เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Criminology in a land of Sheep: อาชญาวิทยาแดนแกะMarut Soontrong
Lecture 1 Cybercrime
  • บทเรียนแรกของการเรียนอาชญาวิทยาในประเทศนิวซีแลนด์ประเดิมด้วยวิชาเลือกสาขา คือ วิชาอาชญากรรมไซเบอร์ (Cybercrime) กับอาจารย์แคลร์ (Dr. Claire Meehan) การเรียนเกี่ยวกับอาชญากรรมไซเบอร์ในสาขาอาชญาวิทยาก็คงต่างกับคนที่เรียนสาขาเทคโนโลยีในส่วนของหลักการและจุดเน้น หากเป็นนักเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็คงจะเน้นที่ระบบและวิธีการ แต่ในทางอาชญาวิทยาเราก็มุ่งเน้นไปที่แรงจูงใจ รูปแบบของอาชญษกรรมที่เกิดขึ้น และนโยบายในการป้องกันมากกว่า 

    สำหรับประวัติของอาจารย์แคลร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญากรรมไซเบอร์และยาเสพติดที่จบการศึกษามาจาก Ulster University, Belfast อาจารย์แคลร์เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านอาชญากรรมไซเบอร์ตัวจริงและลงลึกอย่างมากในด้านของการต่อต้านสื่อลามกอนาจารในเด็ก (Child Pornography) เราเองก็มีความประทับใจส่วนหนึ่งเพราะอาจารย์แคลร์เป็นหนึ่งในผู้เขียนในบทที่ว่าด้วย Child Pornography ในหนังสือชื่อ Handbook of Criminology in Aotearoa ซึ่งรวมตัวท๊อปของวงการอาชญาวิทยาในประเทศนิวซีแลนด์มาถ่ายทอดสถานการณ์ความเป็นไปของการศึกษาอาชญาวิทยาในประเทศนิวซีแลนด์ การเรียนกับอาจารย์แคลร์ถือเป็นความโชคดีมากที่ได้เจอกับตัวท็อปของประเทศคนหนึ่งจริง ๆ (หลังจากนี้แกลาคลอดฉ่ำมาก)

    สำหรับการสอนของอาจารย์แคลร์นั้น ก็จะเน้นไปในทางของการสัมมนาเป็นหลักโดยมีหัวข้อต่าง ๆ ในทาง cybercrime และ cyberharm สิ่งแรกที่อาจารย์แคลร์เน้นย้ำตลอดเารเรียนทั้งเทอมคือการพูดถึง cybercrime พร้อมกับ cyberharm คือ อาชญากรรมไซเบอร์ก็นำมาซึ่งการทำร้ายเหยื่อทางไซเบอร์เช่นกันโดยที่เราไม่ได้พูดถึงผลกระทบต่อเหยื่อมากเท่าที่ควร การมอง cybercrime กับ cyberharm ควรจะต้องมาคู่กันซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพของการกระทำผิดบนโลกไซเบอร์ชัดขึ้น อาจารย์แคลร์เริ่มต้นการสอนด้วยการสนทนาเกี่ยวกับความหมายและลักษณะของ cybercrime มีความหมายในกี่ระดับและลักษณะของ cybercrime เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และตลอดการสอนของอาจารย์แคลร์ได้มีการนำประเด็นต่าง ๆ มาร้อยเรียง โดยในคลาสเรียนแบ่งระดับของ cybercrime and cyberharm ออกเป็น 3 ระดับตามเป้าหมาย ประกอบด้วย 
    1. เป้าหมายลักษณะข้ามชาติ (Transnational Level) จำพวกการก่อการร้าย (Terrorism) 
    2. ระดับชาติหรือองค์กร (State and Enterprise Level) จำพวกฟิชชิ่ง (Phishing) สแกม (Scam) ต่าง ๆ ที่มุ่งความเสียหายต่อรัฐหรือองค์กรต่าง ๆ และ
    3. เป้าหมายระดับบุคคล (Individual Level) เช่น หลอกเอาเงิน คอลเซ็นเตอร์ ต่าง ๆ ใด ๆ

    สิ่งที่ได้เรียนรู้จากคลาสนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเรื่องของวิธีการในการก่ออาชญากรรมไซเบอร์ แต่เป็นเรื่องของภาพรวมของอาชญากรรมที่ตั้งบนฐานของทฤษฎีว่าคำจำกัดความของ cybercrime คืออะไร อะไรเป็นเหตุหรือแรงจูงใจที่ทำให้อาชญากรรมรูปแบบเหล่านี้เกิดขึ้น รวมไปถึงเราตกเป็นเหยื่อได้อย่างไร ซึ่งเหยื่อก็สามารถเป็นได้ทั้งรัฐบาล องค์กรธุรกิจต่าง ๆ รวมไปถึงคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งเปิดโลกทางความคิดทางอาชญาวิทยาของเราอย่างมาก อาจารย์แคลร์ยังได้พูดถึงประเด็นของเว็บไซต์หรือแหล่งขายยาเสียสาว ซึ่งเป็นยาเถื่อน อยู่ตาม Deep web ต่าง ๆ ด้วย (อาจารย์ทำปริญญาเอกด้านยาเสพติดมาก่อนหน้า) ในคลาสมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นต่าง ๆ ตามที่เพื่อนเป็นผู้นำสัมมนาซึ่งเก็บคะแนน เราก็จะได้เห็นมุมมองและวิธีการป้องกันหรือออกแบบนโยบายต่าง ๆ เพื่อป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์แต่ละประเภท ซึ่งเพื่อนบางคนตกเป็นเหยื่อมาแล้วก็มี ในส่วนตัวของเราได้ศึกษาเกี่ยวกับประเด็นอาชญากรรมไซเบอร์หลายเรื่อง แต่ที่เราอินมากน่าจะเป็น Deepfake Pornography 

    Deepfakes คืออะไร และทำไมถึงต่อด้วย Pornography

    Deepfakes เป็นเทคโนโลยีใหม่จริง ๆ สำหรับการที่เราใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือ AI ใด ๆ สร้างภาพขึ้นมาใหม่ให้มีความเสมือนจริงเพื่อที่จะแทนตัวคนดั้งเดิม หรือดัดแปลงภาพกราฟิกเพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่ง การปรากฎขึ้นของเทคโนโลยีนี้เริ่มแรกก็เพื่อช่วยในด้านการทำ Computer Graphic Motions ต่าง ๆ เพื่อทดแทนนักแสดงแทน แต่ด้วยตัวเทคโนโลยีอันชาญฉลาดก็ถูกนำเข้าสู่อุตสาหกรรมมืดอีกมากมาย ในช่วงแรกเราสนใจ Deepfakes ที่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ผู้ใหญ่ หรือ Pornography (แปลแบบนี้ดีกว่า) งานเขียนชิ้นแรกของเราซึ่งเป็นการบ้านของอาจารย์แคลร์ชิ้นแรกเลยวิพากษ์และต่อยอดประเด็นจากข่าวเกี่ยวกับ Deepfake Pornography ของ Jennifer Savin จาก Cosmopolitan UK "Deepfake porn is on the rise - and everyday women are the target" (ลิงค์)

    สิ่งที่น่าสนใจของการใช้ Deepfakes ในรูปแบบของการคุกคามทางเพศออนไลน์นั้นเกิดขึ้นกับหลายบุคคล แต่เหตุจูงใจกลับไม่ได้หวังผลทางกามารมย์เพียงวัตถุประสงค์เดียว เรารู้จัก Deepfake ในฐานะเครื่องมือทางเพศจากการรั่วไหลของรูปเปลือยของดาราฮอลลิวูดจำนวนมาก เช่น Emma Watson และ Scarlett Johansson เป็นต้น ซึ่งภาพและวิดีโอจำนวนมากนั้นถูกตัดต่อหรือถูกทำให้เหมือนดาราเหล่านั้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในเรื่องเพศ และต่อมาวงการ Deepfake Porn ก็เข้ามารันวงการในการตัดต่อหน้าเด็กและเยาวชนเข้าไป ซึ่งเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ที่สุด!!! ซึ่งแน่นอนกลุ่มผู้กระทำผิดก็แฝงตัวอยู่ในชุมชน Geek ต่าง ๆ เช่น Github นั่นเอง ซึ่งถามว่าคนที่ทำเขาคิดอะไรมั้ย? ไม่เลยซักนิด มีงานวิชาการบางงานชี้ให้เห็นว่าคนเหล่านี้รับจ้างทำเพื่อฝึกฝีมือการ generate โดยไม่ได้สนใจศีลธรรมจรรยาอะไร เพราะคิดว่าเป็นการฝึกฝน 

    ถามว่าใครเป็นเหยื่อบ้าง? และเหยื่อถูกทำร้ายอย่างไร เหยื่อกลุ่มแรกที่ชัดเจนอยู่แล้วคือกลุ่มดารานักแสดงที่มีชื่อเสียง กลุ่มนี้เขาก็จะถูกกระทำโดยการถูกตัดหน้าไปใส่ในคลิปต่าง ๆ นั่นเอง ซึ่งดารากลุ่มนี้นอกจากจะเสื่อมเสียชื่อเสียง ก็ยังต้องมานั่งผวากับการปรากฏของคลิปเรื่อย ๆ และชี้แจงสังคมเรื่อย ๆ จนเบื่อและเอือมระอา การต่อสู้และตอบคำถามกับสื่อแบบนี้เรื่อง ๆ ส่งผลบั่นทอนจิตใจอย่างเห็นได้ชัด Scarlett Johansson เป็นคนที่แสดงออกถึง Trauma อย่างชัดเจนจากผลกระทบนี้ ถามว่าคนที่ทำลักษณะนี้ทำไปเพื่ออะไร ก็ทำไปเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองนั่นแหละ กล่าวคือ เขาอยากเติมเต็มกามารมย์ที่แสดงโดยดาราหรือ public figures ที่เขาชื่นชอบนั่นเอง ซึ่งเหยื่อกลุ่มที่เป็นดาราก็มีทั้งฝั่งเอเชียและเวสต์เทิร์น

    กลุ่มที่สองคือกลุ่มนักการเมือง กลุ่มคนที่เป็น Influencers ต่าง ๆ ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะมุ่งเน้นไปที่การทำลายชื่อเสียงทางการเมืองและลดทอนคุณค่าของบุคคลนั้นต่อสาธารณชน มีกรณีหนึ่งที่มีการปล่อยคลิปของ Hilary Clinton ในอิริยาบถต่าง ๆ รวมไปถึงการตัดต่อภาพโป๊เปลือย ซึ่งต่อมาพบว่าคนทำคือฝั่งรัสเซียจ้า!!!! นอกจากนี้ยังมีกรณีนักข่าวชาวอินเดียที่ต่อสู่เพื่อสิทธิมนุษยชนก็ถูกทำลายชื่อเสียงโดยการตัดคลิปโป๊เช่นกัน ซึ่งการกระทำนี้นอกจากจะเป็นการกระทำทางเพศแล้ว ยังส่งผลต่อภาพลักษณะทางการเมือง ความน่าเชื่อถือ และการโฆษณาชวนเชื่อ

    กลุ่มที่สามคือ "ตัวตนของ Performers" หรือนักแสดงหนังผู้ใหญ่นั่นเอง ในการตัดต่อก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในกระบวนการ AI Generated Imagery มันต้องประกอบด้วยสองภาพ คือ ภาพของหน้าที่จะเอาไปทับ และคลิปที่จะถูกทับ สิ่งที่จะเน้นย้ำตรงนี้คือ ต้องยอมรับว่าวงการอุตสาหกรรมหนังผู้ใหญ่มันก็เป็นอาชีพ มีนักแสดงที่เลือกทางนี้และได้รับรายได้ ลิขสิทธิ์ และอื่น ๆ จากการแสดงของพวกเขาและเธอ คนกลุ่มนี้ถูกละเลยต่อกระบวนการในการเยียวยาเหยื่อเพราะว่างานแสดงของพวกเขาถูกเผยแพร่อยู่ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ถูดดูดไปทำและกลับมาเผยแพร่ซ้ำ ซึ่งบรรดาแพลตฟอร์มหนังผู้ใหญ่ก็ได้ร่วมมือร่วมใจกันแบน Deepfake contents ที่ใช้คำใกล้เคียงแต่ก็ปราบได้ไม่หมด อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจคือบรรดาแฟน ๆ K-pop โดยเฉพาะแฟนคลับวงไอดอลสาวที่พบการกระทำแบบนี้ต่อศิลปินที่ตนรัก ได้ใช้พลังแฟนด้อมในการไปตามคอมเมนต์ในคลิป Deepfake ว่าไม่ใช่นะ ของปลอม ไม่จริง ประมาณนี้ ซึ่งเราเองก็พบการคอมเมนต์ลักษณะนี้ในแพลตฟอร์มหลัก ๆ เช่นกัน ซึ่งก็ถือว่าภาคประชาชนหรือผู้บริโภคเองก็มีส่วนร่วมในการปกป้อง "ตัวตน" ของบุคคลในฐานะ Performers คือคนเขาต่อให้เป็นดาราหนังผู้ใหญ่ เขาก็ทำเป็นอาชีพ เป็น Performance จะตัดเอาตัวเขาไปใส่หน้าคนอื่นมันก็ไม่แฟร์เท่าไหร่ 
     
    Deepfake Pornography จากโลกมายา...สู่คนธรรมดา

    ความน่าสนใจของบทความของ Savin ก็คือการสะท้อนเสียงของเหยื่อที่เป็นคนธรรมดา ที่แน่นอนว่าคนธรรมดาไม่มีทางรู้เลยว่าตัวเองถูกเอาหน้าไป generate เป็น porn แล้ว และเมื่อรู้ก็จะเกิดจากคนรอบข้างในชีวิตจริงที่รู้ และโลกทางสังคมของคนนั้นก็พังทลายลง เหยื่อที่ได้รับผลกระทบต้องเผชิญกับอาการซึมเศร้าแล้วิตกกังวล หวาดกลัวการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในชีวิตจริงและโลกออนไลน์ รวมไปถึงความสัมพันธ์กับครอบครัวและคนรักด้วย ซึ่งความเครียดและวิตกกังวลก๋แสดงออกผ่านอาการทางกายเช่นกัน 

    ถามว่าสาเหตุของคนที่ทำคืออะไร? ก็คือบางคนแอบชอบคนในออฟฟิศ ก็เลยไปจ้างพวกใน community มืด ทำให้เพื่อดูเอง แล้วก็โพสในแพลตฟอร์มใด ๆ บางคนก็ทำไปเพราะอิจฉา ซึ่งมันก็รับไม่ได้มั้ย!

    แล้วเราจะแก้ปัญหากันอย่างไรในท้ายสุดนี้?

    ข้อสรุปที่เราได้จากการศึกษานี้ต้องนำมาซึ่งการยอมรับก่อนว่า Deepfake porn เป็นการกระทำผิดละเมิดทางเพศที่ไม่ได้ยินยอม (Non-consensual abuse) และเป็นอาชญากรรมทางเพศประเภทหนึ่ง หลายประเทศ โดยเฉพาะอังกฤษ ได้ประสบความสำเร็จในการผ่านกฎหมาย Online Safety Bill 2023 ที่ห้ามการแชร์รูปเปลือย ซึ่งรวมไปถึง Deepfakes ในสหภาพยุโรปบางประเทศมีการปรับการตีความ non-consensual sexual imagery เป็น revenge porn หรือเข้าข่ายการบังคับขืนใจ ซึ่งโทษจะแรงมาก แต่อย่างไรก็ดี งานศึกษาหลายชิ้นก๋บอกว่าเจ้าหน้าที่ที่รับเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือสายช่วยเหลือต่าง ๆ ใด ๆ มีความสำคัญมาก เพราะว่าส่วนใหญ่ตำรวจหน้างานจะไม่เข้าใจความรู้สึกของเหยื่อลักษณะนี้ การมีหน่วยงานเฉพาะที่รับเรื่องแบบนี้เลยจำเป็นเพราะอย่างน้อยก็เข้าใจความสูญเสียทางจิตใจของเหยื่อ และนำไปสู่การสืบสวนที่ถูกต้องได้ 

     สงสัยตอนนี้คงได้แค่นี้ก่อน เรื่องราวการเรียนในคลาส Cybercrime ยังมีอีกมากมายนัก ซึ่งถ้ามีโอกาสจะเอามาเล่าในโอกาสต่อ ๆ ไป นะครับ
    PAGE

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in