เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#TranslationFoundThe Mellow Being
ถ่ายรูปในงานชุมนุมอย่างไรให้ปลอดภัย และไม่สร้างความเดือดร้อน
  • ข้อแนะนำเตือนใจก่อนแชะและแชร์ เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองและผู้อื่น

    *หมายเหตุ: บทความดังกล่าวเป็นบทความแปลจากสื่อต่างประเทศ บริบทดั้งเดิมของบทความนี้เขียนขึ้นโดยอ้างอิงจากสถานการณ์การประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิวในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอาจมีข้อกำหนดและกฎหมายทางด้านสิทธิแตกต่างจากประเทศไทย กรุณาศึกษากฏหมายและสิทธิในแต่ละประเทศเพื่อปรับใช้ตามบริบท*



    บทความต้นฉบับ: How to Take Photos at Protests Safely - and Responsibly 

    เขียนโดย เจส เกรย์ (Jess Grey) 

    จาก: นิตยสารไวเอิร์ด (Wired) 

    เผยแพร่เมื่อวันที่: 3 มิถุนายน 2563


    **ผู้แปลไม่มีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์หรือแสวงหาผลกำไรใดๆ จากบทความแปลนี้ และหวังแปลบทความต้นฉบับจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยเพียงเพื่อเป็นวิทยาทานแด่ผู้ที่สนใจเท่านั้นค่ะ


    ท่านใดที่ชื่นชอบบทความของ Wired สามารถสมัครสมาชิกรับนิตยสารเพื่อรับทั้งรูปเล่มรายเดือนหรือสิทธิอ่านบทความไม่จำกัดบนเว็บไซต์ได้ ที่นี่**


    หลายเมืองทั่วประเทศตกอยู่ใต้กฏเคอร์ฟิว กองกำลังตำรวจเริ่มดำเนินการใช้อาวุธสงครามเพื่อรับมือพลเมืองผู้ประท้วง หลากการเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนเริ่มขยับจากออนไลน์สู่สังคมจริง และเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงของพวกเราเองกำลังประกาศขู่จะใช้กำลังกับประชาชนของพวกเขาบนโซเชียลมีเดีย พร้อมไปกับโรคร้ายที่ยังระบาดคร่าชีวิตชาวอเมริกันนับพันทุกวัน


    โลกภายนอกของพวกเราทุกวันนี้สุดแสนจะอันตราย  เราจึงมีข้อแนะนำสองสามประการให้คุณระลึกถึง หากคุณคิดจะออกไปร่วมชุมนุมประท้วงและถ่ายรูปบันทึกเหตุการณ์เหล่านั้น - ซึ่งเป็นสิทธิที่กระทำได้ตามบทบัญญัติเพิ่มเติมข้อที่ 1 (First Amendment) ของรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา การถ่ายภาพหรืออัดวีดิโอล้วนมีความสำคัญต่อการบันทึกและบอกเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าคุณจะใช้สมาร์ทโฟนหรือกล้องถ่ายรูป DSLR ก็ตาม อย่างไรเสีย ภาพถ่ายเหล่านั้นก็สามารถย้อนกลับมาทำร้ายตัวคุณหรือเพื่อนร่วมการชุมนุมได้ คุณสามารถปกป้องสวัสดิภาพของตนเองและผู้อื่นได้ด้วยแนวทางต่อไปนี้


    1. เข้าใจวัตถุประสงค์ของตัวเอง

    ก่อนเปิดประตูออกจากบ้านพร้อมกล้องคู่ใจในมือ คุณควรตอบตัวเองให้ได้เสียก่อน ว่าเหตุใดคุณจึงต้องการถ่ายรูปในสถานการณ์ที่กำลังจะเผชิญ? คุณไม่ควรถ่ายรูปในงานชุมนุมเพียงเพื่อเรียกยอดไลค์ การติดตาม หรือกระแสความสนใจบนสื่อโซเชียล อย่าไปร่วมการชุมนุมเพียงเพื่อป่าวประกาศให้โลกรู้ว่าคุณมีส่วนร่วม การชุมนุมไม่ใช่โอกาสเหมาะแก่การถ่ายรูปเล่น และผู้คนที่กำลังระบายความโกรธและอัดอั้นต่อความไม่เป็นธรรมเชิงระบบบนท้องถนนไม่ได้ออกจากบ้านมาเพื่อโพสท่าให้คุณถ่ายรูปพวกเขาไปเผนแพร่บนอินสตาแกรม พึงระลึกถึงแรงจูงใจของคุณให้ดี และตอบคำถามในใจเหล่านี้ตามความเป็นจริง


    หากต้องทิ้งโทรศัพท์มือถือและกล้องไว้ที่บ้าน คุณยังอยากจะไปร่วมการประท้วงข้างนอกหรือไม่? การประท้วงเรียกร้องสิทธิย่อมสำคัญกว่าการบันทึกเหตุการณ์ในการชุมนุม


    2. วางแผนให้ดี และพาเพื่อนไปด้วยกัน

    การระวังภัยรักษาตัวในการประท้วงเป็นเรื่องยาก แต่เราก็มีข้อแนะนำที่คุณสามารถนำไปใช้เพื่อป้องกันตัวได้ ใน วิธีป้องกันตัวเองในงานชุมนุมด้วยอุปกรณ์ต่างๆ และ วิธีปกป้องข้อมูลในสมาร์ทโฟนของคุณ


    นอกจากนั้น หากเป็นไปได้ คุณควรไปร่วมการชุมนุมพร้อมกับกลุ่มเพื่อน ญาติ หรือเพื่อนร่วมห้องพัก พยายามเกาะกลุ่ม แบ่งข้าวของเครื่องใช้แก่กันและกัน และคอยเป็นหูเป็นตาให้กันและกัน การไปชุมนุมกับคนอื่น แม้เพียงสักคนเดียว ก็ช่วยให้คุณผ่อนคลายได้มากกว่าการไปคนเดียว เพื่อนของคุณยังสามารถคอยระวังหลังและนำคุณออกไปจากเส้นทางสัญจรของผู้อื่นในขณะที่คุณถ่ายรูปได้อีกด้วย


    หากเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มใช้กำลังหรือมาตรการรุนแรงใดๆ เพื่อสลายการชุมนุมแล้ว คุณอาจหาทางกลับบ้านได้ยากขึ้น บริการรถรับส่งเช่นอูเบอร์ แท็กซี่ หรือวินมอเตอร์ไซค์อาจมารับคุณกลับบ้านไม่ได้ บริการขนส่งมวลชน เช่น รถบัสประจำทางหรือรถไฟฟ้า ก็อาจจะถูกสั่งให้หยุดการให้บริการ หรือได้รับคำสั่งให้เปลี่ยนเส้นทางเดินรถเพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีการชุมนุมได้เช่นกัน


    กลยุทธ์รับมือปัญหาเช่นนี้จึงเป็นการเดินทางแบบที่ง่ายที่สุด ซึ่งก็คือ การเดินเท้า คุณอาจจะไม่ต้องได้เดินไปตลอดทางตั้งแต่จากพื้นที่ชุมนุมถึงที่บ้าน แต่ควรเผื่อใจและเตรียมพร้อมสำหรับการเดินเท้าสัก 400 เมตรเป็นอย่างต่ำจนกว่าจะพบรถเมล์ รถไฟฟ้า หรือบริการรับส่งใดๆ ที่ยินดีจะพาคุณขึ้นรถกลับบ้านได้ คุณอาจจะลองขอให้เพื่อนที่ไม่ได้มาร่วมชุมนุมมารับคุณได้เช่นกัน หรือตรวจสอบทางหนีทีไล่ผ่านโซเชียลมีเดีย หากไร้หนทางอื่น ด้วยการค้นแฮชแท็กหาองค์กรหรือกลุ่มช่วยเหลือในท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ควรเลือกขอความช่วยเหลือจากบุคคลหรือองค์กรที่เชื่อถือได้เท่านั้น อย่าปล่อยให้คนแปลกหน้าที่พิสูจน์ตัวตนกับคุณไม่ได้มารับคุณจากที่ชุมนุมโดยเด็ดขาด


    คุณควรกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับตัวเองด้วย เมื่อพบเห็นความรุนแรงในที่ชุมนุม เราให้คำแนะนำที่ดีที่สุดกับคุณในสถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้ บางที การถ่ายรูปหรืออัดคลิปบันทึกเหตุการณ์เป็นหลักฐานอาจเป็นสิ่งที่ดี แต่ในบางกรณี การลดกล้องหยุดถ่ายอาจเป็นสิ่งที่ควรทำยิ่งกว่า นี่คือคำถามอีกข้อที่คุณควรตอบตัวเองให้ได้ก่อนเปิดประตูออกจากบ้าน


    3. ข้อไม่ควรกระทำ

    งานชุมนุม ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กในช่วงแรกเริ่ม ล้วนมีโอกาสขยายตัวทั้งในด้านบรรยากาศ แรงกดดัน และจำนวนผู้ชุมนุม เช่นนั้นแล้ว การรู้หน้าที่ของตัวเองและมีจิตสำนึกรู้จักรักษาและป้องกันภัยแก่ตัวคุณเองและผู้อื่นจึงมีความสำคัญ แม้ว่างานชุมนุมที่คุณไปร่วมจะมีขนาดเล็กก็ตาม

    • หลีกเลี่ยงการใช้กล้องที่ต้องยกขึ้นแนบตาเพื่อส่องจับภาพ การมัวพะวงเพ่งหามุมภาพที่เหมาะสมจะทำให้คุณไม่สามารถมองเห็นสิ่งรอบข้างเพื่อระวังภัยรอบตัว หากเป็นไปได้ ควรใช้กล้องที่มีจอสำหรับมองจับภาพแทน เพื่อให้ตัวคุณสามารถละสายตามองรอบตัวได้ถนัด
    • อย่ากระทำการโดยฉุกละหุก (คอยระวังตัวและประคองสติ) เพื่อสวัสดิภาพของตัวคุณเองและผู้อื่น ควรมองสำรวจสภาพรอบตัว ก้าวไปประจำในตำแหน่งที่ปลอดภัยและไม่เกะกะขวางทางผู้อื่นก่อนถ่ายรูป ไม่ควรยกกล้องถ่ายรูปกะทันหันโดยไม่สนใจสภาพแวดล้อม
    • อย่าขวางทางคนอื่น ผลจากการลงไปคุกเข่าหามุมถ่ายรูปสวยๆ จะได้ไม่คุ้มเสีย หากมีใครสักคนพลัดมาชนคุณจนหกล้มหรือเหยียบคุณเข้า
    • อย่าเร่ถ่ายผู้อื่นโดยไม่ขออนุญาต กรุณาเคารพสิทธิของผู้ร่วมชุมนุมท่านอื่น ขออนุญาตพวกเขาทุกครั้งก่อนถ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เขาอยู่ใกล้กล้องของคุณมาก ผู้ชุมนุมบางคนอาจถูกไล่ออกจากงานหากถูกจับได้ว่ามาร่วมชุมนุม เมื่อนายจ้างของพวกเขาอาจระบุตัวตนของพวกเขาได้ ขออนุญาตผู้อื่นก่อนถ่ายรูปเสมอ แม้พวกเขาใส่ผ้าปิดปากหรือเครื่องสวมปิดบังตัวตนแล้วก็ตาม พึงระลึกเสมอว่าคุณมาร่วมชุมนุมในฐานะผู้ประท้วงเป็นประการแรก ในฐานะผู้บันทึกเหตุการณ์เป็นประการรอง
    • หลีกเลี่ยงการถ่ายติดใบหน้าหรือรอยสัก คุณมีส่วนรับผิดชอบในการปกป้องสวัสดิภาพของผู้อื่นในฐานะผู้บันทึกภาพ ใบหน้าและรอยสัก รวมถึงรอยตำหนิต่างๆ บนร่างกาย เป็นส่วนที่สามารถใช้ระบุตัวตนผู้เข้าชุมนุมได้
    • อย่าแชร์ภาพหรือคลิปที่ยังไม่ได้ตัดต่อเพื่อความปลอดภัยบนสื่อโซเชียล เราจะอธิบายข้อปฏิบัติประการนี้อย่างละเอียดในหัวข้อถัดไป พึงระลึกเสมอ ว่าภาพถ่ายและคลิปวีดิโอของคุณอาจย้อนกลับมาทำร้ายเพื่อนผู้ร่วมชุมนุมของคุณได้

    4. วิธีจัดการรูปภาพสำหรับเผยแพร่บนสื่อโซเชียล

    อย่าเพิ่งโพสต์รูปถ่ายหรือวีดิโอใดๆ ที่คุณยังไม่ได้ตรวจสอบอย่างละเอียดลงบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าคุณจะจัดการสื่อพวกนี้ก่อนเผยแพร่ด้วยการใช้แอปในมือถือหรือโปรแกรมตัดต่อมืออาชีพก็ตาม สื่อบันทึกเหตุการณ์ชุมนุมทุกชิ้นควรได้รับการตรวจสอบ จัดการ และพิจารณาโดยละเอียดเสมอ


    คุณควรลบหรือปิดบังทุกส่วนในรูปที่สามารถใช้ระบุตัวตนผู้ชุมนุมในภาพ (ใบหน้า รอยสัก ตำหนิบนร่างกาย รวมถึงลักษณะเด่นอื่นๆ) ด้วยการถมสีดำทับบริเวณดังกล่าวในภาพ การทำให้ภาพเบลอเพียงอย่างเดียวไม่ใช่การปิดบังตัวตนคนในภาพที่ดี ในกรณีที่คุณจัดการภาพถ่ายและสื่อผ่านแอปโทรศัพท์มือถือ ก็ขอให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ควรตรวจสอบให้ดี ว่าแอปที่ใช้ดำเนินการทุกอย่างจบภายในมือถือของคุณ และไม่มีการเซฟไฟล์สำรองที่ยังไม่ผ่านการตัดต่อไปยังฐานข้อมูลออนไลน์อีกต่อ ฉันใช้โปรแกรม Image Scrubber สำหรับเบลอหน้าคนและกำจัดข้อมูลต้นฉบับใดๆ ที่ผู้อื่นสามารถใช้เพื่อสะกดรอยหรือระบุตัวตนได้ โปรแกรมนี้สามารถใช้ได้กับทั้งระบบปฏิบัติการ Windows, MacOS, iOS และ Android


    นอกจากนี้ ควรปิดระบบแชร์พิกัดของคุณด้วย แอปกล้องถ่ายรูปในสมาร์ทโฟนโดนทั่วไปมักจะเก็บข้อมูลเอาไว้ด้วย ว่าภาพแต่ละไฟล์ถูกถ่ายที่ไหน คุณสามารถตั้งค่าปิดการบันทึกพิกัดที่ถ่ายรูปได้ แต่เท่านี้ยังไม่พอ โปรแกรมถ่ายหรือตัดต่อใดๆ ที่ไม่สามารถลบ metadata ได้อย่าง Image Scrubber อาจไม่ปลอดภัยและไม่ควรอัปโหลดขึ้นบนโซเชียลมีเดียด้วยซ้ำ เช่นนั้นแล้ว คุณควรอัป screenshot หรือ capture หน้าจอที่กำลังแสดงรูปที่ตัดต่อแล้วของคุณแทนไฟล์ภาพจริง เพราะภาพ screenshot นั้นจะไม่มีข้อมูลพิกัดตรงกับสถานที่จริงที่คุณไปถ่ายภาพต้นฉบับ คุณสามารถบันทึกหน้าจอและตัดแต่งเลือกแค่ตัวภาพได้บนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตได้โดยง่าย สำหรับคอมพิวเตอร์ระบบปฏิบัติการ Windows นั้น คุณสามารถใช้โปรแกรม Snipping Tool ได้ หรือกดปุ่ม Cmd, Shift, และเลข 4 พร้อมกัน เพื่อบันทึกหน้าจอสำหรับผู้ใช้ MacOS


    การโพสต์รูปหรือคลิปในเวลาเดียวกันกับที่คุณอยู่ในที่ชุมนุมมีความเสี่ยงสูง เพราะผู้พบเห็นรูปอาจทราบพิกัดปัจจุบันของคุณได้ทันที เจ้าหน้าที่สามารถสะกดรอยผู้ชุมนุม รวมถึงคาดคะเนแผนการของผู้ชุมนุมได้จากการตามสังเกตรูปและวีดิโอของพวกคุณเอง ควรปิดระบบการบอกตำแหน่ง (Location) ในทวิตเตอร์ เฟซบุค อินสตาแกรม หรือแอปใดๆ ก็ตามที่คุณกำลังจะอัปโหลดรูป ความเสี่ยงจะน้อยลง หากคุณเลือกโพสต์รูปในวันหลังจากการชุมนุม


    5. สิ่งของที่ต้องใช้

    ไม่ว่าคุณจะใช้กล้องถ่ายรูปโดยเฉพาะหรือสมาร์ทโฟนก็ตาม นี่คือสิ่งที่ควรพกติดตัว


    ...หากคุณใช้กล้องถ่ายรูป

    ทิ้งเลนส์ยิงระยะไกลของคุณไว้ที่บ้านเสีย และหันมาพกอุปกรณ์ที่เล็ก กะทัดรัด พกพาสะดวกกว่า ใช้เลนส์ซูมระยะสั้น กล้องขนาดเล็ก แบบ Mirrorless (มีจอดิจิตัลให้มองภาพก่อนถ่ายได้ ไม่ต้องยกกล้องขึ้นเล็งด้วยการแนบกับตา)

    1. ไม่ควรนำขาตั้งกล้อง หรืออุปกรณ์เสริมใดๆ ที่อาจจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาวุธไปร่วมชุมนุม
    2. นำเลนส์และตัวกล้องไปอย่างละอัน การต้องพะวงเปลี่ยนเลนส์หรือกล้องกลางพื้นที่ชุมนุมอาจทำให้คุณเสียเวลาโดยไม่จำเป็น ควรเน้นพกเลนส์ชนิดซูมระยะใกล้ (Short lens) หรือเลนส์ประเภท Prime lens ที่ตั้งค่าการโฟกัสอัตโนมัติ ไม่สามารถซูมเข้าออกได้เพื่อความสะดวกรวดเร็ว
    3. ไม่ควรพกสารพัดอุปกรณ์เสริมสำหรับกล้องของคุณ ควรเผื่อพื้นที่ในกระเป๋าเพื่อจุขวดน้ำและสิ่งของจำเป็นอื่นๆ นอกจากเม็มโมรีการ์ดและแบตเตอรีอย่างละสองสามอัน คุณก็ไม่ต้องการอุปกรณ์เสริมใดอีก
    4. เตรียมสายคล้องกล้องที่ทนทานสำหรับคล้องกล้องไว้กับคอของคุณ ไม่ควรใช้แบบสายสะพายคาดตัว ควรแฝงตัวกลืมกลืนไปกับฝูงชน
    5. หากกล้องของคุณสามารถใส่เม็มโมรีการ์ดได้ทีละสองช่อง ควรใช้เม็มโมรีการ์ดทีละสองตัวไปพร้อมกัน เพื่อให้คุณมีภาพถ่ายอย่างละสองไฟล์ ป้องกันข้อมูลสูญหายและยามจำเป็นอื่นๆ


    ...หากคุณใช้กล้องสมาร์ทโฟน

    โทรศัพท์มือถือในปัจจุบันสามารถใช้ถ่ายรูปได้อย่างสะดวกสบายก็จริง แต่เพราะข้อมูลส่วนตัวมากมายอาจอยู่ในเครื่องมือสื่อสารเหล่านี้ของคุณเช่นกัน คุณจึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษระหว่างใช้มันถ่ายรูป สามารถอ่านแนวทางปกป้องข้อมูลส่วนตัวเพื่อรักษาความปลอดภัยระหว่างชุมนุมได้ เพื่อศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม

    1. ติดฟิล์มและบรรจุมือถือของคุณใส่เคสกันรอยกันกระแทก และพกที่ชาร์จกับแบตเตอรีสำรองเอาไว้กับตัวเสมอ
    2. เลิกใช้ระบบระบุใบหน้า หรือสแกนลายนิ้วมือเพื่อปลดล็อคโทรศัพท์ ควรใช้รหัสในการปลดล็อคโทรศัพท์แทน
    3. เข้าแอปกล้องถ่ายรูปของคุณโดยไม่ปลดล็อคเครื่อง (ปัดขวา หรือกดไอคอนกล้องที่ control center (ลากนิ้วบนจอจากล่างขึ้นบน หรือกดปุ่ม home บนจอแล้วไปที่ control center ในกรณีที่คุณตั้งค่าให้มีปุ่ม home บนหน้าจอ สำหรับไอโฟน) แทนการปลดล็อคแล้วเข้าแอปกล้องถ่ายรูป วิธีนี้จะทำให้สมาร์ทโฟนของคุณอยู่ในสถานะล็อคตลอดเวลา แม้จะหล่นหาย ถูกขโมย หรือถูกเจ้าหน้าที่ยึด
    4. ในกรณีที่ต้องการภาพถ่ายคุณภาพสูงใกล้เคียงกล้องจริง คุณสามารถใช้อุปกรณ์เสริมเหล่านี้ไปพร้อมๆ กับสมาร์ทโฟนของคุณได้
    5. คุณอาจพกกล้องสองตัว คือ กล้องถ่ายรูป และสมาร์ทโฟนเพื่อใช้ไปพร้อมๆ กันในงานชุมนุม


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
mobmaith (@mobmaith)
ทางม็อบมั้ยอยากขอสอบถามเรื่องการขออนุญาตใช้ข้อมูลของคุณครับ ทางเราจะยินดีเป็นอย่างมากหากคุณสามารถติดต่อพวกเรากลับมาที่ @mobmaith ทางทวิตเตอร์หากคุณไม่สะดวกพูดคุยทางนี้ ขอบคุณครับ