เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Movie Walker : รีวิวหนังครอบจักรวาลNarawit Takame
มั่นใจว่าคนไทยฯ เกลียดเมธาวี : เมื่อสังคมรังแกฉัน
  • "คุณคิดยังไงกับเมธาวีครับ ?"


    รีวิวฉบับ 2 บรรทัด

              "หนังสั้นสะท้อนสังคม เกี่ยวกับชีวิตที่ถูกกระทำของ เมธาวี นักเรียนหน้าตาดี ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง

    ที่สังคมยัดเยียดสิทธิพิเศษให้ เล่าเรื่องสนุก คมคาย สมจริง และน่าติดตามอยู่ตลอดเวลา ยอดเยี่ยมมาก"

    "9.5/10"


    รีวิวฉบับ หลายบรรทัด (ไร้สปอยส์)

             มั่นใจว่าคนไทยเกินหนึ่งล้านคนเกลียดเมธาวี เป็นหนังสั้นเรื่องดังของนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

    แสดงนำโดย เต้ย จรินทร์พร นำเสนอชีวิตเด็กนักเรียนสาวหน้าตาดีและเรียนเก่งของโรงเรียนแห่งหนึ่ง 

    ที่โดนสังคมทั้งผู้ใหญ่และเพื่อน ยัดเยียดสิทธิพิเศษให้ และเด็กผู้หญิงผู้ถูกกระทำคนนั้นชื่อว่า เมธาวี 


              หนังจะเล่าเรื่องสลับกัน 3 ส่วน ส่วนแรกจะเป็นฟุตเทจสัมภาษณ์นักเรียนคนอื่นในโรงเรียน

    ด้วยคำถามที่ว่า "คุณคิดยังไงกับเมธาวี ?" คำตอบของแต่ล่ะคนก็จะต่างกันไป ต้องยอมรับแอคติ้งของนัก

    แสดงทุกคนจริงๆ แสดงได้สมจริงสุดๆ นี่พวกนายรู้สึกแบบนั้นกับเมธาวีจริงๆใช่มั้ยเนี่ย 

    การแสดงมันเรียลมากๆ จนบางทีลืมไปเลยว่านี่มันคือหนังนิหว่า เชื่อไปแล้วว่าคือเรื่องจริง



              ส่วนที่สอง จะเป็นเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับเมทาวีภายในโรงเรียน เช่น ตอนอยู่กับเพื่อน , 

    เตรียมตัวลงประกาศสมัครประธานนักเรียน , ตอนมีหนุ่มมาจีบ , ฯลฯ 

              

              ส่วนที่สาม คือภาพคอมเม้นต์ต่างๆนานา ในแฟนเพจ "มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านคน เกลียดเมธาวี

    ที่เหล่านักเรียนที่ไม่ชอบตั้งขึ้นมา เพื่อแอนตี้เมธาวีล้วนๆ 




              หนังจะเล่าเรื่องสลับ 3 ส่วนนี้ ค่อยๆเปิดเผยเรื่องราวต่างๆและเดินเรื่องไปในตัว ผมชอบเทคนิค

    การเล่าเรื่องแบบนี้มาก เพราะเราจะไม่มีเวลาได้เบื่อเลย พอจะเบื่อ หนังก็จะสลับไปอีกพาร์ทหนึง 

    พอพาร์ทหนึงกำลังเข้มข้น ก็ตัดไปอีกพาร์ทหนึง แล้วค่อยตัดกลับมา เป็นการส่งเสริมซึ่งกันและกัน

    รู้ตัวอีกทีเราก็ตกอยู่ในภวังค์ของหนัง จนลุกไปไหนไม่ได้ซะแล้ว


              บรรยากาศของหนัง คล้ายซีรี่ส์ Hormones มากๆ ด้วยความเป็นดราม่าม.ปลาย และ

    โรงเรียนนี้ยังใช้ชื่อว่า นาดาวบางกอกอีกด้วย บวกกับ ประเด็นที่แข็งแรง , การแสดง , production และ

    อะไรต่างๆนานา คุณภาพและรสชาติของหนังสั้นเรื่องนี้คล้ายๆกับซีรี่ส์ Hormones เลย คือดูจบแล้วให้

    อะไร มากกว่าความบันเทิง มากกว่าสื่อบันเทิงที่ดี มันยังทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนสังคมให้เห็นอะไร

    บางอย่าง และยังฝากคำถามและประเด็นต่างๆถึงคนที่ได้ดูอีกด้วย


              ปล.สำหรับใครที่อยากดูหนังสั้นเรื่องนี้ พี่เต๋อ(ผกก.) ได้อัพโหลดลงในแชแนลของเค้าแล้วนะครับ

     ความยาวหนังประมาณ 33 นาทีเท่านั้น กดดูหนังแบบเต็มเรื่อง ได้ที่ลิ้งค์ด้านล่างนี้เลย : )




    หลังดูจบ (คำเตือน : อาจมีสปอยส์ ! แนะนำดูจบก่อนค่อยอ่านนะครับ )

              "น่ารักมากเลยครับ"
              "เค้าแบบแต่งตัวเท่อ่ะ น่ารักอ่ะ"
              "นิสัยดีอ่ะพี่ ดูเป็นคนเฟรนลี่"
              "ไม่นะกูว่าไม่ใช่อ่ะ"
              "ภายนอกเค้าดูหยิ่งๆเนอะ"
              "ถ้าสันดานแบบนี้หรือเป็นคนแบบนี้ต่อไป คงต้องโดนอะไรซักวันหนึง"

              นี่เป็นคำตอบส่วนหนึงจากการสัมภาษณ์นักเรียนในโรงเรียน กับคำถาม "คุณคิดยังไงกับเมทาวี ?"
    ผู้หญิงที่หน้าตาดีที่สุดในโรงเรียน , คนที่โรงเรียนยัดเยียดสิทธิพิเศษให้ , คนดังของโรงเรียน , ฯลฯ


              การที่มีชื่อเสียงมากๆ หรือเป็นคนดัง มันเหมือนชีวิตถูกแสงสปอร์ตไลท์ส่องอยู่ ยิ่งดังแสงไฟที่ส่องลงมาก็ยิ่งแรง ดึงดูดผู้คนให้โฟกัสมาที่คนๆนั้นมากขึ้น หลายคนชอบกับการเป็นคนดัง มีผู้คนสนใจและพูดถึงอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่ตามมา ก็คือ "คำนินทา" และคำ "วิจารณ์"

              จริงๆมันเป็นเรื่องปกติมากที่คนเราจะต้องโดนนินทา แต่สำหรับคนที่ออกมายืนกลางเวที กลางแสงไฟมักจะโดนนินทามากกว่าคนปกติ บางคนก็รู้สึกดีที่มีคนพูดถึง แต่สำหรับเมธาวีแล้ว ในเรื่องนี้เราจะเห็นได้ว่าเค้าไม่ได้อยากเป็นคนที่อยู่ท่ามกลางแสงไฟเลย เค้าอยากเป็นแค่คนธรรมดา ใช้ชีวิตปกติ


              "แม่กูเว้ย บังคับให้กูแคสโฆษณา เค้าให้กูไปย้อมผม" เมธาวี นี่เริ่มเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เมธาวีได้รับสิทธิพิเศษพิเศษจากโรงเรียน เพราะการไปแคสโฆษณา บริษัทบังคับให้ย้อมสีผม แต่ตามกฎของโรงเรียนแล้ว ไม่อนุญาติให้ย้อมผม แต่แม่ของเมธาวีก็ไปเคลียร์กับโรงเรียนไว้ให้ นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เค้า ถูกนักเรียนคนอื่นๆหมั่นไส้ และมองว่าเป็นคนพิเศษ 

              "กูอยากให้นโยบายมันใหญ่ๆ หน้ากูไม่ต้องใหญ่ขนาดนี้" เมธาวี ตอนทำใบประกาศสมัครประธานนักเรียนซึ่งเมธาวีได้ลงสมัคร ด้วยความที่เธอหน้าตาดี ในใบประกาศเพื่อนๆในทีมจึงใช้หน้าตาของเมธาวี เป็นจุดขาย เน้นหน้าเยอะๆ นักเรียนคนอื่นเห็นจะได้เลือก นี่ซินะคือการใช้ประโยชน์จากคนมีชื่อเสียง

              "เรื่องนั้นไม่เป็นไรลูก ไม่ใช่ปัญหา เดี๋ยวครูจัดการให้ ช่วยๆโรงเรียนหน่อยล้ะกัน" ครูคนหนึ่งในการสมัครประกวดนางนพมาศของโรงเรียน เมธาวีไม่ได้ลงสมัคร หลังจากวันประกาศผล ครูคนหนึงมาขอร้องให้เมธาวีเป็นนางนพมาศของโรงเรียน (ทั้งที่ไม่ลงสมัคร) แถมยังบอกว่าเดี๋ยวจะจัดการให้  การยัดเยียดสิทธิพิเศษให้นักเรียน โดยอ้างผลประโยชน์ของส่วนรวม(โรงเรียน) โดยไม่สนใจผลที่จะเกิดขึ้นกับตัวนักเรียนคนนั้น เป็นการรังแกเด็กนักเรียนในทางตรงมากๆ


              สิ่งที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นกับเมธาวี ก็คือการที่เธอโดนสังคมยัดเยียดอะไรต่างๆให้ รวมทั้งสิทธิพิเศษ ทั้งที่เธอก็ไม่ได้ต้องการเลย สังคมไม่ได้นึกถึงผลกระทบที่จะตามมาจากการที่เด็กนักเรียนธรรมดาๆ กลายเป็นเด็กนักเรียนที่มีสิทธิพิเศษเลย พวกเขาละเลยแง่มุมนั้นไป  เพราะผู้ที่โดนกระทำ และต้องรับผิดชอบต่อผลของการมีสิทธิพิเศษ ไม่ใช่ตัวสังคมเอง ไม่ใช่ผู้ใหญ่ ไม่ใช่ครู ไม่ใช่เพื่อน แต่เป็นตัวเมธาวีเอง

              นี่เป็นประเด็นที่สะท้อนสังคมจริงๆ และส่วนนี้แหละที่ทำให้หนังเรื่องนี้มันเรียล เพราะประเด็นแบบนี้เราล้วนเจอกันมาแล้วไม่มากก็น้อย เช่น การที่บางโรงเรียนให้สิทธิพิเศษแก่นักเรียนห้องคิงหรือห้องเด็กเก่ง  , อาจารย์บางคนให้สิทธิพิเศษกับนักเรียนบางคน ให้สามารถเข้าห้องน้ำของอาจารย์ได้ , การที่นักเรียนบางคนที่เป็นนักแสดง บางโรงเรียนให้สิทธิในการสามารถแต่งกายผิดระเบียบได้ , อาจารย์บางคนให้สิทธิกับนักเรียนเรียนเก่งบางคน ให้สามารถโดดเรียนวิชาบางวิชาได้ ,ฯลฯ
          
              
              อีกประเด็นหนึงที่ผมชอบมากในหนังเรื่องนี้คือ การที่ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์และตัดสินอะไรบางอย่างเพียงแค่คนอื่นบอกมาหรือสัมผัสสิ่งนั้นแค่ผิวเผิน อย่างที่เราได้เห็นคอมเม้นต์ต่างๆในแฟนเพจ มั่นใจว่าคนไทยฯ เกลียดเมธาวี และในคลิปสัมภาษณ์นักเรียน คำพูดและโพสต่างบอกว่า "เมธาวีเป็นคนยังไง"

              ผมว่าสองสิ่งนี้มันคล้ายกัน การที่นักเรียนแต่ล่ะคนบอกว่าเมธาวีเป็นคนยังไง มันก็เหมือนกับการแสดงความคิดเห็นใน Facebook นั่นแหล่ะ เราไม่รู้เลยว่าสิ่งที่คนๆนั้นพูดหรือโพส มันเป็นเรื่องจริงรึเปล่า ? , มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ? , เราสามารถรับฟังแล้วนำไปตัดสินคนอื่นได้เลยรึเปล่า ?
    ผมไม่รู้ว่าคำตอบของคำถามเหล่านี้ควรจะเป็นอะไร แต่ที่แน่ๆทั้งสองสิ่งนี้มันถูกเรียกว่า "ความคิดเห็น"



    "น้องรู้ได้ไงว่าเค้าเป็นคนดี ?"
    "แล้วพี่รู้ได้ไงว่าเค้าเป็นคนไม่ดี ?"

              นี่เป็นประโยคที่สะกิดใจผมที่สุด และน่าจะเป็นบทสรุปที่ดีที่สุดในเรื่องนี้แล้ว บางทีการที่เราตัดสินคนๆหนึงโดยรู้จักกันแค่ผิวเผินหรือฟังจากคนอื่นพูดมา มันค่อนข้างไม่แฟร์กับคนๆนั้นมากๆ และยังตัดโอกาสของตัวเองในการทำความรู้จักและตัดสินคนๆนั้นด้วยตัวเราเองอีกด้วย 

              เพราะเราจะแน่ใจได้ยังไงว่า สิ่งที่คนอื่นบอกต่อกันมา มันจะเป็นเรื่องจริงทั้งหมด หลายๆเรื่องเราก็ยืนยันไม่ได้เลยว่าจริงหรือเท็จ จะดีกว่ามั้ยถ้าเราได้ลองรู้จักกับคนๆนั้น และค่อยตัดสินคนๆนั้นด้วยตัวของเราเอง.

              คุณจะแน่ใจได้ยังไงว่าหนังเรื่องนี้ดี ? แล้วคุณจะแน่ใจได้ยังไงว่าหนังเรื่องนี้ไม่ดี ?
    รู้ได้ไงว่าสิ่งที่ผมบอกคือเรื่องจริง ? เรื่องแบบนี้คงต้องพิสูจน์ด้วยตัวคุณเองแล้วล่ะครับ :)


              จบไปแล้วกับการรีวิวหนังเรื่องที่ 2 ของชีวิต ผิดพลาดตรงไหนต้องขออภัยด้วยครับ
    ชอบไม่ชอบตรงไหน แนะนำติชม แวะมาพูดคุยกันได้ที่ twitter : @narawit1601 แล้วเจอกันครับ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in