เมื่อการเดินทางเริ่มต้นอีกครั้งในวัยสามสิบกว่า ๆ
ตัวผมเองอยากปูฟื้นก่อนว่าตัวผมปัจจุบันก็อายุสามสิบกว่า ๆ ปัจจุบันทำงานอยู่กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ด้วยโควตานักเรียนทุนรัฐบาลเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูง (UIS) เมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยได้รับทุนไปเรียนปริญญษโทสาขานโยบายสาธารณะ (Public Policy) ที่ The University of Nottingham ประเทศสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2557 จบปี 2558 และก็ทำงานที่กรมราชทัณฑ์มาเรื่อย ๆ หลังจากนั้น ซึ่งตำแหน่งที่ทำก็คือ “นักวิเคราะห์นโยบายและแผน”
เอาเข้าจริงความรู้ด้านอาชญาวิทยาเหมือนกับล่องลอยอยู่รอบ ๆ สภาพแวดล้อมในการทำงานของผมเป็นประจำ การเรียนรู้เข้าใจเกี่ยวกับการกระทำผิด การคืนคนดี บลา ๆ ๆ เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ กรมราชทัณฑ์ดีอย่างหนึ่งคือเป็นกรมที่มีนักเรียนทุนรัฐบาลไทยอยู่จำนวนหนึ่ง และมีความอบอุ่นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่บ่อยครั้ง ตลอดระยะเวลาสิบปีนิด ๆ อาจจะบอกได้ว่างานของผมในฐานะนักวิเคราะห์นโยบายและแผนได้เป็นส่วนเล็ก ๆ ของนโยบายกระบวนการยุติธรรม การดูแลผู้กระทำผิด หรือเข้าไปช่วยเหลือแนะนำในบางเรื่อง ที่กล่าวมาทั้งหมดผมกำลังจะบอกว่า ผมกลับไม่มีความมั่นใจในความรู้ทางด้านนี้เลย
พอตระหนักขึ้นมาได้เราก็เริ่มวางแผนกันกับแฟนว่าเราคงจะต้องไปเรียนเพิ่มจริง ๆ นะ การเสาะแสวงหาทุนจึงเริ่มต้นขึ้น การเตรียมตัวการสอบภาษาอังกฤษ ซึ่งเราเลือก IELTS เพราะเรากำลังจะสมัครทุนของรัฐบาลออสเตรเลียในเวลานั้น (Australia Awards มั้งนะ) ซึ่งก็เลยได้อานิสงส์ต่อมาเมื่อที่ทำงานได้รับการจัดสรรทุนรัฐบาลมาจากสำนักงาน ก.พ. มา เราก็เลยสมัคร แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะได้ทันทีในปีแรกเพราะก็มีคนที่มีความพร้อมกว่าเรา แต่เราก็ได้ในปีต่อมา (2566) โดยเราเลือก และได้รับการตอบรับให้เข้าเรียนในหลักสูตร Master of Arts in Criminology ที่ The University of Auckland ประเทศนิวซีแลนด์ และนั่นทำให้การเดินทางอันเร่งด่วนเริ่มต้นขึ้นด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยเป็นครั้งที่สอง
ทำไมถึงเลือกนิวซีแลนด์ - ก่อนเริ่มเรียนจริง
บางคนอาจจจะบอกว่าประเทศที่ได้รับการยอมรับในการศึกษาอาชญาวิทยา นอกจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกาแล้ว ก็คงเป็นกลุ่มประเทศภาคพื้นยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม หรือไกลสุดก็คงเป็นออสเตรเลีย แล้วนิวซีแลนด์มาอยู่ในตัวเลือกของเราได้อย่างไร
อย่างแรกเลย ความสวยงามและความสงบของประเทศและผู้คน นิวซีแลนด์เป็นประเทศใช้ภาษาอังกฤษที่สงบ เหมาะแก่การเรียนรู้อย่างมาก เราคิดว่าส่วนหนึ่งของการเลือกประเทศนิวซีแลนด์คือเราจะได้สัมผัสธรรมชาติ แม้ว่าคุณจะอยู่ในเมืองใหญ่อย่างโอ๊คแลนด์ก็ยังสามารถหาธรรมชาติและชายหาดได้ อีกอย่างคือนิวซีแลนด์ขึ้นชื่อว่าผู้คนเป็นมิตร รวมไปถึงผู้คนที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย นั่นอาจจะทำให้การปรับตัวในการเรียนทำได้ดีกว่า
ภาพทางอากาศถ่ายตอนก่อนถึงท่าอากาศยาน Auckland International Airport
อย่างที่สอง นิวซีแลนด์ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ถ้าคนไทยเราเคยเชื่อแบบนั้น ทำไมไม่มาลองล่ะ ก็เลยเลือกมา การศึกษาในระดับปริญญาโทของนิวซีแลนด์ (เอาเป็นว่าใน UoA ละกัน) มีความเปิดกว้าง เน้นการวิพากษ์ และให้ความใส่ใจกับหัวข้อการเรียนรู้มาก เราคงจะได้เล่าในส่วนต่อ ๆ ไป
ภาพป้ายมหาลัย (ป้ายเก่า) เรียนจริงไม่ติงนังแน่นอน
อย่างที่สาม ประเทศนิวซีแลนด์เป็นบ่อเกิดของนวัตกรรมและทฤษฎีทางอาชญาวิทยาร่วมสมัยที่สำคัญของโลก อันแรกคือกระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ครอบครัว (Family Group Conferencing) และอีกอันคือทฤษฎี Good Lives Model ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจอย่างมากในวงการอาชญาวิทยาในการที่จะแก้ไขคนทำผิดอย่างจริงจัง การมาเรียนในเรื่องเหล่านี้ก็อาจจะได้อะไรกลับไปบ้างเช่นกัน
เป้าประสงค์ของการเปิดเล่มนี้
เป้าหมายหลักของการเปิดเล่มนี้ขึ้นมามีเหตุผลสำคัญสองสามประการ
ประการแรกคือเพื่อที่จะบันทึกเรื่องราว “การเรียนรู้“ เกี่ยวกับอาชญาวิทยาในประเทศนิวซีแลนด์ว่าอาจารย์ต่าง ๆ ได้สอนอะไรบ้าง มีประเด็นอะไนที่น่าสนใจ รวมไปถึงเราได้อะไรจากคลาสต่าง ๆ ที่เราลงเรียน เป็นที่น่าเสียใจว่าช่วงที่เราเรียนเป็นช่วงที่อาจารย์หลายคนต่างหายหน้าไปจากมหาวิทยาลัยเพื่อลาไปเขียนตำราและเพิ่มพูนทักษะ (Sabbatical Leave) ทำให้วิชาเรียนมีไม่มากนัก แต่เท่าที่มีก็แน่นหนึบมากแล้ว รวมไปถึงประเด็นทางวิชาการร่วมสมัยที่ประเทศนิวซีแลนด์ให้ความสนใจในทางอาชญาวิทยา
ประการที่สอง เราอยากจะสรุปประเด็นหรือสาระทางทฤษฎีที่เราจะต้องใช้สำหรับการทำวิทยานิพนธ์อย่างคร่าว ๆ ใว้เป็นแหล่งรวมอ้างอิงและเก็บเป็นความทรงจำ รวมไปถึงผลงานการเขียนของเราที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหัวข้อปริญญาเอกในอนาคต
ประการสุดท้าย เราอยากให้เล่มนี้เป็นเล่มที่เล่าเรื่องการเรียนในประเทศนิวซีแลนด์ และทำไมการศึกษาที่นิวซีแลนด์จึงเป็นทางเลือกที่น่ามองและ sexy ไม่แพ้ออสเตรเลีย หรือประเทศอื่น ๆ
ก่อนที่จะจบโพสต์แรกนี้ ประเทศนิวซีแลนด์ปัจจุบันอยู่ในบริบทที่เรียกว่า Bi-cultural society คือ มีการใช้ภาษาเมารีควบคู่กับภาษาอังกฤษแบบผสมผสาน และนิวซีแลนด์มีชื่อภาษาเมารีว่า Aotearoa อ่านว่า เอา-เท(ที)-รัว และแน่นอนว่าภาษาเมารีอาจจะมาบ้างตลอดเรื่องราวนี้
Kia ora, Aotearoa New Zealand
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in