#อ่านจบแล้ว
โจนาสกับผู้ให้ (The Giver) โดย Lois Lowry
Dystopia ภายใต้เปลือกนอกของ Utopia
วรรณกรรมเยาวชนที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1994 แต่ทุกอย่างไม่เก่า แฝงไปด้วยการวิพากษ์สังคม
และมีกลิ่นอายของ Coming of Age...
หากพูดถึงนิยายแนว Dystopia หลายคนอาจนึกถึงวรรณกรรมชื่อดังอย่าง ‘1984’ ของ George Orwell หรือถ้ากล่าวถึงเรื่องที่ร่วมสมัยขึ้นหน่อยก็น่าจะเป็นเรื่อง ‘The Hunger Games’ ของ Suzanne Collins ที่หนังสือทั้งสองเล่มเป็นเรื่องเล่า ภาพแทนของโลกที่มีสภาพสังคมอันโหดร้าย น่าสิ้นหวัง และแน่นอนว่าในประเทศไทยหนังสือทั้งสองเล่มมักถูกกล่าวถึงในช่วงเวลาที่มีประเด็นทางการเมืองสำคัญ ๆ
ถ้าหากพูดถึงหนังสือ ‘โจนาสกับผู้ให้’ หนังสือเล่มนี้ก๋เป็นหนังสือเล่มแรกในหนังสือ 4 เล่มของซีรี่ย์ The Giver ของ Lois Lowry ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือแนว Dystopia อีกเล่มหนึ่ง แต่กลิ่นอายของหนังสือเล่มนี้มีความแตกต่างจากทั้งสองเล่มที่ได้เกริ่นไป เพราะเรื่องราวตอนเริ่มต้น ผู้อ่านจะรับรู้ถึงสภาพสังคมคอมมูนิตี้ที่ดีงาม มีแต่ความเท่าเทียม ทุกอย่างถูกจัดสรรให้ทุกอย่างอย่างดี เท่าเทียม อ่านแล้วก็รับรู้ได้ว่าเหมือน ‘โจนาส’ เด็กชายอายุ 11 ย่าง 12 ในเรื่องได้อาศัยอยู่ในสังคมที่มีภาพฝันแบบ ‘ยูโทเปีย’ ทว่าเมื่ออ่านไปเรื่อย ๆ เราจะกลับรับรู้ได้ว่า สังคมที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้กลับเป็นเหมือน ‘ขนมหวานที่แฝงยาพิษ’
เนื่องจากสังคมที่โจนาสอาศัยอยู่ นั้นนอกจากมีการสร้างจิตสำนึกแห่งความเท่าเทียม ยังมีการ ‘จัดการ’ กับสิ่งต่าง ๆ ที่เป็น ‘ต้นเหตุ’ ของความไม่เท่าเทียม เช่น ‘กระจก’ ซึ่งถูกจำกัดหรือถูกทำให้แทบไม่มีอยู่ เพื่อจะได้ทำให้ผู้คนไม่เห็นภาพลักษณ์ที่แตกต่างของตนเองและคนอื่น , ‘สี’ สิ่งซึ่งถูกทำให้ผู้คนในชุมชนไม่สามารถมองเห็นได้ เพราะจะทำให้ทุกคนเห็นความแตกต่าง , ‘สภาพอากาศ’ เพื่อชุมชนสามารถเพาะปลูกได้ตลอดเวลา ชุมชนแห่งนี้จึงมีการควบคุมสภาพอากาศเอาไว้ และยังรวมถึง ‘ความรู้สึกบางอย่าง’ เช่น ความรัก ความต้องการ ที่ต้องถูกควบคุมไว้เมื่อชายหญิงแต่ละคนถึงวัยที่สมควรจะมีความรู้สึกเหล่านั้น พวกเขาจะต้องทานยา เพื่อระงับความรู้สึกเอาไว้ หากถามว่า ‘เด็ก’ ในชุมชนเกิดจากไหน สำหรับชุมชนแห่งนี้ ไม่ได้กำเนิดจากการมีเพศสัมพันธ์ของพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด แต่หนึ่งหน่วยครอบครัวที่ประกอบด้วยชายและหญิง ต้องส่งยื่นคำร้องขอรับเด็กมาอุปการะ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เด็กได้รู้ว่าใครคือพ่อแม่ที่แท้จริง--สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างของสิ่งที่เกิดขึ้นภายในโลกสังคมแห่งความเท่าเทียมที่โจนาสอาศัยอยู่
ซึ่งในส่วนของพล็อตหนังสือเล่มนี้ เรามองว่ามันมีความเป็น Coming of Age แฝงอยู่นิด ๆ เนื่องจากเรื่องราวมีอยู่ว่า เมื่อเด็ก ๆ ในชุมชนแห่งนี้มีอายุครบ 12 ปี ทุกคนจะได้รับมอบหมาย ‘งาน’ อันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการอยู่อาศัยในชุมชน โดยงานของแต่ละคนจะถูกมอบหมายโดย ‘ผู้อาวุโส’ ซึ่งเป็นผู้สอดส่องเฝ้ามองดูพฤติกรรมของทุกคนในชุมชนตลอดเวลา และในปีนี้เมื่อพิธีรับมอบมาถึง โจนาส ได้รับเลือกให้เป็น ‘ผู้รับความทรงจำ’ เมื่อโจนาสต้องมาทำหน้าที่เป็น ‘ผู้รับความทรงจำ’ ผู้รับความทรงจำคนเก่า ก็จะถูกเรียกว่า ‘ผู้ให้’ -- ซึ่งก็เป็นตามชื่อหนังสือเล่มนี้
เนื่องจากประชาชนของชุมชนแห่งนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้มีความทรงจำจากอดีต ดังนั้น ที่ชุมชนจึงมีผู้รับความทรงจำเพียงคนเดียวในชุมชนและจะต้องมีผู้ถูกเลือกให้มาสืบทอดหน้าที่นี้ต่อ ซึ่งความทรงจำของอดีตในที่นี้ไม่ใช่เพียงอดีตของชุมชน แต่ยังรวมถึงความทรงจำจากอดีตที่ย้อนไปไกลโพ้น อดีตในยุคสมัยที่ยังมีความแตกต่าง
เมื่อโจนาส ได้รับความทรงจำจากอดีต ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ความทรงจำที่มีความสุข ความทรงจำแห่งความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน สงครามและอื่น ๆ ยิ่งโจนาสได้รับมาเท่าไหร่ โจนาสยิ่งได้เรียนรู้และเขาก็ยิ่งได้ตั้งคำถามกับชุมชนแห่งนี้ จนกระทั่งวันหนึ่งโจนาสก็ได้คิดแผนการกับ ‘ผู้ให้’ ว่าเขาจะไปจากชุมชนแห่งนี้ เพราะมีเงื่อนไขของผู้รับความทรงจำว่า เมื่อใดก็ตามที่เขาละทิ้งหน้าที่ของเขา ความทรงจำต่าง ๆ ที่เขาเคยได้รับ จะกลับไปหาคนในชุมชนทุกคน พวกเขาจะได้รับรู้ถึงอดีตที่โจนาสเคยได้รับรู้ โจนาสและผู้ให้ต้องการให้ประชาชนในชุมชนได้รบรู้ถึงบางสิ่งบางอย่างที่เป็นสิ่งน่ากังขาที่เขาได้ตระหนักขึ้น และอยากให้คนในชุมชนรับรู้และเรียนรู้กับมัน
สำหรับหนังสือเล่มนี้ แม้จะเป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่มีจำนวนหน้าเกือบ ๆ 200 หน้า แต่กลับเต็มเปี่ยมไปด้วยความสนใจในเนื้อหาของเรื่องราว สำหรับเรา ได้หนังสือเล่มนี้มานานแล้ว ทว่ายังไม่เคยเปิดอ่านจริงจังสักครั้ง ส่วนหนึ่งเพราะเราเคยดูหนังเรื่องนี้ที่ถูกฉายในปี 2014 และค่อนข้างชื่นชอบในเนื้อหาและเรื่องราว แต่แน่นอนว่าในหนังย่อมมีการดัดแปลงเนื้อหาจากหนังสืออยู่บางส่วน เพื่อความตื่นเต้นและเรื่องราวที่น่าสนใจ ในหนังครั้งแรกที่ดูเราตื่นเต้นมากเพราะหนังฉลาดเล่าด้วยการใช้โทนสีให้ทั้งเรื่องเป็นสีเทาในตอนเริ่มต้น เหมือนในหนังสือที่บอกว่าทุกคนไม่เห็นถึงความแตกต่างและไม่เคยรู้จัก ‘สี’ แต่เมื่อโจนาสมองโลกเปลี่ยนไป ทุกอย่างก็มีสีสันขึ้นมา ระยะเวลาชั่วโมงครึ่งในหนังทุกอย่างเพลินและกลมกล่อมมาก
กลับมาที่หนังสือเล่มนี้ ช่วงแรกของหนังสือสำหรับเราแล้วค่อนข้างลำบากนิดหน่อย อาจเพราะเรารู้เนื้อหาบางส่วนจากหนังมาแล้ว ความตื่นเต้นตอนเปิดเรื่องจึงหดหาย เราใช้เวลากับตอนต้นของหนังสืออยู่พักใหญ่ แล้วมาเริ่มสนุกจากการเริ่มจับผิดความแตกต่างจากหนังและหนังสือ
หนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1994 น่าตกใจมากที่เนื้อหาแทบทั้งเล่มกลับดูร่วมสมัย หนังสือเล่มนี้เหมือนเป็นอีกเล่มหนึ่งของวรรณกรรมแนะนำสำหรับเยาวชน เราเห็นด้วยว่าเล่มนี้ควรอ่าน เพราะมันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สังคม ที่ชี้ให้เห็นว่าแม้ทุกอย่างที่เราพบเห็นจะดี เลิศเลอ หรือสมบูรณ์แบบ แต่ความสมบูรณ์แบบทุกอย่างที่เรามองเห็น ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามกับมันว่าที่เราคิดว่ามันดีแล้วเพราะเราชินกับมัน หรือเรากำลังถูกครอบงำโดยไม่รู้ตัวกันแน่
นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้ยังชี้ให้อีกส่วนที่สำคัญคือ ‘สิทธิ์การเลือก’ เพราะในหนังสือพยายามห้ามไม่ให้ประชาชนในชุมชนของโจนาสได้แตกต่าง ทุกอย่างถูกจัดสรรโดยที่ประชาชนไม่เคยมีสิทธิ์เลือก แต่โจนาสได้กระทำสิ่งที่แตกต่างคือเขาเลือกที่จะไปจากชุมชนแห่งนี้ แม้ว่าเขาจะไม่รู้ว่าจุดหมายของเขาจะไปที่ไหน หนทางที่เขาเลือกจะถูกหรือผิด แต่เขาขอเลือกมัน เขายินดีจะเสี่ยง ยินดีจะเจ็บปวด ยินดีที่จะเติบโตในเส้นทางตัวเอง และยินดีที่จะออกไปเจอโลกกว้างแทนที่จะติดอยู่ในชุมชนที่มีแต่ ‘ความเหมือน’--ในส่วนนี้เรามองว่ามันโคตรจะแฝงความคิดแบบ Coming of Age และถ้ามองในมุมความคิดทางการเมืองก็โคตรจะเสรีนิยมเลย ถือเป็นหนังสือดีที่อ่านในช่วงประท้วงการเมืองได้ดีมาก แล้วถ้าอ่านแล้วนึกถึงน้อง ๆ มัธยมที่ออกมาประท้วงการเมือง หรืออ่านแล้วนึกถึงประเด็นการแก้ ‘กฎหมาย’ ไปด้วยก็ยิ่งอินไปกันเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้มาก—เราแอบคิดว่าหนังสือเล่มนี้แซะการแก้กฎหมายไว้ด้วยว่าเป็นเรื่องที่แก้ยากมาก อ่านถึงตรงแอบคิดว่าแซะไทยรึเปล่านะ
เราว่าหนังสือเล่มนี้มีอะไรให้ชวนคิด ชวนตั้งคำถามเยอะมาก และดีมาก ถ้าอ่านผ่าน ๆ ก็เป็นหนังสือที่สั้น กระชับ บรรยายไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร ทว่าเมื่ออ่านแล้วคิดลึกลงไป ตีความต่าง ๆ ก็เป็นหนังสือที่น่าสนใจมาก เล่มนี้ใครถนัดเรื่องการวิเคราะห์วรรณกรรมหรือชื่นชอบพวกแนวคิดปรัชญา สังคมวิทยา หรือการเมืองเล่มนี้เป็นเล่มที่เหมาะแก่การแนะนำให้อ่าน
หนังสือเล่มนี้เรายังไม่ได้อ่านอีกสามเล่มที่เหลือของซีรี่ย์ The Giver ตอนจบของหนังสือเล่มนี้สำหรับเราจึงเป็นปลายเปิดที่ยังไม่มีบทสรุปที่แน่ชัด ถ้าใครไม่ชอบหนังสือที่ต้องอ่านเล่มต่อหรือหนังสือที่ไม่ได้จบแบบสมบูรณ์อาจจะขัดใจเล็กน้อยกับหนังสือเล่มนี้
ส่วนใครที่สนใจเล่มนี้ เราคิดว่าอาจจะตามหายากหน่อย เพราะถ้าหาตามร้านหนังสือชั้นนำฉบับแปลไทยของหนังสือเล่มนี้ถูกขายไปหมดแล้ว อาจต้องตามหาเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษมาอ่าน แต่ตามเท่าทราบมาภาษาอังกฤษของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้อ่านยากมากนัก แต่หากใครหาเล่มนี้ไม่ได้ แต่อยากเข้าใจเนื้อหาโดยรวม เราแนะนำดูหนังค่ะ มีปรับเนื้อหาบ้างแต่ประเด็นหลักครบถ้วนค่ะ.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in