องประสบเป็นอย่างมาก “แล้วก็เงียบเหงาดังเดิม ชีวิตช่วงนี้เป็นเช่นนี้ ชั่วโมงหนึ่งอยู่กับดวงหน้าหลากหลานับร้อยนับพันมิอาจจดจำ อีกชั่วโมงถัดมาอยู่กับดวงหน้าที่คุ้นเคยในกระจกเงา…อยู่กับตัวเอง ในนาทีเหงาเช่นนี้ ภาพฝันปรากฏในอากาศไม่เลือกเวลากลางวันหรือกลางคืน … เมื่อไหร่จะได้หวนคืน” (วัฒน์วรรลยางกูร. 99ซึ่งสามารถถ่ายทอดความอ้างว้างของคนที่รู้สึกตัวเล็กกระจ้อยร่อยในเมืองใหญ่ที่มีตึกสูงเสียดฟ้าทันสมัยแต่ก็หาความสงบสุขทางกายและใจไม่ได้เพราะชีวิตไม่อาจจะดำเนินได้ตามที่หวังได้เป็นอย่างดี

    อย่างไรก็ตามด้วยในท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่แผนหลีกหนีมาตลอดก็ไล่ตามเขาทัน ตัวละครเอกตัวนี้ต้องเข้าคุกรับผลกรรมในสิ่งที่ก่อทั้งหนีทหารและโทษที่วิ่งราวกระชากสร้อยทองที่มารู้ทีหลังว่าเป็นของปลอม ในวันนี้แผนถูกลงโทษจากการเริ่มต้นการพยายามเอื้อมคว้าความฝันที่เลือนรางตั้งแต่เริ่มแรกและต้องกลับไปยอมรับความเป็นจริงที่กระแทกใส่หน้าซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งการโดนจับไปทำงานตักอุจจาระปลูกผักเป็นเวลาหลายปี และการซมซานกลับบ้านหลังออกจากคุกไปพบว่าเมียรักได้อยู่กินกันผู้ชายคนใหม่ซึ่งได้ทิ้งเธอไปแล้วเช่นกัน ผู้เขียนแสดงตัวอย่างของคนที่มีความฝันอันยิ่งใหญ่ และนำเสนอมุมมองของชีวิตตัวละครที่ซึ่งเขานำมาให้ผู้อ่านเห็นว่าลำพังแค่มีความฝันก็ไม่อาจจะทำให้เป็นจริงได้เสมอไปแผนกลับบ้านมาอย่างนกหักปีกที่ได้รับบทเรียนชีวิตมากมาย ได้เห็นโลกและความคิดการกระทำของผู้คนที่ปฏิบัติต่อคนด้วยกันอย่างแตกต่างและแบ่งแยกและสิ่งสุดท้ายที่เขาเหลืออยู่คือครอบครัวที่เป็นเหมือนที่เดียวที่เขากลับไปได้ แผนกลับไปยังบ้านบางน้ำไหลและพ่อแม่ลูกได้กลับมาอยู่กันพร้อมหน้า ณ สถานที่สุดท้ายปลายทางซึ่งก็เป็นที่ๆ เริ่มต้นเรื่องราวทั้งหมดที่นักเขียนวางเอาไว้อย่างแยบยลและลึกซึ้งกินใจ

     

    อ้างอิง

    วัฒน์วรรลยางกูร. (2558) มนต์รักทรานซิสเตอร์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: ไรท์เตอร์. 

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in