ฉันกลับบ้านไปได้ซักระยะหนึ่งหลังจากที่ออกจากวอร์ดจิตเวชผู้ใหญ่ เด็กๆหลานของฉันวิ่งออกมารับและทำหน้าแป๋นแหลน เพราะรู้ว่าฉันซื้อโดนัทเจ้าดังมาเป็นของฝาก ฉันกลับมาทำร้านหนังสือต่อหลังจากที่ร้างราวงการไปนานตอนเข้าวอร์ด ทุกๆเช้าหลานสาวและหลานชายที่ยังไม่เข้าโรงเรียนจะเข้ามาเล่นที่บ้าน งอแงให้ฉันอาบน้ำให้ และมักจะมาเล่นซ่อนแอบที่ใต้เคาท์เตอร์ห่อหนังสือของฉันเสมอ กำหนดวันหาหมอ C ของฉันคืออีก 3 อาทิตย์หลังจากนั้น หนังสือในร้านของฉันขายได้เรื่อยๆตามมีตามเกิด พอให้ฉันได้ชุ่มฉ่ำใจและมีอะไรทำในแต่ละวัน เมื่อวันที่ต้องบินไปกรุงเทพเพื่อไปหาหมอก็มาถึง ระหว่างที่ฉันไปบอกลาแม่เด็กและแต่งตัวหลานสาวไปพลางๆแม่เด็กก็ถามฉันขึ้นมาว่า "คราวนี้จะไปกี่วัน" ฉันบอกความจริงไปว่า "ยังไม่ซื้อตั๋วกลับเลยด้วยซ้ำ เพราะไม่รู้หมอจะว่ายังไงอีก ถ้าโชคดี 3 วันก็จะกลับมา แต่ถ้าโชคร้ายก็อยู่ไปเรื่อยๆ" แม่ของเด็กๆเป็นคนนอกบ้านเพียงไม่กี่คนที่รู้ว่าฉันมีปัญหาทางจิตเวช "ต้องโชคดีสิ" แม่เด็กบอกกลับมา ฉันเลยหันไปหาหลานสาวที่แต่งตัวเสร็จแล้วว่าคราวนี้จะเอาโดนัทหรือจะเอาป๊อปคอร์น เด็กไม่รู้ด้วยซ้ำว่าป๊อปคอร์นคืออะไร ความโชคดีมันมาไม่ถึงฉันเสียแล้ว
หมอ C : เดี๋ยวผมจะให้คุณทำเคตามีนเพิ่มนะครับ
ฉัน : แต่หมอก็รู้แล้วนี่คะว่าเคตามีนมันใช้กับฉันไม่ได้ผล (ฉันทำเคตามีนรอบในวอร์ดไปแล้ว แต่ก็ยังคิดฆ่าตัวตายอยู่ดี)
หมอ C : ครั้งนั้นคุณขาดยามานาน ตอนนี้คุณกลับมากินยาตามที่หมอสั่งแล้ว ตามประวัติที่หมอเช็คหมอคาดว่ามันจะได้ผลเมื่อคุณทำเคตามีนไปครั้งที่ 6-7 นะครับ
ฉัน : รอบนี้จะให้ฉันทำเคตามีนกี่ครั้งคะ (เด็กๆอดกินโดนัทไปอีกหลายอาทิตย์แน่ๆ)
หมอ C : 9 ครั้งครับ!!! (นับว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ให้เคตามีนเยอะมาก)
และแล้ววันทำเคตามีนวันแรกก็มาถึง มันเป็นวันศุกร์แรกของเดือนมีนาคมที่ร้อนระอุ ฉันใส่เสื้อแขนกุดเดินเข้าไปเปิดเส้น (แทงเข็มเข้าไปในเส้นเลือด) ที่ห้องทำการของพยาบาล ฉันอธิษฐานตั้งแต่เมื่อคืนว่าขอให้หมอที่ทำเคตามีนให้ครั้งนี้เป็นหมอ J ด้วยเถอะ ฉันหยิบด้ายแดงจากวัดหลงซานตอนที่ไปเที่ยวไต้หวันกับพ่อ และกระดาษนำโชคจากวัดหวังต้าเซียนตอนที่ไปเที่ยวฮ่องกงกับแม่มาถือไว้ในมือและกำเอาไว้แน่น ฉันพกของพวกนี้ใส่กระเป๋าไว้เป็นปีๆแล้ว แต่มันไม่เคยสัมฤทธิ์ผลเลยซักครั้ง แต่ครั้งนี้ฉันขอเถอะ ปรากฏว่าวันนั้นหมอ J เป็นคนทำเคตามีนให้ฉันจริงๆ!!
ฉัน : เป็นไงบ้างคะหมอ
หมอ J : ช่วงนี้ต้องอ่านหนังสือสอบเยอะเลยครับ แล้วคุณ...ล่ะครับ (ฉันสังเกตว่าหมอเปลี่ยนสรรพนามตอนที่เรียกฉัน จากชื่อจริงเป็นชื่อเล่น ฉันดีใจสุดๆ)
หมอ J ยังคงความเป็นหมอ J อยู่ไม่คลาย เพียงแต่ครั้งนี้ดูเหมือนจะตัวล่ำขึ้นเล็กน้อย ความ Active ระหว่างสัมภาษณ์ฉันยังอยู่ และดูเหมือนจะเป็นกันเองมากกว่าครั้งไหนๆที่เราเจอกันเสียด้วยซ้ำ ฉันขออนุญาตเปิดเพลงระหว่างให้ยาเคตามีน ฉันเปิดอัลบั้มรวมของ Coldplay คลอไปเบาๆระหว่างที่เราคุยกัน
ฉัน : ขอพูดตรงๆเลยนะคะหมอ หลังจากที่เราส่งจดหมายไปให้หมอ 3 ฉบับ หมอยังจำฉบับสุดท้ายได้ไหมคะ ที่เราขอหมอเป็นเพื่อนน่ะค่ะ
หมอ J : อ๋อออ จำได้แล้วครับ แต่ความสัมพันธ์ของเรามันคือ Doctor กับ Patient นี่เนอะ
ฉัน : เราจะเป็นเพื่อนกันไม่ได้เลยจริงๆหรอคะ
หมอ J : ถ้าอย่างงั้นเค้าคงมายึดใบ Cer ผมไปน่ะสิครับ คุณอยากเป็นเพื่อนกับผมจริงๆหรอ ผมอาจจะเป็นเพื่อนที่แย่ก็ได้นะ อันนี้ผมก็ไม่รู้เหมือนกันคงต้องลองถามเพื่อนผมดู 555
ฉัน : นั่นสินะคะ
วันนั้นฉันเดินออกมาจากห้องให้ยาเคตามีนด้วยรอยยิ้มเล็กน้อยใต้หน้ากากผ้า ฉันบอกตรงๆว่ารู้สึกผิดหวังที่ไม่ได้เป็นแม้แต่เพื่อนของหมอ J แต่ฉันก็นึกชื่นชมหมอ J มากกว่าที่รักษาจรรยาบรรณแพทย์เอาไว้อย่างมั่นคง นั่นแสดงให้เห็นว่าหมอ J เป็นหมอที่ดีไม่ใช่หรอ อีกอย่างหมอ J ทำหน้าที่จิตแพทย์ได้ดีมากในห้องนั้น หมอควบคุมบรรยากาศการคุยกันระหว่างเราไม่ให้ฉันรู้สึกเศร้าหรือผิดหวัง ฉันไม่ร้องไห้แต่กลับหัวเราะเสียงดัง หมอของฉันคนนี้เป็นไซไคที่ยิ่งใหญ่สมกับที่เพื่อนของหมอว่าไว้จริงๆ ฉันไม่เคยโกรธหมอ J เลยที่ปฏิเสธฉันอย่างนั้น ฉันเพียงแต่รู้สึกโกรธเกลียดพระเจ้า, คิวปิด, ควอนตัมฟิสิกส์ และการหมุนเปลี่ยนของเวลาที่ทำให้เรามารู้จักกันทั้งๆที่เราเข้าใกล้กันมากกว่านี้ไม่ได้เลย
ฉันไปให้ยาเคตามีนอาทิตย์ละ 2 ครั้งหลังจากนั้น เปลี่ยนหมอไปบ้างสลับกันไปมาตามแต่ใครจะเข้าเวร แต่ฉันยังฟังเพลง Coldplay อยู่ไม่เคยลืม ไม่รู้ว่าเพราะยาเคตามีนหรือเปล่าที่ทำให้ฉันมีความคิดมากมายแล่นเข้ามาในหัว มันไม่ได้มาแทนที่ความคิดอยากตาย แต่เหมือนมาเสริมพลังความลังเล มาเสริมหน้าที่ความรับผิดชอบในตัวฉันให้มากขึ้น จนฉันคิดว่ายังตายไม่ได้ตอนนี้
ฉันคิดว่าคนในสังคมไทย ณ ปัจจุบันนี้ยังไม่เข้าใจคนที่เป็นโรคทางจิตเวชมากเท่าที่ควร ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์และให้ความรู้กับคนไทยในการเข้าพบจิตแพทย์อย่างแพร่หลาย คนหันกลับมามองอาการของตัวเองหรือคนรอบข้าง จิตแพทย์งานล้นมือขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ แต่ฉันพบว่าคนไทยส่วนใหญ่เพียงแต่ 'รับรู้' เรื่องโรคทางจิตเวช แต่ไม่ 'เข้าใจ' ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางจิตเวช โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่แฝงตัวอยู่ในทุกมุมของสังคม ไม่ว่าจะนั่งเรียนข้างคุณ, นั่งทำงานข้างคุณ หรืออาจเป็นเจ้านายของคุณก็ได้ โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่หายได้ แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าหายยาก เพราะสิ่งแวดล้อมภายนอก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาเยียวยายังไม่เอื้ออำนวยให้อาการของพวกเขาดีขึ้น ที่ผ่านมาฉันพบเห็นเพื่อนร่วมวอร์ดที่เป็นโรคซึมเศร้า เพราะพ่อแม่ไม่เข้าใจ, เข้ากับกลุ่มเพื่อนไม่ได้ หรือครูอาจารย์ยังมีความคิดยึดติดกับคำว่า 'คนบ้า' ฉันลองไปสำรวจความคิดเห็นและคอมเม้นต์ต่างๆใน Social Media มีบางส่วนที่ยังคิดว่าคนเป็นโรคซึมเศร้านั้นสำออย, แกล้งร้องไห้เพื่อเรียกร้องความสนใจ, แกล้งแสดงออกว่าเศร้าเพื่ออู้งาน หรือไม่ก็ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเป็นอภิสิทธิ์ชน พูดคำนั้นด้วยก็ไม่ได้ คำนี้ก็ไม่ได้ ทำให้คนรอบตัวคอยหลีกหนี ฉันปฏิเสธไม่ได้ว่าคนป่วยที่ทำอย่างนั้นอาจมีอยู่จริง เพราะเรื่องนิสัยเสียเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ยาไม่สามารถรักษาได้ แต่ผู้ป่วยซึมเศร้าคนอื่นๆล่ะ? คนที่มีความคิดเศร้าหมองจนทำงานแทบไม่ได้ เขาก็อยากทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จเพื่อไม่ให้เป็นที่ติฉินนินทาในที่ทำงานนะ แต่โรคมันกำเริบอย่างช่วยไม่ได้จริงๆ หรือเด็กนักเรียนบางคนยังไม่โตพอที่จะควบคุมอารมณ์ของตัวเองเมื่อสารสื่อประสาทในสมองไม่สมดุลทำให้แสดงออกด้วยการร้องไห้, โมโห, ก้าวร้าว เด็กพวกนั้นเขาก็อยากมีเพื่อนนะ แต่สมองมันห้ามไม่ได้จริงๆ
วันหนึ่งหลังจากกลับจากการให้ยาเคตามีน ฉันแวะไปซื้อหนังสือที่หอศิลป์กรุงเทพมหานคร ฉันไปเจอนิทรรศการหนึ่งชื่อว่า Postcard from Strangers เป็นการเขียน Postcard จากคนแปลกหน้าถึงคนแปลกหน้า แล้วติดไว้บนผนังให้คนมาอ่าน ฉันยืนร้องไห้เงียบงันอยู่หน้าผนังโค้งของหอศิลป์ให้กับข้อความบางข้อความจากใครก็ไม่รู้ที่ฉันไม่รู้จัก
หลังจากป้ายน้ำตาออกจากใบหน้าแล้วฉันก็มีความคิดในหัวว่า การส่งกำลังใจและสิ่งดีๆให้แก่กัน เราไม่ต้องรู้จักกันด้วยซ้ำ มันยังทำให้ฉันรู้สึกตื้นตันและเป็นสุขได้ขนาดนี้ ถ้าข้อความดีๆเหล่านี้ส่งไปถึงผู้ป่วยโรคซึมเศร้าให้ได้มาอ่าน มันจะดีขนาดไหน ความคิดนั้นก่อเกิดเป็น "โครงการแบ่งรัก ปันใจ" ที่ฉันคิดค้นขึ้นมาเพื่อให้ลูกค้าร้านหนังสือของฉันส่งต่อสิ่งดีๆให้แก่คนรอบข้างของพวกเขา ณ ตอนนี้การทำอย่างนี้มันอาจจะไม่ได้สร้างความเข้าใจเรื่องโรคซึมเศร้าให้คนในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าเริ่มต้นจากให้คนเรารู้จักมอบกำลังใจให้คนใกล้ชิดหรือคนรู้จักเป็นอย่างแรก ฉันคิดว่าจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ในระยะยาวอย่างแน่นอน
ฉันหวังอยู่เสมอว่าโครงการนี้มันจะเป็นไปได้ด้วยดี
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in