เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เรียนรู้เรื่องใกล้ตัวในมุมสังคมวิทยาSaGaZenJi
สำเนียงส่อกริยา ภาษาส่อสกุล
  •        ภาษาถือเป็นเครื่องมือหลักของคนในสังคมเพื่อใช้ในการสื่อสาร ภาษาเป็นยานพาหนะของความคิดที่มนุษย์ใช้ในการแลกเปลี่ยนความรู้สึก ความเห็น รวมถึงความต้องการต่าง ๆ ความสนใจในภาษาของมนุษย์ได้สะท้อนให้เห็นจากการเกิดขึ้นของสาขาวิชาอย่างภาษาศาสตร์ที่ศึกษาแง่มุมทางภาษาในด้านต่าง ๆ และสาขาวิชาอื่น ๆ เช่น จิตวิทยา มานุษยวิทยา รวมถึงสังคมวิทยาเองก็มีแขนงที่มุ่งเน้นทำความเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของภาษากับสังคมอยู่เช่นกัน

           บทความในครั้งนี้ ผมอยากชวนผู้อ่านมาลองทำความเข้าใจบทบาทของภาษาในสังคมมนุษย์โดยการมองผ่านประเด็นอย่าง "ชั้นทางสังคม (social class)" กันดูบ้าง ผมจะนำผู้อ่านไปเจออีกด้านหนึ่งของภาษา ด้านที่แสดงให้เห็นว่าภาษาเองก็มีอำนาจมากพอ ๆ กับเงินหรือชื่อเสียงที่เรามักใช้จัดคนรอบ ๆ ตัวเราออกเป็นกลุ่ม ๆ

           บทความในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกผมจะนำผู้อ่านไปทำความเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับการจัดช่วงชั้นทางสังคม รวมถึงวิวัฒนาการและประเด็นในเชิงแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับช่วงชั้น ส่วนที่สองผมจะพูดถึงมิติต่าง ๆ ของภาษาที่สัมพันธ์กับช่วงชั้นทางสังคมและนำเสนอมุมมองของภาษาในฐานะภาพสะท้อนชนชั้น

    สังคมไร้ช่วงชั้นไม่มีอยู่จริงบนโลก?

           การแบ่งช่วงชั้นทางสังคม (social stratification) เป็นกระบวนการที่สังคมจำแนกสมาชิกภายในสังคมด้วยเกณฑ์ต่าง ๆ เกณฑ์เหล่านั้นทำให้สมาชิกในสังคมที่มีลักษณะคล้าย ๆ กันถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ในขณะที่สมาชิกที่มีลักษณะต่างออกไปจะถูกจัดให้อยู่คนละกลุ่ม 

           ผมอยากชวนให้ผู้อ่านคิดตามสิ่งที่ผมได้กล่าวไป แบบนี้ว่า กระบวนการแบ่งช่วงชั้นทางส้ังคมที่ว่านี้สร้างความเป็นปึกแผ่น (social solidarity) ให้เกิดขึ้นในสังคมพร้อม ๆ กับความแปลกแยก (social differentiation) กล่าวคือ สมาชิกในสังคมที่อาศัยอยู่ในกลุ่มเดียวกันจะมีความรู้สึกร่วมกัน ในเวลาเดียวกันสมาชิกกลุ่มนี้ก็รู้สึกว่าตนเองแตกต่างกับคนในกลุ่มอื่น ๆ นักสังคมวิทยาเชื่อว่านี่เป็นลักษณะที่ปกติและเกิดขึ้นกับสังคมทุกสังคมบนโลก ภาพสังคมที่ไร้การจัดช่วงชั้นเป็นภาพสังคมที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก ยังคงเป็นภาพที่อยู่ในอุดมคติ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเกิดสังคมไร้ช่วงชั้นเป็นไปได้ยากอาจมีสาเหตุตั้งแต่ในระดับปริชาน (cognitive) ของมนุษย์ซึ่งมีลักษณะชอบแยกแยะสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเองออกเป็นจำพวก (category) มนุษย์ใช้ความสามารถนี้ในการแยก เสียง /r/ ออกจากเสียง /l/ แยกเห็ดที่กินได้ออกจากเห็ดมีพิษ แยกสีแดงออกจากสีส้ม รวมถึงแยกมนุษย์ด้วยกันเองออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ด้วย

           โดยทั่วไปแล้วความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเป็นความสัมพันธ์ในแนวดิ่ง (hierarchical relation) คือ มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเหนือกว่าอีกกลุ่มหนึ่งเสมอ นักสังคมวิทยาเช่น Gumplowicz และ Oppenheimer เชื่อว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธรรมชาติของการจัดช่วงชั้นเป็นเช่นนี้เพราะการจัดช่วงชั้นของมนุษย์มักเกิดขึ้นในบริบทของการเข้ายึดครองพื้นที่ (conquering) มาตั้งแต่ในอดีต หากกลุ่มผู้รุกรานสามารถยึดครองพื้นที่ได้สำเร็จ กลุ่มเหล่านั้นก็จะตั้งตนเป็นใหญ่โดยอ้างชัยชนะจากการต่อสู้เป็นเหตุผล กลุ่มผู้แพ้จึงตกอยู่ในสถานภาพทางกำลังที่ด้อยกว่าไปโดยปริยาย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นช่วงชั้นทางสังคมที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างทางกำลัง ในแน่งี้เองครับที่กำลัง (power) ซึ่งผมขอให้คำจำกัดความไว้ว่า "ความสามารถในการควบคุมสิ่งรอบข้าง" กลายเป็นเกณฑ์แรกที่ใช้ในการจัดช่วงชั้นทางสังคม

           อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่นักสังคมวิทยาทุกคนชื่นชอบคำอธิบายเช่นนี้ นักสังคมวิทยาอย่าง Sorokin ตั้งคำถามกับคำอธิบายข้างต้นอยู่เหมือนกันครับ Sorokin มองอีกมุมหนึ่งว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการปะทะระหว่างผู้รุกรานกับชนพื้นเมืองอำนวยให้เกิดการแบ่งช่วงชั้นก็จริง แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักเพียงอย่างเดียว เนื่องจากสังคมอีกหลายสังคมบนโลกก็มีการแบ่งช่วงชั้นโดยปราศจากสงครามหรือการปะทะกันระหว่างกลุ่มต่าง ๆ Sorokin เสนอว่าอันที่จริงแล้วการแบ่งช่วงนั้นอาจมีบ่อเกิดมาจากสภาพแวดล้อมภายนอกที่แตกต่างกันของมนุษย์แต่ละคนอยู่อยู่แล้ว ลักษณะทางกายภาพ เช่น สีผิว สรีระ สถานที่เกิด หรือเชื้อชาติ เป็นสิ่งที่สามารถใช้จัดช่วงชั้นทางสังคมได้เช่นเดียวกัน ผมชวนผู้อ่านคิดตามแบบนี้ครับว่า กลไกเบื้องหลังที่ทำให้ลักษณะทางกายภาพกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการจำแนกช่วงชั้นมีสาเหตุมาจากลักษณะทางกายภาพเหล่านี้ได้รับการให้คุณค่าทางสังคมครับ คุณค่านี้มาจากข้อตกลงร่วมกันของคนในสังคมแต่ละสังคมซึ่งแตกต่างกันได้ คนไทยอาจมองผู้ชายที่ดีหรือน่าพอใจด้วยลักษณะสรีระแบบหนึ่ง ในขณะที่คนญี่ปุ่นก็อาจจะมีลักษณะที่ดีของผู้ชายที่พึงประสงค์อีกแบบหนึ่ง แต่ไม่ว่าลักษณะคนทั่วไปเห็นว่าดีหรือเป็นที่ชื่นชอบจะมีรายละเอียดอย่างไร คนที่เข้าข่ายลักษณะดังกล่าวจะได้รับ "ศักดิ์ศรี (prestige)" มากกว่าคนอื่น คำว่าศักดิ์ศรีในที่นี้ผมขอนิยามว่า "มาตรลักษณะที่สมาชิกในสังคมเห็นว่าพึงประสงค์" เมื่อคนจำพวกหนึ่งมีศักดิ์ศรีมากกว่าคนอื่น คนจำพวกนั้นมีแนวโน้มที่จะได้รับความสะดวกสบายอะไรบางอย่างหรือได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าใช้บริการมากกว่าคนปกติ ถ้าเรามองมุมนี้เราจะเห็นว่าคนพวกนั้นก็มีอำนาจไม่ต่างจากพวกที่ใช้กำลังเข้ายึดครองพื้นที่ ข้อแตกต่างเดียวเห็นจะเป็นเรื่องที่มาของอำนาจที่เกิดจากการเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมนั่นเองครับ พอถึงตรงนี้ผมเลยอยากจะชวนผู้อ่านคิดตามแบบนี้ครับว่า นอกจากอำนาจเชิงกายภาพที่ใช้กำลังในการได้มาแล้ว การจัดช่วงชั้นทางสังคมยังเกิดขึ้นได้จากอำนาจทางสังคมผ่านกลไกเรื่องศักดิ์ศรีอีกทางหนึ่งด้วยครับ

           แนวคิดอีกแนวคิดหนึ่งเกี่ยวกับการจัดช่วงชั้นทางสังคมที่ผมอยากจะฝากไว้คือแนวคิดของนักปรัชญาประวัติศาสตร์ที่มีชื่อว่า Spengler ครัับ Spengler ให้แง่มุมการเกิดช่วงชั้นทางสังคมไว้น่าสนใจทีเดียว โดยกล่าวว่า อันที่จริงแล้วต้นกำเนิดของการจัดช่วงชั้นทางสังคมมาจาก "ความขาดแคลน (scarcity)" ครับ ในที่นี้ผมขอให้ความหมายคำว่า "ความขาดแคลน" ของ Spengler ไว้ว่า "ภาวะที่การผลิตไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนส่วนมากในสังคมได้" นะครับ ถ้าเรามองตามที่ Spengler กล่าว เราจะเห็นว่า เมื่อสังคมมีทรััพยากรไม่เพียงพอต่อความต้องการของทุกคน จะมีคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่ยังเข้าถึงทรัพยากรได้ ซึ่งผมอยากชวนผู้อ่านคิดตามแบบนี้ครัับว่า ความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรในภาวะความขาดแคลน อันที่จริงเกิดจากการใช้กำลัังทางกายภาพไม่ก็อำนาจทางสังคมในการเข้าครอบครองครับ ไม่ว่าจะเข้าถึงทรัพยากรด้วยวิธีการแบบใด คนที่เข้าถึงทรัพยากรได้จะมีอำนาจขึ้นมาทันที  อำนาจที่มาจากการครอบครองทรััพยากรที่มากกว่าคนอื่นนี้เองที่ทำให้เกิดช่วงชั้นทางสังคม ในแง่นี้ผมอยากชวนผู้อ่านลองมองอีกครั้งครับว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น การสะสมทุน หรือการเข้าถึงทรัพยากรสามารถเป็นปัจจัยที่ใช้ในการจัดช่วงชั้นทางสังคมได้เหมือนกับสองเกณฑ์แรกที่ผมได้กล่าวไป

           จนถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าผู้อ่านคงเห็นภาพแล้วว่าในการแบ่งช่วงชั้นทางสังคม เกณฑ์ต่าง ๆ อาทิ กำลัง ศักดิ์ศรี หรือการเข้าถึงทรัพยากร ล้วนเป็นเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งช่วงชั้นทั้งสิ้น นักสังคมวิทยาจึงเกิดแนวคิดว่า แท้จริงแล้วการจัดช่วงชั้นทางสังคมเกิดจากการทำงานร่วมกันของเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ในการแบ่งคนออกเป็นกลุ่ม ๆ เราจึงควรมองการจัดคนโดยการเอาเกณฑ์เหล่านี้มาซ้อนทับกัน หากมองด้วยวิธีการเช่นนี้ เราก็น่าจะเห็นปฏิบัติการทางสังคมที่แบ่งคนออกเป็นกลุ่ม ๆ นี้ได้ดีขึ้น กรอบที่มองว่ากลไกทางสังคมหลาย ๆ ตัวทำงานผสานกันในการจัดแบ่งช่วงชั้นของคนในสังคมเช่นนี้เรียกว่ากรอบคิดแบบ intersectionality ครับ ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นจากนักคิดในฝั่งสตรีนิยม ผมคงไม่ได้นำมาลงรายละเอียดในบทความนี้มากนักแต่ผมแปะคลิปที่อธิบายกรอบแนวคิดนี้ไว้ดีมาก ๆ ให้สองคลิปแทนละกันครับ



           เมื่อสังคมมีการจััดช่วงชั้นทางสังคมเกิดขึ้น สังคมนั้นย่อมถูกแบ่งออกป็น "ชนชั้นทางสังคม" ต่าง ๆ Ogburn และ Nimkoff นิยามคำว่าชนชั้นทางสังคมว่า "กลุ่มของปัจเจกบุคคลกลุ่มใหญ่ ๆ ที่ได้รับการจัดอันดับให้แตกต่างกันด้วยสถานะทางสังคม" ผมอยากชวนผู้อ่านมองแบบนี้ครับว่า เจ้าสถานะทางสังคมที่ว่านี้คือการผสานกันของเกณฑ์ในการใช้จัดช่วงชั้นนั่นเอง ซึ่งได้แก่ สถานะทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม รวมถึง เพศ อายุ และเชื้อชาติด้วยครับ เมื่อสมาชิกในสังคมถูกจัดอยู่ในชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งสมาชิกเหล่านั้นก็จะมีจุดยืนทางสังคมที่ต่างจากสมาชิกชั้นอื่น ๆ และแน่นอนว่าชั้นทางสังคมเหล่านี้ก็มีรูปแบบความสัมพันธ์แบบแนวดิ่งเหมือนกัน กล่าวคือ จะมีชั้นที่มีสถานะสูงกว่าอีักชั้นหนึ่งครับ

           สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับชนชั้นทางสังคมคือ สถานะที่เหมือนกันนี้เองครับ สถานะที่เหมือนกันของคนในชั้นเดียวกันมีอำนาจมากกว่าที่คิด ผมชวนให้ผู้อ่านคิดแบบนี้ครับว่า เมื่อเราอยู่ชั้นเดียวกัน เราก็มักจะมีความรู้สึกดีกับคนที่มาจากชั้นเดียวกับเรา ผมขอยกสถานการณ์จำลอง เช่น เราไปเรียนภาษาที่ประเทศในแถบยุโรปที่มีโอกาสได้เจอคนจากแถบเอเชียน้อยมาก ๆ แต่วันหนึี่งนักเรียนใหม่ที่เข้ามาเรียนในเทอมนี้เป็นคนเอเชียเหมือนเรา เราจะรู้สึกอย่างไรครับ? ผมเชื่อว่าทุกคนน่าจะตอบว่ารู้สึก "ดี" คำถามผมคือ ทำไมเรารู้สึกเช่นนี้? ทั้ง ๆ ที่เรายังไม่ได้รู้จักเขาเลย คำตอบหนึ่งคือ เรามีอคติจากชนชั้นครับ สถานะทางชาติพันธ์ที่เหมือนกันกับเราทำให้เรามีแนวโน้มที่จะเข้าไปคุยหรือเปิดใจคุยกับนักเรียนใหม่คนนี้มากกว่าคนอื่น ๆ พอเห็นภาพไหมครับ? สถานะเดียวกันนี้เองที่ทำให้เกิดจิตสำนึกร่วมทางชนชั้น (class conciousness) พอเรามีจิตสำนึกในสถานะที่เหมือนกัน เราก็มีแนวโน้มที่จะแบ่งปันสิ่งต่าง ๆ ให้กันมากกว่าคนจากต่างชนชั้นครับ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เรามักแบ่งปันให้คนในชนชั้นเดียวกันมากกว่าคนจากชนชั้นอื่น ๆ คือ "การสื่อสาร (communication)" อาจฟังดูแปลก ๆ แต่ลองนึกถึงประสบการณ์การเข้าเรียนชั้น ม.4 หรือปี 1 สมัยมหาลัยดูสิครับ ผมเชื่อว่าในช่วงนั้น หากเรามีเพื่อนจากห้องเดียวกันหรือโรงเรียนเดียวกันมาด้วย เราน่าจะคุยกับเพื่อนเหล่านั้นมากกว่าเพื่อนใหม่ที่ไหนไม่รู้คนอื่น ๆ  หากไม่มี เราน่าจะมีแนวโน้มที่จะคุยกับเพื่อนเพศเดียวกันหรือมาจากถิ่นเดียวกันมากกว่า ทั้งนี้ผมไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นแบบนั้นไปตลอดนะครับ เพียงแต่ช่วงแรกที่เราไม่รู้จักใครเลยเรามีแนวโน้มที่จะเลือกเข้าหาคนที่มีสถานะแบบเดียวกับเรามากกว่าคนอื่น 

           หากนำภาพที่ผมเพิ่งยกไปมาขยายให้กว้างขึ้น เราจะพบว่าปฏิบัติการของการสื่อสารในสังคมเองก็ไม่ต่างจากเหตุการณ์จำลองสักเท่าไหร่ พอเป็นเช่นนี้การสื่อสารจึงเกิดกับคนในชั้นเดียวกันมากกว่าต่างชั้นกัน หากการติดต่อดำเนินในลักษณะเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ภาษาที่ใช้ในแต่ละชนชั้นก็จะมีอัตราแลกเปลี่ยนกันต่ำ อีกทั้งมีสิทธิ์ที่ภาษาเองก็จะมีความต่างกัน ในแง่นี้ผู้อ่านเริ่มเห็นว่าภาษาเข้ามามีบทบาทต่อการสะท้อนชนชั้นมากขึ้นไหมครับ?

           ประเด็นเรื่องการสื่อสารกับชนชั้นที่ผมกล่าวไปข้างต้นนี้ละครับเป็นแรงบรรดาลใจของส่วนถัดไปที่ผมจะนำผู้อ่านไปทำความเข้าใจภาษาในมุมมองที่ใช้เป็นเครื่องมือสะท้อนการแบ่งช่วงชั้นในมิติต่าง ๆ มุมมองที่ทำให้ภาษากลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่คนในสังคมใช้แบ่งช่วงชั้นทางสังคมระหว่างตัวเองกับคนอื่นได้เหมือนกับปัจจัยอื่น ๆ ก่อนหน้านี้
  • สำเนียงส่อกริยา ภาษาส่อสกุล

          การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับสังคมตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่า คนในช่วงชั้นต่าง ๆ มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง โดยอัตลักษณ์หนึ่งที่สะท้อนความเป็นช่วงชั้นเดียวกันคือ "ภาษา" นั่นเองครับ นักภาษาศาสตร์สังคมมองว่า ภาษาเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางวัฒนธรรมที่ใช้แยกช่วงชั้นคนได้ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น สำเนียง (accent) ครับ ทุกวันนี้สำเนียงก็ยังคงเป็นตัวแปรภาษาที่ใช้แบ่งช่วงชั้นหรือฐานะคนได้อยู่ ลองคิดถึงคนที่พูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงไทย ๆ กับคนที่พูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงเจ้าของภาษาสิครับ ผู้อ่านรู้สึกว่าใครน่าจะดูมีการศึกษาหรือฐานะทางสังคมที่สูงกว่ากัน? ผมเชื่อเหลือเกินว่าผู้อ่านทุกคนคงคิดในใจว่าเป็นคนที่มีสำเนียงอย่างหลังไม่มากก็น้อย กลไกที่ทำให้ภาษามีพลังในการแบ่งกลุ่มคนออกจากกันคือ ความหมายทางสังคม (social meaning) ที่ถูกใส่เข้าไปในรูปแปรภาษาหนึ่ง ๆ ครับ

           สิ่งที่น่าสนใจคือ ความหมายทางสังคมที่ถูดยัดเข้าไปในรูปแปรภาษารูปหนึ่ง ๆ นั้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อคนในสังคมมีความคิดต่อรูปแปรนั้นเปลี่ยนไป แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหรือฉับพลันครับ นักภาษาศาสตร์สังคมมองว่า กว่ารูปแปรภาษารูปหนึ่ง ๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงความหมายทางสังคมต้องอาศัยระยะเวลาพอสมควร ความหมายทางสังคมของรูปแปรรูปหนึ่งจะเปลี่ยนไปในทางไหนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทฤษฎีหนึ่งที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงของรูปแปรภาษาคือ ทฤษฎีของ William Labov ครับ

           ลาบอฟเสนอว่ารูปแปรภาษามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคมอยู่สองลักษณะ ลักษณะแรกคือ การเปลี่ยนแปลงจากข้างบน (change from above)  ลาบอฟใช้คำนี้เพื่อหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของรูปแปรภาษาที่คนในสังคมรับรู้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น โดยลาบอฟเสนอว่าเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ รูปแปรที่เข้ามาใหม่มักมีแนวโน้มที่จะเป็นที่ชื่นชอบของคนในสังคมและได้รับการยอมรับ ตัวอย่างหนึ่งคือ การออกเสียง /r/ ในภาษาอังกฤษสำเนียงนิวยอร์กครับ แต่ก่อนคนนิวยอร์กไม่ออกเสียง /r/ ท้ายพยางค์ เช่นในคำว่า car หรือ mar จะไม่มีเสียง /r/ เลย (r-less) แต่พอมีคนไปศึกษาต่อที่อื่นแล้วนำการออกเสียง /r/ ชัด ๆ ท้ายพยางค์ (r-full) กลับเข้ามาในชุมชน การออกเสียง /r/ ที่ชัดนี้ก็เริ่มได้รับความแพร่หลายและถูกให้คุณค่าเชิงบวก ผมชวนผู้อ่านมองแบบนี้ครับว่า อันที่จริงการเปลี่ยนแปลงจากข้างบนมักมีสาเหตุมาจากการอพยพออกและกลับเข้ามาอีกครั้งของคนในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการเคลื่อนย้ายเหล่านี้อาศัยทุนทรัพย์โดยเฉพาะในกรณีไปศึกษาที่อื่น ส่วนใหญ่คนที่ได้เคลื่อนย้ายเช่นนี้จะเป็นคนจากช่วงชั้นบน ๆ ที่มีเงินและโอกาสในการออกไปที่อื่นมากกว่าคนในช่วงชั้นล่าง ๆ ครับ พอรูปแปรภาษาที่ติดกลับมามาจากคนเหล่านี้ แนวโน้มที่รูปแปรนี้จะได้รับทัศนคติที่ดีจึงมีสูง

           นอกจากการเปลี่ยนแปลงจากข้างบนแล้ว ลาบอฟกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงของรูปแปรยังมีการเปลี่ยนแปลงจากข้างล่าง (change from below) ด้วยครับ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงใต้การรับรู้ของผู้ใช้ภาษาในสังคมนั้น ๆ การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้มักเกิดในชุมชนภาษานั้น ๆ เอง ผ่านการใช้ภาษาของคนที่มีหัวต่อต้านค่านิยมดั้งเดิม (non-conformist) เช่น ผู้ใหญ่มักสอนให้เราพูดชัดถ้อยชัดคำ แต่เด็กที่ถูกสั่งสอนบางคนอาจรู้สึกว่าทำไมต้องทำตามคำบอกเล่าเหล่านี้ แล้วเริ่มพูดลวก ๆ หรือไม่ชัดเพื่อต่อต้านค่านิยมเดิม ซึ่งการพูดในลักษณะนี้อาจแพร่หลายในที่สุด ลาบอฟเสนอว่า เมื่อการเปลี่ยนแปลงในรูปแปรที่มาจากข้างล่างนี้ถูกรับรู้โดยคนในสังคม คนในสังคมจะต่อต้านรูปแปรดังกล่าวเนื่องจากเป็นรูปแปรที่ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานที่คนในสังคมส่วนใหญ่เห็นว่าดีในขณะนั้น รูปแปรดังกล่าวจึงมักได้ทัศนคติเชิงลบ ผมชวนผู้อ่านมองอีกครั้งในเชิงสังคมวิทยาว่า ถ้าพิจารณาความเป็นไปได้ที่คนจากช่วงชั้นต่าง ๆ จะมีลักษณะเป็นผู้ต้านค่านิยมดั้งเดิม คนที่อยู่ในช่วงชั้นล่าง ๆ ซึ่งถูกกดขี่ก็น่าจะมีแนวโน้มเป็นเช่นนี้ได้ง่ายกว่าคนจากช่วงชั้นบน ๆ ในแง่นี้การเปลี่ยนแปลงจากข้างล่างจึงมักเกี่ยวโยงกับคนช่วงชั้นนี้มากกว่าช่วงชั้นอื่น ๆ ครับ

           อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนักทฤษฎีหลายคนแสดงความเห็นว่าความหมายทางสังคมของรูปแปรภาษาไม่ได้สะท้อนผ่านชนชั้นอีกต่อไป สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะว่า ทุกวันนี้เส้นในการแบ่งช่วงชั้นทางสังคมเองก็มีความเบลอมากขึ้นครับ สังคมทุกวันนี้เปิดช่องทางให้คนสามารถเปลี่ยนย้ายช่วงชั้น (social mobility) ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งการกำหนดช่วงชั้นเองเดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้พิจารณาจากปัจจัยดั้งเดิม เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจสังคมอีกต่อไป ทุกวันนี้เรามีแนวคิด อาทิ คุณธรรมนิยม (meritocracy) ที่เชื่อว่าฐานะของคนในสังคมควรมาจากประโยชน์ที่คนคนนั้นมอบให้แก่สังคมมากกว่าความร่ำรวยครับ ความซับซ้อนที่กล่าวไปทำให้ความหมายทางสังคมของอะไรบางอย่างเกิดขึ้นได้หลายแหล่ง 

           Pierre Bourdieu เสนอให้มองภาษาเป็นทุนทางวัฒนธรรม (cultural capital) ชนิดหนึ่งที่สมาชิกในสังคมคนไหนก็ได้สามารถหยิบใช้ได้ ในแง่นี้ภาษาจึงไม่ใช่เครื่องมือสะท้อนช่วงชั้นใด ๆ อีกต่อไป แต่กลับเป็นทรัพยากรอย่างหนึ่งร่วมกับทรัพยากรชนิดอื่น ๆ ในการสร้างอัตลักษณ์ให้กับปัจเจก โดยที่ปัจเจกมีอำนาจ (agency) ในการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบเหล่านี้ตลอดเวลา เราเห็นได้จากการที่ผู้ชายในสังคมไทยจำนวนหนึ่งเริ่มลงท้ายด้วยการใช้คำว่า ค่ะ เพื่อสร้างภาพความอบอุ่น หรือ การหยิบยืมภาษาลูมาใช้เพื่อแสดงภาพของการเป็นเพศทางเลือกเป็นต้น รูปแปรภาษาเหล่านี้เอง ก็ไม่จำเป็นต้องมีความหมายทางสังคมเพียงอย่างเดียวเสมอไป หากมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิดขึ้น ในบางครั้งความหมายที่ติดกับรูปแปรเหล่านี้ก็สะท้อนภาพลักษณ์ที่ไม่เหมือนเดิมได้เช่นกัน อย่างสมัยก่อนการพูด /ร/ ด้วยการกระดกลิ้นชัด ๆ สะท้อนถึงภาพลักษณ์ผู้ออกเสียงภาษาไทยได้ถูกต้อง แต่ทุกวันนี้การใช้เสียงในลักษณะเช่นนั้นอาจจะสะท้อนภาพการเสียดสี หรือล้อเลียนได้ด้วย

           ก่อนจากกัน ผมขอฝากวิดีโอไว้อีกหนึ่งคลิปที่อธิบายเรื่องที่ผมว่ามาเมื่อกี้ให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นอีกสักคลิปแล้วกันครับ ในคลิปนี้พูดถึงอีกคนเซ็ปที่ผมไม่ได้อธิบายไว้ด้วยแต่น่าสนใจคือ sociolect ครับ ลองดูกันนะครับ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
letPBwrite (@letitpb)
ชอบบทความนี้มากค่ะ อ่านเข้าใจง่ายและได้ประโยชน์ดีมากด้วย ติดตามผลงานอยู่นะคะ
SaGaZenJi (@zenjigame)
@letitpb ขอบคุณครับผม เป็นกำลังใจในการแบ่งปันสิ่งที่ได้รู้ต่อเลยครับ