อ่านจบแล้ว
สิทธารถะ (Siddhartha)
โดย เฮอร์มานน์ เฮสเส (Hermann Hesse)
แปลโดย สดใส
หนทางสู่การบรรลุ ไม่ได้จำเป็นต้องมีหนึ่งเดียว...
หากใครเคยได้รู้จัก 'เดเมียน' หรือ 'สเตปเปนวูล์ฟ' ย่อมต้องคุ้นหูหรือรู้จักชื่อของนักเขียนลูกครึ่งเยอรมัน-สวิส ผู้ชื่อว่า 'เฮอร์มานน์ เฮสเส'
แต่โดยส่วนตัวแล้ว 'สิทธารถะ' คือ จุดเริ่มต้นของเราที่ได้ทำความรู้จักกับ 'เฮอร์มานน์ เฮสเส' เราเคยได้ยินคำล่ำลือถึง เดเมียน มาบ้าง แต่ก็ยังไม่ได้เป็นตัวกระตุ้นให้เราได้หาหนังสือเล่มนั้นมาอ่านเพื่อทำความรู้จักกับเฮสเส
จนกระทั่งวันหนึ่งที่เราไปเดอนร้านหนังสือและสะดุดตากับหนังสือชื่อ 'สิทธารถะ' ชื่อนี้ทำให้หวนนึกถึง ชื่อของพระพุทธเจ้าผู้นิพพานในศาสนาพุทธ อีกทั้งสิ่งที่สะดุดตายิ่งกว่าคือชื่อ 'เฮอร์มานน์ เฮสเส' ตอนนั้นได้แอบแง้มอ่านเพียงเล็กน้อยก็พบความน่าสนใจที่เนื้อเรื่องของหนังสือเล่มนี้ มีฉากเป็นอินเดียในช่วงพุทธกาล เราตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มนั้น ด้วยเหตุผลสองอย่าง อย่างแรกคือการเรื่องราวที่เริ่มต้นในเรื่อง และอย่างที่สองคือ เราเกิดความสงสัยว่ามุมมองชาวตะวันตกที่เขียนหนังสือถือการนิพพานของพระพุทธเจ้านั้นจะเป็นอย่างไร
อย่างที่ได้เกริ่นไปว่า หนังสือเล่มนี้ มีฉากหลังเป็นเรื่องราวช่วงพุทธกาล ในระหว่างที่พระพุทธเจ้า ตรัสรู้ และปรินิพพาน แต่ทว่า เรื่องราวไม่ได้ไปมุ่งประเด็นที่เรื่องราวของพระพุทธเจ้าโดยตรง แต่มุ่งไปที่ 'สิทธารถะ' หนุ่มน้อยผู้เกิดในวรรณะพราหมณ์ ที่ได้ตัดสินใจจากบ้าน จากครอบครัว เพื่อไปแสวงหาหนทางแห่งการหลุดพ้น พร้อมกับเพื่อนของเขา ด้วยความที่สิทธารถะ เป็นผู้เรียนรู้วิชาต่าง ๆ ได้ไว เพียงเวลาไม่นาน วิชาความรู้ของเขาก็ล้ำหน้าเกินกว่าครู อาจารย์ของเขา ทำให้ 'โควินทะ' เพื่อนของเขาได้ชวนเขาไปฟังธรรมของ 'พระสมณโคดม' (พระพุทธเจ้า) ตอนนั้นเองที่โควินทะ เพื่อของเขาเลื่อมใสจนตัดสินใจขอบรรพชากับพุทธองค์ ซึ่งภายหลังสิทธารถะได้เข้าไปสนทนากับพระสมณโคดมโดยลำพัง สิทธารถะก็รู้สึกเลื่อมใส ทว่าเขาก็ยังคงเลือกที่กลายเป็นผู้ที่แสวงหาหนทางแห่งการหลุดพ้นของตนเองต่อไป
เมื่อสิทธารถะได้เดินทางต่อ เขาไม่ได้มุ่งไปในทางปฏิบัติธรรมอย่างที่เขาตั้งใจ ทว่าเขาได้เข้าไปเรียนรู้หนทางแห่งโลกมากยิ่งขึ้น เขาได้รู้จักการเสพตัณหาจากสตรี เสพการมีทรัพย์สมบัติ ลาภยศ และลุ่มหลงมัวเมาในความโลภและกิเลส กระทั่งวันหนึ่งที่เขารู้สึกรังเกียจสิ่งที่ตนเองเป็น เขาก็ละทิ้งทุกอย่าง ตั้งใจจะฆ่าตัวตาย ทว่าก็ได้พบกับ 'โควินทะ' สหายเก่าผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ และได้พบกับ 'วาสุเทพ' ชายถ่อเรือข้ามแม่น้ำ ที่ทำให้สิทธารถะได้เรียนรู้และค้นพบสิ่งที่เฝ้าแสวงหามาเนิ่นนาน
โดยส่วนตัวแล้วหลังอ่านหนังสือเรื่อง 'สิทธารถะ' จบลง เรารู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้มีความเป็นนิยายปรัชญาที่ทำให้อ่านไปขบคิดไปเรื่อย ๆ เนื่องด้วยเรื่องราวมีความพยายามถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ ความศรัทธาของอินเดียโบราณ ที่ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นรากฐานของศาสนาในประเทศไทย
เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ เรารู้สึกว่าการตั้งคำถามกับศาสนาของเราหรือของคนรุ่นใหม่เริ่มจะไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เพราะสิ่งที่เราจับประเด็นได้จากหนังสอเล่มนี้และเราค่อนข้างสนใจกับมัน เพราะมันทำให้เราได้คิดว่า 'นอกจากหลักศาสนาแล้ว เรายังมีหนทางอื่น ๆ ที่เป็นแนวทางการบรรลุหรือไม่' หนังสือเล่มนี้พยายามอธิบายในคำถามนั้นของเรา
เรามองว่าหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างเป็นหนังสือที่เป็นหนังสือเชิงปรัชญาและการวิพากษ์ เพราะส่วนหนึ่งแล้วเหมือนทำให้เราได้ทบทวนเรื่องของ 'ตัวตน' 'จิตวิญญาณ' แล้ว ยังพูดไปในเชิงของการวิพากษ์หลักธรรมคำสอนของศาสนาได้อย่างน่าสนใจ
แน่นอนว่าหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างเหมาะสำหรับใครก็ตามที่ชื่นชอบอะไรที่อ่านแล้วต้องตีความ ต้องขบคิดหนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับคุณ นอกจากนี้หากว่าใครที่กำลังตามหาตัวตนของตนเอง หรือเป็นผู้แสวงหาความหมายของชีวิต หนังสือเล่มนี้เหมาะเป็นไกด์ไลน์ให้คุณได้ค้นหาตนเอง
ตรงกันข้าม เล่มนี้จะไม่ค่อยถูกจริตกับคนที่กำลังมองหาอะไรที่อ่านง่าย ถึงเรื่องนี้จะมีเรื่องราวที่เรียบง่าย ไม่ยืดยาว แต่ค่อนข้างเข้าถึงยากเมื่อเรื่องราวมาถึงการพูดถึงเรื่อง 'จิตวิญญาณ' 'หนทางแห่งการบรรลุ' บางครั้งบางบทสนทนาระหว่างตัวละครก็ต้องพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่แฝงอยู่ในบทสนทนาเหล่านั้น ซึ่งใครที่ต้องการอ่านอะไรไม่ซับซ้อน ตรงส่วนนี้อาจต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ หรือไม่ก็อาจทำให้ผู้อ่านตัดสินใจข้ามกรทำความเข้าใจในส่วนนี้ไป
อย่างไรก็ตาม เราว่าหนังสือเล่มนี้น่าสนใจ หากใครได้ลองเปิดใจหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน เราเชื่อว่าคุณอาจได้มองเห็นแง่มุมมใหม่ ๆ ที่คุณอาจจะไม่เคยคาดคิดหรือเคยตั้งคำถามกับสิ่งน่าสงสัย จากหนังสือเล่มนี้อย่างแน่นอน.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in