เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เรียนรู้เรื่องใกล้ตัวในมุมสังคมวิทยาSaGaZenJi
สังคมวิทยากับการการุณยฆาต
  •        เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสไปงานโพสต์ทอล์กเล็ก ๆ งานหนึ่งที่จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับนิยายที่เป็นกระแสระดับหนึ่งอย่างเรื่อง "จี๋อย่าร้าย" ซึ่งเป็นนิยายแบบแชตสตอรี่เรื่องหนึ่งในจอยลดาที่พยายามเสนอประเด็นทางสังคมหลาย ๆ ประเด็นที่น่าขบคิดและน่าตั้งคำถาม ประเด็นหนึ่งในนั้นที่ผมและคนอื่น ๆ คุยกันในวงโพสต์ทอล์กคือ ประเด็นเรื่อง "การการุณยฆาต" ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของบทความในครั้งนี้ ผมอยากชวนผู้อ่านมองประเด็นนี้ในมุมสังคมวิทยา ศาสตร์ที่เชื่อว่าประเด็นอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในสังคมล้วนผูกโยงอย่างแยกไม่ขาดกับวัฒนธรรมและโครงสร้างทางสังคม

           บทความครั้งนี้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน ในส่วนแรก ผมจะนำผู้อ่านไปทำความเข้าใจการุณยฆาตในสายตาของนักสังคมวิทยาที่เชื่อว่าประเด็นทางสองแพร่งทางจริยธรรมนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่แยกขาดจากสังคม และในส่วนที่สอง ผมจะถกถึงมิติต่าง ๆ ของการการุณยฆาต ผ่านประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้พร้อมเสนอถึงความซับซ้อนที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังแนวคิดนี้ รวมถึงเชื้อเชิญให้ผู้อ่านตั้งคำถามต่อเรื่องนี้ว่าอันที่จริงแล้วการทำการุณยฆาตเป็นแนวคิดที่ดีจริง ๆ หรือไม่?

    การุณยฆาตในมุมสังคมวิทยา

           การุณยฆาตเป็นรูปแบบหนึ่งของการจบชีีวิตโดยเจตนาเช่นเดีียวกับการฆ่าตัวตาย (suicide) คำนี้เป็นศัพท์ทางกฎหมายที่แปลจากคำภาษาอังกฤษ "Euthanasia" มีความหมายว่าการตายที่ดี อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างการฆ่าตัวตายกับการการุณยฆาตคือ การรู้เห็นโดยบุุคคลอื่นนอกเหนือจากผู้ปรารถนาที่จะจบชีวิตตนเอง ในแง่นี้ผมจึงอยากชวนผู้อ่านมองแบบนี้ว่า อันที่จริงแล้วการการุณยฆาตเป็นปรากฏการณ์ที่สังคมเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่แรก ทั้งจากการที่ผู้ประสงค์อยากทำจะต้องบอกญาติ หรืออย่างน้อยแพทย์ผู้รับเรื่องก็รู้เห็นเป็นใจในการจบชีวิตครั้งนี้ จึงไม่แปลกที่นักสังคมวิทยาจะสนใจประเด็นนี้ไม่แพ้สาขาอาชีพอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ นักจิตวิทยา หรือแม้แต่นักรัฐศาสตร์เองก็ตาม เพราะการการุณยฆาตเป็นประเด็นซับซ้อนในหลายมิติทั้งในเชิงศีลธรรม เชิงนโนบาย รวมถึงเชิงสังคม

           ข้อถกเถียงหนึ่งที่เป็นประเด็นใหญ่โตไปทั่วโลกเกี่ยวกับการการุณยฆาตคือ ความถูกต้องในเชิงศีลธรรมของการจบชีวิตด้วยวิธีการนี้ นักสังคมวิทยาสนใจปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำงานอยู่เบื้องหลังการก่อตัวและคงอยู่ของความเชื่อ บรรทัดฐาน และคุณค่าทางสังคมซึ่งส่งผลต่อการสถาปณาศีลธรรมในการมองการการุณยฆาต พูดให้ง่ายหน่อย คือ นักสังคมวิทยาอยากหาคำตอบว่าอะไรบ้างกำหนดศีลธรรมเกี่ยวกับการจบชีวิตของคนในสังคมพร้อมทั้งอยากหาคำอธิบายว่าสิ่งเหล่านั้นทำงานอย่างไรและส่งผลกระทบต่อการการุณยฆาตในรูปแบบไหนบ้าง

           นักสังคมวิทยาเชื่อว่าวิธีการคิดเกี่ยวกับความตายสัมพันธ์และข้องเกี่ยวกับบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม อีกทั้งเชื่อว่าบริบททั้งสี่มีผลต่อจารีตทางสังคม (social mores) ที่ใช้ในการมองความตายอีกด้วย การุณยฆาตในฐานะแบบแผนใหม่ทางความคิดเกี่ยวกับความตายย่อมสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงความเชื่อและค่านิยมกระแสหลัก (dominant values and beliefs) ของคนในสังคม ไม่เช่นนั้นแล้วประเด็นนี้จะไม่ถูกพูดถึงหรือถกเถียงได้อย่างเปิดเผย ผมอยากชวนผู้อ่านมองเช่นนี้ว่า ปฏิบัติการต่าง ๆ ในการทำการุณยฆาตตั้งแต่ความเชื่อที่ว่าเป็นวิธีการที่ดี เป็นการใช้สิทธิ์ในร่างกาย ไปจนถึงการกำหนดร่วมกันของคนในสังคมว่าผู้ที่ควรลงมือในการจบชีวิตคนคนหนึ่งไม่ใช่ใครก็ได้แต่ควรเป็นผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์เท่านั้น ล้วนเป็นคติที่ถูกประกอบสร้างจากสังคม (socially constructed) ทั้งสิ้น 
  • นานาทัศนะของการตายอย่างมีศักดิ์ศรี 

           นักสังคมวิทยาเชื่อว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การการุณยฆาตเป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงมากในปัจจุบันคือ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประชากร ทุกวันนี้ประชากรสูงวัยมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับสมัยก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยซึ่งเข้ามามีบทบาทต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตมากขึ้น การแพทย์สมัยใหม่มีอำนาจมากพอที่จะยื้อความตายให้ไกลออกไปได้ ส่งผลให้อายุเฉลี่ยของคนทั่วโลกสูงขึ้น และทำให้สังคมทั่วโลกก้าวไปสู่สังคมสูงวัย (aging society)

          อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับภาวะที่สังคมทั่วโลกเริ่มกลายเป็นสังคมสูงวัยคือ โครงสร้างสังคมต่าง ๆ ต้องแบกรับประชากรกลุ่มนี้ด้วยทรัพยากรที่มากขึ้น ในขณะที่ผลตอบแทนจากประชากรกลุ่มนี้ที่ให้แก่สังคมกลับน้อยลง ในเชิงเศรษฐกิจถือว่าเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่ต้องมีการกำหนดแนวทางตั้งรับอย่างรอบคอบ หากไม่มีการจัดการที่ดี สังคมอาจเกิิดความชะงักงันและส่งผลเสียได้

           การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ทำได้หลายวิธี ตัวอย่างเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นแล้วได้แก่การปรับอายุเกษียณให้ไกลออกไป ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก ๆ ที่ออกกฎหมายเปลี่ยนอายุเกษียณจาก 60 ปีเป็น 65 ปี นอกจากการปรับอายุเกษียณแล้ว การส่งเสริมให้ผู้สูงวัยทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมผ่านหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ ชมรมผู้สูงอายุหรือศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนก็เป็นอีกทางออกหนึ่งที่นานาประเทศใช้กันมาก

           ทว่าไม่ใช่ประชากรสูงวัยทุกคนที่สามารถทำเช่นนั้นได้ ผู้สูงวัยที่นอนติดเตียงในโรงพยาบาลหรือที่บ้าน ผู้สูงวัยที่พิการจนไม่สามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้และต้องได้รับการพึ่งพาจากผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา สังคมจะมีวิธีการจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร? ผมชวนผู้อ่านให้คิดตามอย่างนี้ว่า ทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้แต่โหดร้ายคือ สังคมเลือกที่จะสร้าง "ค่านิยม" การตายอย่างมีศักดิ์ศรี (dignified death) และสนับสนุนให้ประชากรกลุ่มนี้จบชีวิตด้วยการการุณยฆาต ในแง่นี้ การการุณยฆาตกลับกลายเป็นยมทูตในคราบนักบุญที่มาเทศนาเพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับสังคมในการจัดการกับปัญหานี้ ผมอยากชวนผู้อ่านตั้งคำถามว่าอันที่จริงแล้วสิ่งที่เราเห็นว่าดีอาจจะไม่ได้เกิดจากเจตนาที่ีดีเสมอไป เป็นไปได้ว่าการเกิดแนวคิดการุณยฆาตนั้นอาจจะไม่ใช่ความปรารถนาดีหากแต่เป็นวาทกรรมหนึ่งที่สังคมสร้างขึ้นมาเพื่อจัดการปัญหาอะไรบางอย่างที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นปัญหาที่กล่าวมาก็เป็นได้ 

           ประเด็นถัดไปอาจจะต้องเท้าความมาตั้งแต่ฮอโลคอสต์ (The holocaust) หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวโดยพรรคนาซีในช่วงทศวรรศที่ 1930 ถึง 1940 นักสังคมวิทยาเชื่อว่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เหตการณ์นี้ไม่ได้สะท้อนให้เห็นแค่ความน่ากลัวของอำนาจที่รัฐกระทำต่อประชาชน แต่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่สำเร็จในครั้งนั้นได้เปลี่ยนแปลงมุมมองทางศีลธรรมที่มีต่อการจบชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในสัังคมอีกด้วย 

           นักสังคมวิทยาบางคน เช่น เกลนนี่ ฮอวาร์ท และมาร์ก็อต เจฟรี่กล่าวในตอนหนึ่งของบทความ Euthanasia: sociological perspectives ที่ทั้งคู่เขียนด้วยกันว่า แนวคิดขจัดผู้ที่ไร้ประโยชน์ออกไปด้วยการทำให้จบชีวิตมีต้นตอมาจากเหตุการณ์นี้ ซึ่งอันที่จริงแล้วก็เป็นแนวคิดที่คล้าย ๆ กับการทำการุณยฆาต เพียงแต่ว่าการทำการุณยฆาตนั้นเกิดจากการตัดสินใจด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามผมตั้งข้อสังเกตกับประเด็นนี้ว่า การอยากจบชีวิตของบุคคลหนึ่งอาจมีปัจจัยทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง  เอมิล ดูร์ไคม์ ผู้บุกเบิกสังคมวิทยาให้กลายเป็นศาสตร์อย่างทุกวันนี้ได้วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้เหมือนกัน ดูร์ไคม์วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างทางสังคมกับรุ่นพี่ของการการุณยฆาตอย่างการฆ่าตัวตาย โดยกล่าวว่าแท้จริงแล้ว การฆ่าตัวตายไม่ใช่การตัดสินใจที่อยากจะจบชีิวิตโดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่เป็นการกระทำที่ถูกส่งเสริมโดยโครงสร้างทางสังคมต่าง ๆ ซึ่งผมคงไม่สามารถอธิบายแนวคิดของดูร์ไคม์ได้ทั้งหมดในบทความนี้แต่จะให้คลิปช่วยเล่าแทนแล้วกันครับ


    แต่ที่ผมอยากชวนผู้อ่านมองคือ หากเราใช้แนวคิดของดูร์ไคม์มองประเด็นการุณยฆาต เราอาจจะพอกล่าวได้ว่า แท้จริงแล้วการทำการุณยฆาตเองก็อาจจะเป็นผลพวงที่ได้รับการส่งเสริมจากโครงสร้างทางสังคมบางประการไม่ต่างกับการฆ่าตัวตายที่ดูร์ไคม์เสนอไว้ สำหรับผมโครงสร้างที่ว่ามานี้คือ การที่สังคมหมดอำนาจในการพันธนาการให้สมาชิกต้องพึ่งพากันและกัน (dependency) และการเกิดขึ้นของแนวคิดเสรีนิยมที่สนับสนุนให้ทุกคนเชื่อว่าเรามีเสรีภาพในการจัดการทุกสิ่งบนเรือนร่างของเรา (autonomy) ทั้งสองสิ่งนี้ได้รับการเสริมแรงมากขึ้นในสังคมสมัยใหม่ผ่านการช่วยเหลือของเทคโนโยลีและสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตต่าง ๆ 

          ผมวิเคราะห์ไว้อย่างนี้ว่า เมื่อความเป็นปึกแผ่นทางสังคม (social solidarity) ลดลง สังคมไม่สามารถใช้วิถีประชา (folkways) หรือจารีต (mores) ซึ่งเป็นวิธีการดั้งเดิมในการบังคับพฤติกรรมของคนในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะการลงโทษที่ตามมาของการทำเช่นนี้อ่อนตัว ส่งผลให้  ปัจเจกมีอำนาจพึ่งตนเอง (agency) ทำให้ปัจเจกกลายเป็นศูนย์กลางในการกำหนดคุณค่าและความหมายให้กับตนเองและสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ผู้อ่านลองคิดถึงสังคมสมัยก่อนก็ได้ครับ แต่ก่อนในสังคมไทย แค่เราทำผิดนิด ๆ หน่อย ๆ ผู้ใหญ่หรือคนรอบข้างก็พร้อมจะส่งสายตาเชิงดูแคลนกลับมาทันที การทำเช่นนี้ล่ะครับที่ผมเรียกว่าวิถีประชาซึ่งทุกวันนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นมากนักเพราะผู้คนสนใจเรื่องตนเองมากขึ้น จ้องจอมือถือมากกว่าคอยจ้องคนอื่น ๆ ในสังคม (ซึ่งผมไม่ได้ต้องการจะบอกว่าเป็นเรื่องที่ผิดแต่อย่างใด) การทำโทษด้วยการหมั่นสังเกตคนรอบข้างนี้จึงหายไป ทำให้พฤติกรรมที่เคยถูกมองว่า “เบี่ยงเบน” หรือ “ไม่ถูกต้อง” เกิดขึ้นได้บ่อยกว่าแต่ก่อนจนกลายเป็นเรื่องปกติ (อย่างไรก็ตามมีข้อถกเถียงว่าวิถีประชาไม่ได้อ่อนตัวลงแต่เปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัยขึ้นแทน ซึ่งผมคงไม่สามารถสาธยายประเด็นนี้ตรงนี้ได้ทั้งหมดนะครับ)

           อีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากชวนผู้อ่านคิดคือ การทำการุณยฆาตอาจจะเป็นการฆ่าตัวตายทางเลือกแทนการฆ่าตัวตายในอดีตก็เป็นได้ (euthanasia as alternative way to suicide) ซึ่งประเด็นนี้เองที่ทำให้การทำการุณยฆาตไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ในเชิงปฏิบัติ การทำการุณยฆาตมีขั้นตอนและกระบวนการต่าง ๆ มากมาย ผู้ประสงค์ที่จะจบชีวิตตนเองอย่างมีศักดิ์ศรีจำเป็นต้องผ่านแบบทดสอบพร้อมกับกระบวนการเข้าไปพบกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อหารือหลายต่อหลายครั้งก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิเพื่อจบชีวิตตนเอง ในแง่นี้ผมอยากชวนผู้อ่านมองแบบนี้ว่า การทำการุณยฆาตแท้จริงแล้วอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ปัจเจกบุคคลมีสิทธิในการตัดสินใจอย่างเต็มที่ สังคมได้เข้ามาแทรกแซงความคิดที่อยากจะจบชีวิตของคนคนหนึ่งตั้งแต่แรก และแทรกแซงในทุกกระบวนการอย่างแยบยลผ่านกระบวนการต่าง ๆ ที่สังคมประกอบสร้างขึ้นมา

    ผมจะจบบทความสั้น ๆ ในครั้งนี้ด้วยคลิปสารคดีที่บันทึกการทำการุณยฆาตเคสหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่กฎหมายให้สิทธิในการทำการุณยฆาตเอาไว้ ผมเชื้อเชิญให้ผู้อ่านลองตั้งคำถามและวิเคราะห์ดูว่าแท้จริงสังคมเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด? ตั้งแต่บุคคลตัดสินใจจะจบชีวิตตนเอง อีกทั้งอยากเชื้อเชิญให้ผู้อ่านตั้งคำถามถึงผลกกระทบของการทำการุณยฆาตที่มีต่อคนรอบข้างที่ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับความประสงค์นี้ด้วย ท้ายที่สุดผมอยากให้ผู้อ่านลองกลับมาคิดถึงสังคมไทยดูว่าประเทศไทยเองที่มีความเชื่อ จารีต ศีลธรรมและชุดค่านิยมที่ต่างออกไปจากประเทศในคลิปพร้อมหรือยังกับแนวคิดการจบชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีเช่นนี้



เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in